ภรรยากับการเชื่อฟังสามี
โดย..อ.อหมัด อัลฟาริตีย์
การเชื่อฟังสามีเป็นหน้าที่ของภรรยาที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างสามีและภริยาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มั่นคง และมีความสุข ดังนั้นการเชื่อฟังสามีถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของภริยาที่จะต้องปฏิบัติต่อสามีด้วยความรักและความเต็มใจ และการเชื่อฟังสามีต้องไม่เป็นในสิ่งต้องห้าม หรือขัดต่อบทบัญญัติอิสลาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ที่มินำไปสู่การฝ่าฝืนอัลลอฮฺ
จากอัลกุรอานอัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“ถ้าหากบรรดาภรรยา ยอมเชื่อฟังสามีตามพวกเจ้า พวกเจ้าไม่ต้องแสวงหาหนทางใดที่จะลงโทษพวกนางอีก
แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร”
อิบนูกะษิรได้ให้อธิบายอายะฮฺนี้ว่า เมื่อภริยาเชื่อฟังสามีของนางในทุกสิ่งทุกอย่างที่สามีต้องการจากนางในสิ่งที่อัลลอฮฺอนุญาต ทางสามีไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้นที่จะเอาโทษภรรยา กล่าวคือสามีไม่มีสิทธิ์ที่จะเฆี่ยนตีภรรยา ไม่มีสิทธิ์ทอดทิ้งนาง และคำตรัสของอัลลอฮฺ
" แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร เสมือนอัลลอฮฺทรงสั่งให้บรรดาสามีทั้งหลายจงระมัดระวังตนอย่าปฏิบัติต่อภรรยาในลักษณะที่เกินขอบเขตโดยไม่มีเหตุผล เพราะอัลลอฮฺทรงเป็นผู้พิทักษ์ภรรยา ทรงมีอำนาจจะลงโทษผู้ที่กดขี่และเอารัดเอาเปรียบภรรยา"
(อิบนุกาษีรในตัฟสีรอัลกุอานนิลอะซีมเล่มที่ 1 หน้าที่538)
การที่ภรรยาต้องเชื่อฟังสามีก็เพราะว่าสามี มีฐานะเป็นผู้ปกครองดูแล เป็นผู้คุ้มครอง ผู้จ่ายค่าสมรสและค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ภรรยา ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ ดังที่พระองค์ตรัสใว้ในอัลกุรอาน ว่า
“บรรดาผู้ชายนั้น คือ ผู้ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาสตรี เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนของพวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา
บรรดาภริยาที่ดีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ลับหลังสามีเนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้”
(สูเราะฮฺ อันนิสาอฺ อายะฮฺที่34)
อายะฮฺนี้เป็นการบอกเล่ามีความหมายเชิงคำสั่งให้ภรรยาเชื่อฟังสามี และปฏิบัติหน้าที่รักษาทรัพย์สินของสามี และรักษาศักดิ์ศรีของตัวเองในขณะสามีไม่อยู่
ส่วนคำว่า الرجال قوامون على النساء คือสามีนั้นถูกกำหนดให้เป็นผู้ดำเนินกิจการของภรรยา และสั่งสอนนาง และต้องให้นางอยู่ในบ้าน สามีมีสิทธิ์เหนือกว่าภรรยาคือสิทธิ์เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยาในฐานะเป็นผู้ตาม หรือเป็นผู้ที่อยู่ใต้การดูแลของสามีที่เขาต้องปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ภรรยา ในทางตรงกันข้ามภรรยาต้องเชื่อฟังสามี
จากอัสสุนนะฮฺ
1. ท่านรสูลุลลอฮฺ ซึ่งเป็นสามีที่เป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมได้สั่ง และแนะนำบรรดาภรรยาให้เชื่อฟังสามี และเมื่อภรรยาเชื่อฟังสามีแล้ว นางจะได้รับผลบุญและจะได้เข้าสวรรค์ ในเรื่องนี้ ท่านรสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
" إذا صلت المرأة خمسها وصامت شهرها وحفظت فرجها وأطاعت زوجها، قيل لها: ادخلي الجنة من أي أبواب الجنة شئت " ( رواه أحمد )
“เมื่อสตรีได้ทำการละหมาดห้าเวลา ( ต่อวัน ) ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน รักษาอวัยวะเพศของนาง ( ด้วยการห่างไกลจากการผิดประเวณี ) และเชื่อฟังสามี
นางก็จะถูกกล่าวว่า จงเข้าสวรรค์ทางประตูใดก็ได้ที่เธอต้องการ”
รายงานโดยอะหฺมัดหะดีษที่ 1661 หะดีษหะสัน (al-Albani,2000:2:412)
2. ท่านรสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงสถานภาพที่สูงส่งของสามีว่า
" لو كنت آمرا أحدا أن يسجد لأحد لأمرت المرأة أن تسجد لزوجها "
( رواه الترمذي والبيهقي وابن حبان )
“ถ้าหากว่าฉันสามารถใช้ให้บุคคลหนึ่งกราบ (สุญูด) แก่บุคคลหนึ่งได้ แน่นอนฉันจะใช้ให้ภรรยากราบต่อสามีของนาง”
รายงานโดยอัตติรมีซึย์หะดีษที่1159, อัลบัยฮาคีย์หะดีษที่ 7/291 และอิบนุหิบบานหะดีษที่1291 หะดีษเศาะเหียห์ (al-Albani,2000:2:416)
3. ท่านรสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงความประเสริฐของภรรยาที่เชื่อฟังสามี ว่า
" أي النساء خير؟ قال : التى تسره إذا نظر، وتطيعه إذا أمر "
( رواه النسائي )
“สตรีประเภทใดดีที่สุด
ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า สตรีเมื่อสามีมองนางแล้ว เกิดความประทับใจ และนางเชื่อฟังเมื่อสามีสั่ง”
รายงานโดยอันนะสาอีย์หะดีษที่ 3233 หะดีษหะสัน (al-Albani,1985:6:196 )
4. การเชื่อฟังสามีของภรรยาในกรอบที่กฎหมายอิสลามอนุมัติ ย่อมมีผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อความสงบสุข และความมั่นคงในครอบครัว เพราะฉะนั้นอิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากถึงกับให้การตอบแทนที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับผลบุญของผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺซึ่งมีหะดีษบทหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องนี้มีความว่า
“มีสตรีคนหนึ่งกล่าวแก่ท่านรสูลุลลอฮฺ ว่าโอ้รสูลุลลอฮฺ ข้าพเจ้าคือ ตัวแทนของบรรดาสตรีทั้งหลายที่ขอเข้าพบท่าน หลังจากนั้นเธอได้กล่าวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ชาย ซึ่งถูกกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ทำสงครามกับศัตรู และพวกเขาจะได้รับผลบุญตอบแทนและจะได้รับทรัพย์สินที่ยึดได้จากศัตรู
แล้วเธอกล่าวอีกว่า แล้วพวกเราจะได้รับอะไรบ้างในการกระทำของพวกเขา
ท่านรสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า เธอจงประกาศเผยแพร่แก่บรรดาสตรีทั้งหลายที่เธอพบเถิดว่า การเชื่อฟังสามีของภรรยาและยอมรับในสิทธิของสามีจะได้รับกุศลผลบุญดุจเดียวกับกุศลผลบุญจากการทำสงครามในหนทางของอัลลอฮฺ ทว่าผู้ที่สามารถปฏิบัติได้จากพวกเธอนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
(อิบนุ อับดุลบัร (ม.ป.ป ) 4:233)
กฎเกณฑ์ของการเชื่อฟังสามี
การเชื่อฟังสามีมีกฎเกณฑ์สองประการ
1. ต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ
รายงานจากอาลี ( เราะฎิยั้ลลอฮฺอันฮ์ ) ว่าท่านนบี กล่าวว่า
" لا طاعة فى معصية، إنما الطاعة فى المعروف "
( رواه البخاري و مسلم )
"ไม่มีการเชื่อฟังในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืน (อัลลอฮฺ ) แต่การเชื่อฟังต้องเป็นในสิ่งที่ชอบธรรมเท่านั้น”
(รายงานโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 7257 และมุสลิมหะดีษที่ 1840)
อิบนุฮะญัรอัลอัสกัลลานีย์กล่าวว่า ภรรยาต้องเชื่อฟังสามีในสิ่งที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ถ้าหากสามีใช้ให้ภริยาปฏิบัติในสิ่งที่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ภรรยาจำเป็นต้องปฏิเสธ(อิบนุหะญัรในฟัตหุลบารีย์ เล่ม 9 หน้าที่304) ในกรณีภริยาเชื่อฟังคำสั่งของสามีที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺถือว่านางได้กระทำในสิ่งที่เป็นบาปเช่นเดียวกับสามีต้องรับบาปเหมือนกันในฐานะเป็นผู้สั่ง (มุหัมหมัด เราะฟัต อุษมาน ใน อัลหุกูก วา อัลวาญิบาตร ฟี อัลอิสลาม วา อัลอะลากอต อัดดาวลียยะฮฺหน้าที่ 74)
มีอีกหะดีษหนึ่งโดยอัลบุคอรีย์ได้ตั้งหัวข้อบทหะดีษนี้ว่า “ภรรยาไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังสามีของนางที่ใช้ให้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ” ซึ่งหะดีษนี้รายงานจากท่านหญิงอฺาอิชะฮฺ (เราะฎิยั้ลลอฮฺอันฮา ) ว่า
" أن امرأة من الأنصار زوجت ابنتها فتمعط شعر رأسها فجاءت إلى النبي r فذكرت ذلك له . فقالت : إن زوجها أمرني أن أصل فى شعرها . فقال : لا، إنه قد لعن الموصلات " ( رواه البخارى )
“มีผู้หญิงคนหนึ่งจากชาวอัลอันศอรได้แต่งงานลูกสาวของนาง หลังจากนั้นผมของลูกสาวของนางร่วง ดังนั้นนางจึงมาหาท่านนบี และบอกให้ท่านทราบเรื่องดังกล่าวว่า แท้จริงสามีของลูกสาวของฉันใช้ให้ฉันต่อผมของเธอ
ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะว่า ( อัลลอฮฺ ) ทรงสาปแช่งผู้หญิงที่ถูกต่อผม”
(รายงานโดย อัลบุคอรีย์หะดีษที่ 5205)
ในมุสนัดอะหมัด จากรายงานของอิบนุมัสอูดว่า การต่อผมเป็นสิ่งต้องห้าม ( ในอิสลาม ) ยกเว้นผมที่เป็นโรค
2. ปฏิบัติหน้าที่ตามความสามารถ
กฎเกณฑ์นี้อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ในอัลกุรอานว่า
{ فَاتَّقُوا اللهَ مَا اسْتطَعْتُمْ }
" ดังนั้นสู่เจ้าทั้งหลายจงย่ำเครงอัลลอฮฺตามความสามารถของสู่เจ้า"
รายงานจากอัลหุศัยน์ บิน มิหศัน ( เราะฎิยั้ลลอฮฺอันฮ์ ) เขากล่าวว่า
" أن عمة له أتت النبي r فى حاجة ففرغت من حاجتها . فقال لها النبي r : أذات زوج أنت ؟ قالت : نعم . قال : كيف أنت له ؟ قالت : ما آلوه إلا ما عجزت منه
(رواه ابن سعيد وأحمد )
“ป้าของเขาได้มาพบท่านนบี เพราะมีธุระ หลังเสร็จธุระของนาง
ท่านนบี กล่าวถามนางว่า ท่านมีสามีหรือ ?
นางกล่าวตอบว่า มี
ท่านนบี ถามอีกว่า ท่านปฏิบัติอย่างไรต่อสามี ?
นางกล่าวตอบว่า ฉันไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ของฉันเลยเว้นแต่สิ่งที่ฉันไม่สามารถปฏิบัติได้ ”
หะดีษหะสันรายงานโดยอิบนุสะอัดที่7/137 และอะหมัดหะดีษที่ 19212 หะดีษเศาะเหียห์ (al-Albani,2000:2:412)
สำหรับข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อฟังสามี มีสามประเภทคือ
1. วาญิบเชื่อฟัง เช่น เมื่อสามีเรียกนางเพื่อจะร่วมเพศ ภรรยาวาญิบเชื่อฟังสามี เมื่อไม่มีอุปสรรคใดๆทางกฎหมายอิสลาม
2. ส่งเสริมให้เชื่อฟัง เช่น เมื่อสามีขอทรัพย์สินส่วนหนึ่งของภรรยาในขณะสามีมีความต้องการ หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามีมีความต้องการความช่วยเหลือจากภรรยา
3. ห้ามเชื่อฟัง เช่น สามีเรียกภรรยาเพื่อร่วมเพศในขณะนางมีรอบเดือน หากนางได้ปฏิบัติตามสามี ถือว่าภรรยาบาปด้วย