สิ่งกั้นขณะละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  11401

สิ่งกั้นขณะละหมาด (สุตเราะฮฺ)


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


          มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

          การละหมาดคือเสาหลักของศาสนา และถือเป็นรุก่นอิสลาม (หลักปฏิบัติ) ข้อที่สองจากทั้งหมดห้าข้อ นอกจากนี้ การละหมาดก็ยังเป็นสิ่งแรกที่บ่าวจะถูกถามถึงในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ตามรูปแบบที่ท่านนบี ได้เคยสั่งใช้และทำไว้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชาติของท่าน

ท่านมาลิก บิน อัล-หุวัยริษ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวว่า

"พวกท่านจงละหมาด เหมือนดังที่พวกท่านเห็นฉันละหมาดเถิด"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 631)

          อัฏ-เฏาะบะรอนียฺได้บันทึกไว้ในหนังสืออัล-เอาสัฏ จากท่านอับดุลลอฮฺ บิน กุรฏฺ เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า:

“สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือการละหมาด

หากว่าการละหมาดของเขาถูกต้องสมบูรณ์ การงานอื่นๆก็จะถูกต้องสมบูรณ์ด้วย

แต่ถ้าหากว่าการละหมาดขาดตกบกพร่อง การงานอื่นๆ ก็จะขาดตกบกพร่องไปด้วย”

(หะดีษเลขที่ 1859 โดยชัยคฺอัลบานียฺวินิจฉัยในหนังสืออัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ เลขที่ 1358 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

         ทั้งนี้ มีข้อผิดพลาดบางประการในการละหมาดที่เราพบเห็นอยู่บ่อยๆ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักเตือนกันเพื่ออัลลอฮฺ ข้อผิดพลาดที่ว่านี้ก็คือการไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งกั้นขณะละหมาด (สุตเราะฮฺ) ซึ่งมีหลักฐานสั่งใช้มากมายจากบทบัญญัติศาสนา ท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า:

"เมื่อคนใดในหมู่ท่านทำการละหมาด ก็จงอย่าได้ปล่อยให้ผู้ใดเดินตัดหน้าเขาในระยะใกล้ และให้กั้นขวางเขาเท่าที่จะทำได้

ถ้าหากเขาผู้นั้นยังคงดื้อดึง ก็ให้ผลักเขาออกไปได้ เพราะแท้จริงแล้วเขาผู้นั้นคือชัยฏอน"

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 505)

ท่านสะฮฺล์ บิน อบี หัษมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า:

"เมื่อคนใดในหมู่ท่านยืนละหมาดโดยหันเข้าหาสิ่งกั้น เขาก็จงขยับเข้าไปใกล้สิ่งนั้นให้มากที่สุด

เพื่อที่ชัยฏอนจะได้ไม่สามารถทำลายสมาธิของเขาในการละหมาด"

 (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 16090)


ต่อไปนี้คือประโยชน์บางส่วนของสิ่งกั้น:

ข้อแรก: การมีสิ่งกั้นทำให้การละหมาดไม่เสีย แม้จะมีสตรีผู้บรรลุศาสนภาวะแล้ว ลา หรือสุนัขดำเดินตัดหน้าก็ตาม ดังปรากฏในหะดีษเศาะฮีหฺ


ข้อที่สอง: เป็นการกั้นขวางมิให้ผู้อื่นเดินตัดหน้าผู้ที่กำลังละหมาด อันเป็นการทำให้เสียสมาธิ


ข้อที่สาม: สิ่งกั้นเป็นการป้องกันมิให้ชัยฏอนเดินตัดหน้าผู้ละหมาด ดังปรากฏในหะดีษความว่า "ชัยฏอนจะไม่ตัดหน้าการละหมาดของเขา"


ข้อที่สี่: สิ่งกั้นช่วยให้สายตาผู้ละหมาดไม่วอกแวกไปกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า จนทำให้ขาดสมาธิและความสงบนิ่ง


          ตลอดจนประโยชน์อื่นๆ มากมาย ทั้งนี้ บรรดาสะลัฟกัลยาณชนรุ่นแรกของอิสลามต่างให้ความสำคัญกับการวางสิ่งกั้นขณะละหมาด และตำหนิติเตียนผู้ที่ทำการละหมาดโดยไม่มีสิ่งใดกั้นข้างหน้า

มีรายงานบันทึกในเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺว่า ครั้งหนึ่งท่านอุมัรฺเห็นชายคนหนึ่งยืนละหมาดระหว่างเสาสองต้น ท่านจึงดึงเขาไปอยู่หลังเสา

แล้วกล่าวว่า "ท่านจงละหมาดหันเข้าหาเสานี้เถิด"

ท่านอิบนุหะญัรฺ กล่าวว่า "ท่านอุมัรฺหมายถึงว่าให้เขาละหมาดโดยที่มีสิ่งกั้น"  (ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 1 หน้า 577)

ซึ่งการกระทำของท่านอุมัรฺนี้แสดงให้เห็นว่า การวางสิ่งกั้นขณะละหมาดนั้นเป็นเรื่องที่เน้นย้ำให้กระทำเป็นอย่างยิ่ง

ท่านอิบนุมัสอูด กล่าวว่า "มีสี่ประการที่บ่งบอกถึงความหยาบกระด้าง... (หนึ่งในนั้นคือ) การที่คนคนหนึ่งละหมาดโดยไม่มีสิ่งใดกั้นเป็นสุตเราะฮฺ"

ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า "ฉันเห็นบรรดาเศาะหาบะฮฺอาวุโสต่างพากันละหมาดหันเข้าหาเสามัสยิดในเวลาละหมาดมัฆริบ"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 503 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 837)

ในอีกสายรายงานหนึ่งระบุว่า: เป็นกรณีละหมาดสุนัตสองร็อกอัตก่อนมัฆริบ

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 837)

จะเห็นว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ให้ความสำคัญกับการละหมาดหันเข้าหาสิ่งกั้นในมัสยิด นาฟิอฺกล่าวว่า

 "ท่านอิบนุอุมัรฺนั้น หากไม่มีที่ว่างให้ท่านละหมาดหลังเสามัสยิด ท่านก็จะกล่าวแก่ฉันว่า: 'ท่านจงหันหลังให้ฉัน' เพื่อเป็นสิ่งกั้นแทนเสา"

(บันทึกโดยอิบนุ อบี ชัยบะฮฺ หะดีษเลขที่ 2892)

และมีรายงานจากท่านสะละมะฮฺ บิน อัล-อักวะอฺ ระบุว่า:

 "เมื่อท่านประสงค์จะทำการละหมาดขณะอยู่ในทะเลทราย ท่านก็จะวางหินให้ตั้งสูงขึ้น แล้วท่านก็ละหมาดหันเข้าหาหินดังกล่าว"

(บันทึกโดยอิบนุ อบี ชัยบะฮฺ หะดีษเลขที่ 2877)

          ซึ่งจากหะดีษที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า ไม่มีข้อแตกต่างในเรื่องของการละหมาดเข้าหาสิ่งกั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อยู่ในสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่กลางทะเลทราย

          อัส-สะฟารีนีย์ กล่าวว่า "พึงทราบเถิด ว่าการละหมาดหันหน้าเข้าหาสิ่งกั้นนั้น ถือเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำโดยความเห็นพ้องต้องกันในหมู่นักวิชาการ แม้มิได้เกรงว่าจะมีผู้ใดเดินผ่านตัดหน้าก็ตาม"

(ชัรหฺ ษุลาษิยาต อัล-มุสนัด เล่ม 2 หน้า 786)

          ส่วนความสูงของสิ่งกั้นที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้นั้น คือประมาณส่วนท้ายของอานสัตว์พาหนะ ดังหะดีษซึ่งรายงานจากท่านฏ็อลหะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า: เราเคยละหมาดโดยที่มีสัตว์เดินตัดหน้าขณะละหมาด เราจึงเล่าให้ท่านเราะสูล  ฟัง ท่านก็กล่าวว่า:

"จงให้มีสิ่งกั้นวางอยู่ด้านหน้าของพวกท่าน สูงประมาณส่วนท้ายของอานสัตว์พาหนะ หลังจากนั้นหากจะมีสิ่งใดเดินตัดหน้าเขาก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด"

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 499)

และมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า:

ท่านเราะสูล ถูกถามถึงสิ่งกั้นขณะละหมาด ท่านตอบว่า "ขนาดของมันประมาณส่วนท้ายของอานสัตว์พาหนะ"

(บันทึกโดยมุสลิม 500)

ท่านอบู ซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล   กล่าวว่า:

          " เมื่อคนใดในหมู่ท่านยืนละหมาด ถ้าหากว่าด้านหน้าเขามีสิ่งกั้นประมาณส่วนปลายของอานสัตว์พาหนะ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งกั้นขนาดประมาณส่วนปลายของอานสัตว์พาหนะ เช่นนี้แล้วการละหมาดของเขาก็จะถูกตัดช่วงด้วยการเดินผ่านของลา สตรี และสุนัขดำ"

 (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 510)

         ซึ่งความยาวของปลายอานนั้นประมาณหนึ่งวา ดังที่นักวิชาการสะลัฟบางท่านเช่นอะฏออ์, เกาะตาดะฮฺ และอัษ-เษารีย์ระบุไว้ และยังเป็นทัศนะของมาลิก, อัช-ชาฟิอีย์ และอะหฺมัดด้วย

          อิบนุ กุดามะฮฺ กล่าวว่า "เกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะเป็นการระบุถึงความยาวโดยประมาณ ไม่ใช่การกำหนดเจาะจง" ทั้งนี้เนื่องจากท่านนบี ได้กะประมาณความยาวของสิ่งกั้นโดยเทียบกับส่วนปลายของอานสัตว์พาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสั้นยาวแตกต่างกัน บางอันยาววาหนึ่ง บางอันยาวน้อยกว่านั้น จึงสรุปได้ว่าสิ่งกั้นที่ยาวใกล้เคียงกับหนึ่งวาก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้ วัลลอฮุอะอฺลัม ในส่วนของความหนาบางนั้น เราไม่พบว่ามีกำหนดไว้แต่อย่างใด จึงอาจใช้สิ่งที่เพรียวบางอย่างลูกธนูหรือหอกก็ได้ หรือจะเป็นสิ่งที่มีความหนาอย่างผนังอาคารก็ได้

ทั้งนี้ มีรายงานบันทึกว่าท่านนบี ได้เคยละหมาดโดยใช้หอกเล็กเป็นสิ่งกั้น

ท่านอบู สะอีด กล่าวว่า : 'ท่านนบีเคยละหมาดโดยใช้ลูกธนูและก้อนหินเป็นสิ่งกั้น'

และมีรายงานหะดีษซึ่งบันทึกโดยอะหฺมัด ระบุว่า

ท่านนบี กล่าวว่า: 'ลูกธนูถือเป็นสิ่งกั้นในละหมาด ดังนั้น เมื่อคนใดในหมู่ท่านจะทำการละหมาด ก็ให้เขาใช้ลูกธนูเป็นสิ่งกั้น'

(อัล-มุฆนีย์ เล่ม 3 หน้า 82-83 โดยย่อ)

 

ข้อพึงสังเกต:

     1) การขีดเส้นเป็นสิ่งกั้นเมื่ออยู่กลางทะเลทรายอย่างที่บางคนกระทำนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ โดยหะดีษที่ระบุให้ทำเช่นนั้นอยู่ในระดับที่อ่อน (เฎาะอีฟ) ตามคำวินิจฉัยของนักวิชาการหลายท่าน เช่น อิบนุศ เศาะลาหฺ, อัล-อิรอกีย์ และท่านอื่นๆ


     2) ผู้เป็นมะอ์มูมไม่จำเป็นต้องวางสิ่งกั้น ทั้งนี้ การวางสิ่งกั้นในละหมาดญะมาอะฮฺนั้นถือเป็นหน้าที่ของอิหม่าม ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า

      "ฉันขี่ลามาถึง ในขณะที่ท่านเราะสูล กำลังนำละหมาดที่มินาโดยมิได้หันเข้าหาผนัง แล้วฉันก็เดินผ่านระหว่างแถวละหมาดแล้วปล่อยให้ลากินหญ้า จากนั้นจึงเข้าร่วมละหมาดในแถว โดยที่ไม่มีผู้ใดตำหนิฉันเลยแม้แต่ผู้เดียว ซึ่งในขณะนั้นฉันก็อยู่ในวัยที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว"

 (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 76 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 504)


     3) การเดินตัดหน้าผู้ที่กำลังละหมาดนั้น ถือเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ดังปรากฏหลักฐานจากท่านอบู ญุฮัยม์ เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า:

     "ถ้าหากผู้เดินตัดหน้าผู้ที่กำลังละหมาดรู้ ว่าการกระทำของเขาเป็นบาปความผิดเพียงไร แน่นอนว่าเขาจะยอมหยุดและยืนรอสี่สิบ (ผู้รายงานไม่แน่ใจว่าสี่สิบวันหรือเดือนหรือปี) ดีกว่าการที่เขาจะเดินตัดหน้าผู้ละหมาดไป"

 (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 510 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 507)


สรุปสุดท้าย

          การวางสิ่งกั้น (สุตเราะฮฺ) ถือเป็นสุนัตมุอักกะดะฮฺ (เป็นที่สิ่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง) และนักวิชาการบางท่านมีทัศนะว่าเป็นวาญิบ (จำเป็นต้องกระทำ) ซึ่งก็เป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก ดังนั้น จึงจำเป็นที่มุสลิมจะต้องให้ความสำคัญกับการวางสิ่งกั้นขณะละหมาด ไม่ว่าจะเป็นที่มัสยิด ที่บ้าน หรือกลางทะเลทรายก็ตาม ตราบใดที่เขาละหมาดคนเดียว หรือทำหน้าที่อิหม่าม และจำเป็นที่เขาจะต้องห้ามและกั้นขวางมิให้ผู้ใดเดินตัดหน้าเขาได้ ทั้งนี้ สิ่งกั้นที่ใช้ได้นั้นต้องมีขนาดใกล้เคียงกับส่วนปลายของอานสัตว์พาหนะ

 (จากหนังสือ อัล-เกาลุลมุบีน ฟี อัคฏออิล มุศ็อลลีน ของชัยคฺ มัชฮูรฺ หะสัน หน้า 87-88)

 

 

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse