ความอดทน…เส้นทางสู่สวรรค์
โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์
เล่าจากอบียะฮฺยา ศุฮัยบ์ อิบนิ สินาน รอดิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า
“กิจกรรมของผู้ศรัทธานั้นช่างประหลาดเหลือเกิน เพราะกิจกรรมของเขาทั้งหมดนั้นเป็นความดีแก่ตัวเขาทั้งสิ้น
ซึ่งจะไม่เป็นเช่นนั้นแก่ผู้ใด นอกจากผู้ศรัทธาเท่านั้น ถ้าหากเขาได้รับสิ่งที่น่าปลาบปลื้มยินดี เขาก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮฺ นั่นเป็นความดีสำหรับเขา
และถ้าหากมีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับเขา เขาก็อดทน นั่นก็เป็นความดีสำหรับเขาอีกเช่นกัน”
(รายงานโดยมุสลิม)
คำอธิบายบทฮะดิษ
ความอดทนคืออะไร ?
ความอดทน หมายถึง ความรู้สึกของจิตใจอันหนักแน่นมั่นคง พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่ย่อท้อจนสำเร็จลงได้ด้วยดี ไม่รู้สึกหวั่นไหวพรั่นพรึง หรือพ่ายแพ้ต่อเหตุการณ์นั้นๆ เช่น อดทนต่อความเจ็บปวดหรือป่วยไข้ แม้อาการจะหนักก็หาได้ปริปากบ่น หรือแสดงออกแต่อย่างใดเลย
ความอดทนหรือขันติธรรมจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีศรัทธา เพราะหากไม่มีศรัทธา จิตใจก็จะว่างเปล่าไร้จุดหมาย เช่น เราศรัทธาว่า การทำงานทำให้เราได้รับค่าตอบแทน เราก็จะอดทนทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทน ผู้มีศรัทธามั่นจะช่วยให้เขาเกิดความอดทนในทุกสภาพการณ์ ไม่ว่าจะประสบปัญหาอันยุ่งยากสักเพียงใด ก็จะมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จ ด้วยหลักศรัทธาที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยการกำหนดของอัลเลาะฮฺทั้งสิ้น
ผู้มีความอดทนย่อมมีพลังใจมหาศาล ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการงาน ต้องอาศัยความอดทนทั้งสิ้น ดังนั้นความอดทนจึงเป็นปัจจัยแรกของภารกิจและการดำรงชีวิต
ความสำเร็จของมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอุปสรรคในการดำเนินชีวิต หน้าที่การงาน การพัฒนาด้านสังคม นอกจากอาศัยสติปัญญาแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือความอดทน ความมุ่งมั่น บากบั่น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม บุคคลที่สามารถอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากที่สุดของชีวิต ผ่านวิกฤติดังกล่าวได้จะกลายเป็นคนเหนือคน
ความอดทนเป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง อดทนเพื่อบรรลุความดีงาม บางครั้งถูกกระทบด้วยสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เป็นลักษณะของกายและใจที่พร้อมจะเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ โดยไม่ยอมแพ้หรืออ่อนแอ คนเราเกิดมาถ้าไม่มีความอดทนแล้ว ชีวิตดูเหมือนไร้ค่า ไม่มีความหมาย และไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้
ลักษณะของความอดทนมีดังต่อไปนี้
1. อดทนต่อความยากลำบากกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ความหิวโหย และความทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บทำให้เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา เสียการงาน เมื่อเกิดทุกขเวทนา ไม่ควรแสดงอาการทุรนทุราย
2. อดทนต่อความตรากตรำ ความทุกข์ยากจาการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จะต้องอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อชีวิต ต้องขยันประกอบอาชีพการงานจึงจะได้มา และในการประกอบอาชีพนั้นในบางครั้งต้องประสบกับปัญหา และอุปสรรค ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่มากก็น้อยเป็นธรรมดา ต้องอดทนทำใจกับความล้มเหลว ความผิดหวัง และความขมขื่น ไม่ควรท้อถอย หรือยอมแพ้ ควรใช้ความอดทน มุ่งมั่นการงานที่มุ่งหวังตั้งใจไว้จะสำเร็จได้ด้วยดี
3. ความอดทนต่อความเจ็บใจ ทุกคนจะอยู่ลำพังเพียงผู้เดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ และการอยู่ร่วมกันบางครั้งอาจมีการกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทกันบ้าง เพราะต่างมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขาดความอดทนแล้ว เรื่องทะเลาะวิวาทจะแผ่ขยายกว้างออกไป เกิดความแตกแยกและความเสียหาย
4. อดทนต่อการเชื่อฟัง (ตออัต) กล่าวคือ ปฏิบัติตามในสิ่งที่อัลเลาะฮฺ ทรงบัญชาใช้ ดังอัลกุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺตอฮา โองการที่ 132 ความว่า :
“และเจ้าจงใช้ครอบครัวของเจ้าทำละหมาด และจงมีความอดทนเพื่อการนั้น”
5. อดทนต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม การอยู่ร่วมกันของประชาคมในองคาพยพของสังคมนั้น จะต้องอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคีด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บนฐานของความอดทนเป็นที่ตั้ง
ความอดทนเส้นทางสู่สวรรค์
มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบกับทบทดสอบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่บททดสอบของผู้ศรัทธานั้นใหญ่หลวงกว่า และหนักหนาสาหัสกว่าผู้อื่นหลายเท่า ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด ได้พูดถึงการทดสอบของมนุษย์ว่า
“ดุนยาคือคุกของมุอ์มิน และเป็นสวรรค์ของกาฟิร”
(รายงานโดยมุสลิม)
อย่างไรก็ดี การทดสอบที่หนักหน่วงที่สุดต่อมุอฺมินผู้ศรัทธานั้น มิได้เป็นการทดสอบในเรื่องปัจจัยยังชีพเพียงอย่างเดียว แต่การทดสอบที่จริงแท้ของมุอฺมินคือ ทดสอบพลังอีหม่านที่หยั่งรากฝังอยู่ในจิตใจของเขา
คำว่า “อีหม่าน” หมายรวมถึง การยอมรับและปฏิบัติตาม ดังนั้นเส้นทางของมุอฺมินที่แท้จริงนั้นคือเส้นทางของการขวนขวายความสมบูรณ์ เป็นเส้นทางของการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อค้นหาความโปรดปรานจากพระผู้อภิบาล
ท่านฮาซัน อัลบัศรีย์ ได้กล่าวดังเรื่อง “อีหม่าน” ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“อีหม่าน” มิใช่เป็นการเพ้อฝัน หรือการตกแต่งให้ดูวิจิตร หากแต่มันคือสิ่งที่หยั่งรากลึกปักอยู่ในใจ และแสดงออกให้เห็นด้วยการปฏิบัติโดยการน้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺ แสดงออกตามแบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมหมัด ด้วยความเที่ยงตรงและถูกต้อง นอกจากปฏิบัติความดีแล้ว ยังต้องละทิ้งและห่างจากความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลายด้วย"
สรุปแล้วทั้งการปฏิบัติความดี และละทิ้งความชั่ว ล้วนต้องอาศัยความอดทนเป็นที่ตั้งด้วยกันทั้งสิ้น ดังอัลกุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺฮัซซุมัร โองการที่ 10 ความว่า:
“จงกล่าวต่อปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด
สำหรับผู้ทำดีนั้นในโลกนี้นั้น เขาก็จะได้รับความดี แผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างขวางนัก
แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่มากมายโดยมิต้องคำนวณ”
โองการนี้ได้บอกว่า “ผู้ทำดีจะได้รับผลตอบแทนแม้กระทั่งในโลกนี้” ดังกล่าวนั้นเป็นการบอกให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายทราบว่า “หากมีอุปสรรค์ใด ๆ ขวางกั้น ก็จงใช้อดทนเป็นที่ตั้ง”
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จอันเดียวกัน นั่นคือต้องอดทน และผลของความอดทนก็คือ ผลตอบแทน และผลตอบแทนที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากสวรรค์วิมานอันนิรันดร แน่นอนยิ่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่สุดยอดแห่งความสำเร็จนั้นคือ สวรรค์อันสถาพร และเส้นทางแห่งสวรรค์ ก็คือเส้นทางที่ต้องอาศัยความอดทน
ณ วันนี้ ประชาชาติอิสลามมีความมานะอดทนแค่ไหนที่จะยกฐานะตนเองให้เป็นผู้ยำเกรงอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา เราอดทนได้หรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นห่างจากการกระทำบาปทั้งหลายที่ยั่วยวนตัณหา และอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต เรามีความอดทนอดกลั้นมากน้อยแค่ไหน ที่จะเผชิญกับการท้าทายของกระแสต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา ณ ทุกอณูของโลกใบนี้ อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอน โองการที่ 120 ความว่า :
“หากแม้พวกเจ้าอดทนและตักวา ก็ไม่มีวันที่แผนการของพวกเขา จะให้โทษแก่พวกเจ้าได้เลยแม้แต่น้อย”
ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่มีความอดทน
จากอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 155-157 ความว่า :
“ขอยืนยันเราจะทดสอบพวกเจ้าอย่างแน่นอน ด้วยบางสิ่ง (เพียงเล็กน้อย) จากความหวาดกลัว ความหิวโหย ความขาดแคลนทรัพย์สิน ความขาดแคลนชีวิต (ของผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ) และความขาดแคลนผลไม้ และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด บรรดาผู้ซึ่งเมื่อเหตุร้ายได้มาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของ อัลลอฮฺ และเราต้องคืนกลับไปสู่พระองค์ พวกเหล่านั้นย่อมได้รับพระเมตตาธรรมจาก องค์อภิบาลของพวกเขา และพวกนั้นเป็นพวกที่ได้รับการชี้นำโดยแท้จริง”
จากอัลฮะดิษ เล่าจากอุมมิ้ลอะลาอ์ (นางเป็นหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ให้สัตยาบัน) นางได้กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตแห่ง ได้มาเยี่ยมฉัน ขณะที่ฉันยังป่วยอยู่ ท่านได้กล่าวว่า
“โอ้อุมมุ้ลอะลาอ์ เอ๋ย ! เธอจงแจ้งข่าวดีเถิดว่า แท้จริงความเจ็บป่วยของมุสลิมนั้น พระองค์อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดต่าง ๆ ของเขาออกไป เฉกเช่นไฟที่มันได้ขจัดเขม่า ของเงินและทองให้ออกไป”
(รายงานโดย อบูดาวูด)
พฤติกรรมที่ถือว่า ขาดความอดทน
♣ พิรี้พิไร รำพึงรำพัน เมื่อภัยพิบัติหรือการทดสอบใดๆ มาประสบกับเขา
♣ หวาดกลัวต่อการทดสอบที่อัลเลาะฮฺได้ให้มาประสบกับเขาโดยผ่านมิติของเวลาและสถานที่โดยเหตุนี้เอง จึงมีคำกล่าวว่า :
เวลาเปรียบเสมือนคมดาบ หากเขาไม่อดทนกับบททดสอบที่ผ่านมากับกาลเวลาแล้ว
แน่นอนวันเวลาที่แผ้วผ่านมาใช้ชีวิตของเขา มันจะเผาผลาญตัวเขาเองด้วยกับไฟแห่งความหวาดกลัว
♣ หลีกหนีกับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่น่ารังเกียจ ปล่อยให้อำนาจของกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำเข้ามาครอบงำ
♣ รำพึงรำพันต่อสิ่งที่มาประสบกับเขาทั้งในชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศและครอบครัว
ขาดความอดทนแท้จริงคือขาดอีหม่าน
อีหม่าน คือ พลังขับเคลื่อนบุคคลสู่ความดีงาม อีหม่านที่เข้มแข็งจะก่อเกิดพฤติกรรมที่ศาสนาเชิดชูยกย่อง เช่น รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีความอดทนเป็นที่ตั้ง รู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม มีจิตใจต้องการให้เกิดความสงบสุขในชุมชน และรังเกียจสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ จะต้องผ่านกระบวนการของความอดทนเป็นฐาน
คนบางคนถูกทดสอบด้วยสิ่งต่าง ๆ เพียงเล็กน้อย เช่น ความหวาดกลัว ความหิวโหย การขาดแคลนอาหาร สูญเสียทรัพย์สินสมบัติ และชีวิต ดังนั้นหากเขาขาดความอดทน มีความอ่อนแอ รำพึงรำพันในสิ่งต่าง ๆ ที่สูญเสียไปก็แสดงว่าเขาผู้นั้นยังขาดอีหม่านที่จริงแท้
บทเรียนจากอัลฮะดิษ
1. มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบกับบททดสอบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่บททดสอบของผู้ศรัทธานั้นใหญ่หลวงและหนักหนาสาหัสกว่าผู้อื่นหลายเท่า ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือ สวรรค์วิมานอันนิรันดร
2. ความอดทน เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ความปรารถนาที่เราใฝ่ฝันบรรลุเป้าหมายและได้รับผลตอบแทนอันเปี่ยมยิ่งด้วยเกียรติจากพระองค์อัลลอฮฺในสวรรค์วิมานแห่งโลกอาคิเราะฮฺ
3. บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทุกคน หากปราศจากความอดทนแล้ว บางทีพวกเขาอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายและมิอาจบรรลุถึงความปรารถนาได้ดุจดั่งเงาตามตัว
4. บรรดาผู้ศรัทธาจะไม่เสียใจ และไม่ระทมทุกข์ หากความทุกข์ใดๆ แผ้วพานมาประสบกับเขา อันเนื่องจากเขามีเป้าหมาย มีความหวัง อีกทั้ง ทุกๆ การประสบภัย ทุกๆ การเสียใจ และทุกๆ ความผิดหวังที่ประสบกับเขา เขาย่อมรู้ว่า การอดทนนั้นย่อมนำมาซึ่งการตอบแทนที่ดีกว่า
5. เมื่อมีความทุกข์ยากใดๆ เกิดขึ้น ผู้ศรัทธาควรจะได้บทเรียนว่า ตัวเองเป็นผู้อ่อนแอและไม่สามารถบงการชีวิตของตนเองได้ พระองค์อัลลอฮฺต่างหากที่ทรงกำหนดความเป็นไปของชีวิต
6. ความอดทน คือ ต้นทุนทางจิตใจที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมี เพราะวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งที่มนุษย์ถูกสร้างมาก็เพื่อทดสอบว่า เขามีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺหรือไม่ กว่าจะถึงลมหายใจสุดท้าย มนุษย์ต้องเผชิญกับอุปสรรค ปัญหามากมาย หากความอดทนไม่เพียงพอก็มิอาจก้าวข้ามผ่านการทดสอบในสนามชีวิตนี้ไปได้
ที่มา: วารสาร “ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี” ปีที่ 3 ฉบับที่ 1