สุนัน อัน-นะสาอีย์
สุนัน อัน-นะสาอีย์ หรืออัล-มุจญ์ตะบาเป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการสรรเสริญชมเชยจากบรรดาอุละมาอ์หะดีษทุกแหล่งหล้า และอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติว่าหนังสือสุนัน อัน-นะสาอีย์มีลำดับความสำคัญและความประเสริฐเป็นที่ห้ารองจากสุนัน อัต-ติรมิซีย์
ชื่อผู้แต่ง
ท่านคือ อัล-หาฟิซฺ อบู อับดิรเราะฮฺมาน อะหมัด บิน ชุอีบ บิน อะลีย์ บิน สินาน บิน บะห์รฺ อัน-นะสาอีย์ เกิดที่เมืองนะสาในแคว้นคุรอซาน อยู่ในประเทศอิหร่านปัจจุบัน เมื่อปี ฮ.ศ. 215 และเสียชีวิตที่เมืองมักกะฮฺเมื่อเดือนชะอฺบานปี ฮ.ศ. 303 รวมอายุ 88 ปี
ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน
ไม่มีรายงานที่ชัดเจนจากอัน-นะสาอีย์ว่าท่านได้ตั้งชื่อหนังสือของท่านว่าอย่างไร แต่หนังสือของท่านเป็นที่รู้จักกันในนามของ'"อัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบา” ซึ่งแปลว่าหะดีษต่างๆ ที่ถูกคัดเฟ้น หรือ "สุนัน อัน-นะสาอีย์"
ส่วนสาเหตุของการเขียนนั้น มีรายงานว่า อัน-นะสาอีย์ได้มอบหนังสืออัส-สุนัน อัล-กุบรอแก่เจ้าเมืองร็อมละฮฺเจ้าเมืองจึงถามว่า หะดีษในอัส-สุนัน อัล-กุบรอเป็นหะดีษที่ถูกต้อง(เศาะฮีหฺ)ทั้งหมดหรือไม่ ? ท่านตอบว่าไม่ เจ้าเมืองจึงขอให้ท่านคัดเอาเฉพาะหะดีษที่เศาะฮีหฺเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงได้เขียนอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบาขึ้นมา ซึ่งเป็นการคัดเฟ้นหะดีษที่มีตำหนิในอัส-สุนัน อัล-กุบรอออก ดังนั้น เมื่อนักหะดีษเอ่ยถึงสุนัน อัน-นะสาอีย์ก็หมายความถึง อัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบา ไม่ใช่อัส-สุนัน อัล-กุบรอ
ความสำคัญของหนังสือ
1. อัล-หากิม กล่าวว่า "ผู้ใดที่ได้อ่านหนังสือของอัน-นะสาอีย์(อัลมุจญ์ตะบา) เขาจะพบกับความอัศจรรย์ในการร้อยเรียงที่ดี"
2. อับดุรเราะฮีม อัล-มักกีย์ กล่าวว่า "งานเขียนของอันนะสาอีย์มีความประเสริฐมากกว่างานเขียนหะดีษทั้งหลาย และไม่มีงานเขียนเกี่ยวกับหะดีษในอิสลามที่จะมาเทียบเคียงได้"
3. เชคยูนุส บิน อัลดุลลอฮฺ อัล-กอฎีย์ เห็นว่า หนังสือสุนัน อัน-นะสาอีย์ นั้นมีความประเสริฐมากกว่าเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์เสียอีก
4. อบุล หะสัน อัล-มุอาฟิรีย์ กล่าวว่า "เมื่อท่านสังเกตุถึงหะดีษที่รายงานโดยนักหะดีษ ท่านจะพบว่าหะดีษที่รายงานโดยอัน-นะสาอีย์นั้นมีความถูกต้องมากกว่าหะดีษที่รายงานโดยคนอื่น"
5. อบู อับดิลลาฮฺ บิน รุชัยด์ กล่าวว่า "หนังสืออัน-นะสาอีย์เป็นงานเขียนที่ดีเลิศในบรรดางานเขียนสุนันทั้งหลาย"
6. อัด-ดาเราะกุฏนีย์ ได้ให้ชื่อหนังสือสุนัน อัล-มุจญ์ตะบา ว่าเศาะฮีหฺ อัน-นะสาอีย์เพราะความพิถีพิถันในงานเขียน
จำนวนหะดีษในสุนันอัน-นะสาอีย์
ตามหมายเลขที่ระบุในหนังสือตุหฺฟะตุล อัชร็อฟ ของอัล-มิซซีย์ ระบุว่าหะดีษในอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบามีประมาณ 5,760 หะดีษ
ข้อแม้และวิธีการเขียนของอัน-นะสาอีย์
อัน-นะสาอีย์ก็เหมือนกับอุละมาอ์หะดีษคนอื่นๆ ที่ไม่ได้บอกถึงข้อแม้ในหนังสือของท่านแต่อย่างใด แต่จากการวิเคราะห์หนังสือสุนันพอจะจับใจความสำคัญเกี่ยวกับข้อแม้ในการเขียนของท่านได้ดังนี้
1. ท่านได้คัดเฟ้นเฉพาะหะดีษที่ท่านคิดว่าถูกต้องเท่านั้นมาไว้ในอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบา
2. ท่านจะไม่รายงานหะดีษจากนักรายงานที่บรรดาอุละมาอ์หะดีษต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านักรายงานคนนั้นถูกเมิน(มัตรูก)
3. ท่านจะขึ้นต้นสายรายงานด้วยคำว่า "อัคบะเราะนา"หรือ "อัคบะเราะนี" ทุกครั้ง ซึ่งต่างจากหนังสือสุนันเล่มอื่นๆ
4. ท่านจะคุยและชี้แจงถึงสถานภาพของสายรายงานหากพบว่ามีตำหนิหรือบกพร่อง เช่นเดียวกับตัวบทของหะดีษ ถ้าหากมีการเพิ่มเติมจากสายรายงานอื่นท่านก็จะกล่าวถึง
5. มีความละเอียดอ่อนและเฉียบแหลมในการตั้งหัวข้อและวิเคราะห์หะดีษ จากข้อแม้ดังกล่าวข้างต้นเราจึงพบว่าหะดีษเฎาะอีฟและนักรายงานที่มีตำหนิหรือบกพร่องในสุนัน อัน-นะสาอีย์นั้นมีน้อยมาก รองจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ถ้าจะเทียบกับสุนัน อบี ดาวูด, สุนัน อัต-ติรมิซีย์ และสุนัน อิบนิ มาญะฮฺ อัน-นะสาอีย์กล่าวว่า "(หะดีษใน)หนังสือสุนันทั้งหมดเป็นหะดีษที่ถูกต้อง และบางหะดีษยังมีความบกพร่องอยู่ เพียงแต่ว่าความบกพร่องนั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน" วัลลอฮุอะอฺลัม
การให้ความสำคัญของอุละมาอ์
เป็นที่น่าเสียดายที่สุนัน อัน-นะสาอีย์ ไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควรทั้งอดีตและปัจจุบัน ถ้าจะเทียบกับการให้ความสำคัญของอุละมาอ์ต่อเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์, เศาะฮีหฺ มุสลิม และหนังสือสุนันเล่มอื่นๆ ดูเหมือนว่าเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะบรรดาอุละมาอ์ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสุนัน อัน-นะสาอีย์ส่วนใหญ่ล้วนตายจากไปก่อนที่งานเขียนของพวกเขาจะเสร็จสมบูรณ์ และในบรรดาหนังสือชัรหฺที่มักจะถูกพิมพ์พร้อมกับอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบาปัจจุบันได้แก่ ชัรหฺของอัส-สุยูฏีย์ที่มีชื่อว่า "ซะฮฺรุรรุบา อะลัล มุจญ์ตะบา" และหาชิยะฮฺของเชคมุหัมมัด บิน อับดุลฮาดี อัส-สินดีย์ ซึ่งมีการเพิ่มเติมจากของอัส-สุยูฏีย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น วัลลอฮุ อะอฺลัม
และปัจจุบันเชคอัล-อัซยูบีย์ ซึ่งพำนักอยู่ที่มักกะฮฺ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสุนัน อัน-นะสาอีย์ และรวมรวมบทอธิบายเกี่ยวกับหะดีษต่างๆ ได้ออกมาถึงสี่สิบเล่มด้วยกัน ภายใต้ชื่อว่า “ซะคีเราะฮฺ อัล-อุกบา ฟี ชัรหฺ อัล-มุจญ์ตะบา” (http://www.waqfeya.com/book.php?bid=774) ซึ่งนับว่าเป็นงานเขียนที่สมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับสุนัน อัน-นะสาอีย์นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา
อุษมาน อิดรีส / Islamhouse