การละหมาดในผู้ป่วย
  จำนวนคนเข้าชม  18334

การละหมาดในผู้ป่วย


โดย เชค อิบนุ อุซัยมีน


การละหมาด


     1. กำหนดให้ผู้ป่วยทำการละหมาดในท่ายืนถึงแม้จะอยู่ในสภาพโค้งเอียงหรือพิงอยู่กับผนัง , เสาหรือใช้ไม้เท้าผยุงก็ตาม

 

     2. ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถยืนละหมาดได้ก็ให้เขาทำการนั่งละหมาด ซึ่งท่าที่ดีที่สุดคือ ท่านั่งขัดสมาธิ สำหรับในกรณีที่ใช้แทนกริยาที่เป็นท่ายืนและในช่วงการก้มคำนับ(รุกั้วะ) และใช้ท่านั่งบนน่อง(อิ้ฟติร้อช)สำหรับช่วงที่ต้องทำการก้มสุญูด

 

     3. ถ้าหากผู้ป่วยหมดความสามารถที่จะทำการละหมาดในท่านั่งได้ ก็ให้เปลี่ยนมาทำละหมาดในท่านอนตะแคงโดยให้ผินหน้าไปทางทิศกิบละฮฺ ซึ่งการตะแคงขวานั้นดีกว่าตะแคงซ้าย แต่ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถนอนตะแคงหันไปทางทิศกิบละฮฺได้ ก็ให้เขาทำการละหมาดไปตามสภาพโดยหันไปตามทิศทางที่สะดวกจะกระทำได้และไม่ต้องกลับมาทำการละหมาดชดใช้ใหม่แต่ประการใด

 

     4. ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถทำการละหมาดในท่านอนตะแคงได้ ก็ให้ทำการละหมาดในท่านอนหงายแทน โดยให้หันเท้าทั้งสองไปทางทิศกิ้บละฮฺและสมควรที่เขาจะยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยเพื่อเป็นการผินหน้าสู่ทิศกิ้บละฮฺด้วย แต่หากเขาไม่สามารถนอนละหมาดโดยหันเท้าไปทางทิศกิบละฮฺได้ ก็ให้ทำการละหมาดไปตามสภาพโดยหันไปตามทิศทางที่สะดวกจะกระทำได้ และไม่ต้องกลับมาทำละหมาดชดใช้ใหม่แต่ประการใด

 

     5. กำหนดให้บุคคลที่มีอาการป่วยทำการก้มรุกั้วะและก้มสุญูด แต่หากเขาไม่สามารถก้มได้ก็ให้ทำการผงกศีรษะลงแทน โดยให้การผงกศีรษะลงที่เป็นสัญลักษณ์แทนการสุญูดนั้นอยู่ในระดับที่ลดลงต่ำกว่าการผงกที่เป็นสัญลักษณ์แทนการรุกั้วะ แต่ถ้าอยู่ในกรณีที่เขาสามารก้มในท่ารุกั้วะได้อย่างเดียว ก็ให้ทำการก้มรุกั้วะตามท่าทางปกติและใช้การผงกศีรษะลงแทนการสุญูด เช่นเดียวกันถ้าหากเขาสามารถก้มลงสุญูดได้แต่ไม่สามารถก้มรุกั้วะได้ ก็ให้ทำการก้มสุญูดตามท่าปกติและใช้การก้มผงกศีรษะแทนการก้มรุกั้วะ

 

     6. ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถผงกศีรษะลงแทนการก้มรุกั้วะและสุญูดได้ ก็ให้ใช้การหรี่ตาเป็นสัญลักษณ์แทน โดยให้การหรี่ตาเพื่อแทนการสุญูดนั้นมิดกว่าการหรี่เพื่อเป็นการแทนการรุกั้วะ ส่วนการใช้นิ้วมือเป็นสัญลักษณ์แทน ดังที่มีผู้ป่วยบางท่านทำนั้น ไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง และกระผมเองก็ไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีที่มา มาจาก อัลกุรอ่าน จากอัซซุนนะฮฺหรือจากคำพูดของบรรดานักวิชาการ แต่ประการใด

 

     7. ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถใช้การผงกหัวลงหรือแม้แต่การหรี่ตาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนในการละหมาดของเขาได้  ก็ให้ทำการละหมาดด้วยหัวใจโดยให้นึกคิดในใจเอาว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในท่า รุกั้วะ สุญูด ยืนหรือนั่ง และบุคคลทุกคนก็จะได้รับผลลัพท์ตามที่เขาได้เจตนาไว้

 

     8. กำหนดให้ผู้ป่วยกระทำการละหมาดให้ตรงตามเวลาของมัน ให้ได้เต็มตามความสามารถ ซึ่งให้กระทำโดยเป็นไปตามลักษณะที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น และไม่อนุญาตให้กระทำละหมาดล่าช้ากว่าเวลาที่ถูกกำหนดไว้

 

     9. ในกรณีที่การทำการละหมาดในแต่ละเวลาอย่างตรงตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากขึ้นแก่ผู้ป่วย ก็อนุมัติให้เขาทำการรวมเวลาละหมาด ดุฮฺริเข้ากับอัสริ และมักริบเข้ากับอิชาอฺได้ โดยจะทำให้เป็นการรวมในเวลาต้นหรือเวลาหลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของตัวผู้ป่วยเอง

         กล่าวคือจะเลือกรวมละหมาดอัสริเข้ามาในเวลาของละหมาดดุฮฺริ หรือชลอละหมาดดุฮริเข้าไปไว้ในเวลาของละหมาดอัสริก็เป็นเรื่องที่ทำได้ หรือจะเร่งละหมาดอิชาอฺมาไว้ในเวลาละหมาดมักริบ หรือชลอละหมาดมักริบให้เข้าไปในเวลาของละหมาดอิชาอฺก็สุดแล้วแต่ความสะดวกของตัวผู้ป่วยเอง ส่วนละหมาดซุบฮินั้นไม่อนุญาตให้กระทำรวมกับละหมาดเวลาอื่นไม่ว่าจะเป็นเวลาละหมาดที่อยู่ก่อนเวลาซุบฮิหรือเวลาละหมาดที่อยู่หลังเวลาซุบฮิก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากการละหมาดซุบฮินั้น ถูกกำหนดให้มีขึ้นในเวลาของตัวมันเองอย่างเป็นเอกเทศ โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการละหมาดของเวลาที่มาก่อนหรือมาหลังละหมาดซุบฮฺแต่ประการใด

อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

"และเจ้าจงดำรงการละหมาดตั้งแต่ยามตะวันคล้อยจนเวลาพลบค่ำ และจงดำรงการอ่านแห่งยามรุ่งอรุณเอาไว้

แท้จริงการอ่านแห่งยามรุ่งอรุณนั้นคือสิ่งที่ได้รับการยืนยัน"

 

 

 

 

แปลและเรียบเรียง  อาบีดีน โยธาสมุทร