การด่าทอต่ออัลลอฮฺถือเป็นการปฏิเสธ ถึงแม้จะไม่มีเจตนาก็ตาม
  จำนวนคนเข้าชม  3927

การด่าทอต่ออัลลอฮฺถือเป็นการปฏิเสธ ถึงแม้จะไม่มีเจตนาก็ตาม


อับดุลอะซีซ บิน มัรซูก อัฏ-เฏาะรีฟีย์


         การด่าทอต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ถือเป็นกุฟรฺ (การปฏิเสธ) และไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ และไม่ยึดถือข้ออ้างสำหรับความมักง่ายของคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเจตนา กล่าวคือคำพูด คำด่าทอของพวกเขานั้นไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายต่ออัลลอฮฺ

        ข้อแก้ตัวนี้ ถือเป็นความเขลา และไม่มีใครรับข้อแก้ตัวนี้นอกจากอัล-ญะฮฺม์ อิบนุ ศ็อฟวาน และพวกมุรญิอะฮฺที่สุดโต่งที่กล่าวว่า การศรัทธาคือการเชื่อและการรู้ในจิตใจ และนี่อาจจะมาจากสาเหตุความไม่รู้ว่าการศรัทธาคือ คำพูดและการปฏิบัติ นั่นคือคำพูดของลิ้นและหัวใจ และการปฏิบัติของหัวใจและร่างกาย พวกมุรญิอะฮฺสุดโต่งมีทัศนะว่า การงานที่เปิดเผยไม่สามารถยืนยันการมีศรัทธาได้ กล่าวคือพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธมันนอกจากการย้อนกลับมาดูหัวใจ

        และที่แท้จริงคือ การศรัทธานั้นมีทั้งที่เปิดเผยและเร้นลับ และทั้งสองประการนั้นคือสิ่งที่จะยืนยันการมีศรัทธา และการปฏิเสธหนึ่งในสองนั้น ถือว่าเป็นการปฏิเสธการศรัทธาทั้งหมด

        ดังที่ คนกาฟิรฺ (ปฏิเสธศรัทธา) จะถือว่าเป็นกุฟรฺเมื่อเขามีเจตนาปฏิเสธถึงแม้ว่าเขาจะไม่เปล่งวาจาด้วยปากหรือแสดงพฤติกรรมด้วยร่างกาย เช่นเดียวกัน ถือว่าเขาเป็นกุฟรฺด้วยคำพูดถึงแม้ว่าเขาจะไม่ตั้งใจปฏิเสธด้วยกับหัวใจหรือการกระทำ เช่นเดียวกันถือว่าเป็นกุฟรฺ  สำหรับผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกุฟรฺถึงแม้เขาจะไม่มีเจตนาปฏิเสธด้วยใจและไม่ได้เปล่งวาจาด้วยปากก็ตาม และเมื่อร่างกายได้กระทำผิดอย่างหนึ่ง มันจะต้องถูกลงโทษ ส่วน (ข้อเท็จจริง) ที่ซ่อนเร้นนั้นก็มอบหมายให้กับอัลลอฮฺ และไม่ใช่ว่าทุกคนที่ถูกตัดสินว่าเป็นกุฟรฺ (เนื่องจากพฤติกรรมที่เปิดเผยที่แสดงถึงการเป็นกุฟรฺ) จะต้องเป็นกาฟิรฺ ณ องค์อัลลอฮฺ เพราะเรื่องซ่อนเร้นภายในจิตใจนั้นเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ ส่วนที่เปิดเผยนั้นเป็นสิ่งที่ปวงบ่าวต้องถูกเอาผิดในโลกดุนยานี้

        อัลลอฮฺได้ทรงตัดสินคนที่ดูแคลนต่อพระองค์ ต่อคัมภีร์ และเราะสูลของพระองค์ และทรงไม่ตอบรับข้อแก้ตัวว่าไม่ได้กล่าวจริงจัง  พระองค์ตรัส ความว่า

          “ และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นแต่พูดสนุกและพูดเล่นเท่านั้น จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าต่ออัลลอฮฺและโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยันกัน พวกท่านอย่าแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่านได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากมีการศรัทธาของพวกท่าน...”

(อัต-เตาบะฮฺ : 65-66)

         และสติปัญญาก็บ่งบอกว่ามนุษย์จะต้องถูกเอาผิดในสิ่งที่แสดงออกอย่างเปิดเผยจากตัวของพวกเขา  ดังที่การไม่รับการใส่ร้ายว่าผิดประเวณีของบางคน และเช่นเดียวกัน กษัตริย์ก็จะไม่รับการด่าทอและสาปแช่งของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะแก้ตัวว่าไม่ได้ตั้งใจ อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้โบยคนที่ใส่ความคนอื่นว่าผิดประเวณีโดยไม่มีหลักฐานแปดสิบครั้ง และไม่รับข้อกล่าวอ้างของผู้ที่ใส่ความว่าไม่ได้มีความตั้งใจ และเช่นเดียวกัน ความน่าเกรงขามของกษัตริย์จะต้องตกต่ำลงหากปล่อยให้ผู้คนล้อเล่น หยอกแหย่กับเกียรติของเขา และเขาก็ลงโทษและตักเตือนพวกที่ล้อเลี้ยนนั้นทั้งคนที่พูดจริงหรือพูดเล่นก็ตาม

        มีตัวบทหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงการเอาผิดของมนุษย์จากความอธรรมที่เขาได้เพิกเฉยจากการรู้ถึงความยิ่งใหญ่และสถานะของความผิดอันเป็นที่รู้จักอย่างชัดแจ้งจากสติปัญญาและหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ และไม่รับข้อแก้ตัวในเรื่องดังกล่าว

       ดังปรากฏในรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

«إِنَّ الْعَبْدَ لَيَتَكَلَّمُ بِالْكَلِمَةِ مِنْ سَخَطِ اللَّهِ لَا يُلْقِي لَهَا بَالًا يَهْوِي بِهَا فِي جَهَنَّمَ سَبْعِيْنَ خَرِيْفًا» [البخاري برقم 6478، ومسلم برقم 2988]

“แท้จริงบ่าวคนหนึ่งจะพูดคำพูดหนึ่ง จากบรรดาคำพูดที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้ว โดยเขาไม่ได้คิดอะไรกับคำพูดนั้นเลย

และแล้วเขาก็ถูกขว้างลงในไฟนรกญะฮันนัมซึ่งมีระยะลึกมากถึงเจ็ดสิบฤดู”

 (อัล-บุคอรียฺ  6478 และมุสลิม  2988)

          อัลลอฮฺได้ยืนยันถึงการลงโทษสำหรับเขา และไม่รับการแก้ตัวใดๆ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้คิดอะไรกับคำพูดที่เขากล่าวไป นั่นคือ เขาไมได้นึกถึงคุณค่าและน้ำหนักในคำพูดของเขา เพราะเขามีความมักง่าย ไม่พินิจพิเคราะห์ในคำพูด หากเขาได้ไตร่ตรองและคิดทบทวน อย่างน้อยๆ ที่สุดย่อมเป็นที่ประจักษ์ในความอุบาทว์และความเลวทรามของคำพูดที่เขาเปล่งออกมา

และมีรายงานจากหะดีษของท่านบิลาล อิบนุ อัล-หาริษ จากท่านนบี  กล่าวว่า

«وَإِنَّ أَحَدَكُمْ لَيَتَكَلَّمُ بِالْكَلِمَةِ مِنْ سَخَطِ اللَّهِ مَا يَظُنُّ أَنْ تَبْلُغَ مَا بَلَغَتْ، فَيَكْتُبُ اللَّهُ عَلَيْهِ بِهَا سَخَطَهُ إِلَى يَوْمِ يَلْقَاهُ» [مسند أحمد 3/469، صحيح ابن حبان برقم 280]

“และแท้จริง คนหนึ่งคนใดจากพวกท่าน ได้พูดคำหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้ว เขาไม่ได้คาดคิดถึง(ความเลวร้ายของมัน)ว่ามันจะใหญ่หลวงถึงขนาดนี้

แล้วอัลลอฮฺก็ทรงบันทึกเนื่องจากคำพูดนั้นซึ่งความโกรธกริ้วของพระองค์ตราบจนวันที่เขาจะได้พบเจอพระองค์”

(มุสนัดอะหฺมัด 3/469 เลขที่ 15852, และเศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน เลขที่ 280)

         ดังนั้น คำแก้ตัวที่อ้างว่าการด่าทออัลลอฮฺหรือสาปแช่งพระองค์โดยไม่มีเจตนาตำหนิหรือดูแคลน เป็นคำแก้ตัวที่อิบลีสหลอกล่อมนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อเขาจะได้ยังคงอยู่ในการปฏิเสธตราบนานเท่านาน  และเพื่อจะให้เขาจมปลักอยู่ในความอธรรมของเขาต่อพระผู้อภิบาลของเขา และชัยฏอนจะไม่หลอกล่อมนุษย์ในเรื่องการปฏิเสธ(กุฟรฺ)นอกจากมันจะสร้างข้อเคลือบแคลงในเชิงสติปัญญาและบทบัญญัติที่ไร้น้ำหนัก ที่ไม่อาจอยู่ในมาตรวัดของความเข้าใจที่ถูกต้องที่ปราศจากอารมณ์ใฝ่ต่ำเพื่อให้เขาได้อุ่นใจและสบายใจ

 

         และส่วนหนึ่งจากกลเล่ห์และข้อเคลือบแคลงของชัยฏอนที่มีต่อมนุษย์คือ การที่มันให้มนุษย์ดูเรื่องการปฏิเสธและบาปของเขาเป็นเรื่องธรรมดา ไม่หนักหนา ด้วยกับให้มนุษย์นึกคิดถึงบรรดาความดีงามต่างๆ ของเขาว่าสามารถลบล้างความผิดและความเจ็บปวดของการทำความผิดในหัวใจของผู้ที่ทำผิดได้ ดังเช่นที่มันหลอกล่อมนุษย์ที่ด่าทออัลลอฮฺว่า เขานั้นได้กล่าวคำปฏิญาน(กะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺ) ทำดีต่อพ่อแม่ และทำการละหมาดแล้ว

         และด้วยการหลอกล่อข้างต้น บรรดามุกริกีน (ผู้ตั้งภาคี) จากชาวมักกะฮฺจึงหลงทาง เพราะเขาได้ทำการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ กราบไหว้บูชาเจว็ด พร้อมทั้งนี้ เขาก็นึกถึงความดีการให้น้ำแก่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ การบูรณามัสญิดหะรอม การห่มกะอฺบะฮฺด้วยผ้า แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ยังประโยชน์แก่พวกเขาเลย ณ อัลลอฮฺ เพราะการตั้งภาคีของพวกเขาต่อพระองค์ มันค้านกับการให้ความยิ่งใหญ่ต่อพระองค์ พวกเขาให้ความยิ่งใหญ่แก่มัสญิดหะรอมแต่กลับปฏิเสธต่อพระผู้อภิบาลของมัสญิดหะรอม ทั้งๆ ที่การให้ความยิ่งใหญ่แก่มัสญิดนั้นมีสาเหตุเนื่องเพราะพระผู้อภิบาลของมัสญิด ไม่ใช่ให้ความยิ่งใหญ่แก่พระผู้อภิบาลเพราะมัสญิดของพระองค์

อัลลอฮฺตรัส ความว่า

        “พวกเจ้าได้ถือเอาการให้น้ำดื่ม แก่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ และการบูรณะมัสยิดอัล-หะรอม ดั่งผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลก และต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ? เขาเหล่านั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน ณ ที่อัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงแนะนำกลุ่มชนที่เป็นผู้อธรรม”

 (อัต-เตาบะฮฺ : 19)

และหลายครั้ง ที่การศรัทธาต่ออัลลอฮฺนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง ทั้งนี้ เพราะมันค้านกับสิ่งที่เขากล่าวอ้าง

พระองค์ตรัส ความว่า:

“และจากหมู่มนุษย์นั้น มีผู้กล่าวว่า เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกแล้ว ทั้ง ๆ ที่พวกเขาหาใช่เป็นผู้ศรัทธาไม่”

 (อัล-บะเกาะเราะฮฺ, : 8)


ดังนั้น ถือว่าไม่ถูกต้องที่กล่าวอ้างว่าให้ความยิ่งใหญ่ต่ออัลลอฮฺและกล่าวคำปฏิญาน (กะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺ) พร้อมๆ กับการด่าทอและดูแคลนต่อพระองค์

 

 

 


แปลโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์ / Islamhouse