25 แนวคิดพิชิตปัญหาตามวิถีอิสลาม (17-25)
  จำนวนคนเข้าชม  4850

 

25 แนวคิดพิชิตปัญหาตามวิถีอิสลาม (17-25)


Abdulmalik Al-Qasem


17. รางวัลใหญ่รอคุณอยู่ !

         พึงตระหนักไว้เสมอว่า อัลลอฮฺทรงเตรียมรางวัลอันยิ่งใหญ่และการลบล้างบาปความผิด ไว้สำหรับผู้ที่เผชิญกับความทุกข์ใจเศร้าโศกด้วยความอดทน  พระองค์ตรัสว่า:

"แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนผลบุญอย่างไร้ขีดจำกัด"

 [อัซ-ซุมัรฺ: 10]

และท่านนบี กล่าวว่า :

"มุอ์มินผู้ศรัทธาจะไม่ประสบกับความเจ็บป่วย ความเหน็ดเหนื่อย ความกังวล ความเศร้าเสียใจ ความทุกข์โศก หรือความเดือดร้อนใดๆ แม้แต่ถูกหนามทิ่มตำ

เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงลบล้างบาปความผิดของเขาเป็นการตอบแทน"

[บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม]

 

18. สำนึกในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

          วิธีการหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาหรือบรรเทาความทุกข์โศกให้ทุเลาลงได้คือ การสำนึกและครุ่นคิดในนิอฺมัตความโปรดปรานอันมากมายมหาศาลเหลือคณานับที่อัลลอฮฺประทานให้แก่เรา ทรงให้เรามีชีวิต ได้ละหมาด ได้ถือศีลอด ได้เดินด้วยสองขา ในขณะที่บางคนเดินไม่ได้ มีสองมือสองตา ในขณะที่บางคนพิการหรือตาบอด และความโปรดปรานอื่นๆ ที่มิอาจตีค่าประเมินราคาได้

อัลลอฮฺตรัสว่า:

"และหากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลอฮฺแล้ว พวกเจ้าก็ไม่อาจจะคำนวณมันได้"

[อิบรอฮีม: 34]

         ชายคนหนึ่งเข้าหายูนุส บิน อุบัยด์ (ผู้อยู่ในยุคตาบิอีน) เพื่อปรับทุกข์ในเรื่องความอัตคัดแร้นแค้นของชีวิตอันก่อให้เกิดความทุกข์กังวลแก่เขาเป็นอย่างมาก

ท่านจึงกล่าวถามเขาว่า: ท่านยินดีที่จะสละการมองเห็นของท่านด้วยเงินหนึ่งแสนไหม?

เขาตอบว่า: ไม่

ยูนุสถามต่อว่า: แล้วการได้ยินของท่านละ?

ชายคนนั้นตอบว่า: ไม่

ยูนุสถามต่อไปว่า: แล้วลิ้นของท่านล่ะ?

ชายคนนั้นตอบว่า: ไม่

ยูนุสถามว่า: แล้วสติปัญญาของท่านล่ะ?

ชายคนนั้นตอบว่า: ไม่

แล้วท่านยูนุสก็กล่าวถามถึงความโปรดปรานต่างๆ ที่อัลลอฮฺประทานให้เขา

แล้วท่านก็กล่าวว่า: ฉันก็เห็นว่าท่านครอบครองสิ่งมีค่านับแสนนับล้านนี่นา แล้วท่านยังจะเป็นทุกข์กับความอัตคัดแร้นแค้นอยู่อีกหรือ?

          ดังนั้น หากเราคิดใคร่ครวญและสำนึกในความกรุณาความโปรดปรานอันล้นพ้นของอัลลอฮฺแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าทุกข์ภัยปัญหา และความโศกเศร้าต่างๆที่เราต้องเผชิญในชีวิตนี้นั้น มันช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับนิอฺมัตความโปรดปรานอันมากมายเหล่านั้น และจะทำให้เราหันกลับไปชุโกรขอบคุณอัลลอฮฺและคลายความวิตกกังวล คลายความรู้สึกเป็นทุกข์ลงได้

 

19. ต้องรู้สาเหตุของปัญหา

          ปัญหาส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดโดยไม่มีสาเหตุหรือปัจจัยเกื้อหนุน ลองพิจารณาดูวัยรุ่นที่เสียผู้เสียคน ใช่ว่าพวกเขาจะเสียคนชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่มันค่อยๆพัฒนา ค่อยๆเบี่ยงเบนไปทีละนิด บวกกับอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุนอื่นๆที่คอยส่งเสริม เช่น การคบเพื่อนที่ไม่ดี สื่อ เทคโนโลยีต่างๆ หรือปัจจัยอื่นๆ

          ดังนั้น การจะเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องรู้สาเหตุที่เป็นต้นตอของปัญหา แล้วแก้ให้ตรงจุดด้วยวิธีการที่เป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบชั่วคราวหรือเฉพาะหน้า ทั้งนี้ ขั้นตอนการแก้ไขปัญหานั้น อาจต้องใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่สภาพปัญหาและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

 

20. รีบเร่งเตาบะฮฺกลับตัวเข้าหาอัลลอฮฺ

จำไว้เถิดว่าทุกข์ภัยความเศร้าหมองที่เราต้องประสบนั้น เป็นผลจากบาปความผิดที่เราได้กระทำลงไปนั่นเอง อัลลอฮฺตรัสว่า :

"และแต่ละคนเราได้ลงโทษด้วยความผิดของเขา

โดยบางคนในหมู่พวกเขาเราได้ส่งลมพายุร้ายทำลายเขา

และบางคนในหมู่พวกเขาเราได้ลงโทษเขาด้วยเสียงกัมปนาท

และบางคนในหมู่พวกเขา เราได้ให้แผ่นดินสูบเขา

และบางคนในหมู่พวกเขา เราได้ให้เขาจมน้ำตาย

และอัลลอฮฺมิได้ทรงอธรรมต่อพวกเขา แต่พวกเขาต่างหากที่อธรรมต่อพวกเขาเอง"

 [อัล-อันกะบูต: 40]

และพระองค์ตรัสว่า:

"และทุกข์ภัยอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้าก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายเอง"

[อัช-ชูรอ: 30]

มุหัมมัด บิน ซีรีน (ผู้อยู่ในยุคตาบิอีน) เคยต้องประสบกับภาวะหนี้สินล้นตัวซึ่งทำให้ท่านเป็นกังวล ท่านจึงกล่าวว่า:

"ฉันคิดว่าความทุกข์กังวลที่ฉันประสบอยู่ในขณะนี้ เป็นผลจากบาปหนึ่งที่ฉันเคยทำไว้เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว"

         ลองไตร่ตรองดูเถิด ว่าที่ผ่านมาเราบกพร่องในหน้าที่อันพึงมีต่ออัลลอฮฺมากเพียงใด? เราได้กระทำบาปความผิดและฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺอย่างไรบ้าง? แต่พระองค์ก็ยังทรงเมตตาเรา ยังทรงอภัยให้เรา ดังนั้น ในยามที่เราอ่อนแอเมื่อต้องประสบกับปัญหาจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะสำนึกกลับตัว กลับเข้าหาอัลลอฮฺ ผู้ทรงตอบรับการเตาบะฮฺจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงอภัยให้บาปความผิดทั้งหลาย

 

21. พึงระวังคำพูด

          ปัญหาบางเรื่องนั้น ต้นตอสำคัญของมันคือลิ้น หลายๆครั้งคำพูดของฝ่ายหนึ่งถูกนำไปบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่ง จนทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่และเกิดความยุ่งยากขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เมื่อเราระวังรักษาลิ้นมิให้พูดในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการนินทา ใส่ร้าย โกหก ดูถูกเหยียดหยาม เยาะเย้ยถากถาง ด่าทอ หรือสาปแช่ง เราก็จะได้รับผลบุญตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤติปัญหาที่รุมเร้าและในยามที่หัวใจว้าวุ่นขุ่นหมอง และอย่าได้สนใจหากอีกฝ่ายจะใช้คำพูดที่เปรียบดั่งโรคร้ายเหล่านั้นกับเรา อย่าทำตามเขา แต่จงมอบหมายตะวักกัลต่ออัลลอฮฺ ขอให้พระองค์ปกป้องเราจากสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของพระองค์

ท่านเราะสูล  กล่าวว่า:

“ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาก็จงพูดแต่สิ่งที่ดีหรือไม่ก็เงียบเสีย”

[อัล-บุคอรีย์และมุสลิม]

 

22. อย่าใส่ใจกับคำพูดหรือการกระทำของผู้ไม่หวังดี

          เราไม่ควรจะใส่ใจกับคำพูดหรือการกระทำของผู้ที่ไม่หวังดีต่อเราให้มากนัก แม้ว่ามันจะทิ่มแทงทำร้ายจิตใจเราก็ตาม ให้ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ สุดท้ายแล้วคนเหล่านั้นนั่นแหละที่จะอยู่อย่างไม่มีความสุข

อิมามอัช-ชาฟิอีย์ กล่าวว่า:

         “ผู้ใดคาดหวังว่าเขาจะรอดพ้นจากคำพูดที่ไม่ดีของคนอื่น เขาคงจะเสียสติไปแล้ว เพราะขนาดอัลลอฮฺ ยังมีคนกล่าวว่าพระองค์มีสามภาค หรือแม้แต่ท่านนบี   ก็มีคนกล่าวหาว่าท่านเสียสติ หรือเป็นหมอผีนักไสยศาสตร์ แล้วนับประสาอะไรกับคนที่ต่ำต้อยกว่าอย่างพวกเรา?”

         ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ อย่าไปให้ความสำคัญกับคำพูดเหล่านั้น อดทนไว้แล้วดุอาอ์วิงวอนขออัลลอฮฺทรงให้เราห่างไกลจากสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวง

 

23. อย่าหมกมุ่นอยู่แต่กับปัญหา

          ปัญหาที่เรากำลังประสบนั้น อาจจะเป็นปัญหาที่หนักหน่วงก็จริง แต่มันก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ดังนั้น จึงไม่ควรทุ่มเทหรือหมกมุ่นอยู่แต่กับปัญหาดังกล่าวตลอดเวลา จนทำให้เสียการเสียงาน หรือเพิ่มความกังวลความว้าวุ่นมากขึ้นไปอีก ทางที่ดีควรอยู่กับปัญหาแต่พอเหมาะ แล้วใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ควรหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น เพื่อจะได้เป็นการลดความตึงเครียดและความทุกข์กังวล สมองและจิตใจจะได้ปลอดโปร่ง

 

24. ขอคำปรึกษาจากผู้อื่น

          ในบางครั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราอาจมีความจำเป็นต้องขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากผู้อื่น คำถามคือ แล้วเราจะปรึกษาใครล่ะ? ที่ปรึกษาที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร? คนทุกคนสามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้หรือไม่?

ชาวสะลัฟบางท่านกล่าวว่า :

          “ท่านอย่าได้พูดในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน และจงรู้จักศัตรูของท่านไว้ และจงระวังบรรดามิตรสหายของท่าน ยกเว้นผู้ที่ซื่อตรงไว้ใจได้ และผู้ที่ซื่อตรงก็คือผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นั่นเอง และท่านอย่าได้คบค้าสมาคมกับคนชั่ว มิเช่นนั้นแล้วเขาจะสอนและชักนำท่านไปในทางที่ไม่ดี และอย่าได้เปิดเผยความลับของท่านให้เขารู้ และอย่าได้ขอคำปรึกษายกเว้นจากผู้ที่มีความยำเกรงต่อ อัลลอฮฺ

        ดังนั้น จึงควรขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้ความเหมาะสม และสามารถเก็บความลับของเราไว้ได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่เสียใจในภายหลัง

 

25. อิสติคอเราะฮฺ

          หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็อย่าลืมทำการอิสติคอเราะฮฺ ขอคำปรึกษาจากอัลลอฮฺให้พระองค์ทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องและเป็นผลดีต่อเรามากที่สุด ดังที่ท่านเราะสูล ได้เคยสอนไว้ว่า:

“เมื่อคนใดคนหนึ่งจากหมู่ท่านคิดจะทำสิ่งใด ให้เขาละหมาด 2 ร็อกอัตนอกเหนือจากละหมาดฟัรฎู จากนั้นให้กล่าวว่า:

          โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอให้พระองค์ทรงเลือกด้วยความรอบรู้ของพระองค์ และขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์มีความสามารถในการทำสิ่งที่ควรทำ ด้วยพระปรีชาของพระองค์ และข้าพระองค์ขอด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ส่วนตัวข้าพระองค์นั้นไม่มีความสามารถใดๆ พระองค์ทรงรอบรู้ ส่วนข้าพระองค์นั้นไม่มีความรู้ พระองค์ทรงรอบรู้ถึงสิ่งเร้นลับทั้งปวง

          โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ทรงรู้ว่าสิ่งนี้เป็นการดีต่อข้าพระองค์ในทางศาสนา ชีวิตความเป็นอยู่ และผลจากการกระทำของข้าพระองค์ ก็ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กระทำสิ่งนั้นได้ และให้มันเป็นเรื่องง่ายสำหรับข้าพระองค์ และขอพระองค์ทรงประทานความจำเริญแก่ข้าพระองค์ในการงานนั้น และหากพระองค์ทรงรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อข้าพระองค์ในทางศาสนา ชีวิตความเป็นอยู่ และผลจากการกระทำของข้าพระองค์ ก็ขอให้พระองค์ทรงให้มันห่างไกลจากข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์ห่างไกลจากมัน และให้ข้าพระองค์มีความพึงพอใจ

หลังจากนั้น ให้เขากล่าวถึงเรื่องของเขา (ที่ต้องการให้อัลลอฮฺช่วยชี้นำทาง) ”

[บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และท่านอื่นๆ]

 

 

 

 

 

 

 

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse