หน้าที่มุสลิมต่ออัลกุรอาน
  จำนวนคนเข้าชม  12292

หน้าที่มุสลิมต่ออัลกุรอาน




         ความศรัทธาในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นหนึ่งในหลักศรัทธา 6 ประการของศาสนาอิสลาม ความหมายของการศรัทธาในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานมิใช่เพียงเชื่อมั่นว่า เป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ มาจากอัลลอฮฺ  เท่านั้น แต่ผู้ศรัทธาต้องมีหน้าที่ปฏิบัติต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานให้ครบสิทธิของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานด้วย

 

ดังนั้น หน้าที่ของผู้ศรัทธาที่ต้องมีต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน มีดังนี้


1. ต้องมีความรักต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ

 

2. ต้องมีความเชื่อมั่นในเกียรติยศอันสูงส่งของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

 

3. ต้องศรัทธาอย่างสุจริตใจว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นพระคัมภีร์ที่ประเสริฐสุด

 

       4. ต้องปฏิบัติตามนัยแห่งพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน รักษาระเบียบและมารยาทที่ระบุในอัลกุรอาน อีกทั้งห่างไกลจากการที่อัลกุรอานบัญญัติว่าเป็นการต้องห้าม เป็นที่ทราบว่า ต้นแบบแห่งความดีทั้งปวงคือ ท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด  อัลลอฮฺ  ทรงยกย่องท่านศาสนทูต ว่า

“และอันที่จริงเจ้านั้นเป็นผู้มีจริยธรรมอันสูงส่ง”

(ซูเราะฮฺอัลกอลัม : 4)

 

5. ควรอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในทุกเวลาที่อำนวย แม้จะไม่มีน้ำละหมาด แต่ต้องไม่กระทบหรือถืออัลกุรอาน

 

6. ต้องไม่จับต้องพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นอกจากต้องสะอาดปราศจากฮะดัสเท่านั้น

 

      7. ต้องอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานอย่างถูกต้องตามหลักการอ่าน และให้เกิดความไพเราะในน้ำเสียงการอ่าน เพราะการอ่านด้วยเสียงที่ไพเราะเสนาะหูจะเพิ่มความสวยงามให้พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“จงอ่านอัลกุรอานอย่างประณีตบรรจง”

(ซูเราะฮฺอัลมุซัมมิล : 4)

 

8. ต้องมีความสำรวม เมื่อได้ฟังพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“และพวกเขาจะก้มกราบพลางร้องไห้ และมันจะเพิ่มความสำรวมแก่พวกเขาด้วย”

(ซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ : 109)

 

9. ต้องมีความกลัวเมื่อได้อ่านหรือได้ฟังโองการที่เกี่ยวกับการลงโทษ และต้องมีความหวังในโองการที่มีความหมายถึงการตอบแทนในการทำดี

 

10. ต้องฟังอย่างสงบ เมื่อได้ยินเสียงพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“และเมื่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานถูกอัญเชิญ พวกเจ้าทั้งหลายจงฟังและสงบนิ่ง แน่นอนว่าพวกเจ้าจักได้รับพระเมตตา”

(ซูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ : 204)

 

11. ต้องมีความรักต่อผู้ที่ปฏิบัติตนตามนัยแห่งพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

 

12. ต้องแสดงความไม่พอใจแบบสุภาพชนต่อผู้ที่ลบหลู่หรือไม่ให้เกียรติต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

 

13. ต้องเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นพระคัมภีร์แห่งสัจธรรมจากอัลลอฮฺตะอาลา อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“และจะมีใครอีกเล่า ที่จะมีคำพูดจริงแท้กว่าอัลลอฮฺ”

(ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ : 87)

 

14. ต้องรักษาโรคด้วยการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานให้คนป่วย อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

“โอ้มุฮัมหมัด เจ้าจงกล่าวเถิดว่าอัลกุรอานนั้น เป็นแนวธรรม และ เป็นการบำบัดแก่บรรดาผู้ศรัทธา”

(ซูเราะฮฺฟุศศิลัต : 44)

         และท่านนบี  รักษาตนเองด้วยการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานก่อนนอน และมีหลักฐานจำนวนมากที่ท่านนบี แนะนำให้รักษาโรคต่างๆ ด้วยอัลกุรอาน

 

       15. ควรอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานทุกๆ วัน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะละเลยในการอ่านอัลกุรอานในแต่ละวัน หนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ อ่านกันได้ แต่ไฉนไม่ให้เวลากับการอ่านอัลกุรอาน ?

 

       16. ควรซุญูดติลาวะฮฺคือ การก้มกราบหนึ่งครั้ง (เหมือนในละหมาด) เมื่ออ่านหรือได้ยินอัลกุรอานโองการที่มีสุนัตให้ซุญูด ซึ่งนับได้ในอัลกุรอาน 14 หรือ 15 แห่ง

 

17. ต้องพิจารณาบรรดาโองการแห่งพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และต้องพยายามทำความเข้าใจความหมายแห่งอัลกุรอาน อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“พวกเขามิได้พิจารณาอัลกุรอานดูบ้างหรือ?”

(ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ : 82)

 

18. ต้องเชื่อมั่นอย่างสุจริตว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับการปกป้องรักษามิให้มีการเพิ่มเติมและบกพร่อง อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“และเรา (อัลลอฮฺ) ได้ประทานอัลกุรอานลงมา และเราก็จักเป็นผู้รักษามันเอง”

(ซูเราะฮฺอัลฮิจรฺ : 9)

 

19. ต้องไม่วางพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่พื้นหรือที่ต่ำ อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

(อัลกุรอานนั้น) ได้รับการเทิดทูน ได้รับความบริสุทธิ์”

(ซูเราะฮฺอะบะซะ : 14)

 

20. ควรแปรงฟันทำความสะอาดช่องปากก่อนอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ท่านนบี กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงทำปากของพวกท่านให้หอมด้วยการแปรงฟัน”

 

      21. ควรขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากซัยตอนมารร้าย (กล่าวอะอูซุบิลลาฮฺ ฯ) ก่อนอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

“ดังนั้น เมื่อเจ้าจะอ่านอัลกุรอาน ก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจากซัยตอนมารร้ายที่ถูกสาปแช่ง”

(ซูเราะฮฺอันนะฮฺลุ : 98)

 

       22. ควรอ่านตัฟซีร (หนังสือที่อธิบายความหมายอัลกุรอาน) เพื่อเข้าใจความหมายโองการต่างๆ ของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และต้องไม่อธิบายความหมายของอัลกุรอานตามอารมณ์โดยไม่อาศัยนักอธิบายอัลกุรอาน (มุฟัสสิรีน) และ/หรือต้องไม่อ้างตัวบทแห่งอัลกุรอานเพียงเพื่อมาสนับสนุนความคิดของตนเอง ทั้งที่ตัวบทนั้นไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กล่าวอ้างนั้นแต่ประการใด ท่านนบี กล่าวความว่า

“ผู้ใดกล่าว (อธิบาย) ในอัลกุรอานด้วยความคิดเขาเอง (โดยไม่อาศัยคำอธิบายของนักวิชาการอัลกุรอาน มุฟัสสิรีน) จงเตรียมสถานที่สำหรับเขาจากนรก”

 

23. ต้องเรียนและสอนพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ท่านนบี กล่าวว่า

“ผู้ที่ดียิ่งในหมู่พวกเจ้าคือ ผู้ที่ศึกษาและสอนอัลกุรอาน”

 

 

ที่มา: วารสาร “ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี” ปีที่ 3 ฉบับที่ 1