หน้าที่ของครู และนักศึกษา
  จำนวนคนเข้าชม  17710

หน้าที่ของครู และนักศึกษา


เขียนโดย : ศ. ดร. มุฮัมหมัด อะฏียะฮฺ อัล อิบรอซี


“ครูแบบไหนกัน ที่สร้างเหล่าบุรุษ ผู้พร้อมจะปกป้องมุฮัมหมัด จากคมดาบคมธนู

และโรงเรียนแบบไหนกัน ที่สร้างบรรดาสตรี ผู้ปฐมพยาบาลทหารมุสลิม ในสมรภูมิรบ อย่างกล้าหาญ”


บุคลิกที่สมบูรณ์ถูกต้องของครูและนักเรียนสำคัญต่อการเรียน

          มุสลิมถือว่า บุคลิกลักษณะทางศีลธรรมอันถูกต้องสมบูรณ์นั้น มีความสำคัญต่อการเรียน และเป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จ ทั้งของครูและนักเรียน เช่นเดียวกับก่อนละหมาด ซึ่งทั้งครูและนักเรียนควรจะต้องทำความสะอาดจิตใจให้ปราศจากสิ่งสกปรกเลวทรามเสียก่อน ทั้งนี้ เพราะการเรียนเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต การศึกษาใดๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าไม่ตั้งอยู่บนศีลธรรมแล้วก็ถือว่า อารยธรรมนั้นเป็นอารยธรรมจอมปลอม เหมือนกับภาพลวงตา

 

การให้ความสำคัญต่อการศึกษาและนักศึกษา

          ประเด็นสำคัญที่สุดของการศึกษาของอิสลาม ก็คือ การให้ความสำคัญต่อการศึกษาและนักศึกษาอย่างมาก ดังนั้น ครูและนักเรียนจึงสามารถอุทิศตัวเองให้กับการศึกษา และการค้นคว้าได้อย่างเต็มที่

 

การสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว ความรัก และมิตรภาพระหว่างครูและนักเรียน

         ครูจะต้องแสดงความรักต่อนักเรียนของตน และปฏิบัติต่อนักเรียนเหมือนว่าตัวเองเป็นพ่อแม่เด็ก ส่วนนักเรียนก็ต้องทำให้ครูพึงพอใจ ต้องให้ความเคารพ และให้เกียรติครูของตน การสร้างสัมพันธภาพส่วนบุคคล ความรัก และมิตรภาพระหว่างครูและนักเรียน เป็นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จทางการศึกษา ถ้าหากครูจริงใจต่อนักเรียนของตน และนักเรียนก็รู้สึกในความรักของครูและรักครูเช่นกันแล้ว เรื่องต่างๆ ที่ยากก็จะกลับกลายเป็นเรื่องง่าย แต่บางครั้ง ความรักต่อครูอาจทำให้นักเรียนสนใจในวิชาที่ครูคนนั้นสอน หรือเกลียดตัวครูก็เลยพาลไม่ชอบวิชาที่ครูคนนั้นสอนก็มี

         หลังจากปราชญ์การศึกษาของอิสลาม ได้สังเกตอิทธิพลความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียน และได้ศึกษาถึงเรื่องความโน้มเอียงของเด็ก และระดับสติปัญญา ตลอดจนค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้เด็กรักครูมากกว่าอย่างอื่น นักปราชญ์การศึกษาอิสลามได้สนับสนุนให้ครูใช้วิธีการยกย่อง ชมเชย และละทิ้งจากการตำหนิติเตียน หรือด่าว่าเด็ก

 

หน้าที่ของครู ตามทัศนะของอิมามเฆาะซาลี

อิมามเฆาะซาลี ได้กล่าวถึงภาระหน้าที่ของครูที่จะต้องปฏิบัติว่า

    1)  ครูจะต้องมีความเมตตากรุณาต่อนักเรียนของตน เหมือนกับว่าเด็กนักเรียนเป็นลูกของตนด้วย ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า

“ฉันกับท่านนั้นเหมือนพ่อกับลูกของเขา”


     2)  ครูจะต้องไม่แสวงหาสิ่งตอบแทนหรือคำขอบคุณจากการสอนของตน นอกจากทำเพื่อความใกล้ชิดอัลลอฮ์


     3)  เขาต้องไม่ละเลยที่จะแนะนำนักเรียนของตนและจะต้องหาโอกาสทุกทางที่จะให้คำปรึกษา และนำทางเด็ก


     4)  ครูควรจะว่ากล่าวตักเตือน และแสดงเป็นนัยให้นักเรียนรู้ตัวมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมิใช่ตะโกน และให้ทำด้วยความเมตตามากกว่าโดยการเหยียดหยามด่าว่า

          อิมามเฆาะซาลี แนะนำให้ว่ากล่าวตักเตือนโดยการพูดเป็นนัยและให้คำแนะนำ และมิใช่ทำแบบเปิดเผยโจ่งแจ้งถ้าหากนักเรียนประพฤติสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ขัดกับศีลธรรม นอกจากนั้นแล้ว ครูจะต้องแสดงความเมตตากรุณาต่อเด็กในขณะที่ว่ากล่าวตักเตือนอีกด้วย


    5)  ครูต้องสังเกตระดับสติปัญญาของเด็กนักเรียนและสอนตามสมรรถภาพทางสติปัญญา อย่าให้วิชาหรือสิ่งใดเกินความสามารถของเด็ก จนเด็กเอือมระอาต่อการศึกษาและไม่เข้าใจอะไรเลย


     6)  ครูต้องยอมรับการรับรู้ในวิชาอื่นๆ ของเด็กบ้าง และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนวิชาอื่นบ้าง หมายความว่า ครูต้องไม่คลั่งไคล้ หรือติดอยู่กับวิชาของตัวเองจนเกินไป


     7)  ครูต้องสอนสิ่งที่ชัดแจ้งเห็นจริงแก่เด็กนักเรียนที่อ่อน และต้องไม่บอกให้นักเรียนที่อ่อนไปเก็บรายละเอียดเอาเอง ทั้งนี้เพื่อไม่เด็กรู้สึกยุ่งยากและเบื่อหน่ายในการเรียน นี่หมายถึง การสังเกตระดับนักเรียนอ่อน แล้วก็เลือกบทเรียนหรือเรื่องต่างๆ ที่ง่ายๆ ชัดแจ้ง และเหมาะสมสำหรับเด็กเหล่านั้นมาสอน ครูจะต้องไม่ทำให้เด็กรู้ว่าตัวเองโง่เขลา หรือการเรียนอ่อน ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ให้เด็กฝังใจในสิ่งที่ไม่ดีของตัวเอง


     8)  ครูจะต้องปฏิบัติตามคำสอนของตน การกระทำของครูจะต้องไม่ขัดกับคำพูด ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงกล่าวไว้ว่า

“ที่น่าชังที่สุดในสายตาของอัลลอฮฺ คือ ที่สูเจ้าพูด สูเจ้าไม่ปฏิบัติ”

ท่านนบีมุฮัมหมัดได้กล่าวว่า

“เขาไม่ได้เรียน เว้นเสียแต่ว่า เขาจะใช้ความรู้ที่เขาได้เรียนมา”

 

หน้าที่ของนักศึกษา…

     1)  ก่อนที่นักศึกษาจะอุทิศตัวเองเพื่อการศึกษา เขาจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำจิตใจของเขาให้สะอาดปราศจากความชั่วร้าย เพราะว่าการเรียนและการสอนนั้นถือเสมือนว่าเป็นการทำความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า และการทำความเคารพภักดีนั้นเป็นที่อนุมัติเฉพาะผู้ที่จิตใจบริสุทธิ์และผู้ที่มีคุณธรรมดีงาม เช่น มีสัจจะ จริงใจ เคร่งครัด ถ่อมตน สันโดษ ปราศจากความด่างพร้อยอันน่าตำหนิ เช่น อิจฉา ริษยา เย่อหยิ่ง จองหอง โอ้อวด หลอกลวง และอื่นๆ เท่านั้น


     2)  จากการศึกษาของเขา เขาจะต้องแสวงหาสิ่งที่ทำให้จิตใจของเขามีความสวยงามหมดจดด้วยคุณธรรม และความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เพื่อตัวเองโก้หรู โอ้อวด และเย่อหยิ่ง


     3)  เขาจะต้องศึกษาหาความรู้อยู่ตลอด ไปให้ไกลจากครอบครัวและมาตุภูมิ และต้องไม่ลังเลที่จะเดินทาง ถ้าหากสถานการณ์ต้องทำให้เขาเดินทางออกไปหาครู


     4)  เขาจะต้องไม่เปลี่ยนครูผู้สอนอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าหากจำเป็น เขาจะต้องใช้ดุลยพินิจที่รอบคอบ และเวลานานในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยน


     5)  เขาต้องให้เกียรติ และเคารพครู เพื่อพระผู้เป็นเจ้าและพยายามทำให้ครูพึงพอใจในทุกวิถีทาง


     6)  เขาจะต้องไม่รุกเร้าหรือบีบเอาคำตอบจากครูจนเกินไป เขาจะต้องไม่เดินตัดหน้าครูของเขา หรือนั่งในที่ของครู หรือพูดก่อนได้รับอนุญาต


     7)  เขาจะต้องไม่เปิดโปงความลับของครู หรือพูดจาหมิ่นประมาทว่าร้ายต่อหน้าครู จะต้องไม่จับผิดครู และจะต้องขออภัยครูในความผิดของตัว


     8)  เขาจะต้องศึกษาด้วยความอุตสาหะ และบากบั่น ใช้เวลาในยามกลางวันและกลางคืน ในการศึกษาหาความรู้ และเริ่มต้นโดยการเรียนสาขาวิชาที่สำคัญที่สุด


     9)  ต้องมีจิตใจโอบอ้อมอารี และมีความรักเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ดุจดั่งพี่น้องท้องเดียวกัน


     10)  นักศึกษาจะต้องทักทายครูก่อน พูดให้น้อยไม่เฉไฉไปจากเรื่องที่ครูพูดด้วย และไม่คุยกับเพื่อนของตัวเองในขณะที่กำลังพูดอยู่กับครู


     11)  เขาจะต้องฝึกตัวเองให้ศึกษา และทบทวนบทเรียนในช่วงแรกและช่วงสุดท้ายของคืน “เพราะเวลาระหว่างการละหมาดตอนเย็นกับตอนเช้านั้นเป็นเวลาที่ประเสริฐ” นี่เป็นสิ่งที่เตือนให้เรานึกถึงกวีผู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า

“โอ้ บรรดาผู้ใฝ่หาวิชาการจนเคร่งครัดต่อศาสนา มันจะทำให้ท่านเลิกง่วงเหงา และอืดอาดยืดยาด”


     12)  นักศึกษาจะต้องทำตัวเองให้คุ้นกับการเรียนจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

 

 


ที่มา : หนังสือการศึกษาในอิสลาม

แปลโดย : อาจารย์ บรรจง บินกาซัน