การให้อภัย คืออาวุธของคนที่เข้มแข็ง
  จำนวนคนเข้าชม  30776

  

การให้อภัย คืออาวุธของคนที่เข้มแข็ง


โดย อาจารย์อรุณ บุญชม


อัลลอฮฺทรงเชิญชวนบ่าวของพระองค์สู่การให้อภัย พระองค์ตรัสว่า

“บรรดาผู้ยำเกรง คือ บรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย”

(อาลิอิมรอน : 134)

        ความเมตตาที่มีอยู่ในหัวใจของบ่าว จะทำให้บ่าวให้อภัยแก่ผู้ที่ทำความผิดต่อตนหรือละเมิดตน เขาจะไม่ลงโทษทั้งที่มีความสามารถจะลงโทษได้ และเมื่อบ่าวได้กระทำเช่นนั้น เขาย่อมมีสิทธิ์ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ พระองค์ ตรัสความว่า

         “ผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติมิตร และคนจน และผู้อพยพในหนทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาจงอภัยและยกโทษ (ให้แก่พวกเขาเถิด) พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อันนูร : 22)

         โองการนี้ประทานลงมาขณะที่ท่านอบูบักรสาบานว่าจะไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูแก่มิสเตาะฮฺ ซึ่งเป็นญาติของเขา เพราะเขามีส่วนร่วมในการแพร่ข่าวลือกล่าวหาพระนางอาอิชะฮฺว่ากระทำผิดร้ายแรง การสาบานของเขา เพื่อเป็นการลงโทษมิสเตาะฮฺ อัลลอฮฺได้สั่งสอนให้อภัย โดยตรัสว่า

“พวกเขาจงอภัย และยกโทษ”

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ท้ายอายะฮฺว่า ผู้ใดให้อภัยแก่คนที่ทำผิดต่อเขา อัลลอฮฺก็จะให้อภัยเขา

“พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า”


มีรายงานจากท่านอบูบักร ได้กล่าวว่า พวกเราได้รับรายงานว่าอัลลอฮฺตะอาลาทรงใช้ผู้ประกาศในวันกิยามะฮฺ ให้ประกาศว่า

“ผู้ใดมีอะไรติดค้างอยู่ที่อัลลอฮฺบ้างให้เขาจงลุกขึ้นยืน อัลลอฮฺก็จะตอบแทนพวกเขา เท่ากับที่เขาได้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์”

 

การเชิญชวนสู่จริยธรรม

         อิสลามปรารถนาให้มุสลิมทุกคนเป็นผู้เชิญชวนสู่อิสลามด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว อิสลามจึงแนะนำพวกเขาให้ ให้อภัยแม้กับคนต่างศาสนิกที่กระทำความผิดต่อเขาในระดับบุคคล

        “จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมหมัด) แก่บรรดาผู้ศรัทธาให้พวกเขาให้อภัยแก่บรรดาผู้ที่ไม่หวัง ในผลบุญของอัลลอฮฺ และไม่กลัวการลงโทษของพระองค์ เพื่อพระองค์จะทรงตอบแทน แก่หมู่ชนตามที่พวกเขาได้ทำความผิดเอาไว้”

(อัลญาซิยะฮฺ : 14)

        การที่มุสลิมปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยจริยธรรมอันสูงส่งเช่นนี้ เป็นเหตุทำให้มีผู้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก และเป็นการยึดถือแบบอย่างของท่านศาสดามุฮัมหมัด อีกด้วย

         ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรมัสอูด  กล่าวว่า : ฉันมองดูท่านนบีมุฮัมหมด ขณะที่ท่านกำลังเล่าถึง นบีท่านหนึ่งถูกพวกพ้องของพวกเขาทำร้ายจนเลือดออก เขาใช้มือลูบเลือดที่เปื้อนใบหน้า พลางก็กล่าวว่า

“ข้าแต่องค์อภิบาลได้โปรดให้อภัยแก่พวกพ้องของฉันด้วยเถิด เพราะความจริงพวกเขาไม่รู้”

อิสลาม อบรมมุสลิมให้ยึดถือความหมายอันยิ่งใหญ่และสูงส่ง จนถึงกับทำให้ท่านอุมัร อิบนุ คอตตอบ กล่าวว่า

 “ประชาชาติของฉันทุกคนได้รับการอภัยจากฉัน”

          ในความหมายเดียวกันนี้ เราจะรู้สึกได้ในคำพูดของอิบนุมัสอูด  ขณะที่เขานั่งอยู่ในตลาดเพื่อซื้ออาหาร เมื่อเขาต้องการจะจ่ายเงินค่าอาหาร เขาพบว่ามันได้ถูกขโมยไปเสียแล้ว ประชาชนเมื่อทราบเช่นนั้น ก็ประกาศหาตัวคนที่ขโมยเงินของเขาไป อับดุลลอฮฺ บุตรมัสอูด ได้ยกมือวิงวอนว่า

          “ข้าแด่อัลลอฮฺ ถ้าหากความจำเป็น เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องเอาเงินไป ขอพระองค์ได้โปรดเพิ่มพูนมันแก่เขา แต่ถ้าหากเขาเอามันไปโดยไม่เกรงกลัวบาป ขอพระองค์ได้โปรดให้มันเป็นบาปสุดท้ายของเขาด้วยเทอญ”

 

การให้อภัยนั้นดีที่สุด

         ในเมื่ออิสลามได้ยืนยันสิทธิของผู้ถูกละเมิดด้วยการลงโทษผู้ที่ละเมิดอย่างสาสมกัน ตรงตามนัยของความยุติธรรม ดังนั้น การให้อภัยและการไม่ถือโทษที่ไม่ใช่เป็นการยั่วยุให้เกิดการละเมิด จึงเป็นสิ่งที่มีเกียรติและเป็นความเมตตาอย่างยิ่ง อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

         “และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วที่เสมอกัน ดังนั้น ผู้ใด้ให้อภัยและไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน รางวัลตอบแทนพวกเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ไม่โปรดบรรดาผู้อธรรม

ชนเหล่านั้นจะไม่มีทางตำหนิแก่พวกเขา ส่วนที่จะเกิดโทษนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ที่อธรรมต่อมนุษย์ และก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน โดยปราศจากความเป็นธรรม ชนเหล่านี้ พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด และแน่นอน ผู้ที่อดทนและให้อภัย แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง”

(อัชชูรอ : 39-43)

    คำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

“และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วที่เสมอกัน”

เป็นการเปิดเผยสิทธิของผู้มีศรัทธาในการแก้แค้นเมื่อถูกละเมิด และได้กำหนดกรอบของการแก้แค้นคือการตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นกรอบที่จะไม่ยินยอมให้มีการละเมิด


     ♥ หลังจากนั้น อัลลอฮฺได้เสนอขั้นของความดี เพื่อเป็นการส่งเสริม โดยพระองค์ตรัสว่า

“ดังนั้น ผู้ใด้ให้อภัยและไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน รางวัลตอบแทนพวกเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ”


    จากนั้น ติดตามด้วยคำประกาศว่า พวกที่ละเมิดจะไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ

“แท้จริงพระองค์ไม่โปรดบรรดาผู้อธรรม”


     จากนั้นก็ประกาศสิทธิในการแก้แค้นของผู้ที่ละเมิดและประกาศอย่างจริงจังว่า ผู้ละเมิดจะต้องได้รับการลงโทษในโลกนี้ และได้รับการทรมานอย่างแสนสาหัสในโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

     “แต่ถ้าผู้ใดแก้แค้นตอบแทนหลังจากได้รับความอธรรม ชนเหล่านั้นจะไม่มีทางตำหนิแก่พวกเขา ส่วนที่จะเกิดโทษนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ที่อธรรมต่อมนุษย์ และก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในแผ่นดินโดยปราศจากความเป็นธรรม ชนเหล่านี้พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด”


      หลังจากนั้นก็ได้กล่าวถึงขั้นของความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดเด่น และยังมีการผลักดันอีกครั้งหนึ่งให้ไปสู่ระดับของการทำความดีด้วยการอดทน และการให้อภัยโดยการประกาศว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่หนักแน่นมั่นคง

 “และแน่นอนผู้ที่อดทนให้อภัย แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง”


         ลักษณะเหล่านี้มีมาในตัวบทที่ถูกนำมาเสนออย่างกลมกลืนกัน จะสังเกตได้ว่าเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของความนึกคิดที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และมีคำแนะนำต่างๆ ที่สูงส่ง พร้อมทั้งระมัดระวังความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ที่ถูกกระทำ และมองเห็นความรุนแรงของผู้ละเมิด มีคำประกาศว่าสิทธิของผู้ที่ถูกละเมิดต้องแก้แค้นตามความเป็นจริง หลังจากนั้น ก็ผลักดันให้พวกเขาเกิดความอดทนและการให้อภัย ทั้งหมดนี้คือ สีสันของวงจรระหว่างความยุติธรรมกับการสร้างความดี

ในวันที่เข้าพิชิตนครมักกะฮฺ ท่านศาสดา ได้กล่าวแก่ชาวกุเรช ซึ่งเป็นศัตรูของท่านและขับไล่ท่านออกไปจากนครมักกะฮฺว่า

“พวกท่านเห็นว่าฉันควรจะปฏิบัติกับพวกท่านอย่างไร?”

พวกเขากล่าวว่า ท่านเป็นพี่น้องที่ประเสริฐ และเป็นลูกของพี่น้องที่ประเสริฐ ท่านศาสดาได้กล่าวขึ้นว่า ฉันขอกล่าวแก่พวกท่านเหมือนกับที่นบียูซุฟ ได้กล่าวแก่พี่น้องของเขาว่า

“ไม่มีการประณามพวกท่านในวันนี้ พวกท่านจงไปกันเถิด พวกท่านถูกปลดปล่อยแล้ว”

ในอายะฮฺอื่น อัลกุรอานได้บรรยายเรื่องผลบุญของผู้ให้อภัยว่า

         “ และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยจากองค์อภิบาลของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ ที่ความกว้างของมันคือ บรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ยำเกรง ซึ่งพวกเขาบริจาคในยามที่สุขสบายและเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะและบรรดาผู้ให้อภัย แก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย”

(อาลิอิมรอน : 133-134)

 

การให้อภัยเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีจิตใจที่งดงาม

     คนที่ให้อภัยผู้อื่นย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงส่งและงดงาม มีความมุ่งมั่นสูง มีขันติธรรม และมีความอดทน มุอาวิยะฮฺได้กล่าวว่า :

“พวกท่านจงมีความขันติธรรมและอดทน จนกว่าพวกท่านจะมีโอกาส และเมื่อพวกท่านมีโอกาสพวกท่านจงให้อภัยและให้ความกรุณา”


     ขณะเมื่ออับดุลมาลิก บุตรมัรวาน ได้นำเชลยศึกมา อับดุลมาลิก ได้ถามท่านรอญาอฺ ว่า ท่านมีความเห็นเป็นอย่างไร? ท่านรอญาอฺกล่าวว่า :

 "ความจริงอัลลอฮฺได้มอบสิ่งที่อัลลอฮฺรักให้แก่ท่านแล้ว นั่นคือ ชัยชนะ ดังนั้น ท่านจงมอบสิ่งที่อัลลอฮฺรักให้แก่พระองค์เถิด นั่นคือ การให้อภัย"

ดังนั้นเขาจึงให้อภัยแก่เชลยศึกนั้นทั้งหมด


     การให้อภัยเป็นจรรยาของผู้ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อพวกเขามีความสามารถ และอัลลอฮฺให้ความสามารถแก่เขาที่จะจัดการกับผู้ที่ละเมิดพวกเขาได้ แต่พวกเขายอมให้อภัย

     ท่านอิหม่ามบุคอรีได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วย การแก้แค้นผู้ละเมิดว่า คำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน”

     อิบรอฮีม อันนะคออีย์ ได้กล่าวว่า : พวกเขารังเกียจที่จะเป็นผู้ที่ต่ำต้อย ดังนั้น เมื่อพวกเขามีความสามารถล้างแค้นพวกเขาจะให้อภัย

 

การให้อภัยจะทำให้ผู้ให้อภัยมีเกียรติ

         มนุษย์บางคนอาจคิดว่า การไม่ดำเนินการตามสิทธิ์แก่ผู้ที่ละเมิดตนนั้นเป็นความตกต่ำ และไร้เกียรติ ความจริงแล้วมีบทบัญญัติที่ชัดเจนบ่งชี้ว่าการให้อภัยจะทำให้ผู้ให้อภัยสูงส่งและจะทำให้เขามีเกียรติ ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺได้รายงานว่า ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า

“การทำทานจะไม่ทำให้ทรัพย์ลดหย่อนลง บ่าวของอัลลอฮฺที่ให้อภัยจะได้รับเกียรติสูงขึ้น ผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน อัลลอฮฺจะทรงยกย่องเขาให้สูงขึ้น”

(รายงานโดยมุสลิม)

        ผู้ที่สมควรได้รับการให้อภัยจากท่าน คือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ได้แก่ ภรรยา บุตร และคนรับใช้ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺตะอาลา จึงได้บรรยายเรื่องภรรยาและบุตรไว้เป็นพิเศษว่า

        “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงในหมู่คู่ครองของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้านั้น มีบางคนเป็นศัตรูของพวกเจ้า ดังนั้น จงระมัดระวังในการปฏิบัติกับพวกเขา และถ้าหากพวกเจ้าอภัยและยกโทษ (ให้พวกเขา) แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อัตตะฆอบุน : 14)


          โดยปกติแล้ว หัวหน้าครอบครัวย่อมเริ่มทำความดีและปฏิบัติอย่างสุภาพอ่อนโยนแก่ภรรยาและบุตรของเขา และเมื่อพบว่าคนในครอบครัวของเขากระทำความผิดจนทำให้เขาโกรธอย่างรุนแรงและลำบากที่จะให้อภัยและยกโทษให้ได้ เพราะเขาจะถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ให้ความเคารพ ไม่เชื่อฟัง และเนรคุณ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการอบรมสั่งสอนเป็นพิเศษในเรื่องนี้ให้เขายกโทษและให้อภัย เพื่อทำให้เขาได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺตะอาลา

สำหรับคนรับใช้นั้นได้มีผู้เรียนถามท่านนบี  ว่า “พวกเราจะให้อภัยแก่คนรับใช้สักกี่ครั้ง?

ท่านนิ่งไม่ตอบ มีผู้ถามท่านอีก แต่ท่านก็นิ่ง ไม่ตอบ จนถูกถามเป็นครั้งที่สาม

ท่านจึงตอบว่า พวกท่านจงให้อภัยเขา วันละเจ็ดสิบครั้ง”

(รายงานโดยอบูดาวูด)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: วารสาร “ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี” ปีที่ 3 ฉบับที่ 1