ความสัจจะ หนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง
โดย อ.ปริญญา ประหยัดทรัพย์
ความสัจจะ คือ อะไร?
สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจไม่โกหก ความมีสติซื่อตรง ความมีจิตใจตรง ไม่คิดคด ไม่คิดโกหก หลอกลวง รักษาคำมั่นสัญญามั่นคง
ต้องมีสัจจะต่อใครบ้าง ?
ต่ออัลเลาะฮ์ : แท้จริงอัลเลาะฮ์ ทรงบันดาลฟากฟ้า และฟื้นพิภพขึ้นมาด้วยเดชานุภาพของพระองค์และทรงเรียกร้องมนุษย์ให้จรรโลงชีวิตของพวกเขาอยู่บนสัจธรรม ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจะต้องมีความสัจจะต่ออัลเลาะฮ์ และความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์อย่างแท้จริง ทั้งด้านพฤติกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
ต่อรอซู้ล : โดยน้อมนำพระวจนะของท่านรอซู้ลมาเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต เพราะแท้จริงความสัจจะนั้นนำพาสู่ความดีงาม และความดีงามนั้น นำพาสู่สวรรค์
ต่อบิดามารดา : โดยแสดงความกตัญญู ทำความดีและปฏิบัติต่อบุพการีทั้งสองด้วยความอ่อนโยน มีสัมมาวาจา ดังที่อัลเลาะฮ์ ตรัสไว้ในซูเราะห์อัล-อิสรอฮฺ โองการที่ 24
" จงปฏิบัติต่อท่านทั้งสองด้วยความอ่อนน้อม และแสดงออกด้วยจิตใจอันมีเมตตา จงวิงวอนต่ออัลเลาะฮ์ เพื่อให้ทรงเมตตาท่านทั้งสองด้วย"
ต่อญาติพี่น้อง : โดยมอบความรัก ความปรารถนาดี และความมีสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ดังที่ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด กล่าวว่า :
"ผู้ใดรักที่จะได้รับปัจจัยที่สมบูรณ์และมีอายุยืนยาว ก็จงสานสัมพันธ์อันดีกับญาติพี่น้อง"
ต่อผู้นำ : จำเป็นที่จะต้องพูดจริงมีสัจจะกับผู้นำ เพราะผู้นำ คือสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพของสังคมมุสลิม จึงต้องเชื่อฟัง มีสัจจะปฏิบัติตามในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ขัดแย้งกับศาสนา ดังที่พระองค์อัลเลาะฮ์ ทรงตรัสว่า
"ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลเลาะฮ์ เชื่อฟังศาสดา และผู้นำที่มาจากพวกเจ้าเถิด"
(ซูเราะฮ์ อันนิซาอฺ 59)
ต่อเพื่อนบ้าน : โดยแสดงออกถึงความมีสัจจะ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่กันและกัน ดังอัลกุรอ่าน ระบุว่า :
"และจงทำความดีต่อบุพการีทั้งสองตลอดจนญาติพี่น้อง เด็กกำพร้า คนยากจน เพื่อนบ้านใกล้ชิด และเพื่อนบ้านที่ห่างออกไป"
มุสลิมทั่วไป : เนื่องด้วยมุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน จึงต้องรักใคร่สามัคคี มีสัจจะ และช่วยเหลือกันในสิ่งดีๆ ดังที่ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด กล่าวว่า
"มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องของกันและกัน จะต้องไม่อธรรมต่อกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ดูหมิ่นกัน"
มนุษย์ทั่วไป : ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาใด จำต้องมีสัจจะ ไม่โกหก ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่กันและกัน เพราะมนุษย์ทุกคนนั้นสืบทอดบรรพบุรุษเดียวกันคืออาดัมและเฮาวาฮ์
ลักษณะของผู้มีสัจจะ
♥ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น รักษาคำพูด
♥ ซื่อสัตย์ จริงใจ ไว้วางใจได้ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง
♥ มีความบริสุทธิ์ใจต่อคู่ครองของตัวเองและบุคคลทั่วไป
♥ ไม่เป็นผู้สับปลับ หน้าไหว้หลังหลอก
พฤติกรรมที่ถือว่าขาดสัจจะ
♣ การโกหกมุสาต่ออัลเลาะฮ์ และศาสนทูตของพระองค์นั้น เป็นสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจยิ่ง โดยอ้างสิ่งหนึ่งไปสู่อัลเลาะฮ์ หรือในสิ่งที่ศาสนทูตแห่งพระองค์ไม่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน และซุนนะฮ์แต่อย่างใดเลย
♣ การโกหกมุสาของผู้ปกครองต่อประชาชน โดยอาศัยเวทีปาฐกถาและปราศรัย ดังมีฮาดิษบทหนึ่งระบุว่า
"บุคคล 3 คน พวกเขาจะไม่ได้เข้าสรวงสวรรค์คือผู้ผิดประเวณี ผู้นำที่มุสาโกหก และคนยากจนที่หยิ่งผยอง"
♣ ความไม่ยุติธรรมในการเป็นพยาน นับเป็นความชั่วร้ายที่น่ารังเกียจยิ่ง ซึ่งมวลมุสลิมจะต้องไม่เบี่ยงเบนความจริงเมื่อเขาเป็นพยานต่อสิ่งนั้น ๆ โดยยืนยันความถูกต้อง ไม่โอนเอียงออกจากความชอบธรรมแต่ประการใด
♣ การสรรเสริญเยินยอต่อเพื่อนมนุษย์จะนำพาไปสู่การโกหก ดังนั้นมุสลิมควรจะต้องระมัดระวังในขณะที่เขาสรรเสริญผู้อื่น เขาจะต้องไม่กล่าวออกมานอกจากสิ่งที่ดีงาม ในขณะเดียวกันเขาจะต้องระวังในการสรรเสริญเยินยอผู้คนจนเกินเหตุและการตำหนิติเตียนจนเกินความพอดี ถึงแม้ว่าผู้ที่ถูกสรรเสริญ สมควรจะได้รับการยกย่องก็ตาม หากแต่การยกย่องกันจนเกินขอบเขตนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามสำทับและห้ามพฤติการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ขาดสัจจะ แท้จริงคือ ขาดอีหม่าน
มนุษย์มักจะนำตัวเองเข้าสู่กระแสน้ำวนแห่งการโกหก มุสาหลังจากนั้นเขาก็หาวิธีการแก้ตัวจากความผิดที่เขาได้ก่อขึ้นและพยายามหาทางหนีเพื่อให้รอดพ้นจากความผิดนั้นๆ อันที่จริงแล้วมนุษย์จะต้องยอมรับต่อความผิดของตนเอง มีความรับผิดชอบในคำพูด ด้วยการพูดความจริงปราศจากการโกหกใดๆทั้งสิ้น
ความซื่อสัตย์ในคำพูดมีมธุรสวาจาจะนำไปสู่การอีหม่านที่จริงแท้ และความดีงามที่เป็นผลพวงมาจากความสัจจะนั้น คือสุดยอดแห่งความดีงาม และผลของความดีงามนั้น นำพาสู่สวรรค์อันนิรันดร
ปลูกฝังสัจจะไว้ในหัวใจของบุตรหลาน
ศาสนาอิสลามกำชับให้ทุกคน ปลูกฝังคุณค่าของความสัจจะไว้ในจิตใจของบุตรหลาน เพื่อพวกเขาจะได้เติบโตขึ้นมาถูกหล่อหลอมด้วยความมีสัจจะอย่างแท้จริง
เล่าจากอับดุลลอฮฺ บุตรอามิร ว่า : วันหนึ่งมารดาของข้าพเจ้า เรียกข้าพเจ้าไปพบ ในขณะนั้นท่านศาสดา ได้นั่งร่วมอยู่ด้วย
มารดาได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า โอ้อับดุลลอฮ์เอ๋ย จงเข้ามาซิ ฉันจะให้สิ่งหนึ่งแก่เจ้า
เมื่อท่านศาสดา ได้ยินเช่นนั้นท่านศาสดาจึงได้กล่าวแก่นางว่า : เธอต้องการจะให้อะไรแก่เขาหรือ ?
นางกล่าวว่า : ฉันจะให้อินทผลัมแก่เขา
ท่านศาสดา จึงกล่าวแก่นางว่า : หากเธอไม่ให้สิ่งใดแก่เขา การโกหกจะถูกบันทึกแก่เธอ
(โดย อบูดาวูด บทที่ว่าด้วยจริยธรรม)
สำนักจุฬาราชมนตรี