สาเหตุของความแตกแยกในประชาคมมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  6128

 

สาเหตุของความแตกแยกในประชาคมมุสลิม


โดย... ดร.ฏ็อบรอนีย์   บิลล่าเต๊ะ


เหตุใดสภาวะความลุ่มหลงโลกจึงทำลายประชาชาติหนึ่ง ๆ ได้ ?

        เมื่อโลกกลายเป็นเป้าหมายในการดำรงชีวิต คนเราก็ย่อมทุ่มเทและเสียสละทุกสิ่งได้ เพื่อเป้าหมายของตนเอง น่าเศร้าก็ตรงที่การทุ่มเทชีวิตเพื่อความสุขทางโลกฝ่ายเดียว ไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จและความสุขอันยั่งยืนแก่คนเราเลย หากแต่นำมาซึ่งความแห้งแล้งของจิตใจ การทำลายล้าง และการแตกแยกแบ่งฝ่ายมิสิ้นสุด เพราะในความเป็นจริง ชีวิตโลกวนเวียนอยู่กับความสุขไม่กี่ประการ ได้แก่

♥ ความสุขจากการเสพรูป รส กลิ่น เสียง และการละเล่นต่าง ๆ   

♥ ความสุขจากการครอบครองทรัพย์สิน 

♥ ความสุขจากการเถลิงอำนาจ

 

รูป รส กลิ่น เสียง

         รูป รส กลิ่น เสียงและการละเล่นต่าง ๆ มิใช่ความชั่วช้าที่บุคคลพึงหลีกเลี่ยงตัดขาด แต่การเสพอย่างลุ่มหลงต่างหากที่เป็นบ่อเกิดของความชั่วร้าย ความลุ่มหลงต่อรูป รส กลิ่น เสียง มักทำให้คนเราละเลยการใช้สติปัญญา แต่จะกระทำการต่าง ๆ เพื่อมุ่งตอบสนองกิเลส ตัณหา อารมณ์เป็นหลัก เมื่อมีคนแบบนี้มาก ๆ ในสังคมหนึ่ง ๆ จะทำให้การแสวงหาความรู้กลายเป็นสิ่งเล็กน้อยกระจ้อยร่อย ไร้ความสำคัญ เพราะเวลาของคนส่วนใหญ่มักหมดไปกับการหาความบันเทิงเริงรมย์นั่นเอง แม้อาจมีผู้ศึกษาร่ำเรียนอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อแสวงหา ไขว่คว้าปัจจัยอันจะทำให้ตนได้เสพสมตามอารมณ์ปรารถนา มากกว่าจะแสวงหาความรู้เพื่อนำชีวิตสู่ความดีงาม

        สังคมที่ผู้คนใช้อารมณ์มากกว่าความคิดและสติปัญญา จึงเกิดความแตกแยก แบ่งฝ่ายได้ง่าย เนื่องจากขาดความรู้ที่ช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของญะมาอะฮ์ ผู้รู้ที่มีอยู่ก็กลายเป็นผู้รู้ที่มุ่งเน้นเผยแพร่แต่เฉพาะความรู้ในมิติของปัจเจกบุคคล แต่ไม่ให้น้ำหนักกับความรู้ที่ทำให้เกิดเอกภาพในสังคม การเน้นมิติของปัจเจกมากเกินไป นำสู่ความขัดแย้งในหมู่ผู้รู้กันเอง และต่างแข่งขันกันเพื่อสร้างความโดดเด่นแก่ตน โดยไม่สนใจว่าสังคมจะแตกสลายอย่างไร

         ขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเบื่อหน่ายการหาความรู้ ก็ถูกชักจูงได้ง่าย ลุ่มหลงต่อตัวบุคคลที่ตัวเองนับถือ และยึดมั่นต่อสถาบันที่ตนเองศึกษา มากกว่าจะรู้จักใคร่ครวญหาความถูกต้อง ด้วยการใช้สติปัญญาที่มีอยู่ในตัว ที่สุดแล้วระบบการปกครองในสังคมแบบนี้จะย่อหย่อน อ่อนแอ และล้มเหลว เป็นสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตตามอำเภอใจ เต็มไปด้วยการแข่งขัน แก่งแย่ง และมุ่งทำลายคู่แข่ง โดยไม่มีใครเชื่อฟังใคร

 

ทรัพย์สิน
 

     หลายครั้งในหลายครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่พี่น้อง ขาดสะบั้นลง เพราะการยื้อแย่งทรัพย์สิน หากในครอบครัวยังเกิดเหตุเช่นนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในสังคมจะทะเลาะกัน ด้วยเหตุจากความต้องการครอบครองทรัพย์สิน สังคมที่ทรัพย์สินเป็นใหญ่ จะทำให้การสร้างญะมาอะฮ์มีความยากลำบาก เพราะปัจเจกแต่ละคนจะคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ขาดการเป็นผู้ให้ ไม่มีเวลาและจิตใจที่จะทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่จะร่วมในกิจกรรมที่มีผลตอบแทนเป็นวัตถุเท่านั้น หรือแม้จะเข้าร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมบ้าง และคนเหล่านี้พร้อมจะละทิ้งสังคมชุมชนของตนเองไป หากมีที่ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเชิงวัตถุสูงกว่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ญะมาอะฮ์ไม่เกิด ที่มีอยู่ก็อ่อนแอเกินกว่าจะดำรงรักษาคุณค่าแห่งวัฒนธรรมอิสลามเอาไว้ในชุมชนได้

       ญะมาอะฮ์ของมนุษย์ ก็เปรียบได้ดั่งชีวิตมนุษย์ ชีวิตหนึ่ง ๆ จะดำรงอยู่ได้ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการให้ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การให้สูงสุดจากองค์อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ และประทานปัจจัยยังชีพแก่เรา และทรงให้ทางนำแก่เรา ถ้าปราศจากการให้ของพระองค์ ไหนเลยเราจะมีชีวิตดังที่เห็นและเป็นอยู่ ถัดมาก็เป็นการให้ของพ่อแม่ ญาติมิตร ครูบาอาจารย์ และสังคมส่วนรวม ปัจเจกดำรงอยู่ได้ เพราะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมใหญ่ ซึ่งจะดำเนินไปได้ก็เพราะมีการให้ และการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา

       โดยนัยนี้ เราจึงเข้าใจได้ว่า หากปราศจากการให้ของอัลลอฮ์  ไม่มีการให้ของพ่อแม่ คนเราอยู่ไม่ได้ฉันใด ปัจเจกที่ต่างคนต่างอยู่ และการไม่รู้จักการให้ ย่อมทำให้สังคมดำรงอยู่ไม่ได้ฉันนั้น พ่อแม่ที่ไม่สามารถให้อาหารที่เป็นประโยชน์แก่ลูก อาจเป็นสาเหตุให้ลูกเป็นโรคขาดสารอาหาร ผอมแห้ง แรงน้อยได้ฉันใด ปัจเจกที่เห็นแก่ตัวก็จะทำให้สังคมเต็มไปด้วยโรคร้ายฉันนั้น ความชั่วช้าเลวทรามทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในสังคม และกัดเซาะเบียดเบียนความดีไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัวของคนเราทั้งสิ้น และโรคร้ายอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมอ่อนแอจนไม่อาจปกป้องตนเองจากความชั่วต่าง ๆ ได้ก็คือ ความแตกแยก


        ผู้ที่มีความโลภต่อทรัพย์สินมาก จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อญะมาอะฮ์ได้อย่างน้อยใน 2 กรณี คือ

         ♦ กรณีที่หนึ่ง หากผู้นั้นทำงานในระบบองค์กรอยู่ก่อนแล้ว เขาอาจทิ้งองค์กรไป หรือไม่ก็ทำให้องค์กรเสียหาย ด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น ทำลายระบบระเบียบต่าง ๆ ขององค์กร ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และเสี่ยงต่อการเกิดความแตกแยกภายใน

          เพราะคนที่ทำเช่นนี้ย่อมไม่มีความภักดีต่อองค์กรของตนเองอย่างแท้จริง เขาอยู่ในองค์กรได้ ตราบเท่าที่ผลประโยชน์ของตนเองไม่กระทบ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าตนเสียผลประโยชน์ เขาจะไม่เชื่อฟังผู้นำองค์กร แต่จะก่อการขบถ จนองค์กรไม่สามารถทำงานได้ เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น


          ♦ กรณีที่สองคือ คนแบบนี้จะไม่มีหัวจิตหัวใจให้แก่การทำงานอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเลย มองการทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นเรื่องเล็ก การอาชีพของตนเป็นเรื่องใหญ่ คนแบบนี้จะทำให้ญะมาอะฮ์ไม่เกิด ที่มีอยู่ก็อ่อนแอเกินกว่าจะทำหน้าที่อันสมควรได้

         เรื่องนี้มีตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ องค์กรมัสยิดในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีสภาพของการอิมารอฮ์ เพราะผู้คนต่างมุ่งกอบโกยทรัพย์สินเพื่อตนเอง ไม่มีเวลาคิดถึงมัสยิด ไม่มีการให้แก่มัสยิด และมองการให้ว่าเป็นสาเหตุของความเสื่อมถอย ทำให้องค์กรมัสยิดขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่สามารถส่งเสริมความดีได้อย่างเต็มที่ และแน่นอนไม่อาจปกป้องชุมชนจากความชั่วร้ายได้แม้แต่น้อย

          เมื่อเกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชน มัสยิดก็ไม่อาจประสานรอยร้าวได้ เพราะตนเองก็เอาตัวไม่รอด จะสร้างคนดีแก่สังคม ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่สามารถจัดการศึกษาที่ดีได้ด้วยตนเอง เนื่องจากขาดเงินทุนในทุก ๆ ด้าน ครั้นคนทั้งหลายไม่คิดใช้จ่ายเพื่อสิ่งดี ๆ เช่นนี้ คนดีที่คาดหวังอยากได้ก็ย่อมไม่มีให้เช่นกัน

       เมื่อมัสยิดไม่สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจของคน สังคมก็อ่อนไหวต่อผลประโยชน์ทางโลก โดยไม่มีอะไรฉุดรั้งได้ การแข่งขันทางโลก ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างผู้คน มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น และพร้อมที่จะทำลายคนอื่น หากทำให้ตนร่ำรวยกว่าเดิม นี่เป็นที่มาสำคัญของความแตกแยกที่เกิดขึ้นดาษดื่นในสังคมมุสลิมปัจจุบัน

 

อำนาจ

          คนที่ลุ่มหลงโลก มักหนีไม่พ้นการแสวงหาอำนาจ เพื่อค้ำยันผลประโยชน์ของตน หรือเพื่อสร้างบารมี ความมีหน้ามีตา หรือเพื่อให้อำนาจนั้นช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ของตน

       การแสวงหาอำนาจทำให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง จนสูญเสียความเป็นพี่น้องและสัมพันธภาพอันดีไป ก่อเกิดความแตกแยกเข้ามาแทนที่ ดังการแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งในระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ขณะที่คนได้ตำแหน่งระเริงกับอำนาจ คนที่พลาดหวังก็จ้องทำลายล้างตลอดเวลา

          พวกเขาสร้างความแตกแยกขึ้นในหมู่ชน ด้วยการสร้างกระแสแบ่งแยก ทั้งโดยการใช้ความเป็นชาตินิยม ภูมิภาคนิยม สภาบันนิยม หรือพรรคนิยม จนเกิดเป็นอุปาทานและค่านิยมหลงผิดในหมู่ผู้ไร้อำนาจ ซึ่งพยายามวิ่งเข้าหาผู้มีตำแหน่งแห่งหน โดยหวังว่าตนจะมีที่พึ่งพิงอันมั่นคง ทั้ง ๆ ที่อำนาจได้มาแล้วก็เสื่อมไป ไม่มีความยั่งยืนอันใดเลย


       การแอบอิงอยู่กับผู้มีอำนาจทางการเมือง ทำให้หลายคนไม่สนใจคำสอนของศาสนา มองศาสนาเป็นเรื่องชายขอบ ไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญ ซึ่งก็เป็นไปตามวาทกรรมโลกนิยมที่พยายามแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิต ส่งผลไปสู่การมองตนเองว่ายิ่งใหญ่ ไม่ให้เกียรติกับผู้นำศาสนา เพราะคิดว่าผู้ที่จะช่วยตนได้ ต้องเป็นฝ่ายการเมืองเท่านั้น  พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเรียนรู้อิสลาม คิดว่าอิสลามก็เป็นเช่นศาสนาอื่น ๆ ที่มุ่งเรื่องการขัดเกลาจิตวิญญาณเท่านั้น จึงไม่มีความเข้าใจว่าอำนาจที่แท้จริงเป็นของอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า การยึดถือสิ่งอื่นใดเป็นผู้ทรงอำนาจ บันดาลความสำเร็จหรือล้มเหลวแก่ตนได้ เป็นลักษณะของผู้ปฏิเสธอัลลอฮ์ ซึ่งนับวันจะยิ่งมีอำนาจต่าง ๆ เข้ามาบงการชีวิตมากขึ้น จนดูสับสนวุ่นวาย


       ขณะที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจโดยขาดหลักคุณธรรมกำกับ ข้างฟากประชาชนก็ขาดการรวมตัวที่ดี การพัฒนาทุกด้านต้องรอรับความช่วยเหลือเจือจานจากนักการเมืองและข้าราชการ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ ครั้นเมื่อนักการเมืองเองขาดจิตสำนึกของคุณงามความดี พวกเขาจึงไม่สามารถเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในสังคมได้ ในที่สุด สังคมจึงขาดภูมิคุ้มกัน
 

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี