การบริจาคทานช่วยนำพาสู่สังคมที่ดี
  จำนวนคนเข้าชม  9080

 

การบริจาคทานช่วยนำพาสู่สังคมที่ดี


แปลและเรียบเรียงโดย อ. อับดุลลอฮฺ อิบรอฮีม กรีมี


จากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ ว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ทุกอวัยวะทุกส่วนของมนุษย์ วาญิบ จะต้องบริจาคทานทุกวัน (ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น)

 - การที่ท่านให้ความยุติธรรมต่อคู่กรณีก็เป็นการบริจาคทาน

- การที่ท่านช่วยคนใดในการขับขี่ยานพาหนะ

- หรือโดยช่วยพยุงหรือประคองเขาขึ้นพาหนะ หรือช่วยหยิบยกสัมภาระ ให้แก่เขา ก็เป็นการบริจาคทาน

- และคำพูดที่ดี ก็เป็นการบริจาค

- และทุกอย่างก้าวที่เดินไปละหมาด ก็เป็นการบริจาคทาน

- และการที่ท่านขจัดอันตรายให้พ้นทางเดินก็เป็นการบริจาคทาน”

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ และมุสลิม)


อธิบาย

          พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อัลลอฮฺ  ที่มีต่อมนุษย์นับตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา ตราบจนกระทั่งถึง หลุ่มฝังศพนั้นมากมายสุดจะคณานับ การกตัญญูรู้คุณต่อพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมไว้ เป็นมารยาทที่ดีงามที่มุสลิม มุอฺมินควรประพฤติ

          ฉะนั้น ในวนะของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ที่กล่าวข้างต้น ท่านร่อซูลุลลอฮฺ จึงได้สนับสนุน ให้มุอฺมินแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่ออัลลอฮฺ ในการที่พระองค์ทรงบังเกิดมนุษย์มาในเรือนร่างที่สวยงาม มีอวัยวะที่วิจิตรพิสดาร เหมาะสมที่จะใช้ประกอบธุรกิจการงานและในการเคลื่อนไหว อีกทั้งพระองค์ยังปกปักษ์รักษามิให้เสื่อมสลาย ก่อนถึงเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดไว้

         ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้แนะนำให้มุสลิมรำลึกถึงความกรุณาเหล่านี้ของพระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอทุกเวลาเช้าเมื่อตะวันขึ้น โดยให้ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่จะต้องขอบคุณต่อพระองค์ นั่นก็คือด้วยการบริจาคทาน เพราะการบริจาคทานจะช่วยปกปักษ์รักษาอวัยวะต่างๆ ให้รอดพ้นจากอันตรายอันอาจจะมีขึ้นได้ ดังที่มีปรากฏในอัลฮะดีษ ว่า

 “การบริจาคทานจะช่วยผลักดันภัยพิบัติให้พ้นไป”

ตามนัยแห่งวัจนะของท่านร่อซูลลุลลอฮฺ  ที่ว่า

อวัยวะทุกส่วนของมนุษย์ วาญิบจะต้องบริจาคทานทุกวันที่ตะวันขึ้น”

         ย่อมแสดงให้เห็นว่า การขอบคุณในเนียะมัตต่างๆเหล่านี้ โดยการบริจาคทาน (ศอดะเกาะห์) นั้นเป็นวาญิบทุกวัน ซึงปรากฏในอีกฮะดีษหนึ่ง ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า


“แต่ถ้าหากเขาไม่ปฏิบัติแล้ว เขาก็จงระงับจากการกระทำชั่ว เพราะมันจะเป็นการบริจาคทาน(ศอดะเกาะหฺ) แทนให้แก่เขา”

         จึงย่อมจะอนุมานได้ว่า การบริจาคเพื่อเป็นการขอบพระคุณต่ออัลลอฮฺ  ในความกรุณาที่พระองค์ทรงบังเกิดอวัยวะต่างๆให้แก่มนุษย์ จะไม่เป็นวาญิบ (จำเป็น) แก่มุสลิมก็ต่อเมื่อเขาระงับการกระทำชั่วแทนการบริจาคทาน

          แล้วท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้ชี้แจงวิธีการที่จะบริจาคทานให้แก่ “ศอฮาบะฮ์” ของท่านเพื่อเป็นตัวอย่างว่า การที่ท่านให้ความยุติธรรม แก่คู่กรณีเป็นการบริจาคทาน กล่าวคือ เราจะต้องพยายามสมานรอยร้าวระหว่างคู่วิวาทพยายามขจัดสิ่งซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการเป็นศัตรูหรือทะเลาะวิวาทกันอันจะนำมาซึ่งภัยพิบัติอันใหญ่หลวงแก่สังคม สิ่งที่ศีลธรรมอันดีงามไม่ยอมรับ สิ่งที่บัญญัติศาสนาห้ามไว้ ก็จะถูกละเมิดในเวลาต่อมา

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ให้วจนะไว้ว่า

“ ฉันจะบอกสิ่งที่มีมรรคผลประเสริฐกว่าการละหมาด การถือศีลอด และการบริจาคทานแก่พวกท่านจะเอาไหม?

บรรดาศอฮาบะฮฺ ก็กล่าวว่า “เอาครับ”

                ท่านร่อซุลลุลลอฮฺ ก็กล่าวว่า “คือ การปรับปรุงแก้ไข (อิศลาฮฺ) ความแตกแยกกันในระหว่างมุสลิมีน ความชั่วร้ายแห่งความแตกแยกกัน มันเป็นมีดโกน ฉันมิได้หมายถึง มีดโกนผม แต่มันเป็นมีดที่โกนศาสนา”

         กล่าวคือ ความแตกแยกกันเป็นภัยอย่างมหันต์ต่อศาสนา มันจะทำลายล้างศาสนาให้พินาศย่อยยับในที่สุด ด้วยเหตุนี้ บัญญัติศาสนา จึงอนุญาตให้ผู้ที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมในการทะเลาะวิวาทกัน ให้เขากล่าวเท็จได้ ถ้าหากว่าการกล่าวเท็จนั้น จะมีผลให้พี่น้องของเขาที่ขัดแย้งกัน คืนดีกันได้ ดังฮะดีษของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ที่ว่า

 “ไม่ถือเป็นผู้โกหก ผู้ที่พยายามแก้ไขระหว่างสองคน”

         อัลกุรอานุลกะรีม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการแก้ไข(อิศลาฮฺ) ในระหว่างคู่วิวาทไว้ กับทั้งได้ชี้แจงว่า เป็นหน้าที่ที่สำคัญแห่งการเป็นภราดรภาพกัน ในระหว่างพี่น้องมุสลิมด้วยกันว่า

           “  และหากว่ามุสลิมสองหมู่ประหัตประหารกัน สู้เจ้าจงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นหากหมู่หนึ่งแห่งทั้งสองล่วงเกินต่ออีกฝ่ายหนึ่ง สู้เจ้าก็จงต่อสู้ฝ่ายที่ล่วงเกิน จนกว่าเขาจะกลับมาสู่คำบัญชาของอัลลอฮฺ แล้ว ถ้าหากกลับแล้ว สู้เจ้าจงปรับปรุงในระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และสู้เจ้าจงให้ความเที่ยงตรง แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรักพวกที่เที่ยงตรง แท้จริงมุอฺมินนั้นเป็นพี่น้องกัน ฉะนั้น สูเจ้าจงปรับปรุงระหว่างพี่น้องทั้งสองของสูเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺ หวังว่าสูเจ้าจะได้รับความเมตตา”

และ ในซูเราะห์ อัลฮุจร็อต อายะฮ์ที่ 9 อัลลอฮฺ ได้ทรงกล่าวไว้มีความหมายว่า

          “ไม่มีความดีใดๆในส่วนมากของคำเจรจาพาทีของพวกเขานอกจากผู้ที่ใช้ให้บริจาคทาน หรือใช้ให้ประกอบคุณความดีหรือให้ปรับปรุง (อิสลาฮฺ) กันในระหว่างเพื่อนมนุษย์ และผู้ใดปฏิบัติเช่นนี้โดยหวังความพอพระทัยของอัลลอฮฺ เราก็จะประทานรางวัลอันใหญ่หลวงแก่เขา”


         ข้อส่งเสริมให้กระทำดี สนองตอบเนี๊ยะมัตที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  แนะนำไว้ประการที่ 2 ก็คือ มุสลิมต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในทุกเวลาและทุกโอกาส เมื่อมีความสามารถ ท่านร่อซูล  ได้ยกตัวอย่าง การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เช่นในการขับขี่ยวดยานพาหนะ และในการช่วยหยิบยกสิ่งของสัมภาระในระหว่างขับขี่ไว้ว่า เป็นการบริจาคทานชนิดหนึ่ง ย่อมไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า การให้ความช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์ต่อผู้ที่มีความต้องการในทำนองนี้ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม เป็นศีลธรรมที่ประเสริฐการแสดงออกซึ่งไมตรีจิตเล็กๆ น้อยๆ นี้ จะเป็นเครื่องกระชับสัมพันธภาพให้แน่นแฟ้นมั่นคงอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นการกระทำที่แสดงถึงความถ่อมตนของผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อัลลอฮฺ  ทรงโปรดอีกด้วย

          ผลบุญแห่งความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จะมีมรรคผล และก่อประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติมากน้อยเพียงไร ขอให้เราพิจารณาจากฮะดีษของท่านร่อซูล  ที่ว่า

“และอัลลอฮฺ จะทรงอยู่ในฐานะ ให้ความช่วยเหลือแก่บ่าวตราบใดที่บ่าวผู้นั้นอยู่ในฐานะให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเขา”

          การบริจาคทานเป็นการสนองตอบความกรุณาที่อัลลอฮฺ ทรงบังเกิดอวัยวะต่างๆให้แก่มนุษย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาลิ้นของเขาไว้ มิให้เอ่ยคำพูดออกมา นอกจากสิ่งที่ดีงาม เขาจะต้องพยายามใช้ลิ้นของเขาในการซิกรุลลอฮฺ ในการอ่านกุรอาน ในการให้คำแนนำสั่งสอนพี่น้องของเขา ในการท่องจำวิชาความรู้ และในการเผยแผ่ คุณธรรมความดีให้มาก

          มุสลิมจะต้องระมัดระวังในเรื่องของลิ้นให้จงหนัก เขาจะต้องไม่ปล่อยบังเหียนของลิ้นไปตามอำเภอใจ เพราะว่าลิ้นเป็นต้นเหตุของโทษหนักมากมาย หลายชนิดด้วยกัน เช่น การโกหก การนินทา ใส่ใคล้ การยุแหย่ การเป็นพยานเท็จ การพูดลามก หยาบคาย และโทษอันอุกฤษฏ์อื่นๆ อีกมากมาย

ท่านมะอาซ อิบนิ ญะบะลิน รายงานว่า

ร่อซูลลุลลอฮฺ  ได้กล่าวแก่ฉันว่า "โอ้ ฉันจะแนะนำสิ่งสำคัญที่สุดแห่งงานทั้งงหมดให้แก่ท่านจะเอาไหม?

ฉันก็ตอบว่า “เอาครับ”

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ จึงกล่าวว่า “ท่านจงระงับสิ่งนี้ไว้” แล้วท่านก็จับปลายลิ้นของท่าน

มะอาซ จึงกล่าวว่า “พวกเราจะต้องถูกเอาโทษในสิ่งที่ใช้มันพูดด้วยหรือครับ?

                       ท่านร่อซูล ก็ตอบว่า “ท่านจงตายเสียเถิด มนุษย์นั้นมิได้ถูกล่ามจมูก หรือถูกลากคว่ำหน้าหย่อนลงในนรก ด้วยสิ่งอื่นใดหรอก นอกจากด้วยผลิตผลของลิ้นของพวกเขาเอง”


กับอีกฮะดีษหนึ่ง ท่านร่อซูลุลอฮฺ ได้กล่าวไว้

           “เมื่อลูกหลานของอาดัม (มนุษย์) ตื่นนอนขึ้น อวัยวะต่างๆจะมอบตนต่อลิ้น แล้วกล่าวว่า ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพราะแน่แท้ พวกเราต้องอยู่กับท่าน หากท่านเที่ยงตรงพวกเราก็เที่ยงตรงด้วย หากท่านคด พวกเราก็จะพลอยคดด้วย”


ครั้งหนึ่ง ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ถูกถามถึง “สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ต้องเข้านรกมากทีสุดว่าคืออะไร?”

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ตอบว่า “สิ่งที่เป็นโพรงทั้งสอง คือ ปากและทวาร”

กล่าวคือ ลิ้นและการกระทำซินา เป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เข้านรก มากที่สุด


          วิธีการบริจาคทานในอัลฮะดีษของท่านร่อซูล ประการที่ 4 ก็คือ การพยายามไปร่วมประกอบศาสนกิจที่มัสยิด ในเรื่องการไปร่วมประชุมกระทำการละหมาดที่มัสยิด  มีฮะดีษทั้งที่สนับสนุนให้ไป และที่คาดโทษผู้ฝ่าฝืน กล่าวไว้มากมาย ในที่นี้จะขอนำมาเสนอไว้บ้างตามสมควร

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “โอ้ ฉันจะแนะสิ่งที่อัลลอฮฺ จะทรงลบล้างความผิดและจะทรงยกตำแหน่งให้สูง แก่พวกท่านจะเอาไหม?

บรรดาศ่อฮาบะฮฺก็กล่าวว่า “เอาครับ”

               ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ก็กล่าวว่า คือ การอาบน้ำละหมาดให้เรียบร้อยทั่วถึงแม้ในยามฝืนใจ (เช่นเวลาหนาวจัด) และการก้าวไปยังมัสยิดให้มากก้าว และการรอคอยการละหมาดจากเวลาหนึ่ง ถึงอีกเวลาหนึ่ง เหล่านั้นแหละคือการผูก เหล่านั้นแหละคือการผูก”

          กล่าวคือ  การกระทำเช่นนี้ มีผลบุญประดุจดังเราผูกม้าไว้เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสงคราม  และอีกฮะดีษหนึ่ง ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวสนับสนุนการเดินไปละหมาดที่มัสยิดไว้ว่า

“จะบอกข่าวดีแก่ผู้ที่พยายามเดินไปมัสยิดในยามมืดค่ำเถิดว่า เขาจะได้รัศมีอันเจิดจ้าในวันกิยามะฮฺ”

         มีอีกรายงานหนึ่งว่า ตระกูลสะลามะฮฺซึ่งบ้านอยู่ห่างไกลจากมัสยิด พวกเขาจึงมีความปรารถนาที่จะขายบ้านของพวกเขา แล้วมาซื้อบ้านอยู่ใกล้ๆกับมัสยิด

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  จึงพูดกับพวกเขาเหล่านั้นว่า“พวกท่านไม่คำนึงถึงรอยเท้าของพวกท่านกันหรือ?”

         กล่าวคือ ทุกย่างก้าวที่เขาเดินไปมัสยิด อัลลอฮฺจะทรงเพิ่มผลบุญพร้อมทั้งลบล้างความผิดให้ ซึ่งยิ่งมากก้าวก็ยิ่งมีผลบุญและได้รับอภัยโทษมาขึ้นตามตัว


ข้อแนะนำประการสูงสุดท้ายแห่งวจนะของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ในฮะดีษนี้คือ

“ให้ขจัดอันตรายออกไปให้พ้นจากทางเดิน อันได้แก่สิ่งที่จะเป็นภัยต่อผู้ที่สัญจรไปมาบนท้องถนน"

(เช่น ก้อนอิฐ ก้อนหิน ขวากหนามสิ่งแหลมคม เปลือกกล้วย หรือสิ่งปฏิกลูลต่างๆ)

          ทั้งหมดเหล่านี้ นับว่าเป็นการบริจาคทาน (ศ่อดาเกาะหฺ) เพื่อเป็นการขอบพระคุณต่ออัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงบังเกิดอวัยวะต่างๆของเรา เป็นคุณธรรมขั้นต่ำสุด ซึ่งท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในอันดับสุดท้าย

 

          เท่าที่บรรยายมานี้ หากมุสลิม มุอฺมินใคร่ครวญความหมายของวจนะของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ที่ปรากฎในอัลฮะดีษอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็จะตระหนักถึงความห่วงใยของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ที่มีต่อประชาชาติของท่าน ฉะนั้นเราจึงแนะแนวทางไว้ให้ปฏิบัติ หากเรายังมีความเชื่อมั่นในอัลลอฮฺ  ในวันกิยามะฮฺ และตระหนักแน่ว่า อวัยวะต่างๆที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ และมอบไว้เป็นอามานะฮฺ ให้เราดูแลรักษาและจะต้องถูกสอบสวนในผลกรรมต่างๆที่อวัยวะนั้นปฏิบัติไว้ในดุนยา หากเราตระหนักดีในสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ควรที่เราจะแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีในพระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้ต่ออัลลอฮฺ   และเมื่อนั้นแหละเราจะได้พบกับสังคมที่สมบูรณ์แบบ สังคมที่มีการเกื้อกูลรักใคร่กันเป็นสังคมที่ปราศจากร่องรอยแห่งการเห็นแก่ตัว สังคมที่มีการเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะเป็นสังคมแห่งความร่มเย็นและสันติตลอดไป อินชาอัลลอฮฺ

 

ที่มา อัลอิศลาห์สมาคม