ปรับมาตรฐานเราให้เหมือนกับมาตรฐานอัลกุรอาน
  จำนวนคนเข้าชม  7728

ปรับมาตรฐานเราให้เหมือนกับมาตรฐานอัลกุรอาน


อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง


         อัลกุรอาน ถือว่าเป็นแหล่งที่มาของข้อชี้ขาดทางศาสนาข้อแรกของอิสลาม เพราะอัลกุรอานมาจากพระองค์อัลลอฮ์ ดังนั้นมาตรฐานที่ปรากฏในอัลกุรอานจึงถือว่าเป็นมาตรฐานที่เที่ยงตรง ปราศจากความผิดพลาดและลำเอียง

         พระองค์อัลลอฮ์ ประทานอัลกุรอานมาให้เรามิใช่เพื่อให้อ่านพอเป็นพิธีกรรมในการละหมาดอย่างเดียว แต่ประทานลงมาเพื่อให้มุสลิมได้ศึกษาและพิจารณา แล้วนำมติของการพิจารณานั้นมาเป็นบทเรียนในชีวิตประจำวัน ในอัลกุรอานมีหลายอายะฮ์ที่เร่งเร้าในมุสลิมใช้ความคิดและจากความคิดนั้นเป็นบทเรียน เช่นอายะฮ์ที่กล่าวว่า

كِتَابٌ أَنزَلْنَاهُ إِلَيْكَ مُبَارَكٌ لِّيَدَّبَّرُوا آيَاتِهِ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُوا الْأَلْبَابِ (ص/29)

“คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่าง ๆของอัลกุรอาน

และเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ”


 

ใคร่ขอเสนอตัวอย่างบางข้อให้ได้พิจารณา สังเกต และใคร่ควญจากอัลกุรอาน ดังนี้


     1. อัลกุรอานที่ประกอบด้วยสูเราะฮ์และอายะฮ์ ในบางอายะฮ์อัลลอฮ์จะใช้ศัพท์ที่มีความหมายชัดเจนและหนักแน่น ฟังแล้วทำให้ตกใจ เช่นอายะฮ์

الْحَاقَّةُ مَا الْحَاقَّةُ وَمَا أَدْرَاكَ مَا الْحَاقَّةُ كَذَّبَتْ ثَمُودُ وَعَادٌ بِالْقَارِعَةِ فَأَمَّا ثَمُودُ فَأُهْلِكُوا بِالطَّاغِيَةِ

وَأَمَّا عَادٌ فَأُهْلِكُوا بِرِيحٍ صَرْصَرٍ عَاتِيَةٍ (الحاقَّة/1-6)

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน (วันกิยามะฮ) สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนนั้นคืออะไร?

 และอันใดเล่าทำให้เจ้ารู้ได้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนนั้นคืออะไร ?

พวกซะมูดและพวกอ๊าดได้ปฏิเสธวันกิยามะฮ์ พวกซะมูด ถูกทำลายด้วยเสียงกำปนาทที่น่ากลัว

ส่วนพวกอ๊าด ถูกทำลายด้วยลมพายุที่หนาวเหน็บ และเสียงดังกึกก้อง”

และอายะฮ์

الْقَارِعَةُ مَا الْقَارِعَةُ وَمَا أَدْرَاكَ مَا الْقَارِعَةُ يَوْمَ يَكُونُ النَّاسُ كَالْفَرَاشِ الْمَبْثُوثِ وَتَكُونُ الْجِبَالُ كَالْعِهْنِ الْمَنفُوشِ (القارعة/1-5)

“อัลกอริอะฮ์ อัลกอริอะฮ์นั้นคืออะไร? และอะไรที่ทำให้เจ้าได้รู้ว่า อัลกอริอะฮ์ นั้นคืออะไร?

วันที่มนุษย์จะเป็นเช่นแมลงเม่าที่กระจายว่อน และบรรดาภูเขาจะเป็นเช่นขนสัตว์ที่ปลิวว่อน”

 

หน้าที่ของเราเมื่ออ่านและใคร่ควญ สมควรที่จะต้องรู้สึกเกรงกลัว หวาดผวากับสิ่งที่ได้ยิน จากดำรัสของอัลลอฮ์

 

     2. มีบางอายะฮ์ที่อัลลอฮ์  ทรงใช้สำนวนที่ไพเราะ ฟังแล้วรื่นหู เช่นอายะที่พูดเกี่ยวกับการตอบแทนในสวนสวรรค์

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا هَلْ أَدُلُّكُمْ عَلَى تِجَارَةٍ تُنجِيكُم مِّنْ عَذَابٍ أَلِيمٍ

تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ وَتُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ بِأَمْوَالِكُمْ وَأَنفُسِكُمْ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ يَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ وَيُدْخِلْكُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ وَمَسَاكِنَ طَيِّبَةً فِي جَنَّاتِ عَدْنٍ ذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ (الصف/10-13)

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ข้าจะชี้แนะแนวทางแก่พวกเจ้าไหมเล่า ถึงการค้าที่จะช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากการลงโทษอันเจ็บปวด

 นั่นคือ พวกเจ้าต้องศรัทธาต่ออัลลอฮ์และเราะสูลของพระองค์ และต่อสู้ดิ้นรนในทางอัลลอฮ์ ด้วยทรัพย์สินของพวกเจ้าและชีวิตของพวกเจ้า

นั่นเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้ พระองค์จะทรงอภัยให้แก่พวกเจ้า ซึ่งการทำบาปของพวกเจ้า

และจะทรงให้พวกเจ้าเข้าในสวนสวรรค์หลากหลาย มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่างของสวนสวรรค์

และที่พำนักอันบรมสุขในสวนสวรรค์หลากหลายอันสถาพร นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง”

 

หน้าที่ของเราหลังจากการอ่านและใคร่ครวญ คือแสดงความดีใจกับสิ่งที่พระองค์จะตอบแทนแก่ผู้ทำความดี

 

     3. มีบางอายะฮ์ทีพระองค์ทรงกล่าวย้ำหลายๆครั้ง ในสูเราะฮ์เดียวกัน หรือในสูเราะฮ์ที่ต่างกันเช่นเรื่องที่เกี่ยวกับการศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ บรรดาเราะสูล บรรดามะลาอิกะฮ์ คัมภีร์ที่ประทานลงมา การศรัทธาต่อวันโลกหน้า การดำรงการละหมาด การจ่ายซะกาต และการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ด้วยทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง จะมีการกล่าวซ้ำหลายๆครั้ง ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของเรื่องนี้

หน้าที่ของเราก็คือให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านั้นเหมือนกับที่อัลกุรอานได้ให้ความสำคัญในการกล่าวย้ำ ซ้ำๆ มิฉะนั้น คำสั่งย้ำของอัลกุรอานจะไม่มีความหมายเลย

 

     4. มีบางเหตุการณ์ที่อัลลอฮ์ ทรงเล่าให้เราทราบอย่างสั้นๆพอรู้เรื่องราว แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับความสำคัญของเรื่องราวที่ได้ย้ำกันหลายๆครั้ง เช่น เหตุที่อัลลอฮ์ ทรงเล่าเกี่ยวกับการเดินทางกลางคืนของท่านเราะสูล(อิสเราะอฺ)จากนครมักกะฮ์ไปยังบัยตุลมักดิสในเยรูสาเล็ม และการเดินทางขึ้นท้องฟ้า(เมิ๊ยะรอจญ์)ในเวลาสั้น ๆ เพียงคืนเดียวด้วยสำนวนสั้น ๆ เพียงอายะฮ์เดียว คือ

سُبْحَانَ الَّذِي أَسْرَى بِعَبْدِهِ لَيْلاً مِّنَ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ إِلَى الْمَسْجِدِ الأَقْصَى الَّذِي بَارَكْنَا حَوْلَهُ لِنُرِيَهُ مِنْ آيَاتِنَا إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ البَصِيرُ

“มหาบริสุทธิ์ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์เดินทางในเวลากลางคืน จากมัสยิดอัลหะรอมไปยังมัสยิดอัลอักซอ

ซึ่งบริเวณรอบมันเราได้ให้ความจำเริญ เพื่อเราจะให้เขาเห็นบางอย่างจากสัญญาณต่างๆของเรา แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น”

หน้าที่ของเรา คือให้ความสำคัญเท่าที่อัลกุรอานให้ความสำคัญ อย่าให้ความสำคัญเกินเลยไป

 

     5. มีสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตในอัลกุรอาน ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทรงกล่าวถึงเวลาเกิดของท่านเราะสูล  เลย ไม่ว่าจะเป็น วันเกิด เดือนเกิด และปีเกิด จะเพราะเหตุผลเป็นประการใดนั้นมิอาจทราบได้  แต่หน้าที่ของเรา คือ การนิ่งเฉย และไม่ตื่นเต้นอะไรมากนัก ทำเสมือนกับที่อัลกุรอานได้เงียบไว้ อีกทั้งท่านนบีมุฮัมมัด  ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเดือนปีเกิดของท่าน หรือต้องทำอะไรที่สำคัญ  มากไปกว่าการถือศีลอด

 

          ดังนั้นบทความนี้สรุปได้ว่า ผู้ศรัทธามีหน้าที่ให้เกียรติ ยกย่องสิ่งที่พระองค์ทรงยกย่องหลายๆครั้งในอัลกุรอาน และให้ความสำคัญในสิ่งที่กล่าวตักเตือนโดยการย้ำซ้ำๆ ต่อชีวิตเรา ส่วนสิ่งที่พระองค์ไม่ได้ทรงเล่าให้ทราบ เรามีหน้าที่นิ่งเฉย เพราะหากเราไม่ได้ให้ความสำคัญสิ่งที่พระองค์ให้ความสำคัญ หรือเราให้ความสำคัญในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้ให้ความสำคัญ  แสดงว่าเราได้ใช้มาตรฐานของตนเองในการตัดสิน และไม่ได้ใช้มาตรฐานของอัลกุรอาน ในการให้ความสำคัญในสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงดำรัสไว้  ซึ่งในขณะที่มาตรฐานของอัลกุรอานนั้นเป็นมาตรฐานที่เที่ยงตรงของอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่