ศาสนาสายกลาง
อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง
อิสลามมีจุดแด่นอยู่ที่ว่า คำสั่งใช้ไม่หนักหนาสาหัสและข้อชี้ขาดเรื่องศาสนามีการผ่อนปรนและห่างจากความยุ่งยากในชีวิตมนุษย์ อิสลามคำนึงถึงความอ่อนแอของมนุษย์ในบางจุด เช่นในยามเจ็บไข้ได้ป่วยและยามเดินทาง ข้อกำหนดที่อิสลามบังคับให้ปฏิบัติเป็นสิ่งที่มนุษย์ปฏิบัติได้จริง ตามความสามารถที่มีอยู่ เป็นการปฏิบัติที่ถือว่าปานกลาง สามารถปฏิบัติได้ในชีวิต ไม่หนักเกินไปจนเกิดความยากลำบาก และไม่หย่อนเกินไปจนไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลยในแต่ละวัน
คำสอนของอิสลามที่พูดถึงเรื่องนี้ คือคำสอนต่อไปนี้
1. ให้เราวิงวอนขอ และจงอย่าให้พวกเราแบกภาระหนัก พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
رَبَّنَا وَلاَ تَحْمِلْ عَلَيْنَا إِصْرًا كَمَا حَمَلْتَهُ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِنَا رَبَّنَا وَلاَ تُحَمِّلْنَا مَا لاَ طَاقَةَ لَنَا بِهِ
(البقرة/286)
“โอ้พระเจ้าของพวกเรา โปรดอย่าได้บรรทุกภาระหนักใด ๆแก่พวกเรา เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงบรรทุกมันแก่บรรดาผู้ที่อยู่ก่อนหน้าพวกเรามาแล้ว
โอ้พระเจ้าของพวกเรา โปรดอย่าให้พวกเราแบกสิ่งที่ไม่มีกำลังใด ๆแก่พวกเราที่จะแบกมันได้”
2. อัลลอฮ์ ทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่ชีวิตเรา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ (البقرة/185)
“อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวก แก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า”
3. อัลลอฮ์ มิได้ทรงให้ความยากลำบากแก่ชีวิตพวกเรา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِي الدِّينِ مِنْ حَرَجٍ (الحج/78)
“ และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา”
4. อัลลอฮ์ มิได้ทรงประทานอัล-กุรอานลงมาเพื่อให้พวกเราลำบาก พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
طه مَا أَنزَلْنَا عَلَيْكَ الْقُرْآنَ لِتَشْقَى إِلَّا تَذْكِرَةً لِّمَن يَخْشَى (طه/2)
“ ฏอฮา เรามิได้ให้อัลกุรอานลงมาแก่เจ้า เพื่อให้เจ้าลำบาก เว้นแต่เป็นการตักเตือนแก่ผู้ที่ยำเกรง”
มีหะดีษของท่านเราะสูล ได้อธิบายความหมายของอายะฮ์ที่กล่าวมาไว้ว่า
أنَّ النَّبِيَّ دخَلَ على عائشَةَ وعنْدَها امرَأةٌ قالَ : مَن هذِهِ ؟ قالَت : هذهِ فلانَة تذكُرُ مِن صلاتِها قالَ : مَهْ ، علَيْكمْ بِما تطِيقونَ ، فوَ اللهِ ، لا يمُلُّ اللهُ حتى تمُلُّوا وكان أحَبُّ الدِّينِ إليهِ ما دامَ صاحِبُه عليهِ (رواه البخاري/43 ومسلم/2723)
“ท่านเราะสูล ได้เข้ามาหาท่านหญิงอาอิชะฮ์ในขณะที่นางมีเพื่อนคุยอยู่ ท่านถามว่า นางคือใคร ?
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ตอบว่า นางคือ อัล-เหาลาอ์ บินตีเตาบัต กำลังคุยเกี่ยวกับการละหมาดยามดึกตลอดของนาง
ท่านเราะสูล กล่าวว่า พอ พอ พวกเจ้าจงกระทำตามความสามารถ ข้าขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ พระองค์อัลลอฮ์จะไม่เบื่อจนกว่าพวกเจ้าจะเบื่อก่อน
ศาสนาที่พระองค์รักมากที่สุดคือ การงานที่เจ้าตัวได้กระทำอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา”
เรามีตัวอย่างของการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง คือ ชีวิตของท่านเราะสูล และบรรดาเศาะหาบะฮ์ทั้งหลายที่เจริญรอยตามสุนนะฮ์ของท่าน ท่านเคยกล่าวว่า
والله إنِّي لأخْشاكُم للهِ وأتْقاكُم له ، لكِنِّي أصومُ وأفْطِرُ وأصلِّي وأرْقُدُ وأتَزَوَّجُ النِّساءَ ،
فمَن رغِبَ عن سنَّتِي فلَيْسَ مِنِّي (رواه البخاري/5063)
“ฉันขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ แท้จริงฉันเป็นผู้ที่เกรงกลัวพระองค์อัลลอฮ์มากที่สุด แต่ฉันถือศีลอดและฉันละศีลอด
ฉันละหมาดกลางคืนและฉันนอนบ้าง และฉันแต่งงานกับผู้หญิง ดังนั้นผู้ใดที่ไม่ชอบสุนนะฮ์ของฉัน เขาไม่ใช่พวกฉัน”
ท่านเราะสูล ได้สาปแช่งผู้ที่ไม่ยอมเข้าใจคำสอนที่ท่านได้สอนไว้โดยกล่าวว่า
هلَكَ المُتَنَطِّعونَ ، هلَكَ المُتَنَطِّعونَ ، هلَكَ المُتَنَطِّعونَ (رواه مسلم/6784)
“ความเสียหายจงประสบ แด่ผู้ที่ปฏิบัติเกินขอบเขตในเรื่องศาสนา” (ท่านได้กล่าว 3 ครั้ง)
และท้ายสุดท่านเราะสูล ได้อธิบายความหมายของความง่ายและความสะดวกในอิสลามด้วยประโยคสั้นๆ ว่า
إنَّ الدِينَ يُسْرٌ ولَن يشَادَّ هذا الدِّينَ أحدٌ إلا غَلَبَه ، وسَدِّدوا وقارِبوا وأبْشِروا واستعِينوا بالغدْوةِ والروحة وشيْءٍ من الدُّلْجَة (رواه البخاري/39)
“แท้จริงศาสนาอิสลามนั้นง่ายและไม่มีใครทำให้กิจการของศาสนานั้นเป็นเรื่องยาก เว้นแต่จะต้องยอมจำนนไม่เอาในที่สุด
แต่พวกเจ้าจงปฏิบัติให้ถูกต้องและให้ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์มากที่สุด จงฉวยโอกาสในช่วงเช้า ช่วงเย็นและช่วงรุ่งอรุณ”