ชีวิต คือ ต้นทุน
  จำนวนคนเข้าชม  6866

  

ชีวิต คือ ต้นทุน


โดย... ปริญญา ประหยัดทรัพย์


การรำลึกถึงอัลเลาะฮ์ และสำนึกในพระมหาธิคุณต่อพระองค์ตลอดเวลานั้นคือ พลังแห่งความสุข ดังที่ อัลกุรอาน กล่าวความว่า

"พึงสังวร ! ดวงจิตทั้งหลายจักสงบ เพราะการรำลึกถึงอัลเลาะฮฺอย่างแน่นอน"

(ซูเราะฮฺ อัร-เราะดฺ โองการที่ 28)

         นี่คือความสุขที่จริงแท้ ไม่ใช่ความสุขที่แปลกปลอม แต่มันเป็นความสุขสดชื่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ไม่มีเส้นทางสายใดที่ทำให้หัวใจของมนุษย์จะสงบ จะมีความสุข จะมีความบรรเจิดเพริดแพร้วนอกจากเส้นทางสายนี้เท่านั้น นั่นคือ ศรัทธาและปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ผูกพันตัวเองอยู่กับอัลเลาะฮฺ เพียงพระองค์เดียว มีการรำลึกถึงพระองค์ด้วยการซิเกรและชูโกรอยู่ตลอดเวลา หากใครทำใจให้สงบสุขไม่ได้เขาจะมีความสุขได้อย่างไร ?  เขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้รับเนี๊ยะมัตจากอัลเลาะฮฺ  ได้อย่างไร ? เขาคงจะมีแต่ความสงสัย คลางแคลง วุ่นวายคับอกคับใจ เราจะเห็นได้ว่าคนอย่างนี้แหละจะเป็นคนที่ตกต่ำ คับแค้น ดังอัลกุรอาน กล่าวความว่า

"ดังนั้นผู้ใดที่อัลเลาะฮฺทรงปราถนาที่จะชี้นำเขา แน่นอนพระองค์จะทรงเปิดจิตใจของเขาเพื่อรับอิสลาม

และผู้ใดที่พระองค์ทรงปรารถนาที่จะยังความหลงผิดแก่เขา พระองค์ก็จะทรงบันดาลให้จิตใจของเขาคับแคบ อีกทั้งตีบตัน

ประดุจเขากำลังขึ้นไปในฟากฟ้า (เพราะอากาศหายใจ “ออกซิเจน” ค่อนข้างน้อย)"

(ซูเราะฮฺ อัน-อันอาม)

          ความยำเกรงต่ออัลเลาะฮฺ คือ พลังแห่งความสุข  โอ้ผู้มีศรัทธาเอ๋ย ! จงยำเกรงต่ออัลเลาะฮฺกันเถิด จงกลัวการลงโทษของพระองค์ และจงขอบคุณในสิ่งที่อัลเลาะฮฺประทานมาให้ อย่า ! อย่าได้ฟุ้งเฟ้อความสบายนิยม สิ่งที่อัลเลาะฮฺ  ให้เรามาไม่ว่าเป็นอวัยวะส่วนใดของร่างกายเราไม่มีวันตกรุ่น เพื่อความสว่างของชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า คือพันธกิจของเรา จงสร้างวิสัยทัศน์ผูกพันธกิจด้วยยุทธศาสตร์สู่ความเป็นที่สุดของเป้าประสงค์แห่งชีวิตของเรา ดังที่อัลกุรอานกล่าวความว่า

" ทุกคนต่างปฏิบัติไปตามต้นทุนของชีวิต"

          ชีวิต คือ ต้นทุน จงแสวงหากำไรจากต้นทุนนั้นด้วยการดูแลความเป็นเรา อย่างที่อัลเลาะฮฺ อยากให้เราเป็น ศรัทธาอย่างที่อัลเลาะฮฺ ให้เราศรัทธา มีคุณธรรมตามที่อัลเลาะฮฺ อยากให้เรามี 

          ความรักเพื่อพระเจ้า คือ พลังแห่งความสุข บรรดาอัครสาวกของท่านศาสดามูฮัมหมัด ต่างรู้ถึงคุณงามความดี และเมตตาธรรมของท่านศาสดา ที่แผ่ปกคลุมโลกผ่านแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ละศตวรรษ ซึ่งความดีงามเหล่านี้ยังคงสถิตอยู่ในความทรงจำของพลโลกตลอดไป กระทั่งในครั้งหนึ่งมีอัครสาวกท่านหนึ่งกล่าวกับท่านศาสดา ว่า

“โอ้ท่านศาสดา  ฉันขอไถ่ตัวท่านด้วยบิดามารดาของฉัน”

และครั้งหนึ่งท่านบิล้าลได้กล่าวในขณะที่เขาป่วยเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดว่า

“โอ้ช่างสุขสบายโดยแท้พรุ่งนี้ฉันก็จะได้พบกับคนรักแล้ว มูฮัมหมัด และสหายของเขา”

  

นี่คืออานุภาพแห่งความรักแท้ ที่สถิตอยู่ในห้วงดวงใจของเหล่าอัครสาวก เพราะพวกเขามีความเข้าใจถึงแก่นแท้ในวจนะของท่านศาสดา ที่กล่าวว่า


“คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะยังไม่ศรัทธาที่สมบูรณ์จนกว่าฉันจะเป็นที่รักแก่เขายิ่งกว่าลูกของเขา บิดาของเขา และมนุษย์ทั้งหมด”

 ดังอัล-กุรอานกล่าวว่าความว่า

" จงประกาศเถิดหากพวกท่านทั้งหลายรักอัลเลาะฮฺ ท่านทั้งหลายก็จงปฏิบัติตามฉัน แล้วอัลเลาะฮฺ ก็จะรักท่านทั้งหลาย

และทรงอภัยแก่ท่านทั้งหลายอย่างแน่นอน"

(ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน โองการที่ 31)

          ในความรักดังกล่าวนั้นเมื่อเราประพฤติตามท่านบรมศาสดา ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นผสานกับความรักที่เรามอบถวายแด่อัลเลาะฮฺ อย่างสุดใจ และความรักทั้งสองนี้จะพัฒนาอย่างหนักแน่นขึ้นในจิตวิญญาณของเรา จนกระทั่งถึงระดับที่ว่า ความรักนั้นมีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด เรารักอัลเลาะฮฺ และรอซูลุลเลาะฮฺ เหนือกว่าตัวเราเองเหนือกว่าพ่อแม่ และมนุษย์ทั้งปวง ดังฮาดิษของท่านศาสดา  ที่ท่านสอนว่า

"สามประการต่อไปนี้ใครมีโดยครบถ้วนเขาจักประสบความหวานชื่นแห่งอีหม่านอย่างแน่นอน คือ

1. เขามีความรักอัลเลาะฮฺ และรอซู้ลของพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งมวล

2. เขารักผู้อื่นมิได้รักเพื่ออื่นใดเลยนอกจากเพื่ออัลเลาะฮฺ

3. เขาชิงชังที่จะกลับสู่สภาพเนรคุณประหนึ่งเขาชิงชังที่จะถูกโยนไปในกองไฟ

(รายงานโดย บุคคอรี)

 

         อยู่อย่างไรให้สุข คนส่วนใหญ่มักจะกลัวว่าความจน คือต้นเหตุแห่งความทุกข์ และการมีปัจจัยชีวิตมากมายคือ ต้นเหตุทำให้เกิดความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้วการมีปัจจัยทำให้เกิดความสะดวกสบายไม่ใช่ความสุขที่จริงแท้ คน ๆ หนึ่งอาจมีรถราคาแพงขับก็ไม่ใช่จะประกันว่าเขามีความสุขมากกว่าคนที่โดยสารรถเมล์ คนรวยที่จะมีความสุขนั้นจะต้องเป็นคนที่รวยน้ำใจไม่ใช่รวยวัตถุท่านศาสดามูฮำหมัด ได้พูดถึงคนที่โชคดีที่มีสิ่งสามประการต่อไปนี้

1. การได้รับทางนำจากอิสลาม

2. การมีปัจจัยพอเพียง

3. ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่

          หากเราต้องการมีชีวิตอย่างมีความสุขก็ต้องดูแบบอย่างจากชีวิตของท่านศาสดามูฮำหมัด ว่าใช้ชีวิตอย่างไร ? ในซูเราะฮฺอัฏ-ฏูฮา ได้ลำดับขั้นตอนชีวิตไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของท่าน และสิ่งที่อัลเลาะฮฺ  ทรงประทานความดีงาม และความโปรดปรานแก่ท่านทั้งโลกนี้และโลกหน้า เพื่อเป็นแบบอย่างแก่มวลผู้ศรัทธา

         ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเราจะพบว่า ทำไมพระองค์อัลเลาะฮฺ ทรงสาบานด้วยเวลาสว่างและเวลามืด ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้ว่า ชีวิตมนุษย์นั้น มีสว่าง มีมืด มีสุข มีทุกข์ คละเคล้ากันไป พระองค์ได้ทรงชี้ทางให้เห็นว่า คนที่ลำบากและอดทนในเบื้องต้นแห่งชีวิต บั้นปลายแห่งชีวิตเขาจะพบกับความสุขความว่า :

"และแท้จริงช่วงสุดท้าย (แห่งชีวิตการปฏิบัติภารกิจของเจ้า) นั้นย่อมจะประเสริฐสำหรับเจ้ายิ่งกว่าเบื้องต้น"

 

         ความโชคดีที่ท่านศาสดามูฮำหมัด  ได้กล่าวไว้ก็คือ การมีชีวิตที่ดีในโลกนี้ในแง่ของการมีจิตวิญญาณที่ดี การมีฐานะที่ไม่ขัดสนและการมีจิตใจที่มั่นคง ท่านศาสดามูฮำหมัด เองก็ได้รับคำสั่งให้มีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับชีวิตอันหรูหรา และฟุ้งเฟ้อของผู้ไม่ศรัทธา ที่เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขสำราญในโลกนี้เท่านั้น พวกเขาจึงมีชีวิตเพียงเพื่อการกอบโกยแต่เพียงอย่างเดียว อันเนื่องจากพวกเขาไม่เคยคิดว่าจะมีโลกหน้า เพื่อการตอบแทนความดี หรือชำระโทษผู้กระทำผิด ดังอัลกุรอานได้กล่าวความว่า

"และเจ้าอย่าทอดสายตาของเจ้าไปยังสิ่งที่เราได้มอบให้เป็นความสุขแก่บางกลุ่มชนจากพวกเขา(ชาวเนรคุณ) สิ่งนั้นเปรียบดังดอกไม้แห่งชีวิตทางโลกนี้

เพื่อเราจะได้ทดสอบพวกเขาในสิ่งนั้นและโชคผลแห่งองค์อภิบาลของเจ้านั้นย่อมประเสริฐสุดและจีรังยั่งยืนที่สุด"

(ซูเราะฮฺ ฏอฮา โองการที่ 131)

โองการข้างต้นนี้ได้บอกแก่เราว่า

- ไม่ควรดูแต่ความสมบูรณ์ทุกอย่างของชีวิตดุนยา

- การได้รับความร่ำรวยและยศถาบรรดาศักดิ์ถือเป็นการทดสอบจากอัลเลาะฮฺ ว่าเป็นผู้กตัญญูรู้คุณหรือไม่

- ความจนไม่ใช่ความอัปยศของชีวิต

- ปัจจัยของชีวิตดุนยาเป็นเพียงภาพลวงตาและชั่วคราว

- การตอบแทนจากอัลเลาะฮฺ ดีกว่าและนิรันดร

 

          ดังนั้นความเพริดแพร้วของชีวิตจึงไม่ใช่เป้าหมายแห่งชีวิตของมุสลิม ความร่ำรวยไม่ใช่ความมากมายของทรัพย์สิน แต่ความร่ำรวยในทัศนะของอิสลามคือความมีน้ำใจอันกว้างขวาง มาตรฐานแห่งความสุขอันที่จริงความสุขนั้นมีนิยามความหมายที่ละเอียดอ่อน และซับซ้อน เนื่องจากความสุขของคนเรานั้นไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดโดยเฉพาะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่กับร่างกายของเรา ไม่ได้เกิดจากการมีเคหสถาน มีบ้านอยู่อาศัยที่ใหญ่โต มีอาหารการกินที่บริบูรณ์ และมีรถไว้ขับขี่ เพราะว่าในโลกนี้มีคนจำนวนมากที่ได้มีโอกาสอาศัยอยู่ในบ้านช่องใหญ่โตหรูหรา มีรถขับขี่และมีอาหารการกินที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ แต่ก็ยังหาความสุขไม่ได้

 

 

 


สำนักจุฬาราชมนตรี