หน้าที่ของผู้เป็นแม่ในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  22038

หน้าที่ของผู้เป็นแม่ในอิสลาม


โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์


         เราคงเคยได้ยินคำว่า “สวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา” แต่ทว่า.. ใครกันเล่าคือมารดาที่สรวงสวรรค์จะถูกวางไว้ใต้ฝ่าเท้าของเธอ แน่นอนว่าแม่ที่ดีนั้นก็คือ ผู้รู้หน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อลูกน้อยของเธอ ในลักษณะอันสมบูรณ์มากที่สุด แม่ที่ดีคือผู้รู้ถึงขนาดของความรับผิดชอบของตนเอง ในฐานะ “แม่มุสลิมะฮฺ” ซึ่งยังผลไปสู่การผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านสรีระและจิตวิญญาณ มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติบ้านเมือง ดังกล่าว นอกเหนือไปจากความเอาใจใส่ต่อเรื่องครอบครัว และสามีอันเป็นที่รักยิ่งของเธอ..


          ถึงตรงนี้เกิดปุจฉาขึ้นมาว่า ศาสนาอิสลามได้วางแนวทางปฏิบัติตนไว้อย่างไรบ้าง..เพื่อสตรีมุสลิมที่อยู่ในวัยของการเป็น “แม่คน” จักได้ดำเนินและยึดถือเป็นแนวทางดังกล่าวเป็นครรลอง ในการปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าการที่พระองค์อัลเลาะฮฺ โปรดประทานเกียรติ และสถานะอันสูงส่งให้แก่ผู้เป็นมารดา โดยกำหนดให้สรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นความหวังอันสูงสุดของมนุษย์เราได้อยู่ใต้ฝ่าเท้าของเธอนั้น ก็ด้วยมูลเหตุแห่งบทบาทและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่เธอได้หยิบยื่นแก่ลูกน้อยทั้งหลายนั่นเอง เพราะเมื่อการปฏิสนธิ และการตั้งครรภ์ได้อุบัติขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะ “แม่” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ ที่ตรงนี้

          หากจะกล่าวกันในความเป็นจริงแล้ว ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่จะเป็นแม่คนเป็นมารดาผู้บังเกิดเกล้า พึงหยิบยื่นแก่ลูกน้อยนั้น เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการแต่งงาน โดยเธอจะต้องเลือกคู่ครองที่ดี (เข้าใจ – เคร่งครัดในเรื่องศาสนา และมีจรรยามารยาทจิตใจงดงาม) เพื่อจะได้พ่อที่ดีสำหรับลูกรัก เพราะผู้เป็นพ่อนั้นจำต้องมีส่วนร่วมในการอบรมเลี้ยงดู กุลบุตร – กุลธิดา ด้วยเช่นกัน

          ในขณะที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สตรีมุสลิมะฮฺผู้เริ่มก้าวสู่การเป็นแม่ที่แท้จริงนี้จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เธอนั้นถูกใช้ให้ตามหลักศาสนบัญญัติ และตัวบทกฎหมาย ให้พิทักษ์รักษาทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นจะเป็นการดีอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือต้องใช้แรงงานมากเกินไป เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการ “แท้ง” หรืออย่างน้อยก็เกิดการกระทบกระเทือน ต่อทารกในครรภ์ได้ ต้องระวังในเรื่องอาหารการกินที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง แม้กระทั่งบางอย่างที่รับประทานเข้าไปในภาวะปกตินั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในระยะตั้งครรภ์ไม่ควรบริโภคเข้าไปอาทิ เช่น ยาบางประเภท มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย “ติดบุหรี่” ในช่วงตั้งครรภ์จะต้องตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาด หากต้องการให้ลูกน้อยเกิดมาในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ อาการครบ 32 เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ในส่วนของสุขภาพร่างกายและจิตใจจักต้องดูแลเอาใจใส่ให้อยู่ในสภาพดีเสมอและพึงระวังปริวิตกและอาการเครียดต่าง ๆ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าทารกในครรภ์นั้นจะได้รับอิทธิพลและผลกระทบจากสภาพจิตใจของผู้เป็นแม่ด้วย


          หลังจากการคลอดลูก หน้าที่ของความเป็นแม่ก้าวเข้าสู่ช่วงต่อไป ในช่วงนี้จะต้องมีการกล่าวอะซานที่หูขวา และกล่าวอิกอมะฮฺ ที่หูซ้ายของทารกแรกเกิด ตามด้วยการตั้งชื่อที่ดีศิริมงคล การโกนผมไฟและบริจาคทาน ในช่วงนี้ผู้เป็นพ่อจะต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย และที่สำคัญอย่าได้หลงลืม การเชือดสัตว์พลีทานที่เราเรียกว่า “อากีเกาะห์” นั่นเอง เพราะเหล่านี้คือแบบฉบับและจริยวัตรท่านนบีมุฮัมมัด  และเป็นพลีทานซึ่งจะติดตัวเด็กน้อยนั้นตลอดไป ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวความว่า

"เด็กทารกทุกคนนั้นถูกประกันไว้ด้วยอากีเกาะห์สัตว์เชือดพลีทาน ซึ่งจะเชือดกันในวันที่ 7 หลังการคลอด ให้โกนผมไฟ และตั้งชื่อที่ดีศิริมงคล "


          ในช่วงวัยดื่มนม ช่วงนี้เป็นหน้าที่ของแม่อีกเช่นกัน ที่จะต้องเอาใจใส่ในเรื่องของความสะอาดและเรื่องการดื่มนมของลูกน้อย ที่เพิ่งจะถือกำเนิดเกิดมาลืมตาดูโลกเมื่อไม่นานมานี้ การให้ลูกดื่มนมจากธรรมชาติ คือการเลี้ยงดูเด็กในวัยนี้ที่ถูกต้องและมีประโยชน์มากที่สุด ดังพระราชดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ที่ว่า

" และบรรดามารดาทั้งหลาย พวกเธอจักต้องให้ลูกน้อยได้ดื่มนมเป็นเวลา 2 ปีเต็ม "

คำว่าการดื่มนมตามธรรมชาตินี้ หมายถึงการให้ลูกดื่มนมของแม่นั่นเอง

 

          นี่เองคือหลักการเลี้ยงดูทารกแรกเกิด วัยดื่มนมที่ศาสนาอิสลามได้ใช้และชี้ถึงความสำคัญของการดื่มนมแม่ ซึ่งถูกกล่าวไว้อย่างชัดเจน ในพระบรมราชโองการแห่งพระองค์มาเป็นเวลานานถึง 1,400 กว่าปีมาแล้ว และในวงการแพทย์ยุควิทยาการสมัยใหม่ก็ได้ยืนยันอย่างแน่นอนว่า น้ำนมแม่นั้นไม่มีอะไรจะมาเทียบเท่าได้เลยในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารครบทุกหมวดหมู่ที่ทารกจะได้รับ น้ำนมซึ่งกลั่นออกมาจากอกอันอบอุ่นของผู้เป็นมารดา สู่ปากน้อย ๆ ของลูกรัก น้ำนมอันบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อโรคร้ายใด ๆ

          สำหรับปัจจัยประการหนึ่งในการสร้างบุคลิกภาพของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ก็คือการทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ให้เขารู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้เป็นแม่ ดังนั้นสตรีมุสลิมะฮฺทั้งหลายขอจงระวังในเรื่องการใช้ความรุนแรง ป่าเถื่อนและหยาบคายในการปฏิบัติกับลูกที่กำลังเจริญเติบโตและซึมซับความรู้สึกต่าง ๆ ได้เร็วกว่าช่วงวัยอื่น ๆ แม่ที่ดีจะต้องมีความเอื้ออาทร และอ้อมกอดอันอบอุ่นสำหรับลูกน้อยของเธอ...


          ในขณะที่ลูกน้อยได้เริ่มเติบโตขึ้น เริ่มมีอาการเข้าใจและรับรู้คำพูดต่าง ๆ ของผู้เป็นแม่ เราต้องทำให้ลูกอยู่ห่างไกลจากการฟังถ้อยคำ หรือภาษาที่หยาบคายต่าง ๆ และในขณะเดียวกันสิ่งที่ลูกควรได้ยินได้ฟัง และได้เห็นนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ท่ามกลางครอบครัวมุสลิมที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่งดงาม แล้วอิสลามจะคงมั่นคงอยู่ในหัวใจของลูกน้อย เขาจะถูกเลี้ยงดูด้วยจรรยามารยาทอันประเสริฐ รู้จักสิ่งที่ฮะลาล (อนุญาต) และ ฮารอม (ต้องห้าม) มารดามุสลิมะฮฺที่รักและห่วงใยลูกน้อยอย่างแท้จริง จะต้องสอนให้ลูกรู้จักการเคารพภักดี ยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้าและผลตอบแทนของการดังกล่าว สอนให้เขาได้รู้จักว่าอะไรคือการฝ่าฝืนต่อพระองค์อัลเลาะฮฺ และอะไรคือผลร้ายของการดังกล่าว เมื่อลูกอายุได้ 7 ขวบ แม่ตามแบบฉบับของอิสลามจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของท่านนบีมุฮัมมัด ซึ่งกำชับไว้ในเรื่องการเลี้ยงดูบุตรในวัยนี้ว่า

 

"ท่านทั้งหลายจงใช้ให้ลูกหลานทำการนมัสการการละหมาดเมื่อพวกเขาอายุได้เจ็ดขวบ

จงทำโทษตีเมื่อพวกเขาอายุได้สิบขวบ หากพวกเขาทิ้งการละหมาด และจงแยกที่นอนของพวกเขา "

 

          ในขั้นตอนนี้จะต้องให้ความสนใจต่อการอบรมสั่งสอนลูกรักด้วยจรรยามารยาทแห่งอิสลาม อาทิเช่น การซื่อสัตย์ การพูดความจริง และอื่น ๆ ให้เขาได้คุ้นเคยกับการดำเนินชีวิตอันถูกต้องในอิสลามตั้งแต่เยาว์วัย อาทิเช่น เรื่องความสะอาด ความมีระเบียบวินัย และการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น ที่สำคัญตัวผู้เป็นแม่เองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกด้วย โดยจะต้องเคร่งครัดในเรื่องความซื่อสัตย์อย่าพูดเรื่องโกหกต่อหน้าลูก เพราะลูกจะจดจำเป็นแบบอย่างและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องอนุญาตให้กระทำได้ จนเกิดความเคยชินในที่สุด

          ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งผู้เป็นแม่ในอิสลามพึงตระหนักให้มาก คือ การถกเถียงและทะเลาะวิวาท ระหว่างสามีภรรยาต่อหน้าเด็ก สิ่งเหล่านี้อย่าให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด เพราะเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้จะปลูกฝังความสำนึกความรู้สึกว่าขาดเสถียรภาพ และความปลอดภัย เข้าในจิตใจและติดไปกับเด็กอยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้เกิดผลร้ายต่าง ๆ นานา ซึ่งบางครั้งบางคราวอาจเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง ทั้งนี้เพราะการไร้ความมั่นคงของครอบครัวนั่นเอง

 

          จากวัย “เด็กเล็ก” ก็จะก้าวสู่ช่วงซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงอื่น ๆ ก็คือช่วงวัยรุ่น แม่มุสลิมะฮฺพึงตระหนักอยู่เสมอว่าลูกของเราที่อยู่ในวัยนี้เขาเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงของการ “บรรลุนิติภาวะ” หรือ รู้ประสาแล้ว... เริ่มรู้จักความรับผิดชอบต่อตนเอง และการกระทำทุกอย่างของเขา คำสั่งของแม่จะทำให้ลูกในวัยนี้รู้สึกว่า “ถูกจำกัดอิสระภาพ” ดังนั้นพึงระวังอยู่เสมอในระยะนี้ แม่ต้องทำตัวให้อยู่ในฐานะของเพื่อน พยายามหลีกเลี่ยงจากการออกคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้หรือห้ามก็ตามที รับฟังคำพูดและความคิดเห็นของเขาโดยตลอด แม้ว่าเขาจะกระทำผิดก็ตาม แล้วลูกน้อยของเราก็จะเกิดความวางใจ เชื่อใจ อ่อนน้อม คล้อยตาม และยอมรับฟังคำตักเตือนของเราในที่สุด

 

         แม่ที่เข้าใจและห่วงใยลูกอย่างแท้จริง จะต้องไม่ปล่อยปละละเลย หรือเข้มงวดในการควบคุมพฤติกรรมของลูกมากจนเกินไป แต่ทว่าต้องให้เกิดความพอดี คอยติดตามดูความประพฤติอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ตลอดจนหมั่นตรวจสอบอยู่เป็นประจำ ในเรื่องการคบเพื่อน และที่ขาดเสียมิได้ก็คือ พยายามให้ลูกใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำกิจกรรมที่ดี และสร้างสรรค์ต่าง ๆ

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี