ความเจ็บป่วยในทัศนะอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  44393

ความเจ็บป่วยในทัศนะอิสลาม

 


         ความเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ อิสลามมิได้ถือว่าความเจ็บป่วยเป็นเคราะห์กรรมหรือความโชคร้าย หากแต่เชื่อว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นไปตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺ และการหายหรือไม่หายจากการเจ็บป่วย หรือการตาย ก็เป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺเช่นกัน แต่ก็มิได้หมายความว่า ให้ผู้ป่วยนอนรอจนกว่าพระองค์จะลิขิตให้หายโดยไม่พยายามเยียวยารักษา อิสลามถือว่า ความเจ็บป่วยเป็นการทดสอบ วัดความศรัทธา ความอดทน ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นอกจากนี้ การที่พระองค์ให้เราเจ็บป่วยยังถือเป็นความเมตตา และไม่ให้เราท้อแท้สิ้นหวัง ให้รีบบำบัดเพื่อจะได้หาย ได้เคารพภักดีต่อพระองค์ต่อไป

ความเจ็บป่วยในทัศนะอิสลาม ถือว่า…

 

ความเจ็บป่วยเป็นการทดสอบ

พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า

         “และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด จากความกลัว ความหิว และด้วยความสูญเสีย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดา ผู้อดทนเถิด คือ บรรดาผู้ที่เมื่อเคราะห์ร้ายประสบแก่พวกเขาแล้ว พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์”

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 155-156)

        มนุษย์ทุกคนได้รับการทดสอบจากอัลลอฮฺ ทั้งรูปแบบของความสุขสบายและความทุกข์ยาก เพื่อทดสอบถึงความศรัทธาให้มนุษย์รู้จักขอบคุณพระองค์ในยามสุข รู้จักแบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์ และรู้จักอดทน ระลึกถึงอัลลอฮฺ ในยามทุกข์ยาก ยามเจ็บป่วย หรือประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ดังนั้น ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น จึงเป็นการทดสอบถึงความอดทนในการบำบัดรักษา ทดสอบระดับความศรัทธาที่มีอยู่ ผู้ที่เข้าใจและมีความศรัทธา จะมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับความเจ็บป่วยที่ประสบอยู่ เขาจะวิงวอนขอพรจากพระองค์ให้หายจากโรค

         ในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยมุสลิม จึงต้องทำให้สุขภาวะทางจิตวิญญาณของเขาแข็งแรง จะได้เข้าใจเรื่องนี้และมีพลังในการต่อสู้กับโรคร้าย หากจิตวิญญาณเขาอ่อนแอ เขาจะท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ เกิดความเครียด ความเศร้า ส่งผลต่อโรคทางกายที่เป็นอยู่ หรือมีโรคใหม่แทรกซ้อนขึ้นได้

 

ความเจ็บป่วยเป็นความเมตตา

ท่านศาสดามุฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ ความว่า

“โรคภัยไข้เจ็บมันนำบาปไปจากลูกหลานอาดัม อย่างเช่น ช่างตีเหล็ก เป่าหลอมเหล็กให้ละลายให้สิ่งสกปรกออกไปฉันใด

 พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตอบแทนให้ผู้เจ็บป่วยด้วยการให้อภัยแก่เขา”

(บันทึกโดยมุสลิม)

         นับเป็นความเมตตาของอัลลอฮฺที่ทรงนำบาปออกไปจากผู้ที่เจ็บป่วย เปรียบเสมือนว่าเขาได้ชดใช้ในความผิดบาปที่ผ่านมา และอัลลอฮฺจะอภัยให้แก่เขา นอกจากนี้ ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความตาย จึงเป็นโอกาสที่ผู้เจ็บป่วยจะได้หันกลับมามองตัวเอง พิจารณาถึงชีวิตที่ผ่านมา มีโอกาสขอลุแก่โทษในความผิดที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงตัวเองก่อนที่ความตายจะมาถึงซึ่งไม่อาจแก้ไขได้แล้ว ฉะนั้น การเจ็บป่วยจึงถือเป็นความเมตตาอย่างยิ่งของอัลลอฮฺที่มีต่อบ่าวของพระองค์

 

ความเจ็บป่วยถือเป็นการลงโทษ

          สำหรับผู้ที่อธรรมหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ การเจ็บป่วยก็ถือเป็นการลงโทษให้เขาได้สำนึกตัว และกลับตัวเป็นคนดี มีความเชื่อและศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (อีหม่าน) ที่เข้มแข็งต่อไป อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นความเมตตาของอัลลอฮฺต่อบ่าวของพระองค์ แม้บ่าวผู้นั้นจะดื้อดึงก็ตาม ฉะนั้น เมื่อเรามีความเจ็บป่วย จึงต้องมาพินิจพิจารณาถึงสิ่งที่ทำผิดบาป และรีบขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์เป็นผู้ทรงให้อภัยตลอดเวลา ดังพระดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า

“แท้จริง อัลลอฮฺ ทรงรักบรรดาผู้สำนึกผิดที่กลับเนื้อกลับตัว และบรรดาผู้ที่ทำตนให้สะอาด”

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 222)

 

การบำบัดรักษาเมื่อเจ็บป่วย

         ดังได้กล่าวมาแล้วว่า มิให้นอนรอความตาย หรือปล่อยให้ความเจ็บป่วยหายไปเอง เพราะเมื่อพระองค์ทรงลิขิตให้เจ็บป่วยแล้ว ก็ทรงลิขิตให้หายป่วยไว้ด้วย โดยผ่านกระบวนการบำบัดรักษา ดังที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด กล่าวไว้ ความว่า

“จงรักษาเถิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงนำโรคลงมา เว้นแต่พระองค์จะนำยามา เพื่อการบำบัดลงมาด้วย

 ยกเว้นโรคเดียวที่ไม่มียารักษาโรค คือ โรคชรา”

(บันทึกโดย อัลบุคอรี และมุสลิม)

          ส่วนผลของการบำบัดรักษาว่าจะหายหรือไม่ หรือจะเรื้อรังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระองค์เท่านั้น เราจึงเห็นผู้เจ็บป่วยที่รักษาไม่หายหรือตายจากโรคต่างๆ แม้เป็นโรคที่ไม่รุนแรงหรือบางคนที่เป็นโรคร้ายแรง แต่ก็รักษาหายหรือประคับประคองไปได้อีกระยะหนึ่ง ดังอัลกุรอาน ความว่า

“และเมื่อฉันป่วย ดังนั้น พระองค์ทรงทำให้ฉันหายป่วย”

(อัชชุอะเราะฮฺ 26: 80)

         การบำบัดรักษาจึงเป็นหน้าที่และสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมที่เจ็บป่วยและญาติ เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเจ้า ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ร่างกายเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบหมายให้ดูแล ห้ามทำร้ายร่างกายหรือปล่อยปละละเลย ให้รีบบำบัดรักษาด้วยวิธีการที่อนุมัติ ไม่ขัดกับหลักศาสนา อย่างเช่น การตั้งภาคี การบนบานสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ การมอบหมายหรือศรัทธาในผู้บำบัดเกินขอบเขต เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้บำบัดให้หายได้โดยลืมนึกถึงอัลลอฮฺ ผู้ที่ทำให้หายป่วยโดยการใช้ไสยศาสตร์ การทรงเจ้าเข้าผี การเสี่ยงทายหรือบูชายัญ เป็นต้น หากจะมีการเป่าพรม ก็ต้องอ่านถ้อยคำจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรืออ่านบทขอพรที่ท่านศาสาดมุฮัมหมัดสอนไว้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมของสุรา ยาดอง หรือสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) มาบำบัดรักษา


          ส่วนการหายจากโรคนั้น ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของอัลลอฮฺเท่านั้น มุสลิมที่เจ็บป่วยจึงต้องวิงวอนขอและศรัทธาต่อพระองค์ มีความอดทน มีความเชื่อมั่น มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีกำลังใจ มีความหวังในความเมตตาของพระองค์ พร้อมกันนั้น เขาจะไม่เสียใจหรือท้อแท้ หรือโวยวายหากการบำบัดนั้นไม่ได้ผล เพราะทุกอย่างเกิดจากพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์อาจให้อะไรมากกว่าหายจากโรค หรือการหายเจ็บป่วย อาจทำให้เกิดผลเสียด้านอื่นแก่บ่าวของพระองค์ได้ ฉะนั้น การปลูกฝังเรื่องนี้แก่ผู้ป่วยมุสลิมและญาติ จะทำให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายต่อไป

 

อย่าสิ้นหวังหรือท้อแท้

         ผู้ที่เจ็บป่วย แม้ป่วยระยะสุดท้ายก็ตาม ไม่ควรสิ้นหวังหรือท้อแท้ในความเมตตาของอัลลอฮฺ ไม่ควรคิดต่อพระองค์ในทางที่ไม่ดี เช่น คิดว่าพระองค์โกรธกริ้ว เพราะทำความผิดไว้มาก การคิดเช่นนี้จะทำให้ยิ่งกระวนกระวาย ซึมเศร้าได้

ท่านศาสดามุฮัมหมัด  กล่าวไว้ ความว่า

“อัลลอฮฺ ตรัสว่า เราจะเป็นอย่างที่บ่าวคนหนึ่งคิดต่อเรา”

(บันทึกโดยอัลบุคอรี)

ท่านอิบนุอับบาส กล่าวไว้ว่า “เมื่อท่านได้พบเห็นผู้ที่กำลังใกล้เสียชีวิต ก็จงบอกข่าวดีแก่เขาว่า เขาอาจจะได้พบอัลลอฮฺ และเขาต้องนึกคิดต่อพระองค์ในทางที่ดี”

 

          อิสลามห้ามการทำร้ายตัวเองทั้งในทางตรงและทางอ้อม การฆ่าตัวตายถือเป็นบาปอย่างยิ่ง ดังนั้น จะเห็นว่า ผู้ป่วยมุสลิมที่มีอาการซึมเศร้าหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แม้จะมีความคิดเรื่องความตายหรืออยากตาย (เพราะเป็นอาการของโรค) แต่มักไม่ค่อยฆ่าตัวตายหรือลงมือกระทำ จึงพบสถิติการฆ่าตัวตายน้อยที่สุดในสามหรือสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย อาจมีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว บางคนขอให้แพทย์ฉีดยาให้ตาย ซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม

ท่านศาสดามุฮัมหมัด  ได้กล่าวเตือนไว้ว่า

“คนใดคนหนึ่งอย่าได้คิดอยากตาย อันเนื่องเพราะเกิดการเจ็บป่วย แต่หากเขาจำเป็น ต้องกล่าวคำใดออกมาก็จงกล่าวว่า

โอ้อัลลอฮฺ ขอให้ฉันมีชีวิตคงอยู่ หากการมีชีวิตอยู่นั้น เป็นสิ่งที่ดีสำหรับฉัน และขอให้ฉันจบชีวิตเสีย หากการจบชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับฉัน”

(บันทึกโดยอัลบุคอรี)

และท่านยังได้กล่าวอีกว่า

“คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเจ้า อย่าได้คิดอยากตาย เพราะบางทีเขาก็เป็นคนดี เมื่อเขามีอายุยาวต่อไป ความดีของเขาก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

 และหากเขาเป็นคนเลว เมื่อชีวิตยาวออกไป บางทีเขาอาจได้กลับเนื้อกลับตัวหรือสำนึกผิด”

 

 

 

ที่มา: คู่มือการดูแลฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนมุสลิม สำหรับผู้นำประจำมัสยิด จัดทำโดย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2551

หรือ อ่านฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์ http://v2.agingthai.org/page/895