การมีจรรยามารยาทที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์
  จำนวนคนเข้าชม  18926

การมีจรรยามารยาทที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์


โดย : ฟะฎีละตุชเชค  มุฮัมมัด  บินซอและห์  อัลหุษัยมีน


ประการที่สอง :  การมีจรรยามารยาทดีในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์

 การมีจรรยามารยาทที่ดีนั้น  คือ  การงดเว้นการกระทำที่เป็นอันตราย  การทุ่มเทแจกจ่าย  และการมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส


• ข้อที่หนึ่ง  :  การงดเว้นการกระทำที่เป็นอันตราย 

          หมายถึง บุคคลผู้นั้นจะต้องไม่เป็นพิษเป็นภัย  ไม่ว่าจะทางด้านทรัพย์สินหรือชีวิตร่างกาย  หรือเกียรติยศชื่อเสียงของเพื่อนมนุษย์  ดังนั้นใครที่ไม่งดเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์  เขาเป็นผู้ที่ยังไม่มีจรรยามารยาทที่ดีงาม  หากแต่จะเป็นคนที่นับว่ามีจรรยามารยาทที่ต่ำทราม

          แท้จริงแล้วท่านร่อซูล  ได้ประกาศห้ามดังกล่าวนั้น  ในที่ชุมชนที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่ง  ณ   ที่นั้นบรรดาประชาชาติของท่านรวมกันอยู่ ท่านได้ประกาศว่า  :

 “แท้จริงเลือดเนื้อของพวกท่าน  ทรัพย์สินของพวกท่านเกียรติยศชื่อเสียงของพวกท่านเป็นที่ต้องห้าม 

เช่น  การต้องห้ามในวันของพวกท่านวันนี้  ในเดือนของพวกท่านเดือนนี้  และในบ้านเมืองของพวกท่านนี้”

           ดังนั้น  หากมีคนหนึ่งคนใดรุกรานคนอื่นโดยการเอาทรัพย์สินรุกรานคนอื่นโดยการหลอกลวง  รุกรานคนอื่นด้วยการฉ้อโกงหลอกลวงรุกรานคนอื่นด้วยการตบตีและทำร้าย หรือการด่าทอนินทาว่าร้ายด้วยสิ่งเป็นเท็จ  คนประเภทนี้คือ  ผู้ที่ขาดการมีจรรยามารยาทที่ดีงามกับเพื่อนมนุษย์  เพราะเขาไม่งดเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์เป็นบาปที่ยิ่งใหญ่จากการกระทำนั้น  เพราะแต่ละครั้งที่ไปกระทำกับคนที่มีสิทธิอย่างหนึ่งจากท่าน  โทษหรือบาปก็จะยิ่งใหญ่มาก เช่น  การประพฤติไม่ดีต่อบิดามารดา  จะมีบาปใหญ่ยิ่งกว่าการการะทำไม่ดีต่อคนอื่นมาก  หรือการกระทำไม่ดีต่อญาติพี่น้องที่ใกล้ชิด  จะมีบาปใหญ่กว่าการกระทำไม่ดีต่อคนที่ห่างไกลออกไป  หรือการกระทำไม่ดีต่อเพื่อนบ้านใกล้ชิด  จะเป็นบาปใหญ่กว่าคนที่ไม่ใช่เพื่อนบ้านใกล้ชิดกับท่าน 

ด้วยเหตุนี้  ท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า

“สาบานด้วยนามอัลลอฮฺ  ว่าเขายังไม่มีอีมาน,

สาบานด้วยนามอัลลอฮฺ  ว่าเขายังไม่มีอีมาน,

สาบานด้วยนามอัลลอฮฺ  ว่าเขายังไม่มีอีมาน,

“คนที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ ได้รับความปลอดภัยจากเขา”

(บันทึกโดยบุคอรีย์)

 

• ข้อที่สอง : การทุ่มเทบริจาค 

          หมายถึง  การหยิบยื่นทรัพย์สินหรือข้าวของเครื่องใช้  การแสดงว่าใจบุญนั้นมิใช่เพียงแค่การแจกจ่ายทรัพย์ หาเป็นเช่นนั้นไม่  การใจบุญยังมีความหมายรวมถึง การเสียสละทั้งชีวิตจิตใจ  หรือสละทั้งอำนาจบารมีและทรัพย์สิน  หรือเมื่อพบเห็นผู้ที่จะสามารถช่วยจัดการธุระให้  หรือช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่ต่อการงานให้กับบุคคลผู้ที่ไม่สามารถทำเองได้  และพยายามสอนความรู้ความชำนาญงานของตนให้ผู้คนทราบ หรือช่วยด้วยกับทรัพย์สินที่ตนมีอยู่นั้น แท้จริงแล้วเขาผู้นั้นคือ  คนที่มีจรรยามารยาทที่ดี  เพราะเขาได้ทุ่มเทเสียสละแล้วซึ่งความมีน้ำใจ 

ดังที่  ท่านนบี   ได้กล่าวไว้ว่า

“ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ  ณ  ที่ใดก็ตามที่ท่านอยู่และจงทำความดีติดตามความชั่วมันจะได้ลบล้างกัน  และจงอยู่ร่วมกับผู้คนด้วยจรรยามารยาทที่ดีงาม”

          ส่วนหนึ่งของการมีจรรยามารยาทดี  คือ  เมื่อท่านโดนข่มเหงรังแกหรือโดนกระทำที่ไม่ดีแล้ว  ท่านก็ให้อภัยไม่ถือโทษ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงกล่าวบรรดา  ผู้ไม่ถือโทษผู้คนทั้งหลาย และได้ตรัสไว้เกี่ยวกับชาวสวรรค์  จากซูเราะฮฺ  อาละอิมรอน  134  ว่า :

 “คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน  และบรรดาผู้ข่มโทษะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮฺ  ทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย”

 พระองค์ทรงตรัสใน  ซูเราะฮฺ  อัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะฮ์  ที่  237  ว่า

 “...และการที่พวกเจ้าจะให้อภัยนั้น  เป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงมากกว่า”

 และตรัสในซูเราะฮฺอัซซูรอ  อายะฮฺที่  40  ว่า :

 “...แต่ผู้ใดอภัย  และไกล่เกลี่ยคืนดีกัน  รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ”

 

           ดังนั้น  บุคคลที่มีการพบปะติดต่อกับบุคคลอื่นๆ  จะพบว่าผู้คนทั้งหลายมีบางส่วนอยู่บ้างที่ทำไม่ดี  ซึ่งจุดยืนของเขากับความไม่ดีเหล่านั้นคือ  การที่ไม่ถือโทษและให้อภัย ไม่โกรธเคือง  และยังแสดงออกกับสิ่งที่ดีงามแล้ว  การเป็นศัตรูกันจะกลับกลายเป็นมิตร  ก่อให้เกิดความใกล้ชิดความรักปกป้องซึ่งกันและกัน  ดังที่อัลลอฮ์  ตรัสไว้ใน  ซูเราะฮฺฟุศศิลัต  อายะฮ์ที่  34  ว่า  :

 “และความดีกับความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่เจ้าจงขับไล่ความชั่วด้วยสิ่งที่มันดีกว่า 

แล้วเมื่อผู้ที่ระหว่างเจ้า กับระหว่างเขาเคยเป็นอริกัน ก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน”

 

          ดังนั้น  ท่านที่รู้ภาษาอาหรับทั้งหลายจงพิจารณาถึงผลที่ตามติดในทันใดนั้นเนื่องจากคำว่า  :  อิซา  ที่ชี้ถึงว่าจะเกิดผลในทันใดจากการกระทำ

“...แล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน”

 

 แต่ก็มิใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จเสียไปทั้งหมด  ดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสในซูเราะฮฺฟุศศิลัต   อายะฮฺที่  35  ว่า

“และไม่มีผู้ใดได้รับมัน  (คุณธรรมดังกล่าว) นอกจากบรรดาผู้อดทน  และจะไม่มีผู้ใดได้รับมัน  นอกจากผู้ที่มีโชคลาภอันใหญ่หลวง”

 

           จากเรื่องนี้  ทำให้เราเข้าใจว่า  การอภัยหรือยกโทษให้แก่ผู้กระทำผิด  จะดีหรือถูกต้องหรือสมควรได้รับการชมเชยทั้งหมด  และมีการส่งเสริมใช้ให้ทำหรือไม่ ?  บางครั้งก็อาจจะมีความเข้าใจเช่นนั้นได้  ตามอายะฮ์ดังกล่าว จำต้องรับทราบไว้ว่า  ในการให้อภัยหรือยกโทษนั้น จะได้รับการชมเชย  ต่อเมื่อการให้อภัยหรือการยกโทษนั้นดีกว่า  แต่กรณีที่การกระทำความผิดนั้น หากว่าการลงโทษดีกว่าการไม่ลงโทษแล้ว  สิ่งที่สมควรได้รับการชมเชย  คือ  การตัดสินลงโทษย่อมจะดีกว่าการไม่ลงโทษ แน่นอนด้วยเหตุนี้  อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ใน  ซูเราะฮฺอัซซูรอ  อายะฮ์ที่  40  ว่า :

 “...แต่ผู้ใดอภัยและไกล่เกลี่ยคืนดีกัน  รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ....”

           อัลลอฮฺ  ได้ทรงเอาการอภัยรวมไว้กับการไกล่เกลี่ย  เพราะการอภัยนั้นเป็นไปได้ในบางกรณี  แต่บางกรณีไม่สมควรได้รับการ รอมชอม ลดหย่อน เพราะคนที่ทำร้ายท่านนั้นล่วงละเมิด  โดยที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนชั่วช้าเลวทรามโหดเหี้ยม หากท่านอภัยให้เขาก็ยิ่งเหิมเกริมอยู่ในความชั่วความเลวนั้นต่อไป วิธีที่ดีสำหรับกรณีเช่นนี้แล้ว  สมควรจะต้องลงโทษผู้ที่ทำร้ายดีกว่าการไม่ลงโทษ  เพราะการลงโทษนั้นเป็นการแก้ไขปรับปรุง 

เชคคุลอิสลาม  อับนุตัยมียะฮฺ  (ขออัลลอฮฺ  ทรงเมตตาท่าน) ได้กล่าวว่า

          “การปรับปรุงแก้ไขนั้น  เป็นเรื่องจำเป็น (วาญิบ)  ส่วนการอภัยนั้นเป็นเรื่องสมัครใจ  ถ้าการให้อภัยจะทำให้การปรับปรุงแก้ไขต้องสูญเสียโอกาสไป  ก็หมายความว่า  เราได้นำการกระทำที่เป็นเรื่องสมัครใจมาทำและละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบในเรื่องนี้  ทางบัญญัติของศาสนาไม่ส่งเสริมให้ทำเขาได้พูดเอาไว้ถูกต้องแล้ว”

 

          อีกประเด็นหนึ่งที่ใคร่ขอตักเตือน  ซึ่งผู้คนส่วนมากทำกันโดยมีจุดประสงค์ในการทำดี  คือ  เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งแล้ว  จำเลยผู้เป็นต้นเหตุให้คนอื่นเสียชีวิตไป ต่อมาบรรดาทายาทของผู้ตายที่มายกเรื่องค่าสินไหมให้  โดยให้อภัยกับจำเลยที่ทำให้เกิดเหตุนั้น  ดังการยกให้ไม่เอาสินไหมจะถือว่าเป็นเรื่องของการมีจรรยาที่ดีหรือไม่นั้น ในประเด็นดังกล่าวต้องมีการพิจารณารายละเอียดประกอบการตัดสินใจดังนี้

           เราจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า  สภาพของจำเลยที่กระทำผิดที่ได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น   ว่าเขาเป็นบุคคลประเภทที่เป็นคนใจร้อนประมาทขับรถเร็ว  โดยไม่สนใจว่าการกระทำของตนจะสร้างความเสียหายให้กับบุคคลอื่น  หรือเป็นคนประเภทที่ไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ จะเกิดขึ้น ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ  ให้พ้นภัยด้วยเถิด  หรือเขาคิดว่าถ้าชนใครแล้วเขาก็มีเงินจ่ายค่าสินไหมได้  หรือว่า  เขาเป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้  ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนที่รอบคอบและระมัดระวัง แล้วแต่อัลลอฮฺ ได้ทรงกำหนดทุกสิ่งที่เกิดเอาไว้แล้ว

           ถ้าอุบัติเหตุเกิดในลักษณะที่บุคคลประเภทหลัง  ก็สมควรให้อภัยในส่วนสิทธิแก่เขายิ่งกว่าการเอาเรื่อง  ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาประกอบอย่างละเอียด  แม้จะเป็นบุคคลประเภทหลัง  ก่อนที่จะให้อภัยจะต้องตรวจสอบว่า  ผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากโดนอุบัติเหตุนั้น  เขามีหนี้สินหรือไม่?  ถ้าผู้เสียชีวิตมีหนี้สินที่เขาไม่มีทางใช้ได้หมด  นอกจากต้องเอาค่าสินไหมไปชดใช้เท่านั้น  ในกรณีเช่นนี้  การไม่ให้อภัยเป็นการดีกว่า เพราะเรื่องหนี้สินนั้น  จำเป็นต้องชดใช้ก่อนแบ่งมรดก  และถ้ามีการให้อภัยก็ไม่สามารถล้างหนี้ได้  ผู้คนจำนวนมากมักจะมองข้ามรายละเอียดในเรื่องนี้ไป เราจึงขอบอกเรื่องดังกล่าวนี้  แก่กลุ่มของบรรดาทายาท  และพี่น้องที่จะรับสิทธิจากค่าสินไหมแทนผู้เสียชีวิตที่ประสบอุบัติเหตุว่า  พวกเขาจะไม่มีสิทธิในสินไหม  เว้นแต่หลังจากการใช้หนี้แล้ว

ดังที่  อัลลอฮฺ  ได้ทรงตรัสเรื่องมรดกในซูเราะฮฺ  อันนิซาอฺ อายะฮ์ที่  11  ว่า

 “...หลังจากพินัยกรรมที่เขาได้สั่งเสียมันไว้หรือหลังจากหนี้สิน...”

          สรุปได้ว่า  การมีจรรยามารยาทที่ดี คือ การไม่ถือโทษโกรธเคืองผู้คนทั่วไป  และเป็นเรื่องของการทุ่มเทให้หรือยกโทษให้ไม่เอาโทษ และการอภัยก็เป็นส่วนหนึ่งของการยกโทษไม่เอาเรื่อง

 

• ข้อที่สาม  การมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส 

หมายถึง  บุคคลผู้นั้นจะต้องมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส  ตรงกันข้ามกับการมีใบหน้าบึ้งตึงด้วยเหตุนี้  ท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า

“ท่านอย่างได้มองข้ามคุณธรรมอันเล็กน้อย  แม้แต่การที่ท่านจะพบปะพี่น้องของท่านด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม”

           ดังนั้นการมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ก่อให้เกิดความสบายใจกับผู้ที่พบปะท่าน  เมื่อหันมาทางท่านจะทำให้เกิดความรักใคร่สนิทสนมเกิดความปลอดโปร่งโล่งหัวใจ  และมีความเบิกบานกับผู้ที่พบปะกับท่าน ลองพิจารณาดูแล้วจะพบว่าเป็นเรื่องจริง หากว่าท่านทำหน้าบึงตึงก็ไม่มีใครอยากเข้ามาใกล้ท่าน  หลบหน้าพ้นไปจากท่าน  และไม่สบายใจที่จะนั่งร่วมกับท่าน  หรือในการพูดคุยกับท่าน  หรือบางครั้งท่านที่เป็นโรคความดันโลหิตอยู่ก็อาจเป็นอันตรายได้

          เป็นความจริงที่ว่าการทำให้อารมณ์แจ่มใสมีใบหน้ายิ้มแย้มนั้น  เป็นผลดีต่อการรักษาให้พ้นจากโรคความดันโลหิต  ด้วยเหตุนี้บรรดาแพทย์จึงได้กำชับผู้ป่วย  ควรจะอยู่ห่างไกลสิ่งยั่วยุหรือการมีอารมณ์โกรธ  เพราะการอยู่ในสภาพเช่นนี้  เป็นการเพิ่มโรคความดันโลหิตให้สูงขึ้น ดังนั้นการมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  จะบำบัดอาการนี้ได้เป็นอย่างดี  เพราะมนุษย์เราเมื่อมีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม  ก็จะเป็นที่รักใคร่ชอบพอของผู้ที่พบเห็น

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  คือพื้นฐานสามข้อ ที่เป็นแกนของการมีจรรยามารยาทดี  ในการอยู่ร่วมกับผู้คนทั้งหลาย

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย  :  อับดุลฆอนี   บุณมาเลิศ

ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม