ภราดรภาพ หนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิม 1
โดย... ปริญญา ประหยัดทรัพย์
ภราดรภาพในกรอบของอัลกุรอาน
พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
" แท้จริงมวลผู้ศรัทธาย่อมเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยในระหว่างพี่น้องสองฝ่ายของพวกเจ้า
และพวกเจ้าจงยำเกรงพระองค์อัลลอฮฺ เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา "
(ซูเราะฮ์อัล-หุญุรอต โองการที่ 10)
ภราดรภาพในกรอบของอัล-หะดีษ
ท่านนบีมูฮำหมัด ได้กล่าวว่า :
"แท้จริงผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธานั้นเปรียบเสมือนตัวอาคาร ที่แต่ละส่วนต่างยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน และพร้อมกันนั้นท่านก็ได้ประสานนิ้วมือ"
(รายงานโดยบุคคอรี)
พื้นฐานสัมพันธภาพระหว่างมวลมนุษย์ชาติ
มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้แม้จะแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภูมิประเทศ เผ่าพันธุ์ สีผิว ภาษา และอื่น ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา ความเป็นภราดรภาพต่อกันเพื่อสรรสร้างสังคมแห่งความสงบ และสันติสุข ความปลอดภัยให้แผ่ปกคลุมโลกใบนี้ ความแตกต่างทางชาติพันธ์และคุณลักษณะที่กล่าวมาแล้วนั้นมิใช่เป็นเส้นแบ่งคุณค่าและความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ แต่ทุกคนพึงได้รับสิทธิ์แห่งความสันติสุขโดยเท่าเทียมกัน
พระองค์อัลลอฮฺ ทรงแจ้งให้มนุษย์ทุกคนทราบถึงเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ของพวกเขาว่ามาจากอาดัม และฮาวา ผู้เป็นบิดาและมารดาคนแรกของมวลมนุษย์ชาติ โดยที่พระองค์ทรงบันดาลมนุษย์จากน้ำอสุจิที่ฟักตัวในมดลูก เพื่อเป็นจุดนัดพบแห่งความมีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้น ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า
"โอ้มวลมนุษย์ แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง
และบันดาลพวกเจ้าให้แตกเป็นเผ่าพันธุ์และเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพวกเจ้าจะทำความรู้จักซึ่งกันและกัน
แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ องค์อัลลอฮฺคือผู้มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงตระหนักยิ่ง"
(ซูเราะฮ์ อัล-หุญุรอต โองการที่ 13)
ดังนั้นการทำความรู้จักซึ่งกันและกันคือพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร หรือสังคมนั้นๆ อันเป็นศูนย์รวมแห่งสัจธรรมซึ่งยืนยันถึงสถานภาพที่บริบูรณ์ระหว่างมนุษย์กับองค์พระผู้อภิบาลของเขา และระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้
ภราดรภาพของชาติพันธุ์มนุษย์
ศาสนาอิสลามได้ประกาศชัดถึงความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ของมวลมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมาจากอาดัม ไม่มีใครประเสริฐกว่าใคร จะเป็นอาหรับหรือไม่ใช่อาหรับ คนผิวขาวกับคนผิวดำ นอกจากด้วยตราชั่งของศีลธรรมความยำเกรง ดังนั้นเหตุที่ต้องแบ่งเป็นชาติและเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ นั้นเพียงเพื่อให้ได้แลกเปลี่ยน ปฏิสัมพันธ์กัน มิใช่เพื่อให้มาขัดแย้งหรือห้ำหั่นกัน เกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดว่า ใครดีกว่า ประเสริฐเลอเลิศกว่านั้นอยู่บนฐานแห่งศีลธรรมความยำเกรง และการประกอบคุณงามความดีที่ส่งผลอันอเนกอนันต์ให้กับบุคคลและสังคม
พระองค์อัลลอฮฺ ทรงเป็นผู้อภิบาลของทุกคนทรงกำชับให้มวลบ่าวพิทักษ์รักษาความเป็นพี่น้อง มีภราดรภาพต่อกันด้วยไมตรีจิต พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานได้ประกาศถึงความหมายแห่งภราดรภาพไว้อย่างชัดเจนว่า
"โอ้มวลมนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าจงยำเกรงองค์อภิบาลของพวกเจ้า
ซึ่งทรงบันดาลพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (คืออาดัม) และบันดาลจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา (คือฮาวา)
และพระองค์ทรงแพร่พันธุ์ไปจากทั้งสองซึ่งผู้ชายและผู้หญิงเป็นจำนวนมาก และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ ซึ่งพวกเจ้าวอนขอพระองค์
และ (จงระวังการตัดขาด) ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แท้จริงอัลลอฮฺทรงสังเกตพวกเจ้า (ตลอดเวลา)"
(ซูเราะฮ์ อัน-นิซาอ์ โองการที่ 1)
อัตลักษณ์แห่งภราดรภาพ
อัตลักษณ์แห่งความเป็นภราดรภาพที่อิสลามประกาศยืนยันนั้นปรากฏอยู่ในหลักพื้นฐานทั่ว ๆ ไปด้วยการอธิบายว่า บทบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าดำรัสใช้กับมนุษย์นั้นวางอยู่บนกฎเกณฑ์ที่แน่นอน นั่นคือการศรัทธาว่า บรรดาศาสนฑูตทั้งหมดเป็นผู้ประกาศสาส์นจากพระเจ้า คัมภีร์ที่ถูกประทานแก่บรรดาศาสนทูตนั้นเป็นวิวรณ์ (วะห์ยู) จากพระองค์
เพื่อความเป็นภราดรภาพและเอกภาพ อิสลามได้ใช้วิถีทางที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือการที่มุสลิมถูกบัญญัติให้ศรัทธาต่อบรรดาศาสดาทุก ๆ ท่าน เชื่อในคัมภีร์ทุกเล่มที่ถูกประทานลงมาก่อนหน้านี้ ต้องให้เกียรติกับบทบัญญัติที่ผ่านมา และยกย่องในความดีของประชาชาติผู้มีศรัทธาที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
อิสลามนั้นไม่ใช่กฎเกณฑ์และหลักทางทฤษฎีเท่านั้น หากแต่อิสลามนั้นได้ก้าวไปสร้างแนวทาง และวิธีการในการปฏิบัติจริง ด้วยการกำหนดบทบัญญัติต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำความหมายทั้งหมดนี้เข้าไปในจิตใจ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยืนหยัดขึ้นในสังคม ดังนั้นอิสลามได้กำหนดสัญลักษณ์และบัญญัติต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามนั้นแล้วจะส่งผลให้เกิดภราดรภาพอันแท้จริง เช่น กิบละฮ์ ผู้ศรัทธาทุกคนจำต้องหันหน้าและมุ่งจิตใจสู่ “กะบะฮ์” อย่างน้อยวันละห้าครั้ง ซึ่งทุกคนจะรู้สึกและสัมผัสถึงเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความเป็นภราดรภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างมนุษย์ทั้งหมด
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิสลามได้เชิดชูความหมายแห่งความเป็นภราดรภาพทั้งในแง่ทฤษฎี และวิถีปฏิบัติด้วยการปลูกฝังความรู้สึกให้ซึมซาบเข้าไปในตัวของมนุษย์ และสะท้อนให้เขาเห็นถึงคุณค่าของภราดรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง
สำนักจุฬาราชมนตรี