ความรู้
  จำนวนคนเข้าชม  12196

 

ความรู้


เขียนโดย : ศ. ดร. มุฮัมหมัด อะฏียะฮฺ อัล อิบรอซี


          อิสลามเป็นศาสนาแห่งความรู้และแสงสว่าง มิใช่ศาสนาแห่งความโง่เขลาและมืดทึบ โองการแรกของอัลกุรอานที่ประทานให้แก่ท่านรอซูล  นั้น ได้ย้ำแล้วย้ำอีกให้ท่านอ่าน และยกย่องความรู้และการศึกษา ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

“จงอ่าน ด้วยพระนามของพระผู้เป็นพระเจ้า ผู้สร้างมนุษย์มาจากดิน

จงอ่าน อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสอนให้เขียนด้วยปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”

(กุรอาน 96: 1-5)

และอีกโองการหนึ่งว่า

“และจงกล่าวว่า โอ้พระผู้เป็นเจ้าของฉัน จงเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ฉันด้วยเถิด”

(กุรอาน 20: 115)

“อัลลอฮฺทรงยืนยันว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระองค์

และมลาอิกะฮฺ และปวงผู้มีความรู้ ต่างก็ยืนยันด้วยความจริงและยุติธรรมว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระองค์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงปรีชาญาณ”

(กุรอาน 3: 18)

         จะเห็นได้ว่า อัลลอฮฺได้สรรเสริญพระองค์ก่อน แล้วจึงสรรเสริญบรรดามลาอิกะฮฺ หลังจากนั้น จึงได้สรรเสริญผู้มีความรู้ นอกจากนี้ อัลลอฮฺยังทรงตรัสอีกว่า

        “และบรรดาอุปมาเหล่านี้ เราได้ยกมันขึ้นมา สำหรับมนุษย์ (ตัวอย่างเหล่านั้น เราได้ชี้แจงแก่มนุษย์แล้วในอัลกุรอาน)

และไม่มีใครเข้าใจมัน นอกจากผู้มีความรู้ (ตัวอย่างเหล่านั้นจะไม่มีใครเข้าใจ และตระหนักมัน นอกจากผู้ที่มีความรู้อย่างแท้จริง)

(กุรอาน 29: 43)

         พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ ไม่มีใครที่จะเข้าใจอุปมาของอัลลอฮฺได้ นอกจากผู้ที่มีความรู้และมีการศึกษา  ในหลายที่ด้วยกัน ที่อัลกุรอานได้ยกย่องผู้ที่มีความรู้เอาไว้ อย่างเช่น

“จงกล่าวเถิด ผู้ที่มีความรู้ กับผู้ที่ไม่มีความรู้นั้น ไม่แตกต่างกันดอกหรือ?”

“อัลลอฮฺจะทรงยกย่องผู้ที่ศรัทธา และผู้ที่ศึกษาหาความรู้ไว้ในตำแหน่งที่สูงส่ง”

 

         อิสลามให้ความสำคัญต่อการศึกษามาก และสำหรับมุสลิม การศึกษา คือ สิ่งที่สูงสุดในชีวิต ผู้ศึกษาเล่าเรียนได้รับการยกย่องให้อยู่ในฐานะที่ถัดไปจากบรรดาศาสนทูต ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“บรรดาผู้มีการศึกษา คือ ทายาทของบรรดาศาสนทูต”

 

          กล่าวกันว่า บรรดาผู้ที่มีการศึกษานั้นอยู่ถัดไปจากบรรดาศาสนทูตในวันตัดสิน นอกจากนั้นแล้ว ท่านนบี ยังกล่าวอีกว่า

“น้ำหมึกของบรรดานักปราชญ์นั้น ดีกว่าเลือดของผู้ที่ตายเพื่อศาสนา”

ท่านนบี  ได้เรียกร้องให้มุสลิมศึกษาหาความรู้ และถือว่าเป็นหน้าที่ ท่านได้กล่าวว่า

“จงให้การศึกษาแก่ลูกๆ เพราะว่าเขาต้องมีชีวิตในเวลาที่แตกต่างจากท่าน”

อิสลามไม่มีการแบ่งเพศในการศึกษา เพราะท่านนบี  กล่าวว่า

“การศึกษาเล่าเรียนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง”

         อิสลามต้องการให้ทุกคนศึกษาหาความรู้ แล้วนำมาปฏิบัติและเผยแพร่ออกไป อิสลามมิได้หยุดยั้งแต่เพียงเรียกร้องให้ผู้ศึกษาหาความรู้และเผยแพร่ความรู้ออกไปเท่านั้น แต่ยังให้เขาศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกด้วย ท่านนบี  กล่าวว่า

“มนุษย์จะได้รับความรู้ตราบนานเท่านาน ที่เขาแสวงหาความรู้ ถ้าหากเขาคิดว่า เขามีความรู้ทุกอย่างแล้ว เขาก็กลายเป็นคนที่โง่เขลา”

และยังได้กล่าวอีกว่า

“ทุกสิ่งในชั้นฟ้าและแผ่นดิน จะวิงวอนขอให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนได้รับการอภัยโทษ”

         ท่านนบี  สนับสนุนการศึกษาทั้งโดยคำพูดและการกระทำ ท่านเคยปล่อยนักโทษกาฟิร (คนนอกศาสนา) ที่มีการศึกษา ถ้าหากเขาผู้นั้นสอนมุสลิมให้อ่านออกเขียนได้ ท่านนบีมิได้ละเลยให้สตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาด้วย ท่านเคยขอร้องให้ อัลชะฟาอฺ อัลอะดะวียะฮฺ สอนนางฮัฟเซาะฮฺภรรยาของท่านให้อ่านและเขียน ซึ่งเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคมของท่าน ที่มีภาระหน้าที่จะต้องให้การศึกษาแก่สตรีและเด็กผู้หญิง

วันหนึ่งท่านนบี  เดินไปเห็นคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกำลังวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮฺอยู่ ในขณะที่มีอีกกลุ่มหนึ่งกำลังสอนผู้คนอยู่ เมื่อเห็นดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

“สำหรับผู้ที่กำลังวิงวอนขอพรนั้น พระองค์อาจจะให้หรือไม่ให้อย่างที่เขาขอก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่กำลังสอนผู้คนอยู่นั้นดีกว่า เขาถูกส่งมาให้เป็นครู”

 

         จากนั้นท่านจึงเดินไปยังกลุ่มที่กำลังสอนคน และนั่งร่วมกลุ่มกับพวกนั้นด้วย นี่คือตัวอย่างที่ดีในการสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ เผยแพร่การศึกษา และยอมรับในความดีงามของครูผู้สอน สำหรับ ท่านนบี การศึกษาเป็นรากฐานของชีวิตในโลกนี้ และของศาสนา ท่านได้กล่าวว่า

“ผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาโลกนี้ ต้องเล่าเรียน และผู้ใดปรารถนาทั้งสองอย่าง ก็ต้องศึกษาเล่าเรียน”

ท่านยังได้กล่าวอีกว่า

“มนุษยชาตินั้น คือ สองคน ครู และผู้ที่ศึกษา ไม่มีอะไรดีไปกว่าทั้งสองนี้แล้ว”

“ความตายของเผ่าพันธุ์หนึ่ง ยังเป็นความเศร้าใจน้อยกว่าความตายของผู้ที่ศึกษาเล่าเรียน”

“ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนนั้น ย่อมเหนือกว่าบรรดาผู้ทำความภักดี เสมือนกับดวงจันทร์ท่ามกลางหมู่ดาว”

“ผู้ใดก็ตามที่อยู่บนหนทางแห่งการศึกษาหาความรู้นั้น อัลลอฮฺจะชี้หนทางไปสวรรค์ให้แก่เขา”

 

         คำกล่าวเหล่านี้ ล้วนแต่ยกย่องสรรเสริญผู้ที่มีความรู้ พร้อมทั้งกระตุ้นให้มีการศึกษาหาความรู้ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า อิสลามนั้นให้มีการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ เพื่อหลีกหนีจากความโง่เขลาเบาปัญญา

ท่านนบี  ยังกล่าวอีกว่า

“บรรดาคนที่ดีที่สุดนั้น คือ ผู้ศรัทธาที่มีความรู้ ผู้ซึ่งเป็นประโยชน์เมื่อคนต้องการเขา และเป็นอิสระ เมื่อเขาอยู่ตามลำพัง”

ครั้งหนึ่ง ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี บุตรของอบูฏอลิบ อธิบายให้กามิลฟังว่า

“ความรู้นั้นดีกว่าเงิน ความรู้ปกป้องท่าน แต่ท่านต้องรักษาเงิน ความรู้นั้นปกครอง แต่เงินนั้นถูกปกครอง การใช้จ่ายเงินทำให้เงินร่อยหรอหมดไป แต่ความรู้เพิ่มขึ้นโดยการใช้”

ท่านยังกล่าวอีกว่า

“ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนนั้น เหนือกว่าบรรดาผู้ศรัทธาที่ละหมาดยามค่ำคืน ถือศีลอด และต่อสู้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺ”

ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร กล่าวว่า

“ให้ประชาชาติทั้งหลาย จงแสวงหาความรู้เถิด อัลลอฮฺจะประทานอาภรณ์ที่สวยงาม สำหรับผู้ที่แสวงหาความรู้”

บางคนกล่าวว่า

“ถ้ามีผู้มีความรู้เสียชีวิตลง แม้แต่ปลาในน้ำและนกในอากาศยังร้องไห้เพื่อเขา แม้ว่าใบหน้าของเขาจะจมดินไปแล้ว แต่ความรำลึกถึงเขายังคงอยู่”

“จงเป็นผู้แสวงหาความรู้ หรือเป็นนักศึกษา หรือเป็นผู้ฟัง แต่อย่าเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา มิฉะนั้น ท่านจะเป็นผู้ที่สูญสลาย”

 

 หะสัน บุตรของอะลี กล่าวว่า “ถ้าปราศจากผู้รู้เสียแล้ว ประชาชนก็จะกลายเป็นสัตว์”

หมายความว่า โดยการศึกษาเท่านั้น ที่จะทำให้ประชาชนข้ามพรมแดนแห่งความเป็นสัตว์ไปสู่ความเป็นมนุษย์

ตามความเห็นของอิบนุ มิสกะวัยฮฺ และอิมามเฆาะซาลี นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงของมุสลิม นั้น

“ความรู้เป็นอาหารของวิญญาณและจิตใจ”

        ถ้านักปราชญ์จะต้องเลือกเอาระหว่าง ความร่ำรวย อำนาจ หรือความรู้แล้ว เขาจะเลือกเอาความรู้ เพราะถ้าเขาเลือกเอาความรู้ เขาจะได้ทั้งอำนาจ และความร่ำรวยด้วย

ท่านอิมามเฆาะซาลี กล่าวว่า

        “ความรู้เป็นสิ่งที่คนต้องการเหมือนเงินตรา ใครก็ตามที่เล่าเรียน ทำงาน และสั่งสอน จะถูกเรียกขานอย่างยิ่งใหญ่ในสวรรค์ เขาจะเป็นเหมือนกับชมดเชียง ซึ่งทำให้ผู้อื่นมีกลิ่นหอม ในขณะที่ตนเองมีกลิ่นหอมด้วย

ผู้ใดที่ศึกษาเล่าเรียน แต่มิได้ใช้ความรู้ของเขาที่ศึกษามา จะมีลักษณะคล้ายกับสมุดบันทึก ซึ่งมีประโยชน์กับผู้อื่นเท่านั้น แต่ตัวเองหามีความรู้ไม่

หรือ เหมือนกับหินลับมีด ซึ่งทำให้สิ่งอื่นคมได้ แต่ตัวเองตัดอะไรไม่เข้า

หรือ เป็นดั่งเข็ม ที่คอยเย็บผ้าให้ผู้อื่น แต่ตัวเองไม่มีอาภรณ์ที่จะสวม

หรือ ไส้ตะเกียง ซึ่งให้แสงสว่างกับผู้อื่น แต่ตนเองกลับไหม้มอดลงทุกๆ วัน”

 

กวีอาหรับกล่าวว่า

“ใครก็ตามที่ศึกษาหาความรู้ เขาจะได้รับการยกย่องให้เหนือกว่าผู้อื่น แม้ว่าเขาไม่ได้เกิดในตระกูลอันสูงส่งก็ตาม

ถ้าเขาเดินทางไปต่างแดน เขาจะอยู่ได้ด้วยความรู้ของเขา ผู้มีความรู้มิเป็นผู้แปลกหน้าไม่ว่าจะเป็นที่ไหน”

“จงแสวงหาความรู้ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ…แม้จะต้องไปไกลถึงเมืองจีนก็ตาม”

 

         ดังนั้น การศึกษาเป็นสิ่งหนึ่งของสิทธิของมนุษย์ และเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นของชีวิต เช่นเดียวกับน้ำ อากาศ และอาหาร ใครก็ตามที่ประสงค์มีชีวิตอยู่จะต้องศึกษาหาความรู้ และเราต้องให้เขามีการศึกษา

“ถ้าความรู้ส่องแสงยังประชาชาติใด ความปรารถนาของเขาจะได้รับในไม่ช้า”

         เพราะผลของความรู้อย่างหนึ่ง ก็คือ การใช้มันนั้นจะนำไปสู่ศาสนา ทำให้มนุษย์รู้ว่า อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษแก่เขา นี่จึงเป็นสิ่งที่ว่า ทำไมปราชญ์มุสลิมจึงได้ส่งเสริมการศึกษาหาความรู้ การรวบรวมความจริง ค้นหาความคิดเห็นและนำมาใช้ปฏิบัติ และสนับสนุนการเดินทางไกลเพื่อแสวงหาความรู้

 

 

 

ที่มา : หนังสือการศึกษาในอิสลาม

แปลโดย : อาจารย์ บรรจง บินกาซัน