ความตายในทัศนะอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  58037

  

ความตายในทัศนะอิสลาม

 

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า

         “แต่ละชีวิตนั้นจะได้ลิ้มรสแห่งความตาย และแท้จริง พวกเจ้าจะได้รับรางวัลของพวกเจ้า โดยครบถ้วนนั้น คืออาคิเราะฮฺ (วันปรโลก) แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากไฟนรก และ ถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอนเขาก็ชนะแล้ว และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้น มิใช่อะไร นอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งการหลอกลวงเท่านั้น”

(อาลิอิมรอน 3: 185)

          อิสลามกล่าวถึงโลกนี้ว่า เป็นสถานที่พำนักชั่วคราว เป็นสิ่งไม่นิรันดร์ ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ความตายของมนุษย์นั้นเป็นการการเริ่มต้นของชีวิตในโลกหน้า หรือเป็นสะพานไปสู่ชีวิตหลังความตายที่เป็นโลกอันนิรันดร์ ผู้ที่เคร่งครัดและเข้าใจในปรัชญาข้อนี้ จึงไม่หวั่นไหวจิตใจเมื่อเจ็บป่วย และต้องเผชิญกับความตาย เขาจะได้พบพระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งทำให้เกิดและทำให้ตาย พระองค์ตรัสไว้ ความว่า

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) อัลลอฮฺทรงให้พวกท่านมีชีวิตขึ้นมา และทรงให้พวกท่านตายไป”

(อัลญาซียะฮฺ 45: 26)

          มุสลิมทุกคนจะต้องตระหนักถึงความตายตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าจะกลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์เมื่อใด ดังนั้น จึงต้องทำความดีตลอดเวลา ส่วนกรณี ผู้ที่เจ็บป่วยระยะสุดท้ายนั้น เราก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่า เขาจะมีชีวิตยืนยาวออกไปได้อีกนานแค่ไหน บางคนเราคิดว่าอยู่ได้อีกไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็สามารถยืดอายุได้เป็นวันหรือเป็นเดือน หรือบางคนเราคิดว่า จะรอด แต่ก็เสียชีวิตอย่างคาดไม่ถึง ในเรื่องนี้อัลลอฮฺ ทรงกล่าวไว้ ความว่า

“และมิเคยปรากฏแก่ชีวิตใดที่จะตาย นอกจากด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺเท่านั้น ทั้งนี้เป็นลิขิตที่ถูกกำหนดไว้…”

(อาลิอิมรอน 3: 145)

“แต่อัลลอฮฺ จะไม่ทรงผ่อนผันให้แก่ชีวิตใด เมื่อกำหนดของมันได้มาถึงแล้ว และอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่ง”

(อัลมุนาฟิกูน 63: 11)

 

ผู้ป่วยภาวะใกล้ตาย

         การที่ผู้ป่วยทราบว่าตนกำลังจะเสียชีวิต เป็นสถานการณ์ที่มนุษย์ปรับตัวได้ยากยิ่ง ซึ่งจะมากหรือน้อยมีความแตกต่างไปในแต่ะคน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สังคม จิตใจ และจิตวิญญาณ ขณะเดียวกัน ความรู้สึกเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับญาติและผู้ดูแล รวมทั้งแพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้า มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่สามารถดูแลผู้ป่วยและพยายามยืดชีวิตออกไปให้นานที่สุด ไม่ว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเพียงใด และผู้ป่วยจะมีชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตเช่นใด

          ทั้งนี้ด้วยเจตนาที่ดี ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย รวมทั้งญาติก็พยายามขอร้องให้แพทย์รักษาอย่างสุดความสามารถ ทั้งที่บางครั้ง ผู้ป่วยเองไม่มีโอกาสที่จะเรียกร้องหรือตัดสินใจในการยืดชีวิตชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างการตายอย่างมีศักดิ์ศรี กับ การต่อสู้เพื่อยืดชีวิต ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตาย รวมทั้งไม่เข้าใจในด้านสังคม จิตใจ และจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น การตายซึ่งเป็นสภาวะธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากมิใช่ประเด็นทางการแพทย์หรือทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นประเด็นทางด้านจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม และสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเรียนรู้และเข้าใจ

 

สรีระวิทยาของผู้ป่วยในภาวะใกล้ตาย

          เมื่อผู้ที่เจ็บป่วยใกล้จะเสียชีวิต จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่จำเป็นต้องแก้ไข บางอย่างสมควรแก้ไข เพื่อให้ผู้ที่เจ็บป่วยจากไปอย่างสงบ


        1) การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย การเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ที่เจ็บป่วยที่ใกล้เสียชีวิต จะช่วยทำให้ผู้ดูแลและญาติ ดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ลดวิธีการดูแลรักษาที่ไม่จำเป็น ผู้ที่เจ็บป่วยไม่ทรมานมาก

        บางอย่างนอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ที่เจ็บป่วยแล้ว ยังอาจเป็นผลเสียกับผู้ที่เจ็บป่วยได้ ผู้ที่เจ็บป่วยใกล้ตายจะมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง การคะยั้นคะยอให้รับประทานอาหารตามปกติ จึงไม่มีประโยชน์ นอกจากนี้ ยังพบว่า ความเบื่ออาหารที่เกิดขึ้น จะทำให้มีสารคีโตนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เจ็บป่วยรู้สึกสบาย และลดความเจ็บปวดลงได้ จึงอาจเป็นผลดีสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยใกล้ตายด้วยซ้ำ

     ♦ ความอ่อนเพลีย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ นอกจากนี้ ผู้ที่เจ็บป่วยจะรู้สึกง่วงนอน อาจนอนหลับตลอดเวลา ดังนั้น ควรให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่ควรพยายามปลุกให้ตื่น

     ♦ ผู้ที่เจ็บป่วยใกล้ตาย จะดื่มน้ำน้อยลงหรือไม่ดื่มเลย ภาวะขาดน้ำที่เกิดขึ้น ไม่ทำให้ทรมานมากขึ้น ตรงกันข้าม กลับกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ทำให้รู้สึกสบายขึ้น ลดอาการเจ็บปวดได้ ถ้ามีอาการริมฝีปากแห้ง คอแห้ง อาจใช้สำลีหรือผ้าชุบน้ำสะอาดแตะที่ริมฝีปาก จะช่วยลดอาการปากแห้งได้

     ♦ จากการที่ร่างกายเสื่อมสภาพลง การรับสัมผัสและสารสื่อประสาทลดลง จะทำให้ความเจ็บปวดลดลง การไหลเวียนเลือดส่วนปลายน้อยลง ทำให้ผิวหนัง แขนขา มีลักษณะเป็นจ้ำๆ สีออกม่วงแดง บางรายอาจมีอาการเพ้อ ประสาทหลอน เห็นผี เห็นภาพเก่าๆ เห็นญาติที่เสียชีวิต เห็นความผิดบาปในอดีต ซึ่งอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา หรือจากความผิดปกติในการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง

     ♦ การร้องครวญครางหรือมีหน้าตาบิดเบี้ยวเหมือนเจ็บปวด อาจไม่ใช่เกิดจากความเจ็บปวดอย่างใด แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสมอง หรือเป็นจากกล่องเสียง หรือหลอดลมเริ่มอ่อนแรง เสียงที่ลอดออกมาจึงฟังคล้ายเสียงร้องทั้งๆ ที่ไม่ได้ร้อง อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่เจ็บป่วยมีอาการไม่รู้สึกตัว อย่าคิดว่าเขาไม่สามารถรับรู้หรือได้ยินเสียงใดๆ ที่คนพูดอยู่รอบข้าง เขาอาจได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นทราบได้ จึงไม่ควรพูดในสิ่งที่ทำให้ผู้ที่เจ็บป่วยไม่สบายใจ ดังนั้น มุสลิมจึงควรให้ญาติได้สอนให้กล่าว “กาลิมะฮฺซาฮาดะฮฺ” (มีความหมายว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ฉันเคารพภักดี นอกจากอัลลอฮฺ) โดยกระซิบเบาๆ ข้างหู ซึ่งการตายด้วยคำสุดท้ายด้วยการกล่าวกาลิมะฮฺซาฮาดะฮฺ จะเป็นสุดยอดปรารถนาของมุสลิมทุกคนก่อนตาย นอกจากนี้ อาจให้ญาติได้อ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้ผู้ป่วยฟัง เพื่อให้จิตใจสงบ

         บางรายอาจลุกขึ้นมานั่งได้ กินได้ พูดได้เหมือนหายแล้วในวันสุดท้ายก่อนตาย ซึ่งพบได้ทั่วไป เชื่อกันว่า อาจจะเป็นพลังงานเฮือกสุดท้ายที่พยายามจะตื่นขึ้นมาเพื่อให้ญาติได้รู้สึกดีขึ้น ได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิด ป้อนข้าวป้อนน้ำให้ ได้สั่งเสียก่อนจากโลกนี้ไป


          2) การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ เมื่อมีความเจ็บป่วยย่อมมีความเครียด ความกังวล ความกลัวอยู่ในใจทุกคน เมื่อเป็นความเจ็บป่วยที่ต้องเผชิญกับความตาย จึงยิ่งมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่เจ็บป่วยทุกคน จะมากน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพทางร่างกาย สังคม จิตใจ และจิตวิญญาณของผู้ที่เจ็บป่วยเอง ความกังวลที่พบบ่อยของผู้ที่เจ็บป่วยระยะสุดท้าย คือ

♣ กลัวไม่ได้รับความช่วยเหลือ กลัวที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

♣ กลัวความรู้สึกที่ไม่ดี กลัวจะดูไม่ดี ตำหนิตัวเอง หรือโทษตัวเอง

♣ กลัวเรื่องการบาดเจ็บ หรือความเจ็บปวด

♣ กลัวการถูกทอดทิ้งโดดเดี่ยว

 

          การกลัวต่อความตายโดยทั่วไป แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

     - กลัวต่อความตายโดยตรง กลัวการจากไป ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ในสภาพใด ที่ไหน สูญเสียทุกสิ่งที่มีอยู่ ต้องจากคนที่รักไป ซึ่งถ้าผู้ที่เจ็บป่วยที่เป็นมุสลิมเข้าใจในเรื่องชีวิตหลังความตายแล้ว เขาจะกลัวน้อยลงหรือไม่กลัวเลย ตรงกันข้าม อาจมีความสงบสุขใจที่จะได้ไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า

     - ส่วนอีกลักษณะหนึ่ง คือ กลัวต่อกระบวนการก่อนที่จะไปสู่ความตาย เช่น ความเจ็บปวด ความพิการ การสูญเสียอัตลักษณ์ เป็นต้น


         จากการศึกษาพบว่า สิ่งที่คนใกล้ตายกลัวมากที่สุด คือ กลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการถูกโดดเดี่ยว เขาจึงต้องการใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง ยิ่งถ้าเป็นคนที่เขารัก คนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องจะดีมาก ดังนั้น ผู้ดูแลควรให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้พูดคุย และรับฟังในสิ่งที่ผู้เจ็บป่วยแสดงความรู้สึกออกมา รวมทั้งการประคับประคองให้กำลังใจ และเข้าใจอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม ให้เข้าใจว่าเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดจากภาวะเครียดหรือภาวะวิกฤต แต่ในบางรายอาจเป็นมากจนกระทั่งเป็นโรคทางจิตเวช ที่พบบ่อยและมีความสำคัญคือ โรคซึมเศร้า ซึ่งผู้ที่เจ็บป่วยอาจคิดหรือฆ่าตัวตายได้ ในกรณีเช่นนี้ ควรส่งพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อบำบัดรักษา

 

ทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยเมื่อถึงวาระสุดท้าย

หลักพื้นฐาน 9 ข้อ ในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยเมื่อถึงวาระสุดท้าย

          1) ผู้ดูแลต้องมีความรู้ ความสามารถในการดูแลเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ มีประสบการณ์เพียงพอในการจัดการกับอาการปวด และอาการอื่นๆ ที่มักพบบ่อยในผู้ที่เจ็บป่วยระยะสุดท้าย เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียนเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อาการทางจิตใจต่างๆ เป็นต้น


          2) มีความห่วงใย ผูกพัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เปรียบเสมือน มีความรู้สึกหรือมีอารมณ์ร่วมในความทุกข์ทรมานที่ผู้เจ็บป่วยมี ซึ่งอาจไม่ได้แสดงออกด้วยคำพูดอย่างเดียว แต่แววตาและการแสดงออกหรือการดูแลต่างๆ ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ในตัวผู้ที่เจ็บป่วยจนรับรู้ได้


          3) ให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้รับความสะดวกสบาย ทั้งทางร่างกาย สังคม จิตใจ โดยเฉพาะเรื่องความปวด ผู้ดูแลต้องจัดการให้มีความปวดน้อยที่สุด ให้ยาแก้ปวดที่เพียงพอ ให้ผู้เจ็บป่วยรู้สึกสบาย


          4) เปิดโอกาสให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้พูดคุย เน้นการสื่อสารสองทาง ผู้ดูแลควรเป็นผู้รับฟังที่ดี มีการพูดคุยกับผู้ที่เจ็บป่วยอย่างเปิดเผยถึงขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ในการรักษา พูดคุยเกี่ยวกับแผนการต่างๆ ในชีวิตที่ผู้ที่เจ็บป่วยยังไม่ได้ทำ เราอาจเป็นผู้ประสานให้ทั้งในเรื่องครอบครัว การงาน


          5) การนำบุตรหลานของผู้ที่เจ็บป่วยมาเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ โดยหาช่วงเวลาที่เหมาะสม


          6) เป็นการเชื่อมความสัมพันธภาพระหว่างผู้ที่เจ็บป่วยกับสมาชิกในครอบครัว ให้บุคคลเหล่านี้ได้มาช่วยประคับประคองจิตใจ ลดความวิตกกังวล และยังช่วยให้ญาติสามารถปรับตัวกับความรู้สึกที่จะต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปได้


          7) มีอารมณ์ขันที่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาจช่วยให้ผู้ที่เจ็บป่วยยิ้มแย้มแจ่มใส มีจิตใจที่สบายขึ้น สีหน้าท่าทางของผู้ดูแลไม่ควรแสดงความวิตกกังวลเกินเหตุ หรือแสดงความเบื่อหน่าย ท้อแท้ เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ที่เจ็บป่วยหดหู่มากขึ้น


          8) การดูแลผู้ที่เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพราะผู้ที่เจ็บป่วยเหล่านี้ มีความกลัวที่จะถูกทอดทิ้ง การที่แพทย์หรือผู้ดูแลมาตรวจเยี่ยมสม่ำเสมอจะช่วยทำให้ลดความกลัว ความวิตกกังวลได้มาก


          9) ผู้ดูแลควรมีจิตใจที่สงบ สามารถเผชิญกับผู้ที่เจ็บป่วยใกล้ตายได้อย่างเหมาะสม ไม่รู้สึกหวาดหวั่นเกินเหตุ หรือแสดงอาการเฉยเมยต่อผู้ที่เจ็บป่วยและญาติ


          สำหรับการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยวาระสุดท้ายที่เป็นมุสลิมนั้น นอกจากมีทักษะพื้นฐานทั้ง 9 ข้อดังกล่าวแล้ว ผู้ดูแลควรกระตุ้นให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้นึกถึงหรือปฏิบัติในอีก 3 ข้อ (3 อ) ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านจิตวิญญาณ ดังนี้


     1) อัลลอฮฺ

          ให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้นึกถึงอัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งกำลังจะกลับไปหาพระองค์ กระตุ้นให้ได้มีโอกาสรำลึกถึง โดยการกล่าวนามหรือปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยที่กำลังจะสิ้นลมให้ได้กล่าว กาลิมะฮฺซาฮาดะฮฺ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของมุสลิม ก่อนที่วิญญาณจะหลุดออกจากร่าง


     2) อิบาดะฮฺ

          หมายถึง การปฏิบัติศาสนกิจหลัก หรือกิจกรรมทางศาสนาที่พึงปฏิบัติ โดยเฉพาะการละหมาด ซึ่งไม่สามารถหยุดได้แม้เจ็บป่วย โดยอนุโลมให้ทำได้ในท่านั่งหรือท่านอนบนเตียง แม้กระทั่งเคลื่อนไหวไม่ได้ก็ให้หลับตา-ลืมตา ทำเท่าที่ทำได้ตราบใดที่สติยังมี ฉะนั้น การกระตุ้นหรือสนับสนุนให้ได้ปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจและจิตวิญญาณ นอกจากนี้ ยังต้องช่วยประสานเรื่องภาระคั่งค้างที่ส่งผลต่อผู้ที่เจ็บป่วย เช่น เรื่องหนี้สิน ทรัพย์สิน เป็นต้น นอกจากนี้ ควรให้ผู้ป่วยอ่านบทดุอาร์ (บทขอพร) สำหรับคนป่วย เช่น ดุอาร์ที่มีความหมายว่า

“โอ้ อัลลอฮฺ โปรดนำความเจ็บป่วยนี้ไปเสียเถิด โอ้พระผู้อภิบาลแห่งมวลมนุษยชาติ โปรดให้ความเจ็บป่วยหายไป

พระองค์ทรงเป็นผู้บำบัดซึ่งไม่มีการบำบัดใดๆ (ที่ทำให้หายได้) เว้นแต่มาจากพระองค์ ขอให้เป็นการบำบัดที่ทำให้ความเจ็บป่วยหายด้วยเถิด”


     3) อาคิเราะฮฺ

          หมายถึง โลกหน้าหรือชีวิตหลังความตาย มุสลิมทุกคนเชื่อว่า มีโลกหรือชีวิตหลังความตายซึ่งเป็นโลกอันนิรันดร์ การตายเปรียบเสมือนสะพานนำพาไปสู่โลกหน้า ดังนั้น มุสลิมที่เข้าใจ เขาจะไม่กลัวตาย เพราะเขาจะได้ไปพบพระผู้เป็นเจ้า และอยู่ในโลกอันนิรันดร์


          นอกจากนี้ ควรจัดท่านอนหรือจัดเตียงให้ผู้ป่วยได้นอนในลักษณะที่หันไปทางกิบลัต หรือทิศที่หันหน้าเวลาละหมาด ซึ่งเป็นที่ตั้งของบัยตุ้ลลอฮฺในนครมักกะฮฺ (ทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือเล็กน้อย สำหรับเมืองไทย) ถ้าผู้ป่วยนอนตะแคง ให้ตะแคงขวาหันออกไปทางกิบลัต ซึ่งท่าดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถทำละหมาดได้เลย

 

 


ที่มา: คู่มือการดูแลฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนมุสลิม สำหรับผู้นำประจำมัสยิด จัดทำโดย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2551

หรือ อ่านฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์   http://v2.agingthai.org/page/895