การบริโภคแต่พอดี
  จำนวนคนเข้าชม  12114

 

การบริโภคแต่พอดี


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


          มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำ หรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

มีรายงานหะดีษจากท่านอัล-มิกดาม บิน มะอฺดีย์ กะริบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูล  กล่าวว่า:

"ไม่มีภาชนะใดที่มนุษย์จะเติมเต็มสิ่งไม่ดีลงไปได้มากไปกว่าท้องของเขา

เป็นการเพียงพอสำหรับลูกหลานอาดัมแล้วที่เขาจะบริโภคอาหารแต่น้อยให้พอพยุงร่างกายได้ แต่ถ้าหากว่าจำเป็นต้องบริโภคมากกว่านั้น

ก็ให้ แบ่งหนึ่งส่วนสามสำหรับอาหาร หนึ่งส่วนสามสำหรับเครื่องดื่ม และอีกหนึ่งส่วนสาม สำหรับลมหายใจ"

(บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ ในหนังสือสุนันของ ท่าน หมายเลขหะดีษ 2380)

ท่านอิบนุเราะญับ กล่าวว่า:

         “หะดีษบทนี้ถือเป็นแม่บทของหลักวิชาการแพทย์ทั้งหมด และมีบันทึกไว้ว่า เมื่ออิบนุ มาสะวัยฮฺผู้เป็นแพทย์ได้อ่านหะดีษบทนี้ในหนังสือของอบู ค็อยษะมะฮฺ เขากล่าวว่า: หากว่าผู้คนปฏิบัติตามคำพูดประโยคนี้ พวกเขาจะปลอดภัยจากโรคร้ายและความเจ็บป่วยต่างๆ และร้านขายยาจะเงียบเหงาอย่างแน่นอน ”

(ญามิอุลอุลูม วัลหิกัม หน้า 503)

          เหตุเพราะพื้นฐานสำคัญของทุกโรคคือการบริโภคอาหารที่มากเกินจำเป็น อัล-หาริษ บิน กัลดะฮฺ แพทย์ชาวอาหรับกล่าวว่า:

 "การควบคุมอาหารถือเป็นหัวใจหลักของการรักษา ส่วนการบริโภคอย่างเกินพอดีนั้นก็เป็นสาเหตุหลักของโรคภัยไข้เจ็บ ”

อัล-เฆาะซาลีย์ กล่าวว่า:

         "มีผู้เล่าหะดีษบทนี้ให้นักปรัชญาบางคนฟัง แล้วเขากล่าวว่า: ฉันไม่เคยได้ยินคำพูดใดในเรื่องการส่งเสริมให้บริโภคแต่น้อย ที่รวบรัดครอบคลุมได้มากเท่านี้เลย"

(ญามิอุลอุลูม วัลหิกัม หน้า 503 และฟัตหุลบารีย์ เล่ม 9 หน้า 528)

หะดีษบทนี้ครอบคลุมประโยชน์มากมาย:

ประการแรก

          การบริโภคอาหารแต่น้อยมีประโยชน์มากมาย เช่น ทำให้หัวใจอ่อนโยน เข้าใจอะไรง่าย ลดความต้องการที่ไม่ดีของจิตใจ และลดความโกรธ ส่วนการบริโภคมากแน่นอนว่าจะทำให้เกิดผลที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวมา อัล-มะรูซีย์ เล่าว่า อบูอับดิลลาฮฺ (หมายถึง อิมามอะหฺมัด บิน หัมบัล) ได้ให้ความสำคัญกับความหิวและความยากจน

ฉันจึงถามท่านว่า: "คนเราจะได้รับผลบุญจากการละทิ้งอารมณ์ใคร่ของเขาด้วยหรือ?"

ท่านตอบว่า: "จะไม่ได้รับผลบุญได้อย่างไรเล่า ในเมื่อท่านอิบนุอุมัร กล่าวว่า: ฉันไม่เคยกินอิ่มเลยตั้งแต่สี่เดือนที่แล้ว ”

ฉันถามอบูอับดิลลาฮฺอีกว่า: "แล้วคนเราจะสัมผัสกับความอ่อนโยนของหัวใจขณะที่ท้องอิ่มได้ไหม"

ท่านตอบว่า: "ฉันไม่คิดเช่นนั้น

ท่านอัช-ชาฟิอีย์ กล่าวว่า: ความอิ่มทำให้ร่างกายหนัก ความฉลาดจะหมดไป ความง่วงจะเข้ามาและทำให้ผู้นั้นหมดแรงทำการเคารพภัคดีต่ออัลลอฮฺ ”

 (ญามิอุลอุลูม วัลหิกัม หน้า 504-506)

 

ประการที่สอง

 การบริโภคอาหารมากเป็นการนำมาซึ่งโรคต่างๆ สู่ร่างกาย อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า:

          โรคภัยไข้เจ็บมีสองประเภท ประเภทแรกคือการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายสะสมสิ่งต่างๆมากจนเกินไป จนส่งผลเสียต่อระบบกลไกตามธรรมชาติของมัน การเจ็บป่วยส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ สาเหตุหลักคือการนำอาหารเข้าสู่ร่างกายก่อนที่อาหารซึ่งบริโภคก่อนหน้านั้นจะย่อยและการทานอาหารเกินกว่าความต้องการของร่างกาย หรือทานอาหารที่มีคุณประโยชน์น้อยทั้งยังย่อยยาก หรืออาหารที่ผ่านการปรุงแต่งด้วยส่วนประกอบอันหลากหลาย เมื่อมนุษย์บริโภคและเคยชินกับอาหารเหล่านี้ จะเป็นผลให้เกิดโรคต่างๆมากมาย เช่น ท้องผูกท้องอืด หรือท้องเสีย แต่ถ้าบริโภคอาหารอย่างพอดี พออิ่ม ทั้งเรื่องปริมาณและวิธีการ ก็จะเกิดประโยชน์กับร่างกายมากกว่าการบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป

อิบนุ อัร-รูมีย์ กล่าวว่า:

"โรคภัยส่วนใหญ่ที่ท่านเห็น เปลี่ยนแปรเป็นจากอาหารหรือเครื่องดื่ม"

อัช-ชาฟิอีย์ กล่าวว่า:

"สามสิ่งที่ทำลายสรรพสิ่ง และนำพาผู้มีร่างกายแข็งแรงสู่โรคภัย คือ การดื่มสุราเมรัย การหมกมุ่นในกามารมณ์ และการบริโภคอาหารมากเกินจำเป็น"

 

ประการที่สาม

          ท่านนบี กล่าวว่าอาหารไม่กี่คำก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนแรงขาดสารอาหาร ถ้าหากประสงค์จะบริโภคมากกว่านั้น ก็ให้บริโภคในปริมาณหนึ่งส่วนสามของท้อง อีกหนึ่งส่วนเก็บไว้สำหรับน้ำ และส่วนสุดท้ายสำหรับลมหายใจ ดังกล่าวนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับร่างกายและหัวใจ

          ทั้งนี้ เพราะถ้าหากท้องเต็มไปด้วยอาหาร ก็จะไปเบียดเบียนพื้นที่ของเครื่องดื่ม เมื่อดื่มน้ำตามไปก็จะไปเบียดพื้นที่ของลมหายใจ ทำให้รู้สึกอึดอัดและเหนื่อย ราวกับว่ากำลังแบกรับสิ่งที่หนักหน่วงเอาไว้ ดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดผลเสียกับหัวใจ ร่างกายจะเกียจคร้านต่อการประกอบคุณความดี และหมกมุ่นในอารมณ์ใฝ่ต่ำที่มักจะมาพร้อมกับความอิ่ม"

(อัฏฏิบอันนะบะวีย์ หน้า 105)

จะสังเกตเห็นว่า ในเดือนรอมฎอนหากผู้ใดบริโภคอาหารมากในช่วงละศีลอด การละหมาดอีชาอ์และตะรอวีหฺจะเป็นเรื่องหนักมากสำหรับเขา

 

ประการที่สี่

ส่งเสริมให้บริโภคแต่น้อย มีรายงานจากท่านอบีมูซา เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวว่า:

"ผู้ศรัทธาบริโภคอาหารหนึ่งกระเพาะ ส่วนผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นบริโภคอาหารเจ็ดกระเพาะ"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺหมายเลขหะดีษ 5393 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2062)

          ความหมายคือ ผู้ศรัทธาจะบริโภคตามแนวทางที่ศาสนาบัญญัติ เขาจึงบริโภคปริมาณเพียงหนึ่งกระเพาะ ส่วนผู้ปฏิเสธศรัทธาบริโภคตามอารมณ์ ตามความต้องการของเขาเขาจึงบริโภคในปริมาณถึงเจ็ดกระเพาะ

         สิ่งที่ท่านนบี  ชอบให้กระทำคือการบริโภคแต่น้อย และลดละจากอาหารบางประเภทรวมไปถึงการบริจาคบางส่วนด้วย ท่านญาบิรฺ บิน อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวว่า:

"อาหารสำหรับหนึ่งคนเพียงพอสำหรับสองคน อาหารสำหรับสองคนเพียงพอสำหรับสี่คน และอาหารสำหรับสี่คนเพียงพอสำหรับแปดคน"

(บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 5393 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2059)

 

ประการที่ห้า

          ดังที่ท่านนบี ส่งเสริมให้บริโภคอาหารแต่น้อยนั้น โดยปกติท่านและบรรดาสหายของท่านเองก็ปฏิบัติเช่นนั้น แม้จะเป็นเพราะขาดแคลนอาหารก็ตาม เพราะอัลลอฮฺทรงเลือกแต่สภาพที่สมบูรณ์ และประเสริฐที่สุดสำหรับศาสนทูตของพระองค์

ท่านอิบนุอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า: ชายคนหนึ่งเรอขณะที่เขาอยู่กับ ท่านนบี ท่านจึงกล่าวว่า:

"จงเก็บซ่อนการเรอของท่านให้ห่างจากพวกเรา ผู้ที่อิ่มที่สุดในดุนยานั้น คือผู้ที่หิวโหยยาวนานที่สุดในวันกิยามะฮฺ"

(บันทึกโดยอัต-ติรมีซีย์ หมายเลขหะดีษ 2478)


ประการที่หก

หะดีษบทนี้ส่งเสริมให้มีความพอดีและไม่ฟุ่มเฟือย อัลลอฮฺตรัสว่า

"ลูกหลานอาดัมเอ๋ย จงยึดไว้ซึ่งเครื่องประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิด

และจงกินและจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือยแท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้ฟุ่มเฟือย"

(อัล-อะอฺรอฟ: 31)

 

ประการที่เจ็ด

          หะดีษบทนี้กล่าวถึงการฝึกฝนตนเอง ให้มีความเคยชินกับการอดทน อดกลั้น และต่อสู้กับจิตใจที่มีความปรารถนา ด้วยเหตุนี้จึงเรียกเดือนเราะมะฎอนว่าเป็นเดือนแห่งความอดทน

 

 

 

แปลโดย : อัฟนาน เพ็ชรทองคำ / Islamhouse