ซุนนะห์กับบิดอะห์
โดย... อุสตาส ยาซีส บิน อับดุลกอดีร อัลจาวัส
เมื่อกล่าวถึงซุนนะห์แล้ว ย่อมหมายถึง สิ่งต่างๆที่ถูกบัญญัติโดยท่านรอซูลุลลอฮฺ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ บิดอะห์ นั้นคือ สิ่งที่อุตริกรรมขึ้นมาใหม่ในศาสนา โดยที่ไม่มีแบบอย่างจากท่านรอซูลุลลอฮฺ
(ดู มัฟฮูมอะหฺลิสซุนนะห์ หน้า 32,35)
บิดอะห์ ในด้านภาษาศาสตร์ หมายถึง สิ่งใหม่ๆที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น (ดู ลิซานนุลอรับ เล่ม 1 หน้า 342 )
อิมาม อัชชาฏิบีย์ (รอฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า
مَا اخْتُرِعَ عَلَى غَيْرِ مِثَالٍ سَابِقٍ
“(บิดอะห์) คือ สิ่งต่างๆที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่โดยที่ไม่มีแบบอย่างก่อนหน้านี้”
ความหมายของ บิดอะห์ ในคำพูดดังกล่าว มีปรากฏอยู่ในพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
بَدِيعُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ
“พระองค์ผู้ทรงประดิษฐ์ชั้นฟ้า และแผ่นดิน”
(อัลบากอเราะห์ :117)
คำว่า بَدِيعُ (ประดิษฐ์)ในที่นี้ หมายความว่า อัลลอฮฺ ทรงประดิษฐ์ชั้นฟ้าและแผ่นดิน ด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ โดยที่ไม่มีผู้ใด เคยทำมาก่อน
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
قُلْ مَا كُنتُ بِدْعًا مِّنَ الرُّسُلِ
“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ฉันมิได้เป็นสิ่งใหม่จากบรรดาศาสนทูต”
(อัลอะห์กอฟ : 9)
คำว่า بِدْعًا สิ่งใหม่ ในที่นี้ คือ นบีมูฮำหมัด มิใช่ศาสนทูตคนแรก ที่จะเรียกร้องผู้คนสู่บทบัญญัติของอัลลอฮฺ แต่มีศาสนทูตหลายๆท่านแล้วที่ถูกส่งมาแล้วก่อนหน้านี้
ดังนั้น บิดอะห์ จึงหมายถึง สิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่มีรูปแบบหรือวิธีการในการปฏิบัติเลยก่อนหน้านั้น
ส่วน บิดอะห์ ในด้านชารีอะห์ หมายถึง สิ่งที่ถูกอุตริกรรมขึ้นมาใหม่โดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำพูด การกระทำ ในศาสนาและบทบัญญัติ โดยที่ไม่มีความชัดเจนจากท่านรอซูลุลลอฮฺ และบรรดาศอฮาบะห์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ
หะดิษบทหนึ่งรายงานจาก ท่านหญิงอาอิชะห์ (รอดิยัลลอฮฺฮุอันฮา) เล่าว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“ผู้ใดอุตริสิ่งใหม่ขึ้นในการงานของเรา โดยที่การงานนั้นไม่มีอยู่ในการงานของเรา ถือว่า(การงานนั้น)ถูกปฏิเสธ”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
และหะดีษอีกบทหนึ่งรายงานจาก ท่านหญิงอาอิชะห์ (รอดิยัลลอฮฺฮุอันฮา) เล่าว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ
“ผู้ใดปฏิบัติการงานหนึ่งโดยที่ไม่มีแบบอย่างจากเรา(นบีและบรรดาศอฮาบะห์) การงานนั้นย่อมถูกปฏิเสธ”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยมุสลิม)
ซัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ ได้ให้ความหมายของคำว่าบิดอะห์ ว่า
“บิดอะห์ คือ สิ่งที่ขัดแย้งกับอัลกุรอาน ซุนนะห์ และมิติเอกฉันท์ของอัสสลัฟฟุสศอลิหฺ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอากีดะห์ หรือในเรื่องของอิบาดะห์ เช่น คำกล่าวของพวกคอวาริจ ,รอฟิเฎาะห์, กอดารียะห์ , และญะห์มียะห์ หรือพวกที่ทำอิบาดะห์ด้วยการเต้นรำและร้องเพลงในมัสยิด ”
(ดู มัจมูอฺ ฟะตาวา)
บทสรุป
ซุนนะห์ คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับบิดอะห์ เมื่อถูกกล่าวว่า ได้ทำตามซุนนะห์ นั้นก็หมายความว่า ได้ทำตามสิ่งที่เป็นแบบอย่างจากท่านรอซูลุลลอฮฺ และบรรดาศอฮาบะห์(รอดิยัลลอฮฺฮุอันฮุม) และเมื่อถูกกล่าวว่า ได้ทำบิดอะห์ ก็หมายความว่า ได้ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับแบบอย่างของรอซูลุลลอฮฺ
และบรรดาศอฮาบะห์(รอดิยัลลอฮฺฮุอันฮุม)
แปลและเรียบเรียง มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์