เดชานุภาพของอัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  10363

ตัฟซีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮฺยาซีน

บทที่ว่าด้วย "เดชานุภาพของอัลลอฮฺ"


โดย อาจารย์มูนีร มูหะหมัด

 

อัลลอฮฺ ตรัสในซูเราะฮ์ยาซีน ความว่า

41- และสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกเขาคือ เรา (อัลลอฮฺ) ได้บรรทุกลูกหลานของเขาในเรือจนเต็มระวาง

42- และเราได้สร้างเช่นเดียวกับมันให้แก่พวกเขา ซึ่งสิ่งที่พวกเขาขับขี่

43- และถ้าเราประสงค์ เราจะให้พวกเขาจมน้ำตาย โดยจะไม่มีผู้ใดร้องตะโกน (เพื่อขอความช่วยเหลือให้) แก่พวกเขา และพวกเขาก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ (จากการจมน้ำตาย)

44- เว้นแต่ด้วยความเมตตาจากเรา และ (มีความสุข) เพลิดเพลินจนถึงช่วงเวลาหนึ่ง


อธิบายความ

          ภายหลังจากที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสถึงสัญญาณต่างๆที่มีอยู่ตามธรรมชาติซึ่งบ่งถึงเดชานุภาพของพระองค์ อันได้แก่ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โลก และดวงดาวต่างๆ การเกิดกลางวันและกลางคืน พระองค์ก็ได้ตรัสถึงสัญญาณที่บ่งถึงเดชานุภาพของพระองค์ นั่นคือ การเดินทางในท้องทะเลของมนุษย์

นักวิชาการได้ให้ความหมายของ “อายะฮ์” ไว้ 3 นัยด้วยกันคือ

- หมายถึงเป็นอนุสติสำหรับมนุษย์ เพื่อพวกเขาจะได้พิจารณาไตร่ตรอง
- หรือหมายถึงเป็นความเมตตาสำหรับบรรดามนุษย์
- หรือหมายถึงเป็นการเตือนสติแก่พวกเขา

ด้วยการที่อัลลอฮฺตรัสว่า “พระองค์ทรงบรรทุกลูกหลานของพวกเขาในเรือจนเต็มระวาง”

         นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า คำว่า “ลูกหลาน” หมายถึงบรรพบุรุษของพวกเขาซึ่งโดยสารเรือของนบีนัวหฺ และเรือลำนี้ได้บรรทุกสัตว์ซึ่งอัลลอฮ์ได้ใช้ให้นบีนัวหฺนำสัตว์อย่างละ 2 คู่ บรรทุกในเรือเพื่อให้สัตว์เหล่านั้นได้สืบเผ่าพันธุ์ต่อไปหลังจากที่สัตว์อื่นๆจมน้ำตายหมด

          นักวิชาการบางคนกล่าวว่า คำว่า “สัญญาณสำหรับพวกเขา” สรรพนาม “พวกเขา” หมายถึง ชาวเมืองมักกะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก และเรือที่บรรทุกหมายถึงเรือทั่วๆไป

          ดังนั้น ความหมายโดยรวมคือ ส่วนหนึ่งจากสัญญาณที่บ่งถึงเอกภาพของอัลลอฮฺ และเดชานุภาพของพระองค์ โดยที่พระองค์ได้ประทานความเมตตาแก่บรรดามนุษย์ โดยให้พวกเขาโดยสารเรือ เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนบีนัวหฺ ซึ่งทำให้บรรดาผู้ศรัทธาได้รับความปลอดภัยไม่ประสบความหายนะ  ดังเช่นผู้ปฏิเสธที่ต้องจมน้ำตาย การใช้คำว่า “ลูกหลาน” โดยหมายรวมถึงบรรพบุรุษซึ่งเป็นต้นสายวงศ์วานของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้มนุษย์ในปัจจุบันและอนาคตได้รู้ว่า พวกเขามีรากเหง้ามาจากบรรพบุรุษนั่นเอง

ท่าน อิบนุกะษีร มีความเห็นว่า การที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“และสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกเขาคือ เรา(อัลลอฮฺ) ได้บรรทุกลูกหลานของพวกเขาในเรือจนเต็มระวาง”

         เป็นการแสดงถึงเดชานุภาพของพระองค์ คือการบัญชาให้สร้างเรือเพื่อมนุษย์จะได้ใช้โดยสาร บรรทุกสัตว์ และสิ่งของเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ ถ้าหากว่า "เรือ" ในอายะฮฺนี้ หมายถึง เรือโดยทั่วไปก็จะมีหลากหลายชนิด เช่น เรือใบ เรือกลไฟ เรือที่ใช้พลังนิวเคลียร์ ซึ่งแล่นอยู่ในน้ำซึ่งมีความเกี่ยวข้อง กับกฎที่เกี่ยวกับแรงลอยตัว


กฎเกี่ยวกับแรงลอยตัวเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

     ♦ ของแข็ง ได้แก่ วัตถุโดยทั่วไป คุณสมบัติของมันคือ มีรูปร่างและขนาดที่แน่นอน ซึ่งมีอยู่มากมาย

     ♦ ของเหลว ได้แก่ สิ่งที่มีอยู่แพร่หลาย สามารถมองเห็นได้ด้วยตา คุณสมบัติของมันคือ มีขนาดที่แน่นอน แต่มีรูปร่างที่ไม่แน่นอน รูปร่างของมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่บรรจุมัน เช่น น้ำ, น้ำมัน, น้ำเชื่อม ฯลฯ

     ♦ ก๊าซ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา มีแพร่หลาย ขนาดและรูปร่างของมันไม่แน่นอน ที่รู้ว่ามันมีอยู่ก็ด้วยการสัมผัส


          น้ำเป็นของเหลวที่อัลลอฮฺ ประทานมาโดยให้มันยึดเหนี่ยวกัน ด้วยพลังเช่นนี้จึงหนุนเรือให้ลอยขึ้นโดยไม่จม ซึ่งเป็นไปตามกฎแรงดันลอยตัวของ อาร์คีมิดีส(Archimedes) นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งเมื่อกล่าวถึง “กฎแรงดันลอยตัวหรือกฎการแทนที่” ไว้ว่า

         “เมื่อวัตถุอยู่ในน้ำจะมีแรงกระทำ 2 แรงคือ แรงน้ำหนักของวัตถุที่กระทำต่อด้านล่างและแรงดันของน้ำที่ดันขึ้น ถ้าหากน้ำหนักของวัตถุเท่ากันหรือน้อยกว่าแรงดันของน้ำที่ดันวัตถุขึ้นมา วัตถุก็จะลอยได้ แต่ถ้าหากว่า น้ำหนักของวัตถุมากกว่าน้ำหนักของน้ำที่มันแทนที่วัตถุนั้นก็จะจมน้ำ”

  

         เรือที่แล่นอยู่ในน้ำ แม้ว่ามันจะมีน้ำหนักมากและใหญ่โตสักเพียงใดมันก็สามารถลอยอยู่บนน้ำได้ เพราะว่า แรงดันของน้ำมากกว่าน้ำหนักของเรือ ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบรรทุกพวกเขาจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง ดังที่พระองค์ ตรัสความว่า

         “เจ้า (มุฮัมมัด) ไม่เห็นดอกหรือว่า เรือนั่นแล่นไปในท้องทะเลด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ เพื่อพระองค์จะให้พวกสูเจ้าได้เห็นสัญญาณต่างๆของพระองค์ (ที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระองค์) แท้จริง ในนั้นมีสัญญาณต่างๆ สำหรับผู้ที่อดทน ผู้ขอบคุณทุกคน ”

(ลุกมาน 31/31)

         หลังจากที่อัลลอฮฺ ตรัสถึงการให้มนุษย์โดยสารเรือและบรรทุกสิ่งของต่างๆเดินทางไปในแม่น้ำ ลำคลอง ในท้องทะเลและมหาสมุทร พระองค์ก็ตรัสถึงความเมตตาของพระองค์ที่ประทานแก่บรรดามนุษย์โดยให้พวกเขารู้จักใช้พาหนะเดินทางบนบก เช่น อูฐซึ่งมีความอดทน มีความสามารถเดินทางในแผ่นดินที่แห้งแล้ง มีความร้อนระอุได้เป็นระยะทางไกล จนมันได้ชื่อว่า นาวาแห่งท้องทุ่งทะเลทราย และรวมถึงสัตว์อื่นๆที่เป็นพาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ เป็นต้น

อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

          “ และในตัวของมัน (บรรดาปศุสัตว์) มีความสวยงามสำหรับพวกเจ้า ขณะที่นำกลับมา (จากทุ่งหญ้า) และขณะที่นำมันออกไปเลี้ยง และมันแบกสัมภาระหนักของพวกเจ้าไปยังเมืองไกล โดยที่พวกเจ้าจะไปถึงมันไม่ได้นอกจากด้วยความลำบากใจ แท้จริง พระเจ้าของพวกเจ้าเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงกรุณาเสมอ ม้า ล่อ และลา เพื่อพวกเจ้าจะได้ขี่มันและเป็นเครื่องประดับประดา และพระองค์ทรงบังเกิดสิ่งอื่นๆ ที่พวกเจ้าไม่รู้ ”

(อันนะหฺลฺ 16/6-8)

อานุภาพของอัลลอฮฺ และวาระแห่งความตายของมนุษย์อยู่ในอำนาจของพระองค์

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“และถ้าหากว่า เรา (อัลลอฮฺ) ประสงค์ เราก็จะให้พวกเขาจมน้ำ โดยจะไม่มีผู้ร้องตะโกน (เพื่อขอความช่วยเหลือ) แก่พวกเขา

และพวกเขาไม่ได้รับการช่วยให้รอดพ้น (จากการจมน้ำตาย)

(ยาซีน/43)

        สภาพหนึ่งที่มนุษย์อยู่ในความหวาดกลัว ไม่มีคนใดทราบถึงสภาพเช่นนี้ นอกจากผู้ที่โดยสารเรือท่ามกลางพายุที่พัดกระหน่ำ หรือประสบคบลื่นลมรุนแรง หรือการที่เรือต้องประสบอุบัติเหตุ

        ดังตัวอย่าง เรือสำราญลำใหญ่ที่สุดคือ เรือไททานิค (Titanic) ซึ่งอับปางลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ในปี ค.ศ. 1912 พูดกันว่า เรือไททานิคเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสมัยนั้น โดยสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 3,547 คน ไม่เพียงเท่านั้น เรือไททานิคยังเป็นเรือหรูหราและใช้งบประมาณในการสร้างมากที่สุด มีการตกแต่งอย่างงดงาม มีเครื่องอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด นอกจากนี้ มันยังเป็นเรือที่มีค่าโดยสารแพงที่สุดด้วย ด้วยความแข็งแรงของเรือความใหญ่โตมหึมา การมีอุปกรณ์การเดินเรือที่ทันสมัย จึงเชื่อกันว่า เรือลำนี้ไม่มีทางจมลงได้อย่างแน่นอน

          เมื่อเรือไททานิคสร้างเสร็จเรียบร้อยจึงได้ออกเดินทางจากท่าเรือในประเทศอังกฤษ มุ่งตรงไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้โดยสารเดินทางไปกับเรือจำนวน 2,223 คน โดยเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง คหบดี และเศรษฐีชาวยุโรปและอเมริกา พวกเขาได้นำทองคำ อัญมณี และสิ่งที่มีค่าติดตัวไปจำนวนมาก คิดเป็นราคาหลายพันล้านปอนด์ แน่นอนที่สุด เรือขนาดใหญ่เป็นเหมือนเมืองลอยน้ำ ย่อมมีเครื่องอำนวยความสะดวกและสิ่งบันเทิงมากมาย มีสระว่ายน้ำ ภัตตาคาร เครื่องเฟอร์นิเจอร์ พูดง่ายๆ ก็คือ ความหรูหรา ในยุโรปเป็นเช่นใดก็ถูกนำมาบรรจุไว้ในเรือลำนี้ โดยเหตุนี้ เรือไททานิค จึงเป็นเสมือนสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน

         แม้ว่ามนุษย์จะมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งที่มีความมั่นคงแข็งแรงสักปานใดก็ตาม มันก็ไม่สามารถจะต้านทานพลานุภาพของอัลลอฮฺได้ เรือไททานิคก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้ออกเดินทางไปประมาณ 4 คืน สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น โดยที่มันได้ชนกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เรือได้รับความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าเรือ ลูกเรือจึงอพยพผู้คนลงในเรือชูชีพที่มีจำนวนเพียง 20 ลำ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะอพยพผู้โดยสารทั้งหมด พร้อมกับส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังเรือลำที่อยู่ใกล้ที่สุด เรือ อาร์ เอ็ม เอส คาร์พาเธีย มาถึง จุดเกิดเหตุหลังจากได้รับการขอความช่วยเหลือจากเรือไททานิคประมาณ 2 ชั่วโมง โดยรับผู้โดยสารที่มีชีวิตรอดไปส่งยังท่าเทียบเรือของนครนิวยอร์ค โดยมีมากกว่า 700 คน ซึ่งก็หมายความว่า มีผู้โดยสารกว่า 1,500 คนต้องเสียชีวิต ส่วนเรือไททานิคความกดดันได้เพิ่มสูงขึ้นทำให้โครงสร้างของเรือหักออกเป็น 2 ท่อน แล้วจมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทร

เหตุการณ์การอับปางของเรือไททานิค และเรืออื่นๆก็ตรงกับที่อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

“และหากเรา(อัลลอฮฺ) ประสงค์ เราจะให้พวกเขาจมน้ำตายโดยไม่มีผู้ใดร้องตะโกน (เพื่อขอความช่วยเหลือ) แก่พวกเขา

และพวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้น (จากการจมน้ำตาย) เว้นแต่ด้วยความเมตตาของเรา และ (มีความสุข) เพลิดเพลินจนถึงช่วงเวลาหนึ่ง”

 

         จากนัยะของอายะฮ์ดังกล่าว ถ้าหากว่า อัลลอฮฺจะทรงให้พวกเขาจมน้ำตาย พวกเขาก็ไม่สามารถหลีกหนีให้พ้นได้ แม้ว่าพวกเขาจะสร้างเรือที่แข็งแรง ใหญ่โต อันเป็นแสดงความอหังการว่า พวกเขาสามารถสร้างสิ่งที่คงอยู่ตลอดไปและไม่พังทลายอย่างแน่นอน แต่ความเชื่อของพวกเขาต้องล่มสลาย เมื่ออัลลอฮฺ ทรงต้องการให้ความพินาศเกิดขึ้นกับเรือไททานิค และทรงต้องการให้พวกเขาจมน้ำตาย พวกเขาก็ไม่สามารถหลีกหนีกำหนดของพะองค์ไปได้ จะขอยืดเวลาไปสักชั่วโมงหนึ่ง หรือย่นเวลาเข้ามาสักชั่วโมงหนึ่งก็ไม่ได้

ดังที่พระองค์ตรัสความว่า

“ดังนั้น เมื่อวาระแห่งความตายของพวกเขามาถึง พวกเขาจะขอเลื่อนเวลาออกไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งไม่ได้ และจะขอย่นเวลาเข้ามาอีกสักชั่วโมงหนึ่งก็ไม่ได้”

(อัลอะอฺร็อฟ 7/34)

          แม้ว่า เขาจะร้องตะโกนหรือต้องความช่วยเหลือ การร้องขอดังกล่าวก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะไม่มีผู้ใดรับฟังการขอความช่วยเหลือของเขาหรือได้รับฟังการขอความช่วยเหลือของพวกเขา แต่อยู่ห่างไกลไม่ทันการที่จะให้ความช่วยเหลือ จึงทำให้พวกเขาต้องจมน้ำตายอย่างน่าอเนจอนาถใจ

         จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือไททานิคที่อับปางลง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็มีบางคนที่รอดชีวิต ก็เป็นเช่นเดียวกับหลายๆเหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในท้องทะเลและในมหาสมุทร ซึ่งตามสภาพแล้วผู้ที่อยู่ในเรือน่าจะเสียชีวิตทั้งหมด แต่สิ่งที่ไม่เกินไปจากความเป็นจริงก็เกิดขึ้น เพราะมีบางคนรอดชีวิต ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมมักจะกล่าวว่า โชคช่วย หรือเคราะห์ยังดี แต่ผู้ที่เป็นมุสลิมจะกล่าวว่า นี่คือความเมตตาของอัลลอฮฺ หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะคิดว่า ผู้ที่เกาะอยู่กับไม้กระดานกลางมหาสมุทรหรือผู้ที่เกาะอยู่กับถังน้ำมันเป็นเวลาหลายวันหลายคืนไม่น่าจะรอดชีวิต แต่ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงประสงค์ให้เรือสินค้า หรือเรือหาปลา หรือเรือลาดตระเวนของตำรวจน้ำหรือกองทัพเรือไปพบ จึงช่วยเขากลับเข้าสู่ฝั่งด้วยความปลอดภัย

        หรือเหตุการณ์เครื่องบินตก ข่าวที่ได้รับมักจะแจ้งว่า ไม่พบว่ามีผู้ใดรอดชีวิต แต่ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ในบางกรณีจึงมีผู้ได้รับความปลอดภัยจากเครื่องบินตก ในเมื่อเขายังไม่ถึงอะญัลหรือวาระแห่งความตาย แต่เมื่อใดที่วาระแห่งความตายของเขามาถึง เขาก็จะไม่ยืดชีวิตของเขาออกไปได้อีก การมีชีวิตรอดของบุคคลเป็นความเมตตาของอัลลอฮฺ อย่างแท้จริง

ดังที่พระองค์ตรัสว่า

“เว้นแต่ความเมตตาจากเรา และ(มีความสุข) เพลิดเพลินไปอีกชั่วเวลาหนึ่ง”

 

และเมื่ออะญัลของเขามาถึงสาเหตุนำไปสู่ความตายของเขาก็จะปรากฏ

 

ที่มา  : อัลอิศลาห์สมาคม