ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุข
  จำนวนคนเข้าชม  11668

 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุข


โดย... ปริญญา ประหยัดทรัพย์


         ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขของบุคคลจึงไม่ใช่เฉพาะทางวัตถุหรือปัจจัยที่เป็นกายภาพ เพราะความสุขที่แท้จริงของคนเรานั้นเกิดจากสภาวะทางจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งเกินกว่าสติปัญญาของเราจะลงไปกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง  ดังนั้นการหาความสุข การสร้างความสุข การสร้างสภาวะที่เกี่ยวกับความสุข หรือสิ่งที่เกี่ยวกับสุขภาวะของบุคคล จึงต้องย้อนกลับไปหาผู้ที่สร้างมนุษย์ คือ อัลเลาะฮฺ ซึ่งทรงสร้างมนุษย์และทรงสร้างทั้งหมดที่เป็นวิถีของมนุษย์ทั้งจิตใจ ร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ เพื่อที่จะประกอบขึ้นมาให้ได้เป็นคนอย่างแท้จริง

         เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้งหากบุคคลคิดแต่เพียงแสวงหาความสุข โดยทิ้งความศรัทธาต่ออัลเลาะฮฺ  ไว้เบื้องหลัง ซึ่งมีแต่จะทำให้บุคคลได้รับความสุขอย่างฉาบฉวยในตอนต้น และชีวิตในบั้นปลายจะพบกับความทุกข์ยาก ดังที่อัลเลาะฮฺ ได้ตรัสไว้ว่าความว่า

"ส่วนผู้ใดหันเหออกจากคำเตือนของข้า แน่นอนเขาจะต้องพบกับการดำรงชีพอันคับแค้น"

(ซูเราะฮฺ ฏอฮา โองการที่ 124)

          ดังนั้นมาตรฐานที่จะทำให้เกิดสุขภาวะหรือสภาวะที่เป็นสุขให้กับบุคคลนั้น อิสลามให้ย้อนกลับไปหาคำสอนของอัลเลาะฮฺ  ซึ่งพระองค์ได้กำหนดมาตรฐานหลัก 3 มาตรฐาน ซึ่งปรากฏในซูเราะฮฺ อัล-ฮัจญ์ ดังนี้ความว่า

 "(ประชาชาติอิสลาม) เป็นมวลชนผู้ (มีลักษณะดังจะพรรณนาต่อไปนี้) หากเรามอบอำนาจปกครองในแผ่นดินแก่พวกเขา

พวกเขาก็ดำรงการละหมาด บริจาคทานซะกาต ใช้ในการทำความดี และห้ามในการกระทำสิ่งต้องห้าม

และผลสุดท้ายแห่งการงานทั้งมวลย่อมเป็นสิทธิ์ของอัลเลาะฮฺ"

(ซูเราะฮฺ อัล-ฮัจญ์ โองการที่ 41)

1. มาตรฐานแรก คือ การละหมาด

          คนทุกคนนั้นเมื่ออัลเลาะฮฺ  ให้สิทธิ์ เสรีภาพ ให้ศักยภาพ ให้โอกาสในการดำรงอยู่บนโลกนี้ พวกเขาควรรักษาไว้ซึ่งการละหมาด การละหมาดไม่ใช่เพียงอิริยาบถที่เราเริ่มต้นด้วยการตักบีร สิ้นสุดด้วยการให้สลาม แล้วหลังจากนั้นก็มีชีวิตโลดแล่นไปตามอำเภอใจของเรา โดยไม่คำนึงถึงหลักการของอัลเลาะฮฺ แต่การละหมาดที่ถูกต้องนั้นคือการทำให้จิตใจของเราให้นอบน้อมถ่อมตน และยอมมอบกายถวายชีวิตทั้งหมดให้ จิตใจที่เข้าเฝ้าอัลเลาะฮฺ ย่อมเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นจิตใจที่ไม่หลงใหลในความเย้ายวนและฉาบฉวยของโลก

         อัลเลาะฮฺ ได้ให้คำนิยามของความเป็นโลกดุนยาไว้ว่าความว่า : และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นมิใช่อะไรอื่นนอกจากการเล่น

ดังนั้นคนที่ยอมมอบกายถวายชีวิตแด่อัลเลาะฮฺนอกจากจะสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตัวเองแล้วย่อมจะสร้างสุขภาวะให้กับคนรอบข้างด้วย

 

2. มาตฐานที่สอง คือ การจ่ายซะกาต

         อันเนื่องจากซะกาตเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะสร้างสุขภาวะให้กับปัจเจกบุคคล และสังคม ดังนั้น สุขภาวะที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งจะนำมาด้วยการจ่ายซะกาตเพื่อสร้างกระบวนการ ในการรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนที่ด้อยโอกาส คนที่อ่อนแอ ให้เขามีโอกาสดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

3. มาตรฐานที่สาม คือ ส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว

         ด้วยมาตรฐานที่สามที่อัลเลาะฮฺ  กำหนดขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างสภาวะที่เป็นสุขในสังคม ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพในสังคมที่เรียกว่าการส่งเสริมความดีละเว้นความชั่วแน่นอนที่สุดผู้ที่พยายามส่งเสริมความดีในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตนเองก็จะได้รับอานิสงค์จากอัลเลาะฮฺ  คน ๆ นั้นถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในหนทางของอัลเลาะฮฺ  ดังนั้นเมื่อสังคมช่วยกันจรรโลง รังสรรค์แต่ความดีงาม ยับยั้งจากความชั่วแล้ว ก็จะทำให้ผู้คนที่อยู่ในสังคมนั้นพบกับความสงบสุขแห่งชีวิตอย่างแท้จริง ในการสร้างความสุขในโลกแห่งความเป็นปัจจุบัน

           เป็นเรื่องที่แปลกมากในขณะที่มนุษย์ต่างเสาะแสวงหาต้องการความสุข แต่สิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายทำกลับเอื้อทุกข์แก่ตน และคนอื่น โดยไม่เพียรพยายามหาวิธีการสร้างความสุขให้แก่ตนเองและสังคมรอบข้าง ชีวิตที่กอปรความสุขย่อมมีฐานที่มั่นที่จะก้าวเดินอย่างมั่นคง งามสง่า ตรงกันข้ามชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นชีวิตที่ต้องดิ้นรน ซัดส่าย สะเปะสะปะ สร้างความสับสนให้กับตนเอง และคนอื่นเนือง ๆ ความสุขจึงเป็นบันใดแห่งความสำเร็จของชีวิตที่นำสู่ความสง่างามยิ่งขึ้นโดยลำดับ

 


สำนักจุฬาราชมนตรี