สิทธิที่บุตรพึงได้รับขณะเยาว์วัย
โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์
ศาสนาอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานในฐานะที่เขาเหล่านั้นคือความโปรดปรานจากองค์อัลเลาะฮฺ ซึ่งจะนำเอาความปลื้มปิติยินดี และความสุขที่แท้จริงมาสู่มนุษย์เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีศรัทธามั่นต่อพระองค์ดังพระดำรัสของพระองค์อัลเลาะฮฺ ในบทอัลกะฮ์ฟี โองการที่ 46
" อันทรัพย์สมบัติและบรรดาลูก ๆ นั้นเป็นเพียงสิ่งประดับในชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น "
ด้วยเหตุดังกล่าวอิสลามจึงบัญญัติหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นบนบรรดาผู้ปกครองในลักษณะโดยทั่วไป และบรรดาบิดามารดาทั้งหลายเป็นการเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หน้าที่เหล่านี้คือสิทธิที่บรรดาแก้วตาดวงใจ กุลบุตร กุลธิดาของเราพึงได้รับนับตั้งแต่อายุเยาว์วัย ดังต่อไปนี้
ประการแรก
การฝึกหัดลูก ๆ ทั้งหลายเรื่องการละหมาด เริ่มตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ จวบจนกระทั่งอายุ 10 ขวบ ก็ให้ใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อบังคับให้ปฏิบัติละหมาดนั้นก็คือการดุ การตี หรือตัดสิทธิอื่น ๆ เป็นต้น
ประการที่สอง
การพาลูกไปมัสยิดเพื่อให้เกิดการคุ้นเคยกับการนมัสการละหมาดด้วยความสมัครใจและรักในอิบาดะห์ ศาสนกิจต่าง ๆ การดังกล่าวนี้คือ สิ่งที่อิสลามอันสูงส่งได้ให้การส่งเสริมอยู่โดยตลอดเวลา
ประการที่สาม
ให้สอนเรื่องการขออนุญาตขณะต้องการเข้าบ้านเรือน เคหะสถาน หรือสถานที่ส่วนตัวของผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อให้เคยชินกับการรู้จักเคารพและให้เกียรติต่อผู้อื่น เช่นเดียวกัน พ่อแม่ จะต้องสอนมารยาทในการเข้าบ้านตนเองในเวลาต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่วงของการพักผ่อน อันได้แก่มารยาทในการเข้านอน มารยาทในการตื่นนอน ตลอดจนการขออนุญาตต่อพ่อแม่ในกิจการต่าง ๆ ทั้งปวง
ประการที่สี่
พ่อแม่จะต้องสอนลูกในเรื่องจรรยามารยาทและคุณธรรมที่สำคัญต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมออาทิ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ การพูดจาที่ไพเราะเสนาะหู การไม่หักหลังทรยศหรือบิดพริ้วในสัญญา การโกหก เป็นต้น วิธีการดังกล่าวนั้นจะยังผลให้ลูก ๆ รู้จักเกียรติและมีหลักการที่ดีในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม
ประการที่ห้า
การตักเตือนแนะนำหรือสั่งสอนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พ่อแม่จะต้องกระทำด้วยความนิ่มนวลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับวัยของลูก ควรหลีกเลี่ยงการดุด่า การตำหนิอย่างรุนแรง ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายต่าง ๆ เพราะนั่นคือเป็นการฟูมฟักอุปนิสัยที่หยาบช้าต่าง ๆ ในหัวใจของลูกโดยที่ไม่รู้ตัว พึงสำนึกเสมอว่า เด็กวัยเจริญเติบโตสามารถบันทึกจดจำและฝังใจในสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาได้อย่างรวดเร็วเสมอ ไม่ว่าจะดีหรือเลวก็ตาม อีกทั้งจะลืมเสียมิได้ในอันที่จะต้องสั่งสอนในเรื่องมารยาทที่ดีงามต่าง ๆ อาทิ มารยาทการกินการดื่ม การเข้าห้องน้ำ การเข้าหรือการออกจากบ้านและมารยาทของการสวมใส่อาภรณ์ ฯลฯ มารยาทเหล่านี้จะสรรสร้างลูกหลานของเราให้เติบโตขึ้นเป็นหน่วยหนึ่ง หรือสมาชิกที่ดีมีคุณภาพเปี่ยมล้นด้วยมารยาทและมีระเบียบวินัยในสังคม
ประการที่หก
พ่อแม่ที่ดีจะต้องให้ความเมตตากรุณา และเอื้ออาทร พร้อมที่จะเสียสละให้ลูกได้เสมอ เพราะเขาเหล่านี้คือความโปรดปรานอันล้นพ้นของพระผู้เป็นเจ้าสู่บรรดาปวงบ่าวทั้งมวล
ประการที่เจ็ด
พ่อแม่มุสลิมะฮ์จะต้องเลี้ยงดูกุลบุตร กุลธิดาด้วยความเสมอภาค และเป็นธรรมเนืองนิจ จะต้องไม่แสดงความรัก หรือโปรดปรานลูกคนใดพิเศษ เพราะจะเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การอิจฉาริษยาของลูกบางคน ดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่อิสลามได้ห้ามอีกทั้งสำทับให้ผู้เป็นพ่อแม่จำต้องตระหนักอยู่เสมอ
สำนักจุฬาราชมนตรี