สุขภาพในมุมมองของอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  39453

สุขภาพในมุมมองของอิสลาม


เรียบเรียงโดย One Muslimah


          องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้ความหมายของคำว่า "สุขภาพ" ไว้ว่า "สุขภาพ (Health) หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้ง 4 มิติ คือ มิติทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ มิใช่เพียงแค่ปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น" แต่ความหมายของ “สุขภาพ ในทัศนะอิสลาม” จะเน้นในมิติด้าน “จิตวิญญาณ (spiritual well-being)” เป็นสำคัญ เพราะอิสลามมีหลักความศรัทธาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า คือ มีความศรัทธาในอัลลอฮฺ

          อิสลามเชื่อว่าสุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ จะเป็นพลังที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดีโดยรวม เนื่องจากอิสลามเป็นวิถีการดำเนินชีวิต (Way of Life) ที่ตั้งอยู่ในกรอบแนวทางของศาสนาที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และแบบอย่างคำสอนของท่านศาสดามุฮัมหมัด ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ทั้งในเรื่องการกิน การนอน กิจวัตรประจำวันทั่วไป สังคม วัฒนธรรม สุขภาพอนามัย การเจ็บป่วย ความตาย และอื่นๆ ซึ่งมีบัญญัติไว้ทั้งสิ้น

          การมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงดี ย่อมเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกระบวนการพัฒนาในทุกด้านทุกมิติ ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวถึงสุขภาพไว้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมปัจจัยแห่งสุขภาวะ อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของสุขภาพไว้อย่างเป็นองค์รวม ว่า

“ผู้ใดที่ตื่นเช้าขึ้นมา มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีจิตใจที่สงบร่มเย็น ไม่มีความวิตกกังวลทุกข์ร้อน มีอาหารสำหรับบริโภคในวันนั้น

ก็ประหนึ่งว่าเขาผู้นั้นได้ครองโลกไว้ทั้งโลก”

(ติรมีซีย์ อิบนิมายะฮ์ และบุคอรี)

         ในมุมมองของอิสลาม ถือว่าการดูแลรักษาสุขภาพนั้นเป็นหน้าที่ (วาญิบ) สำหรับมนุษย์ เพราะสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี เป็นความโปรดปราน (เนี๊ยะมัต) ที่อัลลอฮฺ ทรงประทานให้แก่มนุษย์ ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด  กล่าวว่า

“เนี๊ยะมัต (ความโปรดปราน) 2 ประการ ที่คนส่วนใหญ่มักจะหลงลืม คือ การมีสุขภาพที่ดี และการมีเวลาว่าง”

(บุคอรี)

          ดังนั้น มนุษย์จะต้องสำนึกในคุณค่าและต้องแสดงความกตัญญูต่ออัลลอฮฺ ในการดำรงรักษาความโปรดปรานนี้ ด้วยการรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง แต่หากปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นมูลเหตุแห่งการบ่อนทำลายสุขภาพ นอกจากผู้นั้นจะต้องได้รับความเดือดร้อนในชีวิตบนโลกนี้แล้ว เขายังต้องรับผิดชอบและถูกสอบสวนในวันอาคีเราะฮฺ (โลกหน้า) อีกด้วย ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด  มุฮัมหมัด  ได้กล่าวว่า

“และสำหรับร่างกายของเจ้านั้น เป็นหน้าที่ซึ่งเจ้าต้องดูแลมัน”

(บุคอรี และมุสลิม)

และดังปรากฏในโองการกุรอานว่า

“และหลังจากนั้น (ตาย) สูเจ้าต้องถูกสอบถามถึงเรื่องความโปรดปรานต่างๆ ที่ได้รับจากอัลลอฮฺ ”

(ซูเราะฮฺอัตตะกาซุร : 8)

          ท่านนบีมุฮัมหมัด  ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเป็นมนุษย์ของเรานั้นอยู่ที่จิตใจและจิตวิญญาณ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายนั้นมีความลึกซึ้งละเอียดอ่อน ไม่อาจแยกจากกันได้ และมีอิทธิพลต่อกันทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“พึงรู้เถิดว่า ในร่างกายนั้น มีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งถ้ามันดีแล้ว อวัยวะส่วนอื่นในร่างกายก็จะดีตามไปด้วยทั้งหมด

แต่หากมันเลวแล้ว อวัยวะอื่นทั้งหมดในร่างกายก็จะเลวตามไปด้วย พึงรู้เถิดว่ามัน คือ หัวใจ

(บุคอรี และมุสลิม)

          การปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ในอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การถือศีลอด การกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ (การซิเกร) การอ่านอัลกุรอาน และอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เสริมสร้างสุขภาพจิตทั้งสิ้น

อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาและจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ พึงทราบเถิด ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ นั้น ทำให้จิตใจสงบ”

(ซูเราะฮฺอัรเราะอฺดุ : 28)

          การละหมาด เป็นการปล่อยวางทางจิตใจจากภารกิจทุกอย่างรอบๆ ตัว เพื่อรวบรวมสมาธิรำลึกถึง และวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ด้วยจิตอันมั่นคงมุ่งมั่นซึ่งจะก่อให้เกิดพลัง และความเข้มแข็งของจิตใจ ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังความเลวร้ายต่างๆ ที่จะเข้ามากัดเซาะบ่อนทำลายการดำรงอยู่และสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ

          สำหรับการถือศีลอดนั้น นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสดใส ฝึกความอดทนอดกลั้น และความแข็งแกร่งของจิตใจแล้ว การถือศีลอดยังเป็นการรักษาและเสริมสร้างสุขภาพทางกายอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวไว้ว่า

“ท่านจงถือศีลอด แล้วท่านจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์”

(อัฏฏอบรอนี)


อิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาด ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“ความสะอาดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”

(อะหมัด และมุสลิม)

         อิสลามมิได้มองเรื่องความสะอาดเป็นเพียงเรื่องปกติวิสัยที่มนุษย์พึงปฏิบัติในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่อิสลามให้ความสำคัญและถือว่า ความสะอาดเป็นศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) เพราะความสะอาดเกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัติอันเป็นเสาหลักของอิสลาม คือเรื่องของการละหมาด ดังนั้น ความสะอาดจึงเปรียบเสมือนเป็นกุญแจเข้าสู่การละหมาด เพราะทุกครั้งที่จะเข้าสู่การละหมาด มุสลิมจะต้องชำระล้างอวัยวะส่วนสำคัญต่างๆ ของร่างกาย (อาบน้ำละหมาด)

ท่านนบีมุฮัมหมัด ยังได้กล่าวถึงเรื่องการแปรงฟัน และการทำความสะอาดหรือขจัดสิ่งสกปรกที่เป็นต้นเหตุของเชื้อโรค ไว้ว่า

“หากฉันไม่กลัวว่า จะเกิดความยากลำบากแก่ประชาชาติของฉันแล้ว ฉันก็จะใช้พวกเขาให้แปรงฟัน พร้อมกับทุกการอาบน้ำละหมาด ณ ทุกละหมาด”

(บุคอรี และมุสลิม)

“อัล-ฟิฏเราะฮฺ (สิ่งควรทำตามธรรมชาติของมนุษย์) มี 5 อย่าง ได้แก่

1) การขลิบปลายองคชาติ

2) การโกนขนบริเวณอวัยวะเพศ

3) การถอนขนรักแร้

4) การขลิบหนวด

5) การตัดเล็บ”

(บุคอรี)

         อิสลามยังกำหนดและให้ความสำคัญกับความสะอาดของเสื้อผ้าอาภรณ์และที่อยู่อาศัย ตลอดจนสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนไว้ด้วย ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสไว้ ความว่า

“และเสื้อผ้าของเจ้า จงทำให้สะอาด”

(ซูเราะฮฺอัลมุดัษษิร : 4)

และท่านบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ว่า

“แท้จริง อัลลอฮฺนั้นดี ทรงชอบความดี ทรงสะอาด และชอบความสะอาด ทรงมีเกียรติ และทรงชอบการมีเกียรติ ทรงโอบอ้อม และทรงชอบการโอบอ้อมอารี

ดังนั้น พวกท่านจงทำความสะอาดบริเวณบ้านและสนามของพวกท่าน พวกท่านจงอย่าทำเหมือนชาวยะฮูดี ซึ่งพวกเขาจะเก็บขยะไว้ในบ้านของพวกเขา”

(อัลบัซซาร)

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมบ่งชี้ถึงมุมมองของอิสลามต่อความสำคัญของความสะอาดในฐานะที่เป็นรากฐานขั้นต้นของสุขภาพมนุษย์

         ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้ตำหนิอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ความมักง่าย การถ่ายทุกข์หรือทิ้งของเสียต่างๆ ลงในแหล่งน้ำ บนทางสัญจร เพราะพฤติกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมา เช่น เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและแพร่กระจายเชื้อโรค ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวถึงพฤติกรรมเหล่านี้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ถูกสาปแช่ง

ท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ รายงานว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า “พวกท่านพึงระวัง 2 สาเหตุที่ทำให้ถูกสาปแช่งเถิด”

บรรดาซอฮาบะฮฺ พากันถามว่า “โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ 2 สาเหตุนั้นมีอะไรบ้างครับ ”

ท่านนบีมุฮัมหมัด ตอบว่า “คือ การถ่ายทุกข์ตามเส้นทาง ทางสัญจรของผู้คน และตามบริเวณที่ผู้คนใช้อาศัยร่มเงา”

(อะหมัด และมุสลิม)

“คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่าน จงอย่าปัสสาวะลงในแอ่งน้ำนิ่ง (ไม่ไหลเวียน) ภายหลังเขาต้องใช้น้ำนั้นอาบน้ำ”

(มุสลิม, อบูดาวูด และอันนะซาอี)


          ท่านนบีมุฮัมหมัด ยังได้ตำหนิความเกียจคร้าน ความเฉื่อยชา และความอ่อนแอ ท่านถือว่าลักษณะของมุสลิมที่เคร่งครัด ต้องมีความสดชื่นแจ่มใส มีความกระตือรือร้น ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด กล่าวไว้ว่า

“ผู้ศรัทธาที่มีความแข็งแรง ย่อมประเสริฐและเป็นที่รักของอัลลอฮฺ  มากกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ”

(มุสลิม)

          นอกจากนี้ ท่านนบีมุฮัมหมัด ยังสนับสนุนและส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย เพราะการมีร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพที่ดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และการปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา (อิบาดะฮฺ) หลายอย่าง ก็ต้องอาศัยร่างกายที่มีความแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี

        ท่านนบีมุฮัมหมัด เคยวิ่งแข่งกับท่านหญิงอาอิซะฮฺภรรยาของท่าน นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นศิลปะสำคัญในการครองเรือนของท่านอีกด้วย

เล่าจากท่านหญิงอาอีชะฮ์ ความว่า“ฉันได้วิ่งแข่งกับท่านนบีมุฮัมหมัด และชนะท่านในการแข่งขันครั้งนั้น

ต่อมาเมื่อฉันมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เราได้แข่งกันอีก และท่านเป็นผู้ชนะ ท่านก็ได้กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการลบล้างครั้งนั้น”

(อะหมัด)

และท่านอุมัร บิน คอฏฏอบ (คอลีฟะฮฺคนที่ 2) กล่าวว่า

“จงสอนลูกหลานของท่านให้ว่ายน้ำ ยิงธนู และขี่ม้า”

          การทรมานร่างกายโดยการให้ร่างกายทำงานหนักเกินไป การงดอาหาร และการอดนอน เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม แม้การกระทำเช่นนั้นจะกระทำในรูปของการปฏิบัติศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ก็ตาม ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด เคยตำหนิสาวกของท่านกลุ่มหนึ่งที่หารือกันว่าจะปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดที่สุด บางคนตั้งปณิธานว่า ยามค่ำคืนจะละหมาดตลอดคืนโดยไม่หลับนอน บางคนก็ว่ากลางวันจะถือศีลอดตลอดไป ส่วนบางคนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับภรรยาอีกต่อไป เมื่อท่านนบีมุฮัมหมัด   ได้ทราบเรื่อง ท่านก็ได้กล่าวตำหนิว่า

 

“ฉันรอบรู้เกี่ยวกับอัลลอฮฺ และฉันกลัวเกรงพระองค์มากกว่าพวกท่านมากนัก แต่ฉันยืนละหมาดและฉันนอนเมื่อควรจะนอน

ฉันถือศีลอดและฉันก็ละศีลอด (ไม่ได้ถือตลอด) ฉันร่วมชีวิตกับภรรยาของฉัน ดังนั้นผู้ใดปฏิเสธแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่พวกฉัน

(มุสลิม)

        สำหรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้น อิสลามมองเรื่องเพศสัมพันธ์ว่าเป็นธรรมชาติที่พระเจ้าทรงกำหนดเหนือสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพื่อคงและดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน ปราศจากขอบเขตและกฎกติกาใดๆ นั้น เป็นเรื่องของสัตว์เดรัจฉานที่ขาดสติสัมปชัญญะ มนุษย์ผู้มีสติปัญญามิควรประพฤติเยี่ยงนั้น

          อิสลามห้ามการละเมิดทางเพศ (ซินา) และมองว่าการละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ทำลายรากฐานแห่งคุณธรรม จริยธรรม เป็นตัวบ่อนทำลายและกัดเซาะความมั่นคงของสถาบันครอบครัว และสร้างความสับสนแก่สายพันธุ์ของมนุษย์ แต่ในปัจจุบัน มนุษย์นิยมเรื่องเสรีทางเพศ มีเพศสัมพันธ์อย่างสำส่อนไร้กติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศสัมพันธ์แบบเบี่ยงเบนที่สังคมยอมรับกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือ เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ฯ ออกมาท้าทายวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างน่าหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง

          นอกจากนี้ อิสลามห้าม สามี ภรรยามีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาดในช่วงที่ภรรยามีประจำเดือน (เฮด) ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ความว่า

 

“พวกเขาจะถามเจ้า โอ้มุฮัมหมัด เกี่ยวกับประจำเดือน เจ้าจงตอบเถิดว่า มันเป็นความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง

ดังนั้น พวกเจ้าจงห่างไกลจากบรรดาภรรยาในช่วงที่นางมีประจำเดือน และจงอย่าเข้าใกล้พวกนาง จนกว่าพวกนางจะสะอาด”

(ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ : 222)

         และเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีในวงการแพทย์ปัจจุบันว่า การมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่มีประจำเดือนจะทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อสุขภาพตามมามากมายแก่ทั้งสองฝ่าย

 

 

 

 

 



อ้างอิง

เอกสารวิชาการ “องค์ความรู้อิสลามกับสุขภาวะ”. แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.