พิษภัยของการโกหก
  จำนวนคนเข้าชม  35683

พิษภัยของการโกหก


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


         มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

        การโกหกเป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่น่าตำหนิซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลาและเราะสูลของพระองค์ทรงสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด โดยผู้ที่มีนิสัยดังกล่าวจะได้รับโทษอันแสนเจ็บปวดในอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า:

"และพวกเขาตั้งสิ่งที่พวกเขาชิงชังให้อัลลอฮฺ และลิ้นของพวกเขากล่าวเท็จขึ้นว่าสำหรับพวกเขานั้นคือสิ่งที่ดีเยี่ยม

 โดยแน่นอนสำหรับพวกเขานั้นคือไฟนรก และพวกเขาจะถูกส่งล่วงหน้าไปก่อน"

 (อัน-นะหลฺ: 62)

     การโกหกยังเป็นลักษณะนิสัยของพวกผู้ปฏิเสธและผู้กลับกลอก ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

       "และบรรดาผู้ที่ยึดเอามัสยิดหลังหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเดือดร้อนและปฏิเสธศรัทธา และก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างบรรดามุอ์มินด้วยกัน และเป็นแหล่งส้องสุมสำหรับผู้ที่ทำสงครามต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์มาก่อน และแน่นอนพวกเขาจะสาบานว่า เราไม่มีเจตนาอื่นใดนอกจากที่ดี และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นพยานยืนยันว่า แท้จริงพวกเขานั้นเป็นพวกกล่าวเท็จอย่างแน่นอน"

(อัต-เตาบะฮฺ: 107)

และตรัสอีกว่า:

"ดังนั้น ผู้ใดเล่าจะอธรรมยิ่งกว่าผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ หรือผู้ปฏิเสธบรรดาโองการของพระองค์ แท้จริงบรรดาผู้ทำผิดนั้นย่อมไม่บรรลุความสำเร็จ"

(ยูนุส: 17)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวความว่า:

"สัญลักษณ์ของผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) มีสามประการ คือ

เมื่อเขาพูดเขาจะโกหก เมื่อเขาสัญญาเขาจะบิดพลิ้ว และเมื่อเขาได้รับอะมานะฮฺในสิ่งใดเขาก็จะคดโกง"

 (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 33 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 59)

       และท่านนบี ยังได้บอกอีกว่าการโกหกนั้นเป็นสาเหตุให้ได้รับโทษในนรก ดังหะดีษของท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวความว่า:

        "พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในความสัตย์จริง เพราะความสัตย์จริงนั้นจะนำพาไปสู่ความดี และความดีจะนำพาไปสู่สวนสวรรค์ ผู้ใดก็ตามที่มีความสัตย์จริง และใฝ่หาความสัตย์จริง เขาจะได้รับการบันทึก ณ ที่อัลลอฮฺว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความสัตย์จริง

และพวกท่านทั้งหลายจงพึงระวังการโกหก เพราะการโกหกนั้นจะนำพาไปสู่ความชั่วร้าย และความชั่วร้ายจะนำพาไปสู่ไฟนรก ผู้ใดก็ตามที่ชอบโกหก และฝักใฝ่การโกหกอยู่เป็นนิจ เขาก็จะถูกบันทึก ณ ที่อัลลอฮฺว่าเป็นจอมโกหก"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6094 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2607)


        ผู้ที่โกหกจนเป็นนิสัยนั้นจะถูกลงโทษในหลุมศพก่อนการลงโทษในวันกิยามะฮฺ ดังปรากฏในหะดีษซึ่งบันทึกโดยท่านสะมุเราะฮฺ บิน ญุนดุบ เราะฏิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวในหะดีษที่เล่าเรื่องความฝันของท่านว่า:

         "แล้วเราก็เดินผ่านชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในสภาพนอนหงาย โดยมีชายอีกคน (มลาอิกะฮฺ) ยืนคร่อมลงโทษเขาด้วยท่อนเหล็ก ชายคนนั้นยืนอยู่ทางด้านหนึ่งของใบหน้าเขา แล้วใช้ท่อนเหล็กทิ่มปากจนทะลุออกทางท้ายทอย ทิ่มรูจมูกจนทะลุถึงท้ายทอย และทิ่มดวงตาจะทะลุถึงท้ายทอย จากนั้นก็เปลี่ยนไปยืนอีกข้างหนึ่ง แล้วทำเหมือนกับที่ได้ทำไปในด้านแรก เมื่อลงโทษด้านที่สองเสร็จ ก็พอดีกับที่แผลจากการลงโทษในด้านแรกหายสนิท เขาจึงกลับไปลงโทษในด้านแรกเหมือนกับที่ทำไปในครั้งแรก"

เมื่อท่านนบี ถามถึงชายคนดังกล่าว ก็ได้รับคำตอบว่า

 "เขาคือผู้ที่ออกจากบ้านในตอนเช้า แล้วพูดโกหก จนเรื่องที่เขาโกหกนั้นกระจายไปทั่วทุกสารทิศ"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 7047)

        ท่านนบี ได้บอกไว้ว่าผู้ใดละทิ้งการโกหกแม้จะเป็นเรื่องล้อเล่นก็ตาม เขาจะได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ดังหะดีษจากท่านอบีอุมามะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า:

       "ฉันขอรับรองว่าจะมีคฤหาสน์เตรียมไว้ในสวรรค์รอบนอก สำหรับผู้ที่ละทิ้งการโต้เถียงทั้งที่เขาเป็นฝ่ายถูก และจะมีคฤหาสน์เตรียมไว้ในส่วนกลางของสวรรค์ สำหรับผู้ที่ละทิ้งการโกหกแม้จะเป็นเรื่องหยอกล้อ และจะมีคฤหาสน์เตรียมไว้ในชั้นสูงสุดของสวรรค์สำหรับผู้ทีมีมารยาทอันงดงาม"

 (บันทึกโดยอบู ดาวูด หะดีษเลขที่ 4800)

อิมามอะหฺมัด บิน หัมบัล กล่าวว่า: "การโกหกนั้นไม่เป็นที่อนุมัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องล้อเล่นก็ตาม"

(อัล-อาดาบ อัชชัรฺอิยะฮฺ ของอิบนุ มุฟลิหฺ เล่ม 1 หน้า 23)

และยังกล่าวอีกว่า: "มุสลิมนั้นถูกสร้างมาให้มีทุกๆลักษณะนิสัยอยู่ในตัว ยกเว้นการคดโกงและการโกหก"

(อัซซะวาญิรฺ มิน อิกติรอฟ อัล-กะบาอิรฺ ของอิบนุหะญัรฺ อัล-หัยตะมีย์ เล่ม 2 หน้า 195)

ท่านอิบนุก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า:

         "การโกหกนั้นทำให้ระบบสังคมเสื่อมโทรมจนมิอาจจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันคือต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวงในโลกนี้ และนำมาซึ่งความเสียหายมากมายอย่างที่ทราบกันดี หลายต่อหลายครั้งที่การโกหกเป็นต้นตอของการตกต่ำล่มสลายของอาณาจักรหรือประเทศชาติ ทำให้เศรษฐีกลายเป็นคนขัดสน คนมีเกียรติกลายเป็นคนต่ำต้อย ทำให้เกิดความบาดหมางและเป็นศัตรูกัน ถึงขนาดทำให้พ่อลูกพี่น้องโกรธเคืองกัน จากมิตรแท้ต้องกลายเป็นศัตรูถาวร ซึ่งในนรกญะฮันนัมนั้นก็เต็มไปด้วยผู้ที่โกหกต่ออัลลอฮฺ เราะสูล และศาสนาของพระองค์"

(มิฟตาหฺ ดาริสสะอาดะฮฺ เล่ม 2 หน้า 73)

กวีท่านหนึ่งกล่าวว่า:

"การโกหกนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ คำพูดที่ดีที่สุดก็คือการพูดความจริง และเมื่อความจริงปรากฏ ความเท็จก็จะมลายหายสิ้นไป"

อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า:

"อย่าได้คบหาผู้ที่ชอบโกหกเป็นเพื่อน เพราะคนประเภทนี้คือมิตรสหายที่แย่ที่สุด"

 

ท่านนบี เกลียดการโกหก และรังเกียจผู้ที่ชอบโกหกเป็นอย่างมาก ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า:

      "ไม่มีลักษณะนิสัยใดที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ รังเกียจมากไปกว่าการโกหก เคยมีบางคนกล่าวโกหกต่อหน้าท่านเราะสูลุลลอฮฺ  แล้วท่านก็โกรธชายผู้นั้นเป็นอย่างมาก กระทั่งเขาเตาบัตกลับตัวจากความผิดดังกล่าว"

(บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 25183)

อุละมาอ์หลายท่านกล่าวว่า: "การโกหกที่ชั่วช้าที่สุด คือการโกหกต่ออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์"

ท่านอัซซะฮะบียฺเราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า:

        "ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการจงใจโกหกต่ออัลลฮอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ เพื่อทำให้สิ่งที่หะรอมกลายเป็นหะล้าล หรือหะล้าลกลายเป็นหะรอมนั้น ถือเป็นการปฏิเสธศรัทธาอย่างชัดแจ้ง"

(อัล-กะบาอิรฺ ของอัซซะฮะบีย์)

        และกล่าวอีกว่า: "การโกหกต่ออัลลอฮฺและเราะสูลนั้นถือเป็นบาป ส่วนการโกหกนอกเหนือจากกรณีดังกล่าว เมื่อประมวลจากตัวบทต่างๆแล้ว พบว่าเป็นบาปใหญ่เช่นเดียวกัน"

(อัล-กะบาอิรฺ ของอัซซะฮะบีย์)

         ความสัตย์จริงเป็นหนทางแห่งความปลอดภัยทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ดังเรื่องราวของกะอฺบ์ บิน มาลิก เมื่อท่านนบี  แจ้งข่าวดีแก่ท่านว่าการเตาบัตกลับตัวของท่าน (จากความผิดที่ท่านพลาดการเข้าร่วมสงครามกับท่านนบี) ถูกตอบรับ

ท่านกล่าวว่า: "โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงให้ฉันรอดพ้นจากเรื่องดังกล่าวด้วยความสัตย์จริงของฉัน และเพื่อยืนยันการเตาบัตกลับตัวของฉัน จากนี้ไปตลอดชั่วชีวิตฉันจะพูดแต่ความจริง"

ท่านกะอฺบ์กล่าวว่า: "ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ไม่มีมุสลิมคนใดถูกอัลลอฮฺทดสอบเรื่องความสัตย์จริงนับตั้งแต่วันที่ฉันได้เล่าเรื่องดังกล่าวแก่ท่านเราะสูล จนถึงวันนี้ ดีไปกว่าที่พระองค์ทรงทดสอบฉัน และขออัลลอฮฺทรงปกป้องดูแลฉันในช่วงชีวิตที่เหลือให้รอดพ้นจากการโกหกด้วยเถิด"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3556 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2769)

พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า:

"โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงอยู่อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่พูดจริง"

(อัต-เตาบะฮฺ: 119)

         นักวิชาการได้ยกเว้นให้โกหกได้ในบางสถานการณ์ เช่น โกหกเพื่อให้หายโกรธเคืองกัน การโกหกในสงคราม และการโกหกเพื่อให้รอดพ้นจากความอธรรม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมุสลิมคนหนึ่งซ่อนตัวจากผู้อธรรมที่ต้องการฆ่าเขา หรือต้องการทรัพย์สินของเขา เมื่อมีคนใดถูกถาม เขาก็จำเป็นที่จะต้องโกหกเพื่อปกป้องเขา และเช่นเดียวกันเมื่อมีผู้ใดฝากของไว้และมีคนร้ายจะมาเอาไปก็จำเป็นที่เขาจะต้องโกหกเพื่อปิดบัง แต่ที่ดีที่สุดคือควรใช้คำพูดเพื่อที่ให้คนฟังเข้าใจผิดไปเองไม่ใช่โกหกด้วยคำพูดตรงๆ

นักวิชาการได้ใช้หลักฐานในการอนุญาตให้โกหกในกรณีดังกล่าวจากหะดีษซึ่งรายงานโดยอุมมุกัลษูม เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่านางได้ยินท่านนบี กล่าวว่า:

"ผู้ที่พยายามประสานให้ผู้คนคืนดีกันด้วยคำพูดที่ดีนั้นไม่ถือว่าเป็นคนโกหก"

 

มุสลิมกล่าวว่า: ท่านอิบนุชิฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า:

 "ฉันไม่เคยได้ยินการอนุมัติให้โกหกได้นอกจากในสามสถานการณ์ดังต่อไปนี้

หนึ่งในสงคราม สองเพื่อให้สองฝ่ายคืนดีกัน สามคำพูดของสามีต่อภรรยาของเขาหรือภรรยาต่อสามีของนาง"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2692 มุสลิม หะดีษเลขที่ 2605)

 

       และสิ่งที่ต้องพึงระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเล่าเรื่องโกหกเพื่อให้ผู้คนตลกขบขันนั้น ถือเป็นการโกหกที่ถูกห้ามเช่นกัน ท่านนบี กล่าวว่า:

"ความหายนะจงประสบแก่ผู้ที่กุเรื่องเล่าขึ้นเพื่อทำให้ผู้อื่นหัวเราะขบขัน ความหายนะจงประสบแก่เขา ความหายนะจงประสบแก่เขา"

(บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 2314)

 

 

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse