บทเรียนและข้อคิดจากการตายชะฮีดของท่านอุมัร
  จำนวนคนเข้าชม  12242

บทเรียนและข้อคิดจากการตายชะฮีดของท่านอุมัร


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


        มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

 

ในรายงานหะดีษซึ่งบันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ จาก อัมรฺ บิน มัยมูน เล่าว่า:

ฉันได้พบท่าน อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ที่เมืองมะดีนะฮฺก่อนที่ท่านจะถูกลอบสังหารเพียงไม่กี่วัน โดยท่านได้กล่าวว่า

“หากอัลลอฮฺทรงให้ฉันปลอดภัย แน่นอนว่าฉันจะดูแลจัดการบรรดาหญิงหม้ายชาวอิรักอย่างดี ให้พวกนางมิต้องพึ่งพาผู้ใดอีกหลังจากฉัน”

     สี่วันผ่านไปท่านก็ถูกทำร้าย โดยในเช้าวันนั้นขณะที่ยืนตั้งแถวเตรียมละหมาด ระหว่างฉันกับท่านมีเพียง อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เท่านั้นที่ยืนคั่นกลางอยู่ โดยปกติแล้วเมื่อท่านอุมัรเดินผ่านระหว่างแถวสองแถว

ท่านจะกล่าวว่า “พวกท่านจงจัดแถวให้ตรงและชิดกัน”

     กระทั่งมองไม่เห็นช่องว่างระหว่างแถว ท่านก็ก้าวไปข้างหน้าและกล่าวตักบีร รู้สึกว่าวันนั้นท่านอ่านสูเราะฮฺยูซุฟ หรือไม่ก็สูเราะฮฺอัน-นะหฺล์ ในร็อกอัตแรก จนกระทั่งผู้คนได้มาละหมาดกันอย่างพร้อมเพรียง

     จากนั้นท่านก็กล่าวตักบีร ทันใดนั้นฉันได้ยินท่านกล่าวขึ้นว่า “มีสุนัขลอบกัดฉัน!” (หมายถึงชายชาวโซโรแอสเตอร์ -มาญูซีย์ จากเปอร์เซีย - ที่ลอบทำร้ายท่าน) ซึ่งเป็นจังหวะที่ชายคนนั้นจ้วงแทงท่าน แล้วชายนอกศาสนาผู้นั้นก็วิ่งหนีไปพร้อมกับมีดซึ่งมีสองคม โดยที่เขากราดแทงทุกคนที่เขาวิ่งผ่านทั้งทางด้านซ้ายมือและขวามือ จนมีผู้ถูกแทงถึงสิบสามคน เสียชีวิตไปเจ็ดคน เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงโยนเสื้อคลุมใส่ชายคนนั้น เมื่อคนร้ายเห็นว่าตนคงถูกจับได้แน่ก็เชือดคอฆ่าตัวตาย

     ท่านอุมัรจึงจับมือ อับดุรเราะหฺมาน บิน เอาฟฺ เพื่อให้ขึ้นนำละหมาดแทนท่าน โดยคนที่อยู่ใกล้ๆท่านอุมัรต่างก็เห็นเหตุการณ์ดังที่ฉันเห็น ส่วนผู้คนที่อยู่ส่วนอื่นๆของมัสยิดไม่รู้ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น พวกเขาเพียงแต่ไม่ได้ยินเสียงของท่านอุมัร จึงพากันกล่าวว่า “สุบหานัลลอฮฺ สุบหานัลลอฮฺ”

     ท่านอับดุรเราะหฺมานนำละหมาดแทนโดยอ่านเพียงสั้นๆ เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดท่านอุมัรก็กล่าวถามว่า “โอ้ อิบนุอับบาส ท่านช่วยดูหน่อยสิว่าผู้ใดลอบสังหารฉัน”

อิบนุอับบาสหายไปครู่หนึ่งแล้วก็กลับมาพร้อมกับกล่าวว่า “เขาคือทาสของอัล-มุฆีเราะฮฺ”

ท่านอุมัรถามต่อว่า “ที่เป็นช่างฝีมือนะหรือ?”

อิบนุอับบาสตอบว่า “ใช่ครับ”

     ท่านอุมัรจึงกล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงสาปแช่งเขา! ฉันเคยทำดีต่อเขาแท้ๆ ขอบคุณอัลลอฮฺที่ไม่ทรงให้ฉันต้องตายด้วยน้ำมือของผู้ที่อ้างตัวเป็นมุสลิม ท่านและบิดาของท่านนั้นชอบที่จะให้มีพวกทาสต่างชาติต่างศาสนาในเมืองมะดีนะฮฺ (โดยท่านอับบาสนั้นเป็นผู้ที่มีทาสในครอบครองมากที่สุด)”

อิบนุอับบาส จึงกล่าวแก่ท่านอุมัรว่า “หากท่านประสงค์ จะให้ฉันฆ่าพวกเขาก็ได้”

     ท่านอุมัรตอบว่า “มาพูดเอาตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์แล้วละ ในเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ภาษาของพวกท่าน ละหมาดโดยผินหน้าไปทางกิบลัตของพวกท่าน และได้ประกอบพิธีหัจญ์เฉกเช่นพวกท่านแล้ว”

     จากนั้นท่านอุมัรก็ถูกหามไปยังบ้านของท่าน โดยพวกเราก็ตามไปด้วย ในวันนั้นประหนึ่งว่าผู้คนไม่เคยประสบกับความเศร้าโศกมาก่อนเลย บางคนก็กล่าวว่า “ไม่เป็นไรน่า” บ้างก็กล่าวว่า “ฉันเป็นห่วงท่านเหลือเกิน”

     จากนั้นมีผู้นำน้ำอินทผลัมหมักมาให้ เมื่อท่านอุมัรดื่ม น้ำนั้นก็ไหลออกจากรอยแผลบริเวณท้องของท่าน อีกสักพักก็มีคนนำนมมาให้ ท่านก็ดื่ม แต่นมก็ไหลออกทางแผลที่ท้องของท่านอีก ผู้คนจึงเข้าใจว่าท่านน่าจะใกล้สิ้นใจแล้ว จากนั้นพวกเราก็เข้าไปหาท่าน โดยผู้คนต่างก็พากันมาเยี่ยมและกล่าวสรรเสริญชื่นชมท่าน

     จากนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งกล่าวแก่ท่านว่า “โอ้ผู้นำของบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธา ท่านจงเตรียมรับข่าวดีจากอัลลอฮฺเถิด ท่านนั้นเป็นสหายของท่านเราะสูล เป็นบุคคลที่มีบทบาทและความประเสริฐในอิสลามดังที่ท่านทราบดี ท่านขึ้นปกครองเป็นผู้นำโดยผดุงความยุติธรรม ท้ายที่สุดท่านก็ได้สิ้นชีพในหนทางของอัลลอฮฺ”

ท่านอุมัรกล่าวตอบว่า “ฉันหวังแต่เพียงว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นการเพียงพอสำหรับฉัน”

เมื่อชายคนนั้นหันหลังกลับ ปรากฏว่าชายผ้าของเขายาวระพื้น ท่านอุมัรจึงกล่าวว่า “พวกท่านช่วยไปตามเด็กหนุ่มคนนั้นกลับมาหาฉันหน่อย”

เมื่อเขามาถึงท่านก็กล่าวแก่เขาว่า “หลานชายเอ๋ย จงยกชายผ้าของเธอให้สูงขึ้น เสื้อผ้าของเธอจะได้ไม่หลุดลุ่ย และยังเป็นการยำเกรงยิ่งกว่า ณ ที่อัลลอฮฺ”

จากนั้นท่านกล่าวว่า “โอ้ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร ช่วยตรวจสอบหนี้สินที่ฉันมีให้หน่อย”

เมื่อได้คำนวณแล้วพบว่าท่านมีหนี้สินอยู่ประมาณ 86,000 ดิรฮัม ท่านอุมัรจึงสั่งเสียว่า

     “หากว่าทรัพย์สินของครอบครัวอุมัรมีเพียงพอ ก็จงชดใช้หนี้สินนี้ด้วยทรัพย์สินเหล่านั้น หากมีไม่พอก็จงหยิบยืมจากลูกหลานตระกูล อะดียฺ บิน กะอับ หากยังไม่เพียงพออีก ก็จงขอจากเผ่ากุเรช และอย่าได้ขอจากผู้อื่นนอกเหนือจากพวกเขาเหล่านี้ เมื่อได้แล้วก็ช่วยใช้หนี้จำนวนนี้แทนฉันด้วยเถิด

และลูกจงไปหาท่านหญิงอาอิชะฮฺ มารดาแห่งปวงผู้ศรัทธา แล้วแจ้งแก่นางว่า: อุมัรได้ฝากสลามถึง อย่าได้กล่าวว่าผู้นำแห่งบรรดาผู้ศรัทธา (อะมีรุลมุอ์มินีน) ฝากสลามถึง เพราะในวันนี้พ่อไม่ใช่ผู้นำอีกต่อไป และจงแจ้งแก่นางว่า อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ขออนุญาตฝังร่างเคียงคู่กับสหายรักทั้งสองของเขา (ท่านนบีและท่านอบูบักรฺ)”

     เมื่ออิบนุอุมัรให้สลามและขออนุญาตแล้วก็เข้าไปหาท่านหญิงอาอิชะฮฺ และพบว่านางกำลังนั่งร้องไห้ เขาจึงกล่าวแก่นางว่า “อุมัร อิบนุ ค็อฏฏอบ ได้ฝากสลามถึงท่าน และขออนุญาตฝังร่างเคียงคู่กับสหายรักทั้งสองของเขา”

ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวตอบว่า “ฉันเคยต้องการฝังร่างของตัวเองเคียงข้างท่านเราะสูล แต่วันนี้ฉันเสียสละให้ก็ได้”

เมื่ออับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร กลับมายังบ้านท่านอุมัร ผู้คนก็ได้แจ้งให้ท่านอุมัรทราบว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัรได้กลับมาถึงแล้ว

ท่านอุมัรจึงกล่าวว่า “พวกท่านช่วยประคองฉันขึ้นหน่อย”

ชายคนหนึ่งจึงช่วยพยุงร่างท่านขึ้น แล้วท่านก็กล่าวถามว่า “ได้ความว่าอย่างไรบ้าง?”

อับดุลลอฮฺ กล่าวตอบว่า “เป็นดังที่ท่านปรารถนา โอ้ท่านผู้นำแห่งบรรดาผู้ศรัทธา นางอนุญาตครับ”

     ท่านอุมัรกล่าวตอบว่า “ขอสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ ไม่มีสิ่งใดสำคัญสำหรับฉันมากไปกว่านี้อีกแล้ว หากว่าฉันสิ้นใจไป จงแบกร่างของฉันไปที่นั่นเถิด จากนั้นจงกล่าวให้สลาม และจงกล่าวว่า อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ขออนุญาต หากว่านางอนุญาต ก็จงฝังร่างของฉัน ณ ที่นั้น แต่หากว่านางปฏิเสธก็จงนำร่างฉันไปฝังที่สุสานของมุสลิมเถิด”

 (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3700)


ข้อคิดและบทเรียนที่ได้รับ


     ประการแรก: ความเมตตาและความอ่อนโยนของท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ที่มีต่อประชาชาตินี้ ทั้งต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและผู้ที่อยู่ห่างไกล จะเห็นว่าท่านต้องการที่จะจัดระบบเพื่อดูแลจัดการและให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้อ่อนแอในสังคม เช่น บรรดาสตรีซึ่งไม่มีช่องทางแจ้งความต้องการของพวกนางให้ท่านทราบ เพื่อที่พวกนางจะได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างเพียงพอโดยมิพักต้องไปขอจากผู้อื่นอีก

 

     ประการที่สอง: ท่านอุมัรหวังว่าฆาตกรที่ลอบสังหารท่านไม่ใช่มุสลิม นี่ก็เป็นความเมตตาของท่านที่เกรงว่าหากฆาตกรเป็นมุสลิมด้วยกันแล้ว เขาผู้นั้นจะประสบกับความหายนะ เมื่อท่านได้ทราบว่าฆาตกรไม่ใช่มุสลิม ท่านก็มีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และได้กล่าวสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ

มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ เล่าว่า ท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคยกล่าวว่า

“โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานความโปรดปรานให้แก่ฉัน ด้วยการได้สิ้นชีพในหนทางของพระองค์

และโปรดให้ความตายของฉันเกิดขึ้นในเมืองของศาสนทูตของพระองค์ (มะดีนะฮฺ) ด้วยเถิด”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 1890)


ในอีกสายรายงานหนึ่งท่าน กะอับ อัล-อะหฺบาร กล่าวแก่ท่านอุมัรว่า

“โอ้ผู้นำของผู้ศรัทธาทั้งหลาย ฉันได้พบในคัมภีร์เตารอตระบุว่า ท่านจะถูกฆ่าตายเป็นชะฮีด ณ ดินแดนแห่งคาบสมุทรอาหรับ”

ท่านอุมัรได้กล่าวตอบว่าโอ้กะอับ ฉันจะ ตายชะฮีด ในดินแดนแห่งคาบสมุทรอาหรับได้อย่างไรกัน ?”

 (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ ดู มะนากิบ อุมัร หน้า 212 ของ อิบนุล เญาซีย์)

 

     ประการที่สาม: ความประเสริฐและมีเกียรติของท่านอุมัร ณ ที่อัลลอฮฺ โดยพระองค์ได้ทรงตอบรับดุอาอ์ของท่านและประทานความโปรดปรานด้วยการให้ท่านได้สิ้นชีพในหนทางของพระองค์ที่เมืองมะดีนะฮฺ โดยที่ท่านเองไม่เคยคาดคิด ทั้งนี้เพราะมะดีนะฮฺเป็นแผ่นดินซึ่งเป็นรัฐอิสลาม ไม่ใช่แผ่นดินของข้าศึกศัตรูที่มีศึกสงครามระหว่างกัน

 

     ประการที่สี่: ท่านมีความเคร่งครัดในศาสนาและเกรงกลัวอัลลอฮฺเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าแม้ผู้คนพากันชื่นชมสรรเสริญท่าน และตัวท่านเองก็ทราบดีว่าท่านได้สร้างความดีงามไว้มากมายเพื่ออิสลาม แต่ทว่าท่านก็หาได้หลงยินดีไปกับสิ่งเหล่านั้นไม่ กลับหวังแต่เพียงว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นการเพียงพอสำหรับท่านที่จะไม่ถูกลงโทษเท่านั้นเอง ท่านเคยกล่าวว่า

“หากฉันได้ครอบครองทองคำเต็มทั้งผืนแผ่นดิน แน่นอนว่าฉันจะขอจ่ายเป็นค่าไถ่ตัวฉันให้รอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ก่อนที่ฉันจะได้เห็นมันเสียอีก”

 (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3692)

 

     ประการที่ห้า: ความพยายามของท่านอุมัรในการสั่งใช้ให้กระทำดีและห้ามปรามความชั่ว แม้กระทั่งท่านอยู่ในวาระสุดท้ายใกล้จะสิ้นใจ ท่านก็ยังไม่เว้นที่จะตักเตือน ดังจะเห็นว่าเมื่อเด็กหนุ่มซึ่งปล่อยให้ชายผ้ายาวระพื้นได้เข้ามาหาท่าน และกล่าวสรรเสริญท่าน ท่านก็ได้กล่าวแก่เขาว่า

“หลานชายเอ๋ย จงยกชายผ้าของเธอให้สูงขึ้นเถิด เสื้อผ้าของเธอจะได้ไม่หลุดลุ่ย และยังเป็นการยำเกรงยิ่งกว่า ณ ที่อัลลอฮฺ”

 

     ประการที่หก: ความสมถะของท่านและความรักสันโดษปลีกตัวออกจากโลกดุนยา จะเห็นว่าแม้ท่านจะเป็นถึงผู้นำของผู้ศรัทธาทั้งหลาย แต่ทว่าท่านกลับเสียชีวิตในสภาพที่มีหนี้สินมากมาย จนท่านต้องสั่งเสียให้ลูกหลานชดใช้แทนท่าน

 

     ประการที่เจ็ด: ความนอบน้อมถ่อมตนของท่านอุมัร โดยจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่ท่านส่งอับดุลลอฮฺบุตรชายของท่านไปหาท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านได้กำชับมิให้กล่าวถึงตัวท่านว่า “ผู้นำของบรรดาผู้ศรัทธา” แต่ให้กล่าวเพียงว่า “อุมัรฝากสลามถึงท่าน”

 

     ประการที่แปด: ความเอาใจใส่ของท่านอุมัรในเรื่องการละหมาดอย่างสมบูรณ์แบบ โดยแม้แต่ในขณะที่ท่านใกล้จะสิ้นใจ ท่านยังมอบหมายให้ท่านอับดุรเราะหฺมาน บิน เอาฟฺ เป็นผู้นำละหมาดแทน

 

     ประการที่เก้า: ความเอาใจใส่ของอุมัรในเรื่องการจัดแถวให้ตรงในละหมาด ซึ่งสิ่งนี้เป็นแบบอย่างที่บรรดาอิหม่ามมัสยิดทั้งหลายควรเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง

 

     ประการที่สิบ: ความเอาใจใส่ของท่านอุมัรในการปฏิบัติตามสุนนะฮฺ ด้วยการอ่านให้ยาวในละหมาดฟัจญรฺ เพราะท่านนบี  มักจะอ่านสูเราะฮฺมุฟัศศ็อลยาว (สูเราะฮฺที่ยาวแต่มีช่วงอายะฮฺสั้นและถี่) ในละหมาดฟัจญรฺ

 

     ประการสุดท้าย: ความเอาใจใส่ของท่านในเรื่องการใช้หนี้สิน โดยท่านได้สั่งเสียในเรื่องดังกล่าวก่อนตาย ทั้งนี้ เพราะท่านนบี ได้กล่าวไว้ ดังปรากฏในหะดีษซึ่งบันทึกโดยอิมามมุสลิม จากรายงานของท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ ว่า

(( يُغْفَرُ لِلشَهِيْدِ كُلُّ ذَنْبٍ إِلا الدَّيْنَ )) ( رواه مسلم : 1886)

 “ทุกๆบาปของผู้สละชีพในหนทางของอัลลอฮฺ (ชะฮีด) นั้นจะได้รับการยกโทษ ยกเว้นเรื่องหนี้สิน”

(บันทึกโดย มุสลิม : 1886)

 

 

 

แปลโดย : ณัจญวา บุญมาเลิศ / Islamhouse