คุณค่าของการมีจรรยามารยาทดี
  จำนวนคนเข้าชม  8902

คุณค่าของการมีจรรยามารยาทดี


โดย : ฟะฎีละตุชเชค  มุฮัมมัด  บินซอและห์  อัลหุษัยมีน


          ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ  ผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอแท้จริงบรรดาการสรรเสริญอันงดงามยิ่งนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ  เราขอสรรเสริญพระองค์  เราขอความช่วยเหลือจากพระองค์  เราขออภัยโทษต่อพระองค์  เราขอกลับตัวสู่พระองค์  เราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ  ให้พ้นความชั่วร้ายของตัวเรา  และความไม่ดีจากการงานต่างๆ ของเรา  ผู้ใดที่พระองค์ทรงนำทางให้แก่เขาแล้ว  ก็ไม่มีผู้ใดทำให้เขาหลงทางได้  และผู้ใดที่พระองค์ทรงให้หลงทางแล้ว  ก็ไม่มีผู้ใดทำให้เขาสู่ทางถูกได้ 

          และข้าพเจ้าขอปฏิญานว่า  แท้จริงท่านนบีมูฮัมมัด  นั้นเป็นบ่าวของพระองค์เป็นศาสนฑูตของพระองค์  พระองค์ทรงแต่งตั้งท่านมาด้วยทางนำและศาสนาแห่งสัจธรรม  เพื่อที่จะให้ประจักษ์เหนือศาสนาทั้งหลาย  พระองค์ทรงแต่งตั้งท่านมาก่อนวันสิ้นโลก  เพื่อมาบอกข่าวดี  และข่าวร้าย   และเป็นการเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ  ด้วยอนุมัติของพระองค์  และเป็นดวงประทีปอันบรรเจิดท่านได้ทำหน้าที่ประกาศสาสน์นั้นแล้ว  ตลอดจนได้ปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนบรรดาประชาชาติแล้ว  พร้อมได้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ  เป็นการต่อสู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วน  จนกระทั่งวันที่ท่านกลับไปสู่พระเมตตาของพระองค์

    อัลลอฮฺ ทรงให้ผู้ที่มีความประสงค์จากบ่าวของพระองค์ได้รับความสำเร็จ  เขาจึงน้อมรับการเชิญชวนของท่าน  และดำเนินตามทางนำของท่านไป  และ

    อัลลอฮฺ ทรงให้ผู้ที่ด้อยความรู้ของพระองค์ได้ตกต่ำ  เขาจึงหยิ่งยโสไม่จงรักภักดีต่อท่าน  ไม่เชื่อการบอกกล่าวของท่านและฝ่าฝืนคำสั่งของท่าน  เขาจึงเป็นคนขาดทุนอย่างย่อยยับและหลงผิดอย่างห่างไกล


          คำว่า  :  อัลคุลุก  แปลว่า  มารยาท  ตามที่นักวิชาการให้ความหมายไว้นั้น  เป็นรูปร่างภายในของมนุษย์  เพราะมนุษย์นั้นมีอยู่สองรูปร่างด้วยกัน

          รูปร่างภายนอกที่มองเห็นได้  เป็นลักษณะเป็นรูปร่าง  และโครงสร้าง ที่เรียกว่า  คิลกอฮฺ ที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงสร้างเป็นเรือนร่างขึ้น  สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งหมด  มีทั้งรูปร่างที่ดี  สวย งดงาม  และมีที่ไม่สวยงาม  น่าเกลียด  หรือสวยก็ไม่เชิงไม่สวยก็ไม่ใช่

          อีกชนิดหนึ่งคือรูปร่างภายในนั้น  แบ่งเป็นสองประเภทด้วยกันมีทั้งประเภทที่ดีและไม่ดี  หรือที่เราเรียกกันว่า “อัลคุลุก”  แปลว่า  มารยาท  ดังนั้น  มารยาทก็คือรูปภายในที่มีในจิตใจมนุษย์มาแต่เดิม

 มีคำถามว่า : เรื่องของ  อัคลาก  นั้นเป็นมารยาทเดิมที่ดีมาแต่กำเนิด หรือ เป็นการฝึกฝนปรับปรุงให้มีมารยาทดีขึ้นมา

         คำตอบคือ  :  เรื่องของมารยาทนั้น  มีทั้งมารยาทที่ดีมาแต่กำเนิดและมารยาทที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงไม่เป็นที่ต้องสงสัยว่า  เรื่องของมารยาทนั้นเป็นทั้งมารยาทดีที่มีมาแต่กำเนิดได้  และสามารถปรับปรุงให้มีมารยาทดีได้เช่นเดียวกัน  หมายความว่า  มนุษย์บางคนนั้น  มีธาตุแท้แต่เดิมเป็นผู้มีมารยาทดีงาม  มนุษย์บางคนก็มีมารยาทดีโดยวิธีฝึกฝนปรับปรุงแต่งขึ้นได้

 

นบีมุฮัมมัด  กล่าวกับ อะซัจญฺ  อับดิลกอยส ว่า“แท้จริงในตัวท่านนั้นมีสองลักษณะ  ที่อัลลอฮฺทรงรักทั้งสองลักษณะนั้นคือ  ความอดทนและความสุขุม”

เขากล่าวว่า  "โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ฉันปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งสองลักษณะนั้น  หรือว่า อัลลอฮฺ ทรงสร้างฉันมาแต่เดิมอย่างนั้น" 

ท่านตอบว่า “หามิได้  อัลลอฮฺทรงสร้างท่านมาแต่เดิมเช่นนั้น"
 
เขาพูดว่า "อัลฮัมดุลลิลาฮฺ  ที่พระองค์ทรงสร้างให้ฉันมีพร้อมสองลักษณะนั้นที่พระองค์ทรงรักทั้งสองลักษณะนั้น  และร่อซูลุลลอฮฺก็เห็นชอบด้วย”

 

          จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่า  การมีมารยาทดีนั้น   เป็นได้ทั้งมารยาทที่มีมาแต่เดิม  และการปรับปรุงให้มีมารยาทขึ้น  หากแต่ว่ามารยาทดีที่ติดตัวมาแต่เดิมนั้น  เป็นสิ่งที่ดีกว่ามารยาทดีที่เกิดจากการปรับปรุงแต่งขึ้น เพราะสิ่งที่ติดตัวมาแต่เดิมเป็นธาตุแท้แต่กำเนิด  ไม่ต้องฝืนใจทำให้เป็นผู้มีมารยาทดี  ไม่ต้องเสแสร้างทำให้เป็นผู้มีมารยาทดีนั้นนับเป็นคุณความดีที่พระองค์ทรงโปรดปรานให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์  ผู้ใดที่มิได้เป็นเช่นที่กล่าวนี้  คือ  มิได้มีเป็นผู้มีมารยาทดีแต่กำเนิด  แต่สามารถปรับปรุงตนเองให้เป็นผู้มีมารยาทที่ดีงามได้  ด้วยการหมั่นฝึกฝนและพยายามปฏิบัติ


           และอย่างไหนจะดีกว่ากัน  ระหว่าง  ผู้ที่มีมารยาทดีเป็นอุปนิสัยดีที่มีมาแต่กำเนิด  กับผู้ที่พยายามปรับปรุงแต่งตนเองที่จะให้เป็นผู้ที่มีมารยาทที่ดี  ใครในสองลักษณะนี้มีสถานะสูงกว่ากันและได้รับผลบุญมากกว่ากัน

           ประเด็นนี้มีคำตอบว่า  ผู้ที่มีมารยาทดี  มีอุปนิสัยมาแต่กำเนิดจะมีความสมบูรณ์ยิ่งกว่าคนที่พยายามปรับปรุงให้ตนเป็นผู้มีมารยาทดีหรืออีกนัยหนึ่ง  คือ ผู้ที่มีมารยาทดีมาแต่เดิมนั้น  ไม่ต้องยุ่งยากลำบากไม่เกิดความผิดพลาดในบางเวลา  บางโอกาส  หรือบางสถานที่  เนื่องจากการมีมารยาทดีของเขานั้น  เป็นสัญชาตญานเดิมของเขา  ไม่ว่าในโอกาสใดที่ท่านพบเขา  ท่านก็จะเห็นเขาอยู่ในการมีมารยาทดีทุกครั้งไป  ฉะนั้น  ผู้ที่มีมารยาทดีเป็นอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิดจึงมีความสมบูรณ์แบบ


           สำหรับผู้ที่มีมารยาทดี  ที่เกิดจากการปรับปรุงแต่งขึ้น  หรือมั่นฝึกฝน  เขาผู้นั้นจะได้รับผลบุญ  ในการเป็นผู้ทำตนให้มีมารยาทดีที่สามารถต่อสู้กับจิตใจของตนเอง  แต่ในเรื่องของความสมบูรณ์แบบคงไม่เท่ากับผู้ที่มีมารยาทดีเป็นอุปนิสัยดีที่มีมาแต่กำเนิด

 บุคคลที่ถูกให้บังเกิดมา  เป็นผู้มีมารยาทดีแต่กำเนิด  หรือเป็นผู้ปรับปรุงตนเองให้เป็นผู้มีมารยาทดี  มีอยู่สี่ประเภท  คือ

 1.  คนที่ถูกห้าม  (ไม่มี)  มารยาทที่ดี

 2.  คนที่มีมารยาทดีมาแต่กำเนิด  แต่เขาหย่อนยานกับมารยาทเดิมนั้น

 3.  คนที่ถูกให้มีมารยาทดีแต่กำเนิด  และได้เพิ่มการมีมารยาทได้ดียิ่งขึ้น  ด้วยการปรับปรุงฝึกฝนให้ดีขึ้นอีก

 4.  คนที่ไม่มีมารยาทดีมาตั้งแต่กำเนิดเดิม  แต่เขาพยายามฝึกฝนปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก

           สรุปว่า  การมีมารยาทดี ผู้ที่มีมาแต่ดั้งเดิมโดยกำเนิดก็จะสมบูรณ์  ส่วนผู้ที่มิได้มีมารยาทดีตั้งแต่เดิมแต่เขาได้พยายามปรับปรุงตนเองเป็นผู้มีมารยาทดี  มีความยุ่งยากลำบากในการฝึกฝนตนเอง  เพื่อที่จะทำตนให้เป็นผู้มีมารยาทดี จากความพยายามปรับปรุงตนเองให้เป็นผู้มีมารยาทดี เขาจะได้รับผลบุญจากการกระทำนั้น


 มีคำถามว่าเรื่องของมารยาท  ที่มิได้ระบุหลักปฏิบัติทั้งในอัลกุรอาน  และในซุนนะฮ์ เราจะทราบได้อย่างไร  คำตอบคือ  ท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า

“ฉันได้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในการมีมารยาทที่ดี”


           จากเรื่องกล่าวนี้  เนื่องจากว่าหลักบัญญัติต่างๆ  ก่อนหน้าที่อัลลอฮฺ   ได้ทรงบัญญัติแก่บรรดาบ่าวของพระองค์ทั้งหมด  มีการส่งเสริมให้มีมารยาทที่ดีทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้นักวิชาการจึงระบุว่า  การมีมารยาทที่ดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากหลักบัญญัติ  ที่เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า  หากแต่ว่าศาสนาอิสลามสมบูรณ์แบบที่สุดที่ท่านนบี  นำมาครบถ้วนสมบูรณ์ในเรื่องของมารยาทที่ดีงาม

 

           ตัวอย่าง  เช่น  บทลงโทษเรื่องของการประหารชีวิต  ถ้ามีคนใดได้ไปทำร้ายคนอื่นแล้ว ในศาสนายิวเขาจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดสถานเดียวเท่านั้น  ไม่มีทางเลือกใดๆ  ทั้งสิ้น ในส่วนของศาสนาคริสต์นั้น  ตรงกันข้าม  คือ  จำเป็นต้องให้อภัยสถานเดียว สำหรับศาสนาอิสลาม  มีรูปแบบในการตัดสินที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งสองด้าน  มีทั้งการลงโทษ  และการให้อภัย  เพราะการเอาเรื่องและลงโทษคนร้าย  อันเนื่องจากการกระทำของเขานั้นเป็นการกำจัดและยับยั้งการทำความชั่ว  แต่การให้อภัยก็ถือว่าเป็นการแสดงความมีน้ำใจ และแสดงความงดงาม  พร้อมการทุ่มเทคุณธรรมให้แก่ผู้ที่ท่านได้ให้อภัยแก่เขา  ดังนั้น  ศาสนาอิสลามของเรา  อัลฮัมดุลิลลาฮฺ  มีรูปแบบการตัดสินที่สมบูรณ์ให้ผู้ที่มีสิทธิเรื่องของการลงโทษ  ส่วนที่จะเลือกเอาระหว่างการลงโทษหรือการให้อภัยนั้น  จะพิจารณา  ถ้าสมควรให้อภัยก็ให้อภัยเสีย  และถ้าสมควรลงโทษก็ลงโทษไปตามระเบียบ

 

แปลและเรียบเรียงโดย  :  อับดุลฆอนี   บุณมาเลิศ

ที่มา  อัลอิศลาห์สมาคม