ค่าของคน
โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์
มนุษย์ถูกสร้างเพื่อปฏิบัติธรรม
เป้าหมายอีกประการหนึ่งของการบันดาลสรรสร้างมนุษย์ ซึ่งนอกเหนือจากเพื่อการรู้จักพระผู้ทรงสร้างแล้วก็คือ เป้าหมายเชิงปฏิบัติ พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานได้กล่าวถึงการดังกล่าว ด้วยพระราชดำรัสแห่งองค์อัลเลาะฮฺ ในซูเราะห์ ฮู๊ด อายะห์ที่ 7
" และพระองค์ทรงเป็นผู้บันดาลฟากฟ้าและแผ่นดินในหกวาระ ในขณะนั้นบัลลังก์ของพระองค์อยู่บนน้ำ
ทั้งนี้เพื่อพระองค์ทรงทดสอบสูเจ้าทั้งหลายว่า มีคนใดบ้างที่ทำการอันดีงามยิ่ง "
คำสั่งในโองการข้างต้น มีผลบังคับใช้ต่อมวลมนุษย์ผู้สนองโองการ และมีภาระหน้าที่ตามหลักบัญญัติศาสนา และเป้าหมายของการสร้างฟากฟ้าและพื้นพิภพ อันหมายถึง การยกเหตุผลที่ได้ระบุถึง ก็คือเป้าหมายในเชิงปฏิบัติ เพื่อพระองค์ทรงทดสอบสูเจ้าทั้งหลายว่ามีคนใดบ้างที่ทำการดียิ่ง
ดังนั้น จึงแปลได้ความว่า : องค์อัลเลาะฮฺ ทรงบันดาลฟากฟ้าและแผ่นดินขึ้นมา ก็เพื่อทดสอบมวลมนุษย์ผู้มีภาระหน้าที่ว่า บุคคลใดจะปฏิบัติธรรมความดีมากที่สุด เหล่ามนุษย์ชาติถูกสร้างมาเพื่อปฏิบัติธรรม พวกเขามิได้ถูกบังเกิดมาเพียงเพื่อกิน เพื่อดื่ม เพื่อแสวงความสุขสำราญเพริดแพร้วเท่านั้น หากแต่สิ่งดังกล่าวมันเป็นเพียงสื่อ และปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตเท่านั้น อันโลกดุนยาแห่งนี้พร้อมด้วยสรรพสิ่งที่ดีงามตระการตา แต่ละส่วนถูกบังเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง ส่วนตัวของมนุษย์เรานั้นเล่า มิได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเหตุผลอันใดเลยนอกจากเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า “ดุนยา” นั่นก็คือ เพื่อองค์อัลเลาะฮฺ พระผู้ทรงควบคุมโลกนี้ให้แก่มนุษย์เรา
ดังนั้นโลกดุนยาจึงเป็นช่วงเวลาสำหรับการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นอมตะนิรันดร์กาลในโลกแห่งสัมปรายภพอันถาวร ฉะนั้น บุคคลที่ความหวัง เป้าหมายและความตั้งใจของเขาในการดำรงชีวิตบนโลกดุนยาแห่งนี้เพื่อการสนองกิเลสตัณหา และแสวงหาความสุขสำราญเพียงอย่างเดียว แน่แท้เขาได้ทำให้ตัวของตนเองต้องถลาตกต่ำจากระดับของสิ่งถูกสร้าง ซึ่งเป็นผู้แทนแห่งองค์อัลเลาะฮฺ ไปสู่ระดับของเดรัจฉานที่ความต้องการของมันมีเพียงแค่ ท้องอิ่ม, ขับถ่าย, ผสมพันธ์ และหลับนอน องค์อัลเลาะฮ์ ทรงตำหนิ ติเตียนชาวปฏิเสธที่เฉไฉออกจากหนทางอันเที่ยงตรง ในซูเราะห์ มูฮำหมัด อายะห์ที่ 12
" และบรรดาจำพวกที่ไร้ศรัทธาพวกเขาก็จะเสพสุข (ในโลกนี้) และบริโภค (อย่างตะกุมตะกราม)
ประดุจเดียวกับปศุสัตว์ทั้งหลาย และนรกย่อมเป็นที่อยู่ของพวกเขา "
ครั้นเมื่อการกิน การดื่ม และการหาความสุขตามรูปแบบต่าง ๆ ที่ศาสนาอนุญาต มันเป็นเพียงสื่อและเครื่องมือเท่านั้น เพื่อคนเราจะได้สามารถประกอบกิจการงาน และปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนได้ ก็แปลได้ความว่าอัลเลาะฮฺ นั้นแท้ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงบังเกิดมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อจะวัดว่า “ใครกันเล่าที่จะปฏิบัติธรรมและนำมาซึ่งความดีมากที่สุด และใครทำดีที่สุด”
โดยธรรมชาติของศรัทธาชนแล้ว ย่อมจะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดในทุก ๆ สิ่ง ดังนัยแห่งอัล-กุรอานที่กล่าวถึงคุณลักษณะดังกล่าว ไว้หลายโองการด้วยกันดังเช่นในซูเราะห์ อัซซุมัร อายะห์ที่ 18
"(เขาเหล่านั้นศรัทธาชน) ย่อมปฏิบัติตามสิ่งที่ดีที่สุด ที่ถูกประทานมาสู่เจ้าทั้งหลายจากองค์อภิบาลแห่งสูเจ้าทั้งหลาย"
ขยายความเจตนารมย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างมนุษย์
ที่ผ่านพ้นมาทั้งหมด เราได้รับทราบจากโองการต่าง ๆ แห่งอัล-กุรอานเป็นอย่างดี และชัดเจนว่า : มนุษย์เรานั้น คือ จุดประสงค์หลักของการสร้างโลกนี้ทั้งหมด องค์อัลเลาะฮฺ ทรงดลบันดาลให้จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล พร้อมด้วยฟากฟ้าและพื้นปฐพีให้บังเกิดขึ้นมาก็เพื่อให้มนุษย์ ซึ่งเป็น “คอลีฟะตุลลอฮฺ” ได้กระทำหน้าที่ของตนบนหน้าพิภพแห่งนี้ โดยหน้าที่และภาระดังกล่าวประกอบจากโครงสร้างหลัก 2 ประการด้วยกัน
หนึ่ง : โครงสร้างทางด้านความรู้ กล่าวคือ มนุษย์จะต้องรู้จักว่าใครคือพระผู้อภิบาลของเขา และจักรวาลแห่งนี้อย่างถูกต้องตามพระนามอันไพจิตร และคุณลักษณะอันสูงสุดแห่งพระองค์
สอง : โครงสร้างด้านการปฏิบัติ กล่าวคือ มนุษย์จะต้องปฏิบัติการงานที่ดี ตามบัญชาใช้ และคำสั่งห้ามแห่งองค์อัลเลาะฮฺ ยิ่งไปกว่านั้นเขาจะต้องทุ่มเทความเพียรพยายาม เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การงานที่ดีที่สุด”
อันสรรพสิ่งที่ถูกทำให้มีขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แน่นอน ความมีเกียรติและคุณค่าของสิ่งนั้นจะมีขึ้น ก็ต่อเมื่อมันได้ถูกใช้ หรือทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ภาพ ในทางตรงกันข้ามหากสิ่งเดียวกัน มิได้ถูกใช้ หรือกระทำภารกิจที่จำกัดเฉพาะสำหรับมัน คุณค่าของมันก็ย่อมมลายหายไปด้วยโดยปริยาย
เฉก เช่น “อาชา” หากมิได้ถูกใช้ในการขับขี่ยามรบทัพจับศึก ก็เป็นเพียงสัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง และ “ดาบกล้า” หากถูกวางไว้เฉย ๆ มิได้ถูกใช้ในการพิชิตศัตรู ก็มีค่าเพียงแค่เหล็กด้ามหนึ่งที่รอคอยวันขึ้นสนิม ฉะนั้น มนุษย์ใดก็ตามหากไม่มีคุณสมบัติพร้อมพอที่จะเป็นผู้สืบสานต่อเจตนารมย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่สักการะกราบไหว้ (อิบาดะฮฺ) ต่อพระองค์แล้ว ปศุสัตว์เดรัจฉาน ย่อมมีคุณค่ามากกว่าบุคคลนั้นอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง องค์อัลเลาะฮฺ ทรงตำหนิและสำทับบรรดาชาวปฏิเสธ ซึ่งไม่ปราถนาปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ในฐานะเป็นบ่าวของพระองค์ในซูเราะห์อัล-ฟุรกอน อายะห์ที่ 44
" พวกเขามิเป็นอื่นใด นอกจากประหนึ่งปศุสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาหลงทางเป็นที่สุด "
ทั้งหมดนี้ คือ คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และฐานันดรของเขาในทัศนะของอิสลาม จุดมุ่งหมายแห่งการมีอยู่ของมนุษย์ ก็คือ เจตนารมย์แห่งพระผู้ทรงสร้าง พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
สำนักจุฬาราชมนตรี