สุนัน อัต-ติรมิซีย์
  จำนวนคนเข้าชม  19750

 

สุนัน อัต-ติรมิซีย์


         สุนัน อัต-ติรมิซีย์ เป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการชมเชยจากบรรดาอุละมาอ์หะดีษทุกแหล่งหล้า และอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติว่าหนังสือ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ มีลำดับความสำคัญและความประเสริฐเป็นที่สี่รองจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เศาะฮีหฺ มุสลิม และสุนัน อบี ดาวูด


ชื่อผู้แต่ง

         ท่านคือ อัล-หาฟิซฺ อบู อีซา มุหัมมัด บิน อีซา บิน เสาเราะฮฺ บิน มูซา บิน อัฎ-เฎาะห์หาก อัส-สุละมีย์ อัล-บูฆีย์ อัต-ติรมิซีย์ เกิดที่ เมืองติรมิซฺ แคว้นคุรอซาน(อยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำอามู ดาร์ยาหรือแม่น้ำญีหูน ในทาจิกิสตาน ปัจจุบัน) เมื่อปี ฮ.ศ. 209 (ค.ศ. 824) และเสียชีวิตที่หมู่บ้านบูฆของเมืองติรมิซฺ เมื่อปี ฮ.ศ. 279 (ค.ศ. 892) เมื่ออายุได้ 70 ปี

 

ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน

          เป็นที่ขัดแย้งกันของบรรดาอุละมาอ์เกี่ยวกับชื่อหนังสือของท่าน แต่ชื่อที่น่าจะสอดคล้องกับเนื้อหาของหนังสือที่สุดคือ "อัล-ญามิอฺ อัล-มุคตะศ็อรฺ มิน อัส-สุนัน อัน เราะสูลิลลาฮฺ วะ มะริฟะอฺ อัศ-เศาะฮีหฺ วะ อัล-มะอฺลูล วะ มา อะลัยฮิ อัล-อะมัล" หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของหนังสือ "ญามิอฺ อัต-ติรมิซีย์" หรือ “สุนัน อัต-ติรมิซีย์” ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมหะดีษที่บรรดาอุละมาอ์อิสลามใช้เป็นหลักฐานในด้านศาสนบัญญัติ

 

ความสำคัญของหนังสือ

เป็นหนังสือที่แหวกแนวจากหนังสือทั้งสามเล่มที่ผ่านมา ทำให้มีสาระสำคัญที่ไม่มีในหนังสืออื่น

     1. อัต-ติรมิซีย์ กล่าวว่า "ผู้ใดที่ได้ครอบครองหนังสือเล่มนี้ไว้ที่บ้าน ก็เสมือนกับว่าบ้านของเขามีนบี ที่กำลังปราศรัยอยู่"

     2. อิบนุล อะษีรฺ กล่าวว่า "หนังสือของเขาเป็นหนังสือที่ดีเลิศและมีสาระมากกว่าหนังสือหะดีษเล่มอื่นๆ"

     3. อบู อิสมาอีล อัล-ฮะเราะวีย์ กล่าวว่า "ฉันเห็นว่าหนังสือของอัต-ติรมิซีย์มีสาระมากกว่าหนังสือของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม เพราะผู้อ่านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย"

     4. ชาฮฺ อับดุลอะซีซฺ กล่าวว่า "หนังสืออัล-ญามิอฺของอัต-ติรมิซีย์เป็นหนังสือที่ดีเลิศกว่าหนังสือหะดีษทั้งหมด ด้วยเหตุผลคือ ด้านระเบียบการเขียนและไม่ซ้ำซาก ด้านการกล่าวถึงทัศนะของฟุเกาะฮาฮ์(นักฟิกฮฺ) และวิธีการใช้หะดีษเป็นหลักฐานอ้างอิง ด้านการกล่าวถึงระดับของหะดีษเศาะฮีหฺ เฎาะอีฟ และข้อตำหนิต่างๆ ด้านการชี้แจงถึงชื่อของนักรายงาน และสาระอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนักรายงานหะดีษ"

 

จำนวนหะดีษในสุนัน อัต-ติรมิซีย์

         ตามการลำดับหะดีษในหนังสืออัต-ติรมิซีย์ของ เชค มุหัมมัด ฟุอาด อับดุลบากีย์ มีทั้งหมด (ไม่รวมหะดีษที่อยู่ในหนังสืออิลัลในตอนท้าย) ประมาณ 3,956 หะดีษ

 

ข้อแม้และวิธีการเขียนของอัต-ติรมิซีย์

         อัต-ติรมิซีย์ก็เหมือนกับอุละมาอ์หะดีษคนอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงข้อแม้ในการเขียนหนังสือของท่าน แต่จากการอ่านหนังสือของท่าน เราพอจะวิเคราะห์และสรุปถึงข้อแม้ของท่านได้ดังนี้

     1. ท่านจะบันทึกหะดีษต่างๆ ที่บรรดาอุละมาอ์ใช้เป็นหลักฐานด้านฟิกฮฺเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นหะดีษเศาะฮีหฺหรือเฎาะอีฟก็ตาม

     2. ในหัวข้อของแต่ละเรื่องท่านจะบันทึกหะดีษที่เป็นที่รู้จักกันจากเศาะหาบะฮฺ ตามด้วยหะดีษจากเศาะหาบะฮฺคนอื่นๆ ซึ่งท่านมักจะกล่าวอิงว่า ในเรื่องนี้ได้มีรายงานจากเศาะหาบะฮฺคนใดบ้าง

     3. ท่านจะกล่าวชี้แจงถึงระดับของหะดีษทุกหะดีษ และบางครั้งท่านจะอิงมาจากอุละมาอ์คนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอัล-บุคอรีย์ซึ่งเป็นเชคคนโปรดของท่าน

     4. ต่อจากนั้นท่านจะกล่าวถึงทัศนะของอุละมาอ์ต่างๆ ว่าใครบ้างที่ใช้หะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานอ้างอิง พร้อมกับชี้แจงถึงเหตุผล และอุละมาอ์คนใดบ้างที่ไม่ใช้หะดีษดังกล่าวว่าเป็นเพราะเหตุใด

     5. ท่านจะแบ่งระดับหะดีษออกเป็นสามระดับ นั่นคือ เศาะฮีหฺ หะสัน และเฎาะอีฟ ซึ่งนับว่าท่านเป็นคนแรกที่ได้แบ่งระดับหะดีษดังกล่าว เพราะก่อนหน้าท่านอุละมาอ์ได้แบ่งหะดีษออกเป็นเศาะฮีหฺกับเฎาะอีฟเท่านั้น

     6. ท่านจะคุยเกี่ยวกับข้อตำหนิและสาเหตุของหะดีษ (อิละลุลหะดีษ) ต่างๆ ในตอนท้ายของหนังสือ

 

การให้ความสำคัญของอุละมาอ์

         เนื่องจากสาระและวิธีการเขียนที่ไม่เหมือนใครของหนังสือเล่มนี้ จึงทำให้บรรดาอุละมาอ์ให้ความสำคัญอย่างมาก บางท่านทำการคัดย่อเอาเฉพาะเนื้อหาของหะดีษเท่านั้น และหลายท่านทำการชะเราะฮฺ (อธิบาย) อย่างยาวเหยียดถึงความหมายของหะดีษและบทเรียนต่างๆ อาทิเช่น หนังสือ อาริเฎาะฮฺ อัล-อะหฺวะซีย์ ของ อบู บักรฺ อิบนุ อัล-อะเราะบีย์ ซึงเป็นหนังสือชะเราะฮฺที่โด่งดังที่สุด และหนังสือ ตุหฺฟะฮฺ อัล-อะหฺวะซีย์ ของ อัล-มุบาร็อกฟูรีย์ และหนังสือ บะหฺรุลมาซีย์ ของเชค มุหัมมัด บิน อิดรีส อัล--มัรบะวีย์ ซึ่งเป็นชะเราะฮฺภาษามลายู

 

วัลลอฮุ อะอฺลัม

 

 

 


อุษมาน อิดรีส / Islamhouse