การทำความสะอาดสำหรับผู้ป่วยที่ต้องละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  8713

 

การทำความสะอาดสำหรับผู้ป่วยที่ต้องละหมาด


โดย เชค อิบนุ อุซัยมีน


         สารฉบับนี้คือบทคัดย่อในประเด็นที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติ เกี่ยวกับการทำความสะอาด(ต่อฮาเราะฮฺ) และการละหมาด ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยนั้น มีรายละเอียดเฉพาะในการปฏบัติศาสนกิจดังกล่าว เนื่องจากเขาอยู่ในสภาพที่ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษตามมุมมองของบทบัญญัติอิสลาม

         อัลลอฮฺ  ได้ทรงส่งท่านนบี มุฮัมหมัด ด้วยศาสนาอันบริสุทธิ์และสะดวกสบาย อันเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งความง่ายดาย อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

 “และพระองค์ไม่ได้ทรงทำให้มีความยากลำบากใดๆขึ้นเลยแก่พวกเจ้าในเรื่องศาสนา”

และ ตรัสความว่า

“อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เกิดความสะดวกง่ายดายแก่พวกเจ้า และไม่ทรงประสงค์ให้ความยากลำบากมีขึ้นแก่พวกเจ้า”

และยังตรัสอีกความว่า

“ดังนั้นพวกท่านจงเกรงกลัวอัลลอฮฺให้สุดตามความสามารถของพวกท่านและจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามเถิด”

ท่านนบี กล่าวว่า

 “และเมื่อฉันได้ออกคำสั่งอะไรแก่พวกท่าน พวกท่านก็จงทำตามคำสั่งนั้นให้สุดตามที่พวกท่านสามารถเถิด”

         และจากมาตรฐานนี้เอง อัลลอฮฺ จึงทรงกำหนดข้อผ่อนผันในการทำอิบาดะฮฺให้แก่บุคคลที่มีอุปสรรค ตามแต่อุปสรรคที่พวกเขาประสบ เพื่อที่เขาจะได้สามารถประกอบอิบาดะฮฺได้โดยไม่เกิดความยุ่งยากเละติดขัดขึ้น

 

การทำความสะอาด(ต่อฮาเราะฮฺ)

     1. (โดยสภาพปกติแล้ว) กำหนดให้ผู้ป่วยใช้น้ำในการอาบน้ำละหมาดและอาบน้ำยกฮะดัส


     2. หากไม่สามารถใช้น้ำในการทำความสะอาดได้ เนื่องจากหมดความสามารถหรือเนื่องจากกลัวอาการเจ็บป่วยจะเพิ่มขึ้นหรือกลัวว่าจะหายช้าลง ก็ให้เขาเปลี่ยนมาทำตะยัมมุมแทน


     3. วิธีการตะยัมมุม คือ ใช้มือทั้งสองตบลงบนพื้นดินที่สะอาดหนึ่งครั้งแล้วลูบหน้า จากนั้นจึงถูมือทั้งสองข้าง แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถทำตะยัมมุมได้ด้วยตนเองก็ให้ผู้อื่นช่วยทำตะยัมมุมให้ผู้ป่วย โดยให้ผู้ทำแทนตบมือทั้งสองของเขากับพื้นดินที่สะอาดแล้วใช้มือของเขาลูบหน้าและตามด้วยมือทั้งสองของผู้ป่วย เช่นเดียวกันกับกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถอาบน้ำละหมาดเองได้ ก็ให้บุคคลอื่นช่วยอาบน้ำละหมาดให้ผู้ป่วยแทน


     4. อนุญาตให้ทำตะยัมมุมกับฝาผนังหรือพื้นที่อื่น ๆ ที่มีฝุ่นเกาะอยู่แต่หากผนังเป็นผนังที่มีการฉาบปิดหรือทาทับด้วยวัสดุอื่นที่ไม่อยู่ในจำพวกฝุ่นดิน เช่น สี ก็ไม่อนุญาตให้ทำตะยัมมุมบนพื้นผิวดังกล่าว ยกเว้นในกรณีที่มีฝุ่นผงเกาะติดอยู่


     5. ถ้าในกรณีที่ไม่มีผนังหรือพื้นที่อื่นที่มีฝุ่นผงอยู่เลย ก็ไม่เป็นอะไรหากพกฝุ่นผงเก็บไว้ในผ้าหรือภาชนะและจึงทำตะยัมมุมจากฝุ่นผงนั้น


     6. เมื่อได้มีการทำตะยัมมุมเพื่อทำละหมาดในเวลาหนึ่งแล้ว แต่ปรากฏว่าเขายังสามารถรักษาสภาพสะอาดดังกล่าวไว้ได้จนถึงละหมาดเวลาถัดมา ก็ให้เขาทำการละหมาดโดยยึดจาก การตะยัมมุมครั้งก่อนได้เลย และไม่ต้องกลับมาทำตะยัมมุมใหม่แต่ประการใด เนื่องจากเขายังอยู่ในสภาพที่สะอาดอยู่ และยังไม่มีสิ่งที่ทำให้เขาสิ้นจากสถาพดังกล่าวเกิดขึ้น


     7. กำหนดให้ผู้ป่วยต้องทำการชำระล้างร่างกายจากสิ่งสกปรก(นะญาซะฮฺ) แต่หากเขาไม่มีความสามารถ ก็ให้เขาทำการละหมาดไปตามสภาพ โดยถือว่าละหมาดที่เขาทำไป(ทั้งๆที่ตัวไม่สะอาดนั้น)ใช้ได้ และไม่ต้องกลับมาทำชดใช้แต่ประการใด


     8. กำหนดให้ผู้ป่วยต้องทำความสะอาดเสื้อผ้าของตนจากสิ่งสกปรก(นะญาซะฮฺ) หรือถอดแล้วเปลี่ยนใส่ชุดที่สะอาด แต่หากเขาไม่มีความสามารถ ก็ให้เขาทำการละหมาดไปตามสภาพ โดยถือว่าละหมาดที่เขาทำไป(ทั้งๆที่อยู่ในชุดที่ไม่สะอาดนั้น)ใช้ได้ และไม่ต้องกลับมาทำชดใช้แต่ประการใด


     9. กำหนดให้ผู้ป่วยทำการละหมาดบนสถานที่ที่สะอาด ถ้าหากบนที่นอนของเขามีสิ่งสกปรก(นะญาซะฮฺ)อยู่ก็ให้ทำการซักล้าง หรือเปลี่ยนที่นอน หรือปูทับด้วยสิ่งสะอาด แต่หากเขาไม่มีความสามารถ ก็ให้เขาทำการละหมาดไปตามสภาพ โดยถือว่าละหมาดที่เขาทำไป(ทั้งๆที่ทำไปบนสถานที่ที่ไม่สะอาดนั้น)ใช้ได้ และไม่ต้องกลับมาทำการชดใช้แต่ประการใด

 

 

 


แปลและเรียบเรียง  อาบีดีน โยธาสมุทร