อิสลามกับยาเสพติด
โดย : อาจารย์ ปริญญา ประหยัดทรัพย์
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรื่องยาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในสังคมทั่ว ๆ ไป กำลังคุกคามสังคมมุสลิมเราอย่างหนักและเป็นเรื่องด่วนที่ควรหาทางแก้ไขให้เด็ดขาดก่อนที่จะสายเกินไป เพราะเหยื่อของผลร้ายจากยาเสพติด คือ เยาวชนที่เป็นพลังสำคัญของสังคมเรานั่นเอง
ยาเสพติดประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทออกฤทธิ์กดประสาท กระตุ้นประสาทหรือหลอนประสาท ล้วนแล้วแต่ให้โทษใหญ่หลวงกับผู้เสพ อาจเป็นอาชญากรโดยไม่รู้ตัว เมื่อติดก็จะหยุดเสพไม่ได้แต่จะต้องเพิ่มปริมาณของการเสพขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งร่างกายทรุดโทรมและสุดท้ายก็ตกอยู่ในสภาพตายผ่อนส่ง
ผู้ศรัทธาที่รัก เยาวชนมุสลิมที่ดีจะเป็นกำลังที่สำคัญในการที่จะพัฒนาสังคมมุสลิมให้มีเสถียรภาพและความมั่งคงโดดเด่นในสังคมโลก แต่เยาวชนที่ติดยาเสพติดได้เป็นผู้ทำลายเกียรติของอิสลามเสียเอง เพราะยาเสพติดเป็นตัวการบ่อนทำลายสิ่งสำคัญ 3 ประการด้วยกัน ซึ่งได้แก่ สติสัมปชัญญะ ชีวิต และทรัพย์สิน เยาวชนที่ติดยาเสพติดอาจไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา อนาคตมืดมน หากตกเป็นทาสยาเสพติดก็จะทำให้กลายเป็นคนเห็นผิดเป็นชอบ ประกอบอาชญากรรมเพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพ เมื่อถูกจับกุมแผนการชีวิตก็ล้มเหลว
ในกลุ่มนักเรียนนั้นบุหรี่หาง่ายโดยทั่วๆ ไป และเป็นตัวการหนึ่งที่สำคัญที่จะพาพวกเขาไปสู่การเสพยาเสพติดประเภทร้ายแรงอื่นๆ เช่น ดมกาว กัญชา ยาบ้า และผงขาว เมื่อได้รับการชักชวนและสภาพทางจิตใจทีขาดความอบอุ่นทางครอบครัว ลูกหลานจำนวนไม่น้อยของเราจึงเกิดความรู้สึกอยากทดลองและตกเป็นทาสของยาเสพติดในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามความหวังที่จะพึ่งศาสนาในการแก้ปัญหายาเสพติดยังคงมีอยู่ แต่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังดังต่อไปนี้
1. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับมัสยิดอันเป็นศูนย์กลางการปกครองหมู่บ้านมุสลิม จะต้องใช้หลักการศาสนาโดยตรงที่สั่งห้ามเรื่องยาเสพติดออกประกาศแก่สัปปุรุษทุกคน
2. รัฐจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ปราบปรามและแพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลร้ายและวิธีการป้องกัน รวมถึงการออกกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดของคดียาเสพติดอย่างจริงจังและจริงใจ
3. ครูสอนศาสนาจะต้องปลูกฝังอีหม่ามที่เข้มแข็งให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ให้มีสภาพจิตใจที่พร้อมสำหรับการต่อสู้กับวิถีชีวิตและค่านิยมที่หลั่งไหลมาจากตะวันตก
4. ครูสามัญรวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นตัวอย่างในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดที่แพร่ระบาดในสังคมเรา
5. สถาบันครอบครัวจะต้องมีบทบาทในการสังเกต และสามารถกวดขันพฤติกรรมเด็กและให้ความสำคัญในการดูแลอบรมลูกหลานตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นบิดามารดา เมื่อไม่สนใจต่อปัญหาของพวกเขาไม่ปลูกฝังศีลธรรมและจรรยาก็จะเกิดช่องว่างระหว่างเด็กกับความอบอุ่นทางครอบครัว ในที่สุดเยาวชนที่ควรจะเป็นคนดีของสังคมหันไปพึ่งยาเสพติดและสร้างจุดบอดขึ้นในสังคมมุสลิม
พี่น้องที่รัก อิสลามห้ามการดื่มเหล้าและยาเสพติดต่างๆ ก็เพราะมันเป็นสิ่งโสมม เผาผลาญประโยชน์และคุณค่าอันมากมายที่ชีวิตควรได้รับเพราะการเสพย์สิ่งเสพติดเป็นการทำลายสุขภาพ ทำลายสังคม ทำลายเศรษฐกิจ ซ้ำยังเป็นผลร้ายในการปฏิบัติศาสนกิจอีกด้วย เพราะเป็นที่แน่นอนชัดเจนว่าการประกอบศาสนกิจที่ถูกต้องทางศาสนาล้วนมีแรงผลักดันจากสติปัญญาที่รอบคอบและร่างกายที่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ท่านรอซู้ลลุลลอฮฺ จึงแจ้งว่า
“มุมินที่แข็งแรงนั้นเป็นที่รักของอัลลอฮฺยิ่งกว่ามุมินที่อ่อนแอ”
อิสลามมิเพียงแต่จะประกาศอุดมการณ์สิทธิแห่งของการดำรงชีวิตนี้เท่านั้น หากแต่ยังประกาศพร้อมกันนั้นว่า จำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่กับสุขภาพพลานามัย ขจัดปัดเป่าโรคภัยและโรคระบาดทั้งหลาย ให้พ้นจากคนในสังคม ดังเหตุการณ์ของเรื่องการระบาดของโรคอหิวาในสมัยของท่านคอลีฟะห์อุมัร ท่านได้ห้ามกองทัพมิให้ไปยังดินแดนที่มีโรคระบาดทั้งนี้เพื่อปฏิบัติตามพระวจนะของท่านรอซู้ล ที่ว่า
“หากเกิดโรคอหิวาระบาด ณ ดินแดนใดและท่านไม่ได้อยู่ในดินแดนนั้น ท่านก็จงอย่าเข้าไป
แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นในดินแดนของท่าน ท่านก็จงอย่าออกไป”
จากวจนะดังกล่าวศอฮาบะห์ได้ชี้ให้เห็นว่า มุสลิมจะต้องมีการปกป้องสังคมให้พ้นไปจากความเสียหายที่จะเข้ามาบ่อนทำลายสังคม เช่นเดียวกันกับพิษร้ายของยาเสพติดต่าง ๆ ที่กำลังคุกคามสังคมของเรา ซึ่งเราควรจะร่วมมือกันต่อต้านเพื่อมิให้ลูกหลานของเราต้องถูกยาเสพติดครอบงำ และจะต้องพัฒนาบุคลิกภาพอันดีงามให้กับพวกเขาเพื่อจะใช้สร้างเกียรติภูมิและเป็นกำลังเสริมที่สำคัญของอิสลามและสังคมมุสลิมในปัจจุบันให้มีความมั่นคงเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ตราบนานเท่านาน
สำนักจุฬาราชมนตรี http://www.skthai.org