22 ประตูสู่ความสุขแห่งชีวิต (1-3)
โดย... ปริญญา ประหยัดทรัพย์
ทุกคนที่ปรารถนาความสุขต้องรู้จักสร้างความสุขที่จริงแท้ในทุกด้าน ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1. ความบริสุทธิ์ใจ (อิคล๊าศ)
ความบริสุทธิ์ใจเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กล่าวคือ เป็น “วาญิบ” ทั้งในเรื่องการยึดมั่น และการปฏิบัติความหมายของความบริสุทธิ์ใจ ในเรื่องเกี่ยวกับการยึดมั่นก็คือ การถวายความจงรักภักดีต่ออัลเลาะฮฺ เพียงพระองค์เดียว การทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์ มิได้กระทำเพื่อสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง ดังปรากฏในอัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-บัยยินะห์ โองการที่ 4 ความว่า
"บรรดาศาสนฑูตมิได้ถูกบัญชาเพื่ออื่นใด นอกจากพวกเขาจะได้สักการะต่อพระองค์อัลเลาะฮฺในสภาพที่มีความบริสุทธิ์ใจ ต่อศาสนาของพระองค์
โดยดำรงอยู่ในศาสนาที่ถูกต้อง และดำรงการละหมาด บริจาคซะกาต ดังกล่าวนั้นคือศาสนาที่เที่ยงแท้"
ด้วยเหตุที่ความบริสุทธิ์ คือ ฐานความสุขที่เป็นที่สุดแห่งความสุขทั้งปวง ดังนั้นจะทำอะไรในชีวิตจิตใจให้อยู่บนฐานแห่งความบริสุทธิ์เสมอ การยังความบริสุทธิ์เสมอนั้นสามารถทำได้ในสี่เทคนิคดังนี้
1.1 ความบริสุทธิ์ใจต่อตนเอง ต่อผู้เกี่ยวข้อง และต่อส่วนรวมเสมอ
♥* จงมีความหวังดีต่อตนเอง อย่าหลอกตนเอง อย่าเบียดเบียนตนเอง
♥* จงหวังดีต่อผู้เกี่ยวข้อง อย่าหลอกผู้เกี่ยวข้อง อย่าเบียดเบียนผู้เกี่ยวข้อง
♥* จงหวังดีต่อส่วนรวม อย่าหลอกส่วนรวม อย่าเบียดเบียนส่วนรวม
♥* และจงยังประโยชน์สุขทุกฝ่ายทั้งตนเองและผู้อื่นให้เกิดขึ้นในขอบเขตความเป็นไปได้ที่เหมาะสม นี่คือมาตรความบริสุทธิ์ใจ
1.2 ความมีใจบริสุทธิ์
คือ ความมีใจหมดจด พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง ทั้งราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ผู้มีใจหมดจดแล้วจากกิเลส ย่อมเป็นสุขที่สุดในบรรดาชีวิตจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น
1.3 การน้อมใจเข้าสู่ความบริสุทธิ์เสมอ
หากตนยังไม่บริสุทธิ์เต็มพิกัด หรือยังต้องอยู่ท่ามกลางผู้ไม่บริสุทธิ์ทั้งหลาย ให้น้อมจิตใจเข้าสู่ความบริสุทธิ์เนือง ๆ เพื่อสัมผัสและรับพลังความบริสุทธิ์อันเปี่ยมสุขหมดจด จักได้มีพลังอันชอบธรรมหล่อเลี้ยงใจเป็นเกราะกำบังป้องกันใจไม่ให้หลงในความสุขตื้นเขินและหยาบคาย
1.4 การจัดองค์ประกอบชีวิตทั้งหมดให้สอดคล้องกับความบริสุทธิ์
ความสุขทั้งหลายจะมั่นคงและพัฒนาสู่ความยั่งยืน เมื่อเราจัดทุกองค์ประกอบแห่งชีวิตให้สอดคล้องกับความสุขบริสุทธิ์ และเป็นไปเพื่อพัฒนาความสุขให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จงดูและองค์ประกอบแห่งชีวิตให้เอื้อต่อความสุขเท่านั้น องค์ประกอบใดที่เป็นไปเพื่อความทุกข์อย่าเอาเข้ามาใส่ในชีวิต เพื่อจะได้ไม่เสียใจกับมันหรือสูญเสียความสุขในภายภาคหน้า ท่านศาสดามูฮำหมัด ได้กล่าวว่า :
"แท้จริงการงานต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับ เจตนา”
สิ่งที่ได้รับจากคำสอนของศาสดามูฮำหมัด ในบทนี้คือ
- เจตนานั้นเป็นมาตรวัดความถูกต้องของการงานต่าง ๆ หากเจตนานั้นถูกต้อง การกระทำก็ถูกต้องด้วย และหากเจตนานั้นไม่ถูกต้อง การงานนั้นก็ต้องเสียไปด้วย
- การงานต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องมีเจตนา เพราะถ้าหากไม่มีเจตนาแล้วจะทราบไม่ได้เลยว่ามีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่
- การเจตนานั้นฐานของมันอยู่ที่ใจไม่ใช่ลิ้น
- ความบริสุทธิ์ “อิคล๊าศ” เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้อัลเลาะฮฺ ทรงรับการงานนั้น ๆ เพราะพระองค์จะไม่ทรงรับการงานใด ๆ เว้นแต่ผู้กระทำต้องบริสุทธิ์ใจ และกระทำอย่างถูกต้อง และสิ่งที่บริสุทธิ์ใจก็คือ เจตนาเพื่ออัลเลาะฮฺ
และอีกฮาดิษบทหนึ่ง ท่านศาสดามูฮำหมัด ได้กล่าวว่า
“แท้จริงอัลเลาะฮฺ จะไม่ทรงมองไปยังร่างกาย และรูปพรรณของท่านทั้งหลาย แต่พระองค์จะทรงมองไป ยังหัวใจของท่านทั้งหลาย”
(รายงานโดย มุสลิม)
2. ความพอดี
“อัตตะวาดุฮ์” التواضع คือ การถ่อมตน อันหมายถึงความเป็นกลางระหว่างความต่ำต้อยกับความอหังการ พระองค์อัลเลาะฮฺ ทรงปราบความอหังการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะออกมาในรูปของกริยาท่าทาง เช่นการเดินอย่างโอหัง หรือคำพูด เช่นคุยโวก็ตาม ดังอัล-กุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺ อัล-อิสรอฮฺ โองการที่ 37-38 ความว่า
" ท่านอย่าเดินบนพื้นดินแห่งนี้อย่างอหังการ แท้จริงท่านไม่อาจกระทืบ หรือ ถล่มผืนดินนี้ให้สลายได้ และก็ไม่อาจจะยืดกายให้สูงเทียมภูเขา"
ข้อห้ามดังกล่าวนั้น คือ ความชั่ว ความบัดสี เป็นสิ่งที่พระผู้อภิบาลของท่านทรงกริ้ว อัล-กุรอานบทนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ข้อตักเตือนของลุกมานที่มีต่อบุตรสุดที่รักนั้น เป็นการตักเตือนให้ลูกได้ทำตนอยู่ในระดับที่พอดี ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด ได้กล่าวว่า
“แท้จริงอัลเลาะฮฺทรงประทานวิวรณ์ (วะฮฺยู) ยังฉัน ให้มีการถ่อมตนซึ่งกันและกัน ไม่มีการอหังการต่อกัน และไม่มีการละเมิดอธิปไตยของกันและกัน”
(รายงานโดยมุสลิม)
ในการดำเนินชีวิตในโลกมนุษย์ซึ่งมีความแตกต่างหลากสุด หลายด้าน ทั้งสูงสุด ต่ำสุด ซ้ายสุด ๆ ขวาสุด ๆ เช่นนี้ หากชีวิตผันไปตามสถานการณ์ทั้งหมด ชีวิตจิตใจจะซัดส่าย สะเปะ สะปะอย่างยิ่ง ดังนั้นการอยู่ในโลกแห่งความซับซ้อนที่สับสนนี้ ความพอดีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมี ขาดไม่ได้ ทุกคนควรเข้าใจและสามารถบริหารความพอดีให้บังเกิดขึ้นอย่างน้อยดังนี้
ความพอดีกับเป้าหมาย ทำอะไรพอดีกับเป้าหมายจะสำเร็จเสมอ ที่สำคัญคือตั้งเป้าหมายให้ถึงที่หมายที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตให้ได้ อย่าตั้งเป้าไว้ในที่หมายที่ไร้คุณค่า หรือมีคุณค่าน้อยจะไม่คุ้ม การเกิดและการใช้ชีวิต การทำอะไรให้พอดีกับเป้าหมายนั้นต้องเอาตัวเป้าหมายมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเสมอทุกครั้ง หากไม่เอาเป้าไว้เป็นที่หมายหลักเสมอ อาจพลาดเป้าหรือออกนอกลู่นอกทางเสียเวลาหรือล้มลุกคลุกคลานได้ตลอดเวลา การบริหารชีวิตโดยเอาเป้าหมายเป็นที่ตั้งจึงสำคัญยิ่ง
ความพอดีกับภาวะ ณ ปัจจุบัน ความพอดี ณ ภาวะปัจจุบันจะทำให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงโดยง่าย ไม่เพ้อฝัน วาดหวังลม ๆ แล้ง ๆ หลอกตัวเอง ดังนั้นจะทำอะไรก็จงประมาณความพร้อมของตน ณ ปัจจุบันให้ดี
ความพอดีกับความเป็นไปได้ สิ่งหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาเสมอ คือความเป็นไปได้จริง จงตรวจสอบกระบวนการแห่งความสำเร็จให้ชัดเจนเสมอ ก่อนที่จะทำอะไร ชีวิตไม่ใช่ของเล่นที่จะลองผิดลองถูกได้ ความชัดเจนเป็นหลักประกันความสำเร็จสุข และป้องกันความล้มเหลวไ
ความพอดีกับจังหวะเวลา หลายคนที่เห่อตามกระแส พออะไรดีก็เห่อทำตาม ๆ กันไป มักกลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์ เพราะทุกอย่างและทุกสถานการณ์ในโลกเป็นวงจรแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเลือกจังหวะในการเข้า – ออก สถานการณ์ต่าง ๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จสุขด้วยเช่นกัน
เหล่านี้คือมาตรความพอดีต้องวัดทุกทีในสิ่งที่จะมี จะเป็น จะทำ และจะไม่มี ไม่เป็น หรือไม่ทำ
3. การรักษาสุขภาวะ
การรักษาสุขภาวะเป็นบันใดขั้นหนึ่ง ในการก้าวไปสู่การสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์เรา สุขภาวะเป็นภาวะหลักของความสุขแห่งชีวิต ดังนั้นจงดูแลสุขภาพให้ดี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ คำว่า “สุขภาพ” ที่มองอย่างเป็นองค์รวมนั้น มิได้หมายถึงมิติทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงสุขภาวะอันสมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สุขภาวะเป็นปัจจัยที่เป็นรากเหง้าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันเป็นรากฐานของกระบวนการพัฒนาในทุกมิติ การที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนนั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่คนจะต้องมีสุขภาวะอันสมบูรณ์ หากคนมีปัญหาสุขภาพ แน่นอนว่าจะเป็นอุปสรรค์ในทุก ๆ ด้าน หากขาดปัจจัยด้านสุขภาพเสียแล้ว อย่าว่าแต่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตและสร้างสรรค์ใด ๆ เลย แม้แต่ตัวเองบางครั้งก็ยังเป็นภาระของคนรอบข้าง
ในหลักธรรมและคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาวะในระดับสูงยิ่ง เช่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวว่า “อโรยคา ปรมาลาภา” (การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ) นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในคุณค่าของสุขภาวะเป็นอย่างยิ่ง ขนาดเพียงแค่การปลอดจากโรค หรือการไม่มีโรค ท่านถือว่านั่นคือลาภอันประเสริฐ ที่มนุษย์พึงได้รับ
ในหลักธรรมและคำสอนของศาสนาอิสลามนั้นท่านศาสดามูฮำหมัด ได้กล่าวถึงสุขภาวะไว้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมปัจจัยแห่งสุขภาวะไว้อย่างเป็นองค์รวม ท่านกล่าวว่า
“ผู้ใดตื่นเช้าขึ้นมามีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีจิตใจที่สงบร่มเย็น ไม่มีความวิตกกังวลทุกข์ร้อน
มีอาหารสำหรับบริโภคในมื้อนั้น ก็ประหนึ่งว่าเขาผู้นั้นได้ครองโลกไว้ทั้งโลก”
(รายงานโดย ติรมีซีย์,อินีมายะฮฺ,บุคคอรี)
อิสลามถือว่า สุขภาวะอันสมบูรณ์เป็นสุดยอดแห่งความโปรดปรานที่มนุษย์พึงได้รับจากอัลเลาะฮฺ จึงเป็นหน้าที่ซึ่งมนุษย์จะต้องมีความสำนึกในคุณค่าและต้องแสดงความกตัญญูต่ออัลเลาะฮฺ ด้วยการดำรงรักษาความโปรดปรานนั้นไว้อย่างถึงที่สุด ดังที่ท่านศาสดา กล่าวว่า
“และสำหรับร่างกายของเจ้านั้น เป็นหน้าที่ ซึ่งเจ้าต้องดูแลมัน”
(รายงานโดย บุคคอรี,มุสลิม)
หากปล่อยปละละเลยหรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการบั่นทอนสุขภาวะแล้วนอกจากจะต้องได้รับความเดือดร้อนในชีวิตบนโลกนี้แล้ว เขายังจะต้องรับผิดชอบและถูกสอบสวนในวันปรโลก ดังปรากฏในอัล-กุรอานว่า
“และหลังจากนั้น (ตาย) สูเจ้าต้องถูกสอบสวนถึงเรื่องความโปรดปรานต่าง ๆ ที่ได้รับจากอัลเลาะฮฺ "
(ซูเราะฮฺ อัต-ตะกาซุร โองการ 8)
ดังนั้น คนที่มีความสุข คือ คนที่มีร่างกายและจิตใจที่เป็นสุข หรือมีความสุขกายและสุขใจนั่นเอง ความสุขนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
1. บุคคลที่มีความสุข
2. ครอบครัวที่มีความสุข
3. สังคมที่มีความสุข ร่างกายที่เป็นสุข
หมายถึง สภาพร่างกายที่แข็งแรง สมส่วน ไม่อ้วน หรือไม่ผอมจนเกินไป ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อวัยวะต่าง ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถใช้เพื่อประกอบกิจได้อย่างมีคุณภาพ
ดังนั้นการเสริมสร้างรางกายให้มีสภาพร่างกายที่เป็นสุข จึงเป็นหน้าที่ของตนเองในการที่จะดูแลรักษาสุขภาพกาย หรือรักษาร่างกายอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนและเหมาะสม การพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายประจำปีเสมอจิตใจที่เป็นสุข ลักษณะของบุคคลที่มีสภาพจิตที่เป็นสุขนั้น สรุปได้ดังนี้
- มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ยิ้มแย้ม สนุกสนาน
- มองโลกในแง่ดี ไม่หวาดระแวงจับผิดคิดร้ายใคร
- รู้จักให้อภัยผู้อื่น ไม่ผูกใจเจ็บพยาบาท
- มีความรู้สึกเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น
- มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีความเป็นมิตรกับทุกคน
- ยอมรับความเป็นจริงของตนเอง และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
- ปราศจากนิสัยและอารมณ์ที่นำมาซึ่งความทุกข์ เช่น ความเครียด ความกังวลใจ ความกลัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง
- สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ใจเนือง ๆ
- มีหลักธรรมคำสอนของศาสนาค้ำจุนจิตใจ
ฉนั้นคนที่มีสุขภาพจิตดีเยี่ยม และมีกำลังกาย กำลังใจแข็งแรงนั้น ย่อมจะเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบ ไม่ตกใจ ไม่ตื่นตระหนก ไม่ว่าจะเกิดเหตุดีหรือเหตุร้ายใด ๆ เมื่อได้ดี ได้ยศ ได้ลาภ ได้สุข ได้สรรเสริญ ก็จะไม่แสดงออกอย่างลิงโลด หัวใจลำพอง และเมื่อประสบเหตุร้าย เสื่อมยศ เสื่อมลาภ หรือถูกนินทาว่าร้ายก็ไม่ทำให้เกิด ความทุกข์ ความตกใจ ความคับแค้นใจ หรือจิตใจหดหู่ และท้อถอย
ในอัล-กุรอานได้กล่าวถึงการทดสอบ 5 ประการสำคัญที่มนุษย์ต้องถูกทดสอบคือ
- ความกลัว
- ความหิวกระหาย
- ความเสียหายของทรัพย์สิน
- ความตายของคนที่รัก
- ความเสียหายในพืชผลคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อดทนในการทดสอบจากอัลเลาะฮฺ
ในเหตุการณ์ร้ายทั้ง 5 ประการข้างต้นก็คือ คนที่ถูกทดสอบแล้วว่า “เราเป็นสิทธิ์ของอัลเลาะฮฺ และต้องกลับคืนสู่พระองค์”
ดังอัล-กุรอานได้กล่าวว่า
"ขอยืนยัน เราจะทดสอบพวกเจ้าอย่างแน่นอนด้วยบางสิ่ง (เพียงเล็กน้อย) จากความหวาดกลัว ความหิวโหย
ความขาดแคลนทรัพย์สิน ความขาดแคลนชีวิต (ของผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ ) และความขาดแคลนผลไม้
และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด บรรดาผู้ซึ่งเมื่อเหตุร้ายได้มาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า
แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลเลาะฮฺ และเราต้องคืนกลับไปสู่พระองค์ "
(ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ โองการที่ 155 – 156)
ครอบครัวที่มีความสุขครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ เพราะการพัฒนาประเทศชาตินั้นต้องอาศัยบุคคลากรที่มีคุณภาพ ชาติใด สังคมใดที่ประชากรของชาติ ของสังคมมีคุณภาพ สังคมนั้นประเทศชาตินั้นย่อมเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าหากเป็นประชากรที่ด้อยคุณภาพ การพัฒนาก็ลำบากเกิดปัญหาต่าง ๆ นา ๆ การพัฒนาเป็นด้วยความล่าช้า การวัดคุณภาพของประชากรนั้นก็ตรวจสอบได้จากคุณภาพทางความคิด คุณภาพทางจิตใจ และคุณภาพทางทักษะในการปฏิบัติงาน
บรรยากาศในครอบครัวและการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาที่มีต่อลูก ตั้งแต่วัยแรกเกิด วัยทารก วัยเด็ก วัยเรียน และวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการปลูกฝังคุณภาพทางจิตใจของบุคคลได้ดีที่สุด ถ้าบรรยากาศในครอบครัวดี เด็ก ๆ ได้รับการตอบสนองที่ดี ได้รับความรัก ความอบอุ่นที่ดี ได้เห็นแบบอย่างของพ่อแม่ที่ดี ได้รับการอบรมชี้แนะที่ดี เหมาะสม สอดคล้องกับวัยก็จะเป็นการวางรากฐานทางจิตเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าถ้าครอบครัวดีมีความสุขก็จะทำให้ลูก ๆ เป็นคนดีมีสุขเช่นกัน
ดังที่ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด ได้กล่าวว่า
" ทารกที่คลอดออกมานั้นบริสุทธิ์สะอาด ดังนั้นผู้เป็นพ่อและแม่เป็นคนที่ทำให้ลูกของเขาเป็นยะฮูดี (ยิว) มะยูซี (พวกบูชาไฟ) หรือ นัศรอนี (คริสเตียน)"
ความสุขของครอบครัว หมายถึงความสุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว และลักษณะของครอบครัวที่มีความสุข มีลักษณะดังต่อไปนี้
- สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่ ห่วงใย เมตตากรุณา มีความผูกพันกัน และแสดงความรักต่อกันอย่างสม่ำเสมอ
- สมาชิกในครอบครัวยอมรับและเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน และยอมรับคุณค่าสูงสุดของครอบครัว
- สมาชิกในครอบครัวศรัทธา และภูมิใจในกันและกัน เช่นบิดามารดาก็ศรัทธาและภูมิใจลูก ๆ ลูก ๆ ก็ศรัทธาและภูมิใจบิดามารดาของตน
- สมาชิกในครอบครัวมีความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อกัน ให้เกียรติกัน
- พูดจาสุภาพอ่อนโยนต่อกัน ไม่ใช้คำพูดที่หยาบคายหรือขู่กรรโชก
- มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ รู้จักอดกลั้น อดทน และมีความหนักแน่นต่อปัญหาต่าง ๆ
- เมื่อมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นก็ปรึกษาหารือกัน ประนีประนอมกัน ร่วมมือกันในการแก้ปัญหา
- จัดสรรรายได้ – รายจ่ายอย่างเหมาะสม และใช้จ่ายเงินทองอย่างคุ้มค่า และมีประโยชน์ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวจนมีหนี้สิ้นมากมาย
อัล-กุรอานได้ระบุว่า
" และพวกเจ้าจงกิน จงดื่ม แต่พวกเจ้าอย่าสุรุ่ยสุร่าย"
(ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 31)
จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน นอกบ้านได้น่าอยู่ สะอาดสวยงาม และเหมาะสม ใช้คุณธรรมทางศาสนาเป็นหลักในการสร้างความสงบทางจิตใจ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ประกอบแต่กรรมดี ฉนั้นความสุขของครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิตมนุษย์ ครอบครัวที่อบอุ่น และมีความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้นครอบครัวมุสลิมจักต้องสร้างกำแพงอันแข็งแกร่งให้รอดพ้นจากไฟนรก ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีที่พระองค์อัลเลาะฮฺทรงใช้ และห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม
ดังที่พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานระบุว่า
" โอ้ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย จงป้องกันตัวและครอบครัวของพวกเจ้าให้ห่างไกลจากนรกเถิด"
(ซูเราะฮฺ อัต-ตะฮฺรีม โองการที่ 6)
สังคมที่มีความสุขสังคมมนุษย์จะมีความแตกต่างจากสังคมของสัตว์ การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคมของสัตว์นั้นจะเกิดโดยสัญชาตญาณ แต่สังคมมนุษย์นั้นเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งปัญญา เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรม และอารยธรรม เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันมากเข้าจึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบความคิด กรอบพฤติกรรม เพื่อให้คนในกลุ่มในสังคมได้ถือปฏิบัติเพื่อความสงบสุขและสันติของสังคมนั้น ๆ
ลักษณะของสังคมที่มีความสุข มีลักษณะดังนี้
- สังคมแห่งการพึ่งพาอาศัย และเกื้อกูลกัน
- สังคมแห่งความเสียสละ
- สังคมแห่งคุณความดี
- สังคมแห่งความสามัคคี
- สังคมแห่งความเสมอภาค
- สังคมแห่งความมีวินัย
- สังคมแห่งความพอดี
จากลักษณะทั้ง 7 ประการดังกล่าวเป็นลักษณะที่เป็นสิ่งชี้วัดถึงความสงบสุขและ และความเป็นสุขของสังคม แต่มิได้หมายถึงว่าสังคมที่เป็นสุขต้องมีลักษณะเพียง 7 ประการนี้เท่านั้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับระดับของสังคม โครงสร้างของสังคมว่ามีความซับซ้อนแค่ไหน เพียงไร เมื่อสังคมมีสุขก็ย่อมส่งผลต่อตนเองทำให้ตนเองมีความสุขด้วยเช่นกัน
สำนักจุฬาราชมนตรี