ใครกันที่รักนบี ?
  จำนวนคนเข้าชม  10427

 

ใครกันที่รักนบี ? 


  เชค วะลีด อิบนฺรอชิด อัสซุอัยดาน


         การจัดงานเมาลิดนบี(ฉลองวันคล้ายวันเกิด)ถือว่าเป็นอิบาดะห์(ศาสนพิธี)ที่สำคัญที่สุด  เป็นความเชื่อและการปฏิบัติของบรรดาผู้ที่จัดงานเมาลิด

         เมื่อมีผู้กล่าวแก่พวกเขาว่า “หลักเกณฑ์ของปวงปราชญ์อิสลามมีอยู่ว่าอิบาดะห์ต้องมีคำสั่งใช้จากศาสนาให้กระทำ ดังนั้นหลักฐานที่เป็นคำสั่งใช้ให้จัดงานเมาลิดอยู่ที่ไหน ?”

         พวกเขาจะมีคำตอบว่า เหตุที่เราจัดงานเมาลิดเพราะว่าเรารักท่านนบีมุฮัมมัด การรักท่านบี เป็นฟัรดู(จำเป็น)เหนือมุสลิมทุกคน เป็นรากฐานของอิสลาม

อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“เพื่อพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์ และให้ความช่วยเหลือเขา(รอซูล)

และยกย่องให้เกียรติเขา(รอซูล) และแซ่ซ้องสดุดีพระองค์ทั้งยามเช้าและยามเย็น” 

(อัลฟัตฮฺ /๙)

         การจัดงานเมาลิดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แสดงออกถึงการยกย่องให้เกียรติต่อท่านนบี  ท่านรอซูลุลลอฮ์  กล่าวว่า

ثَلَاثٌ مَنْ كُنَّ فِيهِ وَجَدَ حَلَاوَةَ الْإِيمَانِ أَنْ يَكُونَ اللَّهُ وَرَسُولُهُ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِمَّا سِوَاهُمَا...  متفق عليه

“สามประการที่ใครก็ตามมีเขาย่อมได้พบกับความหวานชื่นของการอีหม่าน(ศรัทธา) การที่อัลลอฮฺและรอซูลเป็นที่รักที่สุดสำหรับเขา.. "

(มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ) 

และท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

 وَالَّذِيْ نَفْسِيْ بِيَدِهِ لَا يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى أَكُونَ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِنْ وَالِدِهِ وَوَلَدِهِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِينَ  متفق عليه 

“ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ คนหนึ่งคนใดในพวกท่านจะยังไม่อีหม่าน

จนกว่าจะฉันเป็นที่รักมากที่สุดโดยมากกว่ารักพ่อของเขาลูกของเขาและมนุษย์ทั้งหมด”

(มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ) 

         พวกเรารักนบี มากที่สุดรักมากกว่าลูกๆของเรา มากกว่าพ่อแม่และบรรพบุรุษของเรา มากกว่าทรัพย์สมบัติของเรา มากกว่าตัวของเรา และมากกว่าใครทั้งหมด ดังนั้นพวกเราต้องการแสดงออกถึงความรักของเราที่มีต่อท่านรอซูลโดยการจัดงานเมาลิดให้กับท่าน ซึ่งพวกที่ไม่จัดงานเมาลิดนบี คือพวกที่ไม่รักนบีอย่างนั้นหรือ ?


         ท่านจะเห็นว่า  หลักฐานที่พวกเขาอ้างอิงในการจัดงานเมาลิดคือความรักที่มีต่อท่านนบีมุฮัมมัด เมื่อพวกเขากล่าวเช่นนี้เราก็มีคำกล่าวเพื่อตอบโต้และชี้แจงดังต่อไปนี้คือ...

ประการที่หนึ่ง

         ท่านนบีมุฮัมมัด มีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายมีอายุ ๖๓ ปี  ๔๐ ปีก่อนได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺให้เป็นรอซูล  ๒๓ ปีหลังการแต่งตั้ง  ๑๓ ปีที่มักกะฮฺ และ ๑๐ ปีที่มะดีนะฮฺหลังการอพยพ   คำถามคือ มีการรายงานมาจากท่านนบี หรือไม่ว่าท่านได้จัดงามเมาลิดสักครั้งหนึ่งในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่อันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน?

คำตอบคือ ไม่มีแน่นนอน

เพราะคนที่มีความรู้ในซุนนะฮฺ(แบบฉบับท่านนบี)เพียงเล็กน้อยต่างรู้ดีว่าการจัดงานเมาลิดนั้นท่านท่านนบีมุฮัมมัด ไม่เคยจัดให้แก่ตัวท่านเอง

 

ประการที่สอง

          บรรดามนุษย์ที่รักท่านนบีมุฮัมมัด มากที่สุดคือบรรดาซอฮาบะฮฺที่มีชีวิตอยู่หลังจากท่านนบี ซอฮาบะฮฺท่านสุดท้ายที่ตายคือในปีที่หนึ่งร้อยของฮิจเราะฮฺศักราช  คำถามคือ มีการรายงานหรือไม่ว่ามีซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งท่านใดจัดงานเมาลิดนบี ?

คำตอบคือ แน่นอนไม่มี ดังนั้นหนึ่งศตวรรษผ่านพ้นไปโดยที่ไม่มีผู้ใดจัดงานเมาลิดนบี.

 

ประการที่สาม

         บรรดาซอฮาบะฮฺได้ถ่ายทอดความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อท่านนบีมุฮัมมัด สู่หัวใจของผู้คนรุ่นต่อมาคือบรรดาตาบิอูน บรรดาตาบิอูนก็ได้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อมาคือตาบิอิตตาบิอีน คำถามคือมีนักปราชญ์ท่านใดหรือไม่ในช่วงศตวรรษที่ประเสริฐได้จัดงานเมาลิดนบี ?

คำตอบคือ แน่นอนไม่มี.

         จากสามประการนี้ชี้ชัดว่าการจัดงานเมาลิดนบี เป็นงานที่ท่านนบีมุฮัมมัด บรรดาซอฮาบะฮฺ บรรดาตาบิอูน ตาบิอิตตาบิอีน และบรรดานักปราชญ์ชาวสลัฟไม่ได้จัด ดังนั้นผู้ที่จัดงานเมาลิดคือผู้อุตริสิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนา

ท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ประดิษฐ์สิ่งใหม่ในกิจการของเราที่ไม่ใช่กิจการของเราถือว่าเป็นโมฆะ”

“ผู้ใดที่ปฏิบัติงานหนึ่งที่ไม่ใช่กิจการของเรา ถือว่าเป็นโมฆะ”

 

 ประการที่สี่

          ผู้ที่จัดงานเมาลิดอ้างหลักฐานที่จัดงานเมาลิดขึ้นมาก็เพราะความรักที่มีต่อท่านนบีมุฮัมมัด จงกล่าวชี้แจงแก่พวกเขาว่า แท้จริงสิ่งที่แสดงออกถึงความรักนบีคือการปฏิบัติตามแบบอย่างของนบีไม่ใช่การต่อเติมสิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนา

อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยโทษความผิดทั้งหลายของพวกท่าน

และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อาละอิมรอน/๓๑) 

          แก่นแท้ของความรักท่านนบีมุฮัมมัด ไม่ใช่แสดงออกด้วยการต่อเติมหรือการอุตริสิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนา แต่ทว่าการรักท่านนบีมุฮัมมัด แสดงออกมาด้วยการดำเนินตามแนวทางของท่าน  การดำเนินตามแนวทางของท่านไม่ใช่ด้วยการฝ่าฝืนและการอุตริ

 

ประการที่ห้า

         วิธีการแสดงออกถึงความรักท่านนบีมุฮัมมัด จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการศาสนาที่ท่านนบีได้กำหนดไว้ ไม่ใช่ตามวิธีการที่แต่ละคนกำหนดกันขึ้นมาเอง โดยหลักพื้นฐานที่ทุกคนรู้ดีและสอดคล้องกันคือ วายิบ(จำเป็น)ต้องรักท่านนบีมุฮัมมัด แต่ว่าที่แตกต่างกันคือวิธีการปฏิบัติ ดังนั้นที่ถูกต้องของวิธีการแสดงออกถึงความรักท่านนบีมุฮัมมัด คือการดำเนินตามแบบอย่างของท่าน

 พวกที่จัดงานเมาลิดจะกล่าวว่า”อันที่จริงแล้ววิธีการแสดงออกถึงความรักท่านนบีคือการจัดงานเมาลิดนบี”

เราจะกล่าวแก่พวกเขาว่า”แท้จริงหลักฐานที่บัญญัติใช้ให้ปฏิบัติอิบาดะฮฺหนึ่งอิบาดะฮฺใดนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหลักฐานบัญญัติวิธีการปฏิบัติอิบาดะฮฺนั้นด้วย”

 

ประการที่หก

         ศาสนาอิสลามสมบูรณ์แล้ว อัลลอฮ์  ตรัสความว่า

“วันนี้ข้าได้ทำให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า

และข้าได้ทำให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าพอใจให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกท่าน”

(อัลมาอิดะฮฺ / ๓) 

         อายะห์นี้ถูกประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ขณะที่ท่านอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะฮฺตรงกับวันศุกร์ ดังนั้นเรื่องใดที่ไม่ได้เป็นเรื่องศาสนาในวันนั้น  ในขณะนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องของศาสนา

     - หากผู้จัดงานเมาลิดนบีกล่าวว่า”การจัดงานเมาลิดนบีเป็นงานศาสนาแต่ว่าท่านนบีมุฮัมมัด ปกปิดไว้”นี่เป็นคำพูดที่สร้างความหายนะอย่างใหญ่หลวง   เพราะท่านนบีมุฮัมมัด เป็นผู้เผยแพร่อิสลาม ท่านจะยังไม่ตายจนกว่าท่านจะได้เผยแพร่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อัลลอฮฺใช้ให้ทำการเผยแพร่

     - หากผู้จัดงานเมาลิดนบีกล่าวว่า” ท่านนบีมุฮัมมัด ได้เผยแพร่แล้วแต่ว่าบรรดาซอฮาบะฮฺได้ปกปิดเอาไว้”  นี่เป็นคำพูดที่สร้างความหายนะอย่างใหญ่หลวง  เพราะมันเป็นการใส่ร้ายป้ายสีต่อบรรดาซอฮาบะฮ์ ซึ่งเป็นการกระทำเฉกเช่นพวกรอฟิเฎาะฮฺที่พวกนี้กล่าวว่า”บรรดาซอฮาบะฮฺปกปิดเรื่องนี้ไว้ ปกปิดมุซฮัฟ(กุรอ่าน)ของพระนางฟาติมะฮ์และปกปิดตัวบทที่ยืนยันการเป็นคอลีฟะฮฺ(ผู้นำ)ของท่านอาลีอิบนฺอบีตอเล็บ ดังนั้นบรรดาซอฮาบะฮฺจึงไม่สมควรที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดศาสนา” นี่คือการทำลายรากฐานของศาสนาอิสลาม.

     - หากผู้จัดงานเมาลิดกล่าวว่า”การจัดงานเมาลิดนบีเป็นเรื่องที่เรารู้ที่มาจากสติปัญญาของเราเอง?” เราขอกล่าวชี้แจงว่า  สติปัญญาของมนุษย์นั้นไม่มีสิทธิกำหนดเรื่องอิบาดะฮ์(ศาสนพิธี)เพราะเรื่องอิบาดะฮฺต้องมาจากการกำหนดโดยศาสนาไม่ใช่กำหนดศาสนาโดยสติปัญญาของมนุษย์.

          - หากผู้จัดงานเมาลิดกล่าวว่า” งานเมาลิดเป็นเรื่องที่บรรพบุรุษของเราปฏิบัติกันมา” เราขอชี้แจงว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษไม่ใช่ตัวกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้เป็นเรื่องศาสนาได้  จงระมัดระวังการกล่าวเช่นนี้   

 “แท้จริงเราเห็นบรรพบุรุษของเราอยู่ในแนวทางนี้  ดังนั้นเราจึงดำเนินตามแนวทางของพวกเขา”

(อัซซุครุฟ / ๒๒)

          ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผิดต่อหลักการศาสนาจะนำมาเป็นหลักฐานในการปฏิบัติไม่ได้  เพราะเรื่องอิบาดะฮฺต้องตามไม่ใช่ต่อเติม

     - หากผู้จัดงานเมาลิดกล่าวว่า”งานเมาลิดกลายเป็นเอกลักษณ์ของหลายๆประเทศไปแล้ว” เราขอชี้แจงว่า เมื่อไหร่เล่าที่เอกลักษณ์ของประเทศกลายเป็นมาตรฐานกำหนดเรื่องศาสนา? เพราะว่าเรื่องศาสนาด้านหลักการศรัธทาและอิบาดะฮฺขึ้นอยู่กับหลักฐาน จากอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺตามความเข้าใจของสลัฟซอและฮฺ(บรรพชนยุค๓๐๐ปีแรก) ขนบธรรมเนียมและเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศจำเป็นต้องถูกตรวจสอบโดยใช้อัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ เรื่องใดที่สอดคล้องกับอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺเรื่องนั้นจึงจะเป็นที่ถูกตอบรับและนำมาปฏิบัติได้ ส่วนเรื่องที่สวนทางกับอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺเรื่องนั้นคือผิดและต้องละทิ้งแม้ว่าทุกประเทศจะถือปฏิบัติก็ตาม ทั้งนี้เพราะอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺคือเครื่องตรวจสอบมาตรฐานและเป็นแนวทางที่เที่ยงตรงที่สุด

     - หากผู้จัดงานเมาลิดกล่าวว่า”งานเมาลิดหากว่าเป็นที่ต้องห้ามจริงทำไมจึงมีนักวิชาการคนนั้นคนนี้และอีกหลายๆคนไปร่วมกัน” เราขอชี้แจงว่า เรื่องถูกไม่ได้วัดกันที่ตัวบุคคลแต่วัดกันที่ตัวบทหลักฐานที่ถูกต้อง ดังนั้นตัวบุคคลไม่ใช่มาตรฐานวัดความถูกต้องในเรื่องศาสนา แต่ว่าหลักการของศาสนาต่างหากที่เป็นหลักฐาน เป็นมาตรฐานวัดความถูกผิดและเป็นที่กลับเมื่อเกิดความขัดแย้ง  ส่วนการกระทำและคำพูดของนักวิชาการคือการชี้นำแนะนำหลักฐานเท่านั้นไม่ใช่เป็นตัวหลักฐาน  คำพูดและการกระทำของบรรดานักวิชาการจะถูกตอบรับและถูกปฏิบัติตามก็ต่อเมื่อตรงและสอดคล้องกับอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺเท่านั้น หากว่าไม่ตรงและไม่สอดคล้องกับอัลกุรอ่นและซุนนะฮฺก็จะต้องถูกปฏิเสธและจะต้องไม่นำมาปฏิบัติ อัลลอฮฺจะทรงสอบถามพวกเราในวันกิยามะฮฺ

โดยพระองค์ตรัสความว่า

“พวกเจ้าตอบรับแก่บรรดารอซูลว่าอย่างไร?”

(อัลเกาะซ็อซ / ๖๕)

ไม่ใช่ตอบรับนักวิชาการคนนั้นคนนี้ว่าอย่างไร 

    - หากผู้จัดงานเมาลิดกล่าวว่า”การจัดงานเมาลิดนบีไม่ได้ถูกจำกัดวงเพียงบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น แต่ว่ามีคนมากมายนับไม่ถ้วนที่จัดงานเมาลิดนบี” เราขอกล่าวว่า  ความจริงความถูกต้องไม่ได้วัดกันที่ปริมาณของผู้ปฏิบัติ กล่าวคือเมื่อมีผู้ปฏิบัติมากคือถูกต้องเมื่อมีผู้ปฏิบัติน้อยคือผิด แต่ว่าความจริงความถูกต้องนั้นวัดกันที่การปฏิบัตินั้นๆตรงและสอดคล้องกับหลักฐานคืออัลกุรอ่านและซุนนะฮฺหรือไม่  ตรงคือถูกต้องไม่ตรงคือผิด และบางทีคนส่วนมากก็หลงผิด ดังที่อัลลอฮฺกล่าวว่า

“และหากเจ้าเชื่อฟังคนส่วนมากในแผ่นดิน พวกเขาจะทำให้เจ้าหลงออกจากแนวทางของอัลลอฮฺ”

(อัลอันอาม / ๑๑๖)  

และคนส่วนน้อยที่ได้รับการยกย่องก็มีดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“และส่วนน้อยจากบ่าวของเราที่เป็นผู้ขอบคุณ”

(ซะบะอฺ / ๑๓) 

         ดังนั้นการที่คนส่วนมากกระทำมันไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความถูกต้องในการกระทำนั้นๆ แต่ตัวบ่งชี้คือความสอดคล้องกับอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺของการกระทำนั้นๆ ส่วนคำว่า  ”อัลญ่ามาอะฮฺ”ที่บางคนหมายถึงคนส่วนมาก ความจริงแล้วหมายถึงสิ่งที่สอดคล้องกับความถูกต้องแม้ว่าจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้น.

 

ประการที่เจ็ด

         ผู้จัดงานเมาลิดคือผู้ต่อเติมศาสนา กล่าวคือหากถามพวกเขาว่า”ศาสนาอิสลามสมบูรณ์หรือบกพร่อง?” แน่นอนพวกเขาก็จะตอบว่า”สมบูรณ์แล้ว”จงกล่าวแก่พวกเขาว่า”มันจะสมบูรณ์ได้อย่างไรกันในขณะที่พวกท่านกล่าวว่า ยังมีอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดหายไปคือการจัดงานเมาลิด พวกท่านเชื่อว่าเป็นเรื่องศาสนาทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานใช้ให้กระทำ” อย่างนี้จะให้เข้าใจได้อย่างไรในเมื่อพวกท่านกล่าวว่า ศาสนาสมบูรณ์ แต่ว่ายังมีสิ่งหนึ่งขาดหายไปนั่นคือการจัดงานเมาลิด นอกจากว่าพวกท่านคือผู้ที่ต่อเติมศาสนา”

 

 ประการที่แปด

          หากว่าการจัดงานเมาลิดเป็นของดีจริง บรรดาชนยุคสลัฟต้องปฏิบัติก่อนพวกเราอย่างแน่นอน พวกเขาต้องไม่ละทิ้งเพราะว่าพวกเขาเป็นพวกที่ห่วงใยในเรื่องดี พิทักษ์รักษาเรื่องดียิ่งกว่าพวกเราหลายเท่านัก แต่ที่พวกเขาไม่จัดงานเมาลิดก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นการทำบิดอะฮฺ โดยเหตุนี้บรรดาสลัฟจึงมีอิจมาอฺ(มติเอกฉันท์)ให้ละทิ้งการจัดงานเมาลิด ซึ่งก็เป็นหลักฐานยืนยันว่างานเมาลิดไม่ใช่บัญญัติศาสนา เรื่องดีต้องเป็นการดำเนินตามผู้คนในยุคต้นอิสลาม เรื่องชั่วเป็นการตามผู้คนในยุคหลังๆ

 

ประการที่เก้า

         บรรดานักวิชาการให้คำจำกัดความของบิดอะฮฺไว้ว่า “การทำอิบาดะฮฺ(ศาสาพิธี)ที่ไม่มีหลักฐานยืนยันใช้ให้กระทำ” การจัดงานเมาลิดนบีเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาอิบาดะฮฺสำหรับผู้ที่ทำเมาลิด ดังนั้นหลักฐานจากอัลกุรอ่าน จากซุนนะฮฺ และจากแนวทางของชนสลัฟที่ใช้ ให้ทำเมาลิดอยู่ที่ไหน? หากว่าไม่อยู่ในขอบข่ายของบิดอะฮ์ในข้างต้นแล้วไซร้  แน่นอนว่าในโลกใบนี้คงจะไม่มีบิดอะฮฺ  ดังนั้นงานเมาลิดที่จัดกันขึ้นมาเพื่อเป็นอิบาดะฮฺนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานใช้ เมื่อไม่มีหลักฐานใช้มันจึงเป็นบิดอะฮฺโดยไม่ต้องสงสัย

 

 ประการที่สิบ

          แนวทางที่ดีที่สุดคือแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด และแนวทางของบรรดาซอฮาบะฮฺ ทางรอดและปลอดภัยในโลกนี้และโลกหน้าคือการดำเนินตามแนวทาง การยึดถือหลักเกณฑ์และการเจริญรอยตามแนวทางที่เที่ยงตรงของพวกเขา ในทางตรงกันข้าม การฝ่าฝืนแนวทางของพวกเขาคือหนทางแห่งความหายนะทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้นการนำแนวทางอื่นๆที่ไม่ใช่แนวทางของพวกเขามานำหน้าและใช้เป็นแนวทางของศาสนาจึงเป็นความหลงผิดตั้งแต่ต้นจนจบ

 

          ดังนั้นผู้ใดที่แสวงหาทางรอดและความปลอดภัย โปรดยึดมั่นแนวทางของชนสลัฟ  โปรดอดทนอดกลั้นและโปรดอย่าทำบิดอะฮฺเด็ดขาด ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่มีสิทธิ์อยู่ร่วมกับพวกเขาในวันกิยามะฮฺ(ชาติหน้า) จะถูกห้ามไม่ให้ดื่มน้ำจากแอ่งน้ำของท่านนบีมุฮัมมัด ในวันกิยามะฮฺ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิได้ดื่มคือประชาชาตินบีมุฮัมมัด ที่ไม่ทำบิดอะฮฺเท่านั้น ส่วนผู้ที่ทำบิดอะฮฺจะถูกขับไล่ออกจากแอ่งน้ำไม่ต่างอะไรกับอูฐหลงทางที่ถูกไล่ตะเพิดออกไป งานเมาลิดไม่ใช่แนวทางของสลัฟ ผู้จัดงานเมาลิดเป็นผู้ที่เฉไฉออกจากแนวทาง เป็นผู้ที่เอนเอียงออกจากหลักเกณฑ์ เป็นผู้ที่แสวงหาแนวทางของญาฮิลียะฮฺ(มืดมน)และเป็นผู้ที่เห็นแนวทางอื่นดีกว่าแนวทางของสลัฟ หากว่าตายไป  โดยที่ไม่ได้เตาบะฮฺ(กลับเนื้อกลับตัว)เขาต้องได้รับการลงโทษ

อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

 “ วันซึ่งบรรดาใบหน้าจะขาวผ่อง และบรรดาใบหน้าจะดำคล้ำ ส่วนผู้ที่ใบหน้าของพวกเขาดำคล้ำนั้น

(พวกเขาจะถูกถามว่า) พวกเจ้าได้ปฏิเสธศรัทธา หลังจากที่พวกเจ้าศรัทธาแล้วกระนั้นหรือ?

พวกเจ้าจงชิมการลงโทษเถิด เนื่องจากการที่พวกเจ้าปฏิเสธศรัทธา”

(อาละอิมรอน/๑๐๖)

          ท่านอิบนุ อับบ๊าส กล่าวว่า “บรรดาใบหน้าของชาวซุนนะฮฺจะขาวผ่องและบรรดาใบหน้าของชาวบิดอะฮฺจะดำคล้ำ” ดังนั้นการฝ่าฝืนแนวทางสลัฟคือนำพาสู่   หลักยึดมั่นที่หายนะและ การงานที่สูญเปล่า

 

ประการที่สิบเอ็ด 

          การจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดไม่ว่าจะเป็นวันเกิดท่านนบีหรือคนอื่นๆ เป็นการดำเนินตามแนวทางพวกยิวและคริสต์ ทั้งนี้เพราะว่าพวกอะฮฺลุลกิตาบ(ยิวและคริสตร์)มีการจัดงานในทำนองนี้ตลอดทั้งปีเช่น วันครบรอบวันเกิด วันแต่งงาน วันตาย เป็นต้น ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวห้ามไว้ว่า

( مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ)  “ผู้ใดที่เลียนแบบกลุ่มชนใดเขาก็เป็นกลุ่มชนนั้นด้วย”

         พวกคริสต์จะมีการจัดงานวันเกิดให้แก่นบีอีซาอะลัยฮิสสลาม ซึ่งเป็นแนวทางที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาเอง ดังนั้นการจัดงานเมาลิดนบีมุฮัมมัดตามความจริงแล้วก็คือรูปแบบหนึ่งจากบรรดารูปแบบของการลอกเลียนแบบพวกอะฮฺลุลกิตาบที่ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวถึงพวกนี้ไว้ว่า

 ( لَتَبَعُنَّ سُنَّةَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ، بَاعًا بِبَاعٍ، وَذِرَاعًا بِذِرَاعٍ، وَشِبْرًا بِشِبْرٍ، حَتَّى لَوْ دَخَلُوْا فِيْ جُحْرِ ضَبٍّ، لَدَخَلْتُمْ فِيْهٍ  قَالُوْا: يَا رَسُوْلَ اللهِ! اَلْيَهُوْدُ وَالنَّصَارَى؟ قَالَ فَمَنْ، إِذًا؟ )

 “แน่นอนว่าพวกท่านจะตามแนวทางของผู้ที่อยู่ก่อนหน้าพวกท่าน โดยตามแบบ วา ตาม วา ศอก ตาม ศอก คืบ ตาม คืบ

จนถึงขนาดว่าหากพวกเขาลงไปในรูแย้แน่นอนว่าพวกท่านต้องตามลงไป”

เหล่าซอฮาบะฮฺกล่ววว่า “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺครับ หมายถึงพวก คริสต์และยิวใช่หรือไม่?”

ท่านรอซูลุลลอฮฺตอบว่า”มันจะเป็นใครอีกเล่า”

         พวกเราถูกห้ามไม่ให้เลียนแบบพวกคริสตร์และยิวแม้กระทั่งเรื่องที่เล็กน้อยเช่น การหวีผม การโกนหนวด การโกนเครา เป็นต้น แล้วนับประสาอะไรกับการกระทำที่สอดคล้องกับพวกเขาในเรื่องที่เป็นอิบาดะฮฺนั่นคือการจัดงานวันอีด(รื่นเริง)แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องห้ามยิ่งกว่า

 

          ดังนั้นเป้าหมายของการแสดงออกถึงความรักท่านนบีมุฮัมมัด จึงไม่อนุญาตให้แสดงออกกันตามอำเภอใจได้ แต่จำเป็นต้องแสดงออกตามบัญญัติของศาสนาเท่านั้น เพราะว่าหลักฐานที่เป็นบัญญัติเรื่องพื้นฐานไม่ได้เป็นหลักฐานเรื่องวิธีปฏิบัติ.

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย / ดาวู๊ด  รอมาน