เวลาที่เหลือของผู้ศรัทธา
โดย... อาจารย์ มุญาฮิด ลาตีฟี
พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงมีความยำเกรงต่อ อัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม
พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย วันเวลา ได้สับหมุนเวียนเปลี่ยนไปกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา บางครั้งก็มีความสุข บางครั้งก็มีความทุกข์ บางครั้งก็อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สุขภาพที่ดี บางครั้งก็อยู่ในสภาพซึ่งที่เจ็บป่วย อ่อนแอ ทั้งหลายทั้งปวงนั้น คือสภาพความเป็นอยู่ในดุนยา ที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่คงอยู่ในสภาพเดิม จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
แต่สิ่งสำคัญ สำหรับเราในฐานะที่เป็น มุอ์มิน ผู้ศรัทธามั่น ต่อ อัลเลาะห์ และหลักการอิสลามนั้น จำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องบริหาร จัดการ เวลา ให้เป็นไปตามที่อิสลามได้กำหนดไว้ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า อุดมการณ์แห่งอิสลามได้บอกเราถึงสถานะความเป็นอยู่ในดุนยา ในสิ่งที่ท่าน นบี ได้กล่าวกับท่าน อิบนิอุมัร ว่า
“ท่านจงอยู่ในดุนยา ประหนึ่งว่าท่าน เป็นบุคคลต่างถิ่น หรืออยู่ในฐานะของบุคคลซึ่งที่เดินทางผ่าน”
ด้วยกับคำบอกกล่าวของท่าน นบี ท่าน อิบนุอุมัร ได้กล่าวเสริมว่า
“เมื่อท่านอยู่ในยามเย็น ท่านอย่าได้รอคอยยามเช้า”
นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาใดซึ่งเราได้มีโอกาสยังมีชีวิตอยู่ จงทำเถิด ในสิ่งซึ่งที่จะยังประโยชน์ต่อตัวท่าน ยังประโยชน์ต่อตัวเรา ทั้งใน ดุนยา และ อาคิเราะห์ ในทำนองเดียวกัน “เมื่อท่านอยู่ในยามเช้า ท่านอย่ารอคอยในยามเย็น”
หลักการอิสลามไม่ให้เราประวิงเวลาต่อการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นคุณธรรมความดีงาม ในช่วงเวลาที่เรามีโอกาสที่จะกระทำ จงฉกฉวยเวลาของการมีสุขภาพที่ดี ก่อนที่ช่วงเวลาของการเจ็บป่วยจะมาเยือน จงฉกฉวยเวลาในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่ความตายจะมาเยือน
เราทุกคนมีชีวิตอยู่ในดุนยา นี้ เรามี ๓ ช่วงเวลาเท่านั้น หรืออาจจะมีเพียงแค่ ๒ ช่วงเวลา เวลาแรก คือ
♥ เมื่อวาน ซึ่งที่เราไม่มีโอกาสที่จะกลับย้อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มพูนอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน
♥ วันวาน เวลาที่สอง คือ เวลา ณ ปัจจุบัน คือ วันนี้ ที่เราจะมีโอกาสต่อการที่จะเลือกสรร ต่อการที่จะกระทำหรือละทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป
♥ ส่วนพรุ่งนี้นั้น เป็นช่วงเวลาที่อาจจะมีสำหรับบุคคลหนึ่ง และอาจจะไม่มีสำหรับอีกบุคคลหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เวลาของเราที่แน่นอนที่สุดก็คือวันนี้ วินาทีนี้ ต่อการที่เราจะสำรวจ ตรวจสอบ ว่าวันวานเราได้กระทำอะไรลงไป ในสิ่งที่สอดคล้องหรือขัดแย้งต่อหลักการอิสลามหรือไม่ แน่นอนที่สุดว่า เมื่อเราได้พินิจพิจารณา ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว สิ่งใด อะไรก็ตาม ที่เราได้รับการเตาฟีกจาก อัลเลาะห์ ได้รับพลังใจจาก อัลเลาะห์ ได้กระทำในสิ่งที่ดี เราจงเพิ่มพูนในสิ่งนั้นเถิด แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเราทำในสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักการอิสลาม ให้เราพยายามที่จะ เตาบัตตัว และไม่หวนกลับไปกระทำสิ่งนั้นอีก
ความต้องการสูงสุดกับเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ ในฐานะที่เป็นผู้ศรัทธามั่นต่อ อัลเลาะห์ คือ ความสุข ความสบายใจ ความอิ่มเอมใจ ที่เราจะได้รับในดุนยา และ อาคิเราะห์ ซึ่งความต้องการของเราขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ที่จะนำพาไปสู่ความสุขในดุนยาและอาคิเราะห์
ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย ท่านนบีมุฮำมัด ได้กล่าวกับท่าน أبا الدرداء ไว้ว่า
“ท่านจงแสวงหาสิ่งที่ดี สิ่งที่ ฮาล้าล และจงปฏิบัติ อมั้ล ซึ่งที่ ซอและห์ สมบูรณ์ในรูปแบบของ อัลอิสลาม
และจงขอต่อ อัลเลาะห์ และจงนับตัวท่านนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากบุคคลที่ตายไปแล้ว”
ปัจจัย สาเหตุคือการที่จะต้องย้อนกลับมาดูตัวเราว่า อาชีพที่ประกอบอาชีพนั้น เป็นอาชีพที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำหรือไม่ เพราะสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลในด้านดีและไม่ดี ไม่ใช่เฉพาะกับตัวเราในฐานะที่เป็นพ่อ เมื่อใดก็ตามทรัพย์ที่ได้มา เงินทองที่ได้มา มีสิ่งที่ฮารอมเจือปน มีสิ่งที่อิสลามต้องห้าม เราเอามากิน เอามาให้ลูก เอามาให้ภรรยา เอามาให้กับบุคคลซึ่งเรารับผิดชอบ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความคิด ความอ่าน การพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่มันเกิดขึ้นในหัวใจนั้น แน่นอนที่สุดว่า จะเป็นไปในทางลบ เป็นไปในทางที่ไม่ต้องการ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเงินทองที่เราได้รับ เป็นเงินทองที่ ฮาล้าล เป็นเงินทองซึ่งที่ศาสนาอนุญาตต่อการที่จะประกอบอาชีพนั้น ผลบวกที่ได้รับก็คือ กับตัวเรา กับครอบครัว กับบุคคลซึ่งที่ได้รับเงินนั้นไป ก็จะได้รับความมงคลที่มันเกิดขึ้นในทรัพย์สิน
ประกอบกับการปฏิบัติตัว ที่มีต่อความหลากหลายในอาชีพ พ่อค้า นักธุรกิจ ลูกจ้าง นายจ้าง และอาชีพอื่น ๆ จะต้องผสมผสานความเป็นเราในฐานะผู้ศรัทธาให้กลมกลืนกับอาชีพที่ทำ อาชีพที่ ฮาล้าล ถ้าหากว่า เรากระทำแล้ว นำพาไปสู่การละทิ้งสิทธิของที่มีต่อ อัลเลาะห์ ในสิ่งที่เป็น ฟัรดู ต่าง ๆ ทำให้ต้องเสียสิทธิ์ต่อการที่จะมอบให้กับผู้ที่สมควรจะได้รับสิทธิ์นั่น หมายถึง ผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา พึงระวังไว้เถิดว่า อาชีพนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียกับเรา
เป้าหมาย การใช้ชีวิตในดุนยานี้ ท่าน อิหม่าม อะห์หมัด อิบนุฮัมบั้ล ได้แบ่งเป้าหมายของผู้ที่เป็น มุอ์มิน ผู้ศรัทธา นั่นคือ ความสมถะ(زهد) ซึ่งท่านแบ่งไว้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
♣ ความสมถะของสามัญชนทั่วไป นั่นก็คือเรา จะต้องละทิ้งสิ่งที่ ฮารอม ที่มันเกิดขึ้นทางความคิด ทางคำพูด ทางการปฏิบัติ รวมถึงสิ่งซึ่งที่เราแสวงหาให้ได้มา นั่นคือทรัพย์สินต่าง ๆ
♣ ส่วนปะเภทที่ ๒ คือ ละทิ้งส่วนเกินจากสิ่งที่ฮาล้าล ส่วนที่มันเกินจากสิ่งที่ ฮาล้าล นั่นคือความสมถะของบุคคลชั้นพิเศษ
♣ ส่วนประเภทที่ ๓ คือความสมถะของผู้ที่รู้จัก อัลเลาะห์ คือการละทิ้งสิ่งที่จะทำให้ พะวง กังวล ออกจากการระลึกถึง อัลเลาะห์
เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า เวลาเป็นสิ่งซึ่งที่เราจะต้องหวงแหน เรารู้ เราเข้าใจต่อภาระหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องแบกรับ ถ้าหากจะย้อนไปในอดีต ในยุคซัยดินาอุมัร ในช่วงเวลาที่ท่าน มุอาวิยะห์ อิบนุ ค่อดีจ ได้มาบอกข่าวดีกับท่าน อุมัร ถึงการพิชิตเมืองอเล็กซานเดีย ในประเทศอียิปต์ ช่วงเวลาที่ท่าน มุอาวิยะห์ได้มาถึงมหานครมะดีนะห์ ตรงกับเวลาพักผ่อน โดยที่ท่านมุอาวิยะห์คิดว่าซัยดินาอุมัรนั้นนอนหลับอยู่เพื่อที่จะพักผ่อน แต่ภายหลังก็ทราบว่าท่านไม่ได้นอน ซัยดินาอุมัรได้กล่าวว่า
“ถ้าหากว่าฉันหลับในช่วงเวลากลางวัน แน่นอนที่สุดว่า ฉันจะทำให้สิทธิของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของฉันต้องสูญเสียไป
และหากว่าฉันนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน แน่นอนที่สุดว่าฉันจะทำให้สิทธิของ อัลเลาะห์ สูญเสียไป”
โอ้มุอาวิยะห์ เอ๋ย การนอนระหว่าง ๒ สิทธิ์นี้ จะเป็นเช่นไร ?
นั่นคือผู้นำของรัฐอิสลามที่เป็นแบบฉบับตัวอย่างให้กับเราในฐานะที่เป็นมุอ์มินผู้ที่จะต้องรับผิดชอบกับตัวเรา กับครอบครัวของเรา กับผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีภาระที่ต่างกัน หนักบ้าง เบาบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราจะต้องพิจารณาเวลา ที่เราจะต้องมอบให้กับผู้ที่คู่ควรจะได้รับสิทธิ์เวลานั้นก่อน โดยลำดับ เรียบเรียง บุคคลที่สมควรจะได้รับสิทธิ์จากเราก่อน-หลัง เพื่อที่เราจะได้ใช้เวลานั้นให้เหมาะสมกับคุณค่าของมัน
ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย ในฮะดีษบทหนึ่งที่ท่านนบี ได้บอกกับเราว่า
“ไม่มีวันหนึ่งวันใดที่ดวงอาทิตย์ได้ขึ้น นอกจากมันจะเป่าร้องออกมาว่า โอ้มนุษย์เอ๋ย ฉันนั้นคือวันใหม่ และฉันเป็นพยานต่อการกระทำของท่าน
ท่านจงฉกฉวย กอบโกยจากฉันเถิด เพราะแท้จริงตัวฉันนั้นจะไม่หวนกลับมาจนกว่าจะถึงวันกิยามะห์ ”
พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย จงไตร่ตรอง พิจารณาถึงต้นทุนที่ อัลเลาะห์ ได้มอบให้กับเรา นั่นคือเวลา ทำทุกช่วงเวลาที่เรามีโอกาส ที่เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่จะก่อประโยชน์กับตัวเรา กับครอบครัวของเรา กับสังคมของเรา ตามความสามารถที่เราจะกระทำได้ อินชาอัลเลาะห์ ถ้าหากเราเข้มงวดกับเวลาที่เรามี เราก็จะได้รับประโยชน์กับสิ่งที่เราเรียกว่าต้นทุนของชีวิต เพื่อที่จะทำต้นทุนนี้ไปต่อถึงผลกำไรที่เราจะได้รับหลังจากที่เราได้ตายจากไปแล้ว
คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ