ความรู้เกี่ยวกับหัจญ์อำลา
  จำนวนคนเข้าชม  6984

ความรู้เกี่ยวกับหัจญ์อำลา (حجة الوداع)


เรียบเรียงโดย อุควะฮฺ อิสลามียะฮฺ


         การทำหัจญ์เป็นศาสนกิจหนึ่งที่เป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการครอบครองทรัพย์ซึ่งจะเป็นเงินทุนที่จะเดินทางไปทำหัจญ์ที่นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดีอาระเบีย  และการมีซึ่งความสมบูรณ์ ความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย  ที่สามารถเดินทางตลอดจนสามารถประกอบพิธีหัจญ์ให้สำเร็จลุล่วงได้ 

อัลลอฮฺ ได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องหัจญ์ไว้ว่า

فِيهِ آيَاتٌ بَيِّنَاتٌ مَّقَامُ إِبْرَاهِيمَ ۖ وَمَن دَخَلَهُ كَانَ آمِنًا ۗ وَلِلَّـهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلًا ۚ
وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ اللَّـهَ غَنِيٌّ عَنِ الْعَالَمِينَ

     " ในบ้านนั้นมีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง(ส่วนหนึ่งนั้น)คือมะกอมอิบรอฮีมและผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้นเขาก็เป็นผู้ปลอดภัยและเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือมวลมนุษย์ คือ การทำหัจญ์ ณ อัลบัยต์ (บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถหาทางไปสู่มัน (บ้านหลังนั้น)ได้ และผู้ใดปฎิเสธ (การทำหัจญ์) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงพอเพียงจากประชาชาติทั้งหลาย"

 (อาละอิมรอน :97)

           ท่านนบีมุหัมมัด  ได้แสดงแบบอย่างไว้ในทุกอิริยาบถที่เป็นศาสนกิจที่อัลลอฮฺ สั่งใช้ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การถือศีลอด  การจ่ายซะกาต และการทำหัจญ์ ซึ่งเป็นศาสนกิจท้ายสุดที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงบัญญัติไว้ ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวแก่ประชาชาติของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 

خذواعني مناسككم   " พวกท่านจงยึดการทำอีบาดะฮฺ(การทำหัจญ์)ของพวกท่านจากฉัน"

(หะดีษบันทึกโดยมุสลิม)

          การปฏิบัติศาสนกิจที่บังคับ จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับมุสลิมที่จะต้องตามแบบอย่างแนวทางของท่านนบี(อิตตีบาอฺ)พร้อมกับการมีเจตนาที่บริสุทธ์ต่ออัลลอฮฺ(อิคลาศ) เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการงานของเขาจะไร้ผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ


1. นัยสำคัญในการทำหัจญ์ของท่านเราะสูลลุลลอฮฺ

         แท้จริงการทำหัจญ์ของท่านเราะสูลลุลลอฮฺ  นั้น มีนัยที่สำคัญ เพราะมันมีความเกี่ยวพันกับการเชิญชวนสู่อิสลาม และเกี่ยวพันกับชีวิตของท่าน ทั้งยังมีข้อเกี่ยวพันกับแนวทางทั่วไปของระบอบอิสลาม แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาได้เรียนรู้จากท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาในเรื่องที่เป็นศาสนกิจและสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ(วาญิบ)ทั้งหลาย เหลือแต่การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจหัจญ์ของพวกเขาเท่านั้น

         การเรียกร้องสู่การทำหัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ อัลหะรอม จะคงอยู่ตลอดไปตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ เพราะมันคือคำเรียกร้องของบิดาแห่งบรรดานบีทั้งหลาย นั่นคือ ท่านนบีอิบรอฮีม ด้วยคำสั่งใช้ที่มาจากอัลลอฮฺ ทว่าคำสั่งดังกล่าวนั้น ถูกบิดเบือนจากกลุ่มชนญาฮิลียะฮฺและบรรดาผู้ที่หลงใหลในบรรดาเจว็ดทั้งหลาย ทั้งยังมีการปฏิบัติที่หลงผิดในการทำหัจญ์ และสำนวนที่ใช้ในการทำหัจญ์นั้นก็มักจะปะปนกับสัญลักษณ์ของการปฏิเสธศรัทธาและการตั้งภาคี    ซึ่งการมาของอิสลามนั้นทำให้สามารถขจัดพิธีกรรมต่างๆที่ปะปนกับสิ่งโสมมทั้งหลาย และหวนกลับสู่ความบริสุทธิ์ที่สาดส่องด้วยรัศมีของความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และดำรงซึ่งรากฐานของการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เพียงพระองค์เดียว

         ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จึงอนุญาตให้ไปทำหัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ อัลหะรอม และด้วยเหตนี้เอง ที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจึงได้น้อมรับและให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ สั่งสอนวิธีการประกอบพิธีหัจญ์ที่ถูกต้อง โดยไม่จมปลักอยู่ในการเจริญรอยตามการปฏิบัติของกลุ่มชนญาฮิลียะฮฺในอดีตกาล  เช่นการส่งเสียงเป่าปาก การแก้ผ้าเปลือยในระหว่างการฏอวาฟ

 

2. ปีแห่งการบัญญัติหัจญ์

สำหรับปีของการบัญญัติหัจญ์นักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกันดังนี้

ทัศนะที่ 1บัญญัติในปีที่10

روى الإمام مسلم  بسنده عن جابر رضى الله عنه قال :  مكث رسول الله صلى الله عليه وسلم  بالمدينة المنورة تسع سنين لم يحج ’ ثم أذن فى الناس فى العاشرة أن  رسول الله صلى الله عليه وسلم حاج  ’ فقدم المدينة بشر كثير كلهم يلتمس أن يأتم برسول الله صلى الله عليه وسلم  ’ ويعمل مثل عمله.

มีรายงานจากท่านอิมามมุสลิม ด้วยสายรายงานจากท่าน ญาบิร กล่าวว่า 

        ท่านเราะสูลุลลอฮฺ พำนักอยู่ที่เมืองมะดีนะฮฺ อัลมุเนาวะเราะฮฺ เป็นระยะเวลา  ปี โดยที่ท่านไม่ได้ประกอบพิธีหัจญ์เลย หลังจากนั้นในปีที่ 10 ท่านได้อนุญาต(ประกาศ)แก่ประชาชาติของท่าน ว่าแท้จริงท่านเราะสูลลุลลอฮฺ มีความประสงค์จะไปทำหัจญ์ในปีนี้ เมื่อชาวมะดีนะฮฺรับทราบก็ได้แสดงความดีอกดีใจกันมาก พวกเขาต่างพากันขอตามท่านเราะสุลลอฮฺ และได้ปฏิบัติภารกิจหัจญ์ เฉกเช่นการปฏิบัติของท่านเราะสูล


ทัศนะที่ 2 บัญญัติในปีที่6

قال‌ علی بن‌ برهان‌ الدين‌ الحلبي‌ّ: فرض الحج كان سنة ست من الهجرة أي وصححه الرافعي في باب السير وتبعه النووي

         อาลี บิน บุรฮานุดดีน อัลหะละบีย์ กล่าวว่า นักวิชาการส่วนใหญ่กล่าวว่า พิธีหัจญ์ได้ถูกบัญญัติในปีที่ 6 แห่งการฮิจเราะฮฺ ซึ่งเป็นทัศนะที่ถูกต้องของท่าน อัรรอฟีอีย์ ในบทอัสสิยัรและอิมามนะวะวีย์ได้ยึดตามทัศนะนี้ด้วย


ทัศนะที่ 3 บัญญัติในปีที่ 9 และปีอื่นๆ

وقيل فرض سنة تسع. وقيل سنة عشر انتهى، وبه قال أبو حنيفة، ومن ثم قال إنه على الفور. وقيل فرض قبل الهجرة واستغرب

        และมีกล่าวกันว่าหัจญ์ได้ถูกบัญญัติในปีที่ 9 แห่งการฮิจเราะฮฺ และมีกล่าวอีกว่าในช่วงท้ายของปีที่ 10 แห่งการฮิจเราะฮฺ ซึ่งเป็นคำกล่าวของท่านอะบูหะนีฟะฮฺ  และท่านอัลเฟารีย์  และมีกล่าวกันอีกว่าได้ถูกบัญญัติก่อนการฮิจญฺเราะฮฺ ซึ่งเป็นทัศนะที่แปลก(ไม่น่าจะเป็นไปได้)  
  
         อย่างไรก็ดีทัศนะที่มีน้ำหนัก คือ ทัศนะแรก(ปีที่ 10 ฮิจเราะฮฺ) ตามคำกล่าวของเศาะหาบะฮฺ(ท่านญาบิร) ที่ได้อยู่ร่วมกับท่านนบี ที่มะดีนะฮฺ และจากการรายงานของอิมามบุคอรีย์และมุสลิมที่ยกมาข้างต้น  จากการรายงานมีบันทึกที่ยืนยันชัดเจนว่า หลังจากที่ท่านนบี  ฮิจเราะฮฺไปยังนครมะดีนะฮฺ ท่านไม่ได้ประกอบหัจญ์อีกเลยหลังจากการประกอบหัจญ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในปีที่ 10 ฮิจเราะฮฺ ภายหลังจากที่อัลลอฮฺได้ประทานวะฮีย์เกี่ยวกับการบัญญัติหัจญ์

 

3.ชื่อเรียกการทำหัจญ์

        การทำหัจญ์ของท่านนบีครั้งนี้ มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกันไม่ว่าจะเป็น  حجة البلاغ، حجة الوداع ،وحجةالإسلام ، حجةالتمام และ حجةالكمال  การเรียกชื่อที่แตกต่างกันนั้นก็ด้วยเหตุผลที่หลากหลายเช่นกันดังนี้
 
        สำหรับผู้ที่เรียกหัจญ์ครั้งนี้ ด้วยชื่อหัจญ์ “หัจญะตุลวะดาอฺ” (حجة الوداع) หรือหัจญ์อำลา อันเนื่องจากว่าท่านนบี  ได้อำลาต่อประชาชาติของท่านในการทำหัจญ์ครั้งนั้นและหลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ทำหัจญ์อีกเลย

        สำหรับชื่อ “หัจญะตุลอิสลาม” (حجة الإسلام) หรือหัจญ์แห่งอิสลาม อันเนื่องจากท่านนบี ไม่ได้ประกอบพิธีหัจญ์ขณะที่ท่านอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺนอกจากหัจญ์ครั้งนี้  แต่สำหรับการประกอบพิธีหัจญ์ก่อนการฮิจเราะฮฺนั้น ท่านนบีได้ปฏิบัติหลายครั้ง

       และสำหรับชื่อ “หัจญะตุลบะลาฆฺ” (حجة البلاغ) หรือหัจญ์แห่งการประกาศหรือแถลงการณ์ อันเนื่องจากท่านนบี  ได้นำสาส์นแก่มนุษย์ชาติ ในบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกอบพิธีหัจญ์ด้วยกับคำพูดและการกระทำของท่าน และท่านไม่ได้ทิ้งสิ่งใดที่เป็นเสาหลักและกฎระเบียบของศาสนาอิสลาม เว้นแต่ท่านจะชี้แจงและอธิบายมัน ซึ่งเมื่อท่านได้ชี้แจงบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบพิธีหัจญ์แก่พวกเขา(บรรดาเศาะหาบะฮฺและผู้ศรัทธาทั้งมวล) ท่านก็ได้ทำให้มีความกระจ่างด้วยกับการอธิบายรายละเอียดต่างๆของการทำหัจญ์

        นอกจากนี้ยังถูกเรียกว่า “หัจญะตุลตะมามวัลกะมาล” (حجة التمام والكمال) หรือหัจญ์ที่สมบูรณ์ อันเนื่องมาจากคำตรัสของอัลลอฮฺ ได้ถูกประทานลงมาภายหลังจากที่ท่านนบีคุฎบะฮฺที่อารอฟะฮฺ นั่นคือ 

الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِى وَرَضِيتُ لَكُمُ الأسْلاَمَ دِينا

“วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า

และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว”

(อัลมาอิดะฮฺ: 3)

       อีกประการหนึ่งก็เนื่องจากได้มีการสาธยาย(การทำหัจญ์)อย่างสมบูรณ์โดยท่านนบี  และพวกเขา(บรรดาเศาะหาบะฮฺ) ก็ได้เห็นรูปแบบการประกอบพิธีหัจญ์(จากท่านนบี )อย่างสมบูรณ์

 

4.การทำหัจญของท่านนบีก่อนการฮิจเราะฮฺ

      สำหรับการทำหัจญของท่านนบี ก่อนการฮิจเราะฮฺว่ามีกี่ครั้งนั้น บรรดาอุลามาอฺได้มีความเห็นที่แตกต่างกันดังนี้


     มีการบันทึกจากท่านอัตติรมีซีย์และท่านอิบนุมาญะฮฺ ว่าแท้จริงท่านเราะสูล  ได้ทำหัจญ์ด้วยกันสามครั้งก่อนที่ท่านจะฮิจเราะฮฺไปยังมะดีนะฮฺ  ซึ่งท่านหาฟิส อิบนุหะญัร ได้กล่าวในหนังสือ ฟัตหุลบารีว่า 

          “ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่คณะผู้แทนจากกชาวอันศอรเดินทางมาที่อัลอะเกาะบะฮฺ ณ แผ่นดินมินาหลังจากที่ได้ทำหัจญ์  ซึ่งในครั้งแรกนั้นพวกเขามาเจอท่านนบี แล้วก็ได้ทำสัญญากับท่าน ส่วนครั้งที่สองพวกเขามาทำสนธิสัญญาอะเกาะบะฮฺครั้งที่หนึ่ง ส่วนการมาครั้งที่สามนั้นพวกเขาได้ทำสนธิสัญญาอะเกาะบะฮฺครั้งที่สอง ”

จากเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเข้าใจว่าท่านนบี  ทำหัจญ์ก่อนที่จะอพยพด้วยกันสามครั้ง (ผู้เรียงเรียง)

 

     ♥ ท่านอิบนุลอะษีร ได้กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้ทำหัจญ์ทุกๆ ปีก่อนการฮิจเราะฮฺ 

 

     ส่วนท่านอิบนุเญาซีย์ได้กล่าวว่า ท่านเราะสูล  ได้ทำหัจญ์ก่อนที่ท่านจะถูกแต่งตั้งเป็นนบีและหลังจากที่ท่านถูกแต่งตั้งเป็นนบีหลายครั้งด้วยกัน โดยไม่ทราบว่าจำนวนที่แน่นอน ซึ่งก่อนที่ท่านจะได้ถูกแต่งตั้งเป็นนบีท่านเคยไปค้างแรมที่ทุ่งอาเราะฟะฮฺ และท่านได้ย้ายจากทุ่งอะเราะฟะฮฺไปยังมุซดะลีฟะฮฺ(ด้วยวิธี)ที่แตกต่างจากชาวกุรอยชด้วยกับเตาฟิกที่อัลลอฮฺประทานมาให้แก่ท่าน โดยที่ชาวกุรอยชนั้นจะไม่ออกไปจากแผ่นดินอัลหะรอม (จากมักกะฮฺไปยังสถานที่อื่น)

 

         ท่านเราะสูล ได้เตรียมตัวจะเดินทางไปทำหัจญ์และได้แนะนำให้สาวกของท่านทำตามอย่างที่ท่านกระทำไว้  เนื่องด้วยเดือนซุลกิอ์ดะฮฺกำลังจะจบลงและเดือนแห่งความประเสริฐกำลังจะเข้ามา นั่นคือ เดือนซุลหิจญะฮฺ   ในวันที่ 25 ซุลเกี๊ยะดะฮฺ ปีที่ 10 ฮิจเราะฮฺ เป็นวันที่ท่านนบีมุหัมมัด ออกเดินทางไปยังมักกะฮฺพร้อมด้วยภริยาทั้งหมดของท่าน และในวันนั้นก็มีขบวนมากมายมหาศาลติดตามท่านไป บางทัศนะระบุว่า 124,000 หรือ 144,000 คน  จากทั่วทุกคาบสมุทรได้หลั่งไหลมายังนครมะดีนะฮฺ  จากทุกเมือง ทุกหมู่บ้าน จากทุกขุนเขา จากที่ราบทุกแห่งและจากทะเลทราย

        ในระหว่างที่ท่านนบี  ประกอบหัจญ์อยู่นั้นท่านได้เทศนาธรรม(คุฏบะฮฺ)ไว้แก่ประชาชาติของท่านไว้หลายสถานที่   สำหรับสถานที่คุฏบะฮฺสุดท้ายของท่านนบี  นักวิชาการบางคนมีทัศนะว่าท่านนบี  ได้คุฏบะฮฺในวันอะเราะฟะฮฺ ณ  ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ในขณะที่บางคนมีทัศนะว่าเกิดขึ้นในวันนะหฺรุ ณ ทุ่ง มินา และมีบางทัศนะระบุว่าท่านนบี  ได้คุฏบะฮฺ สามครั้งด้วยกัน

ครั้งที่หนึ่ง วันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ

ครั้งที่สอง วันนะหฺรุ ณ ทุ่ง มินา

ครั้งที่สาม วันที่สองของวันตัชรีก ณ ทุ่ง มินา

 

         การเทศนาธรรมหรือคุฏบะฮฺทั้ง 3 สถานที่ข้างต้นในหัจญ์อำลา (حجة الوداع) ถือเป็นคุฏบะฮฺที่บรรจุด้วยคำสั่งเสียของท่านนบี ที่มากล้นด้วยเนื้อหาสารที่เป็นข้อบัญญัติ ข้อเตือนสติ และข้อเตือนใจหลายประการ ถือเป็นคุฏบะฮฺที่มุสลิมทุกคน ควรศึกษาวิเคราะห์และนำบทเรียนข้างต้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างยิ่งยวด  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ้ง  สมควรอย่างยิ่งที่เราจะเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่ตัวบทและสายงาน ตลอดจนบทวิเคราะห์จากคุฏบะฮฺข้างต้นต่อไป