ความยำเกรงหนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง
  จำนวนคนเข้าชม  37849

 

ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (ตักวา) หนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง


โดย... ปริญญา  ประหยัดทรัพย์

ตักวา คืออะไร?

       ตักวา  หมายถึง ความยำเกรง การยึดมั่นในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ด้วยความประสงค์ และมุ่งหวังในผลบุญแห่งการตอบแทนและเกรงกลัวต่อบทลงโทษของอัลลอฮ์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

อัต-ตักวา     ตามหลักภาษา หมายถึง การหักห้ามหรือป้องกัน

        อัต-ตักวา     ตามหลักศาสนา หมายถึง การป้องกันตนเองจากการฝ่าฝืน ละทิ้งการตั้งภาคี การกระทำสิ่งที่น่ารังเกียจ และบาปใหญ่ทั้งหลาย และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนาอย่างสมบูรณ์

 

ตักวาในกรอบของอัลกุรอาน

พระองค์อัลลอฮ์ ตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานเกี่ยวกับ “ตักวา” ว่า

" โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเคารพสักการะพระผู้อภิบาลของสูเจ้า

ผู้ทรงสร้างสูเจ้า และบรรดาก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้เกิดความยำเกรง"

  (ซูเราะฮ์ อัล-บะกอเราะฮ์ โองการที่ 21)

 

ตักวาในกรอบของ อัลหะดีษ

ท่านนบีมูฮำหมัด   ได้กล่าวว่า

" มนุษย์ที่มีเกียรติที่สุด คือผู้ที่มีความยำเกรง (พระเจ้า) มากที่สุดในหมู่พวกเขา"

(รายงานโดย บุคอรี  และมุสลิม)

 

อัตตักวาในมิติของบรรดาศอฮาบะฮ์

     ท่านอะลี  รอดิยัลล่อฮู่อันฮู กล่าวว่า ตักวา คือ การเกรงกลัวอัลลอฮ์ ปฏิบัติบทบัญญัติที่ประทานลงมา มีความพอเพียง และมีความพร้อมในการตระเตรียมเสบียงไว้เพื่อวันโลกหน้า

     ท่านอบีดัรดาฮ์ รอดิยัลลอฮูอันฮู กล่าวว่า  การตักวา คือการที่บ่าวคนหนึ่งได้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ด้วยการละทิ้งทุกอณูแห่งความผิดบาป สู่การปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาทุกประการ

     ท่านอิบนุอับบาส รอดิยัลลอฮูอันฮู กล่าวว่า : บรรดาผู้มีความตักวานั้น คือผู้ที่มีความระมัดระวังการลงโทษของอัลลอฮ์ ด้วยการปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม มีความหวังในพระเมตตาของอัลลอฮ์

 


อัตตักวาในมิติของปวงปราชญ์

ท่านอิบนุมุอ์ตะมิร กล่าวว่า : ท่านจงละทิ้งความบาปไม่ว่าบาปเล็ก หรือ บาปใหญ่ ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตักวา

ท่านหะซัน อัล บัศรีย์ กล่าวว่า : บรรดาผู้มีตักวาคือบุคคลที่ปกป้องตนเองจากสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงบัญญัติห้าม และปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดเหนือพวกเขา

 

สุนทรียภาพแห่งตักวา

          สัญชาตญาณแห่งความกลัว เป็นสิ่งยืนยันในความอ่อนแอและต่ำต้อยของมนุษย์ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปบ้างแต่ละคนแต่ละเหตุการณ์ เช่น กลัวความมืด ความยากจน หรือความตาย สิ่งที่มนุษย์กลัวมักจะเป็นสิ่งที่ตนเองไม่เคยประสบมาก่อนหรือยังไม่อุบัติขึ้น เช่น ความตาย

          ความกลัวในสิ่งต่าง ๆ เป็นอุปทานคอยหลอนจิตใจให้กลายเป็นคนขี้ขลาด อ่อนแอ ขาดพลังทางจิต ไม่กล้าเผชิญต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่ความกลัวอัลลอฮ์จะทำให้เป็นคนที่เข้มแข็ง เป็นตัวของตัวเอง สามารต่อสู้กับปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้กล้าที่จะเผชิญกับทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคล เหตุการณ์ หรือสภาวการณ์ก็ตาม

          ♦ ความกลัวอัลลอฮ์  เป็นความรู้สึกรวบยอดที่ตระหนักในหน้าที่ของตนต่ออัลลอฮ์ รู้ซึ้งถึงอำนาจของพระองค์ และตระหนักถึงโทษทัณฑ์ที่จะถูกลงโทษ เมื่อฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ ดังนั้นเมื่อเรามีความกลัวอัลลอฮ์อย่างแท้จริง เราจะไม่หวั่นวิตกต่อสิ่งอื่นใด และจะเกิดพลังจิตที่แข็งกล้า เสริมพลังทางสติปัญญาให้มั่นคงยิ่งขึ้น แล้วสิ่งดีงามทั้งหลายก็จะถูกประทานลงมาให้อย่างมากมาย นั่นคือ ได้รับทางนำและความเมตตาจากอัลลอฮ์ ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า

" การชี้นำและความเมตตาจักประสบแก่ บรรดาผู้ยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของเขา"

  (ซูเราะฮ์ อัล-อะฮ์รอฟ โองการที่   134)


          ♦ ผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮ์  จิตใจและบุคลิกภาพของเขามีความอ่อนน้อม อ่อนโยน มีคัมภีรภาพ พระองค์จักประทานองค์ความรู้ให้แก่เขา ซึ่งผลพวงจากความรู้นั้นจะทำให้เขามีความกลัวต่ออัลลอฮ์  อย่างแท้จริง ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า

" โดยแท้จริงผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮ์จากปวงบ่าวของพระองค์คือ ผู้มีวิชาความรู้ "

  (ซูเราะฮ์ฟาฏิร โองการที่  28)

         ♦ ความเกรงกลัวอัลลอฮ์ เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่ทำให้มวลผู้ศรัทธามีจิตใจมั่นคงพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กล้ำกรายด้วยความยินดีต่อการทดสอบของพระองค์ และพระองค์ก็จะทรงให้ความยินดีต่อเขาด้วย ดังโองการจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า

" อัลลอฮ์ทรงยินดีต่อพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีต่อพระองค์ นั่นคือสำหรับผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขา"

   (ซูเราะฮ์ อัล-บัยยินะฮ์ โองการที่  8)

         ♦ ความเกรงกลัวอัลลอฮ์ เป็น แรงบันดาลใจให้มีความสุขกับการละหมาด การบริจาคทาน และการปฏิบัติศาสนกิจอื่น ๆ อันเป็นความสุขแห่งสวรรค์ในโลกนี้และผลจากการดังกล่าวเขาจะได้พบกับสวรรค์ในปรโลกอย่างแน่นอน ดังโองการจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ระบุว่า

" และผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮ์ ตำแหน่งแห่งองค์อภิบาลของเขาจะได้รับรองสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน"

   (ซูเราะฮ์ อัร-เราะห์มาน โองการที่  46)

ความสำเร็จของผู้ตักวา

         ตักวาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการที่จะได้มาซึ่งความรัก ความเมตตา และความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ เป็นวิถีที่นำไปสู่ความใกล้ชิดและจงรักภักดีต่อพระองค์ ตักวา คือ ความหวัง ความปรารถนาและเสบียงของผู้ศรัทธา ดังนั้นผู้ที่ตักวา เขาจะได้รับผลลัพธ์แห่งการตอบแทน ดังนี้

♥ ได้รับการปกป้องให้พ้นภัยจากศัตรู  ดังโองการจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า

"และถ้าหากพวกเจ้าอดทน และยำเกรงแล้วไซร้ อุบายของพวกเขาก็ย่อมไม่เป็นอันตรายแก่พวกเจ้าแต่อย่างใด"

 (ซูเราะฮ์ อัล-อะลิอิมรอน โองการที่  120)

♥ ได้รับการอภัยโทษ และรางวัลอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์  จากอัลกุรอาน  ความว่า

" โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮ์ และจงกล่าวถ้อยคำที่เที่ยงตรงเถิด

พระองค์จะทรงปรับปรุงการงานของพวกเจ้าให้ดีขึ้นสำหรับพวกเจ้า

และจะทรงอภัยโทษความผิดของพวกเจ้าให้แก่พวกเจ้า

และผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ แน่นอนเขาได้รับความสำเร็จอันใหญ่หลวง"

 (ซูเราะฮ์ อัล-อะห์ซาบ  โองการที่  70-71)

♥ ได้รับเกียรติจากอัลลอฮ์ จากอัลกุรอาน  ความว่า

" แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า"

  (ซูเราะฮ์ อัล-หุญุรอต  โองการที่  13)

♥ ปลอดภัยและรอดพ้นจากไฟนรก จากอัลกุรอาน   ความว่า

" แล้วเราจะให้บรรดาผู้ยำเกรงรอดพ้น และเราจะปล่อยให้บรรดาผู้อธรรมคุกเข่าอยู่ในนั้น"

   (ซูเราะฮ์ มัรยัม  โองการที่  72)

♥ เข้าสู่สรวงสวรรค์ของอัลลอฮ์ จากอัลกุรอาน  ความว่า

"และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษ จากพระเจ้าของพวกเจ้า

และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดิน"

  (ซูเราะฮฺ  อาลิอิมรอน   โองการที่  133)

♥ พบกับทางออกแห่งชีวิตเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ และได้รับปัจจัยยังชีพ  จากอัลกุรอาน  ความว่า

" และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาโดยที่เขามิได้คาดคิด"

  (ซูเราะฮ์ อัต-ฎอล๊าก  โองการที่  2-3)

คุณค่าของตักวา

        ตักวา คือ กระบวนการก่อให้เกิดมรรคเกิดผล ซึ่งผู้ที่ตักวาจะได้รับทั้งในโลกนี้และโลกหน้าเพื่อที่จะได้เป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในอาณาจักรแห่งความรัก ความเมตตาของพระองค์ ซึ่งคุณค่าของตักวานั้นก่อให้เกิดผลดังต่อไปนี้

ตักวา      เป็นกระบวนการจำแนกความจริงออกจากความเท็จ

ตักวา      คือ  เสบียงที่ดีที่สุดของมวลผู้ศรัทธา

ตักวา      คือ  กำแพงป้องกันให้รอดพ้นจากการกล้ำกรายของชัยฏอนมารร้าย

ตักวา      เป็นเหตุทำให้บ่าวได้รับทางนำแห่งสัจธรรม

ตักวา      เป็นเหตุทำให้รอดพ้นจากความทุกข์ยาก ได้รับริสกี สะดวกง่ายดาย

ตักวา      เป็นเหตุให้เขาเป็นคนรักของอัลลอฮ์

ตักวา      เป็นเหตุให้การประพฤติปฏิบัติของเขาถูกตอบรับ

ตักวา      เป็นเหตุให้ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์

ตักวา      เป็นเหตุให้เขาอยู่ใต้ร่มเงาและใกล้ธารน้ำในสรวงสวรรค์

ตักวา      เป็นเหตุให้ได้รับความสำเร็จและความดีงามในโลกนี้และโลกหน้า

ตักวา      เป็นเหตุแห่งการได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์

ตักวา      เป็นมาตรวัดความมีเกียรติและความแตกต่างระหว่างมนุษย์ในทัศนะของอิสลาม

         จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า “ตักวา” นั้นเป็นสัญชาตญาณอันดีที่อัลลอฮ์ ประทานแก่มนุษย์ด้วยการทำความดี ซึ่งมนุษย์จะได้รับแนวทางที่ถูกต้อง และเขาก็จะยิ่งได้รับความยำเกรงเป็นสัญชาตญาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

          ตักวา คือ สภาพของหัวใจ เป็นสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์ และงดงามที่สุดของหัวใจซึ่งนำไปสู่การทำความดีทั้งปวง การมีตักวาคือสาระสำคัญและเป็นวิญญาณของคำสอนแห่งอิสลาม เป้าหมายสูงสุดของการเคารพสักการะอัลลอฮ์  และการประกอบศาสนกิจทั้งปวง รวมถึงคำสอนทางศีลธรรม คือการก่อให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ อย่างแท้จริง ดังที่ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด ได้กล่าวคำปราศรัยในการประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งสุดท้ายว่า

"ชนชาติอาหรับมิได้เหนือกว่าคนที่มิใช่อาหรับ และคนผิวขาวก็มิได้เหนือไปกว่าคนผิวดำ

แต่คนที่มี “ตักวา” ยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุดต่างหากคือผู้มีเกียรติที่สุด"

 

          เนื่องจากความยำเกรงอัลลอฮ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในอิสลาม ความแตกต่างที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเอง เช่น เผ่าพันธุ์ สีผิว เชื้อชาติ ครอบครัว ทรัพย์สิน และบรรพบุรุษจึงถูกลบออกไปด้วยคำสอนของท่านนบีมูฮำหมัด และมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เหลือไว้ใช้วัดเกียรติ และความแตกต่างกันของมนุษย์ นั่นคือความยำเกรงต่ออัลลอฮ์  ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า

" โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง

และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน

แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้นคือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า"

 (ซูเราะฮ์ อัล-หุญุร๊อต โองการที่  13)

 

 


สำนักจุฬาราชมนตรี