ความหลงทะนงตน
  จำนวนคนเข้าชม  17444

 

ความหลงทะนงตน


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


         มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺขอการสดุดียกย่องและความสันติจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

          สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญเป็นบาปอันใหญ่หลวงที่ทำลายตัวตนทำลายการงาน และมีลักษณะที่น่าตำหนิยิ่ง คือความหลงทะนงตน ท่านรอฆิบ อัล-อัศฟะฮานียฺ ได้กล่าวว่า

          "ความหลงทะนงตน คือการที่บุคคลหนึ่งคิดว่าเขาเหมาะสมคู่ควรกับสถานะหนึ่งซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ได้คู่ควรกับเขาเลย บางคนกล่าวว่า คือการที่เขาลำพองในความโปรดปรานที่เขาได้รับ และรู้สึกมั่นใจในสิ่งนั้นโดยลืมผู้ให้ความโปรดปรานนั้นไป(หมายถึงอัลลอฮฺ)"

อัลลอฮฺ ผู้สูงส่งได้ตรัสความว่า

“แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าแล้วในสนามรบอันมากมาย และในวันแห่งสงครามหุนัยน์ด้วย

ขณะที่การมีจำนวนมากของพวกเจ้าทำให้พวกเจ้าพึงใจแล้วมันก็มิได้อำนวยประโยชน์แก่พวกเจ้าแต่อย่างใด

และแผ่นดินก็แคบแก่พวกเจ้า ทั้งๆที่มันกว้างอยู่แล้วพวกเจ้าก็หันหลังหนี”

(อัต-เตาบะฮฺ:25)

และอัลลอฮฺ ผู้สูงส่ง ยังได้ตรัสเกี่ยวกับกอรูนไว้ว่า

“เขา (กอรูน) กล่าวว่า ฉันได้รับมันเพราะความรู้ของฉัน ก็เขา (กอรูน) ไม่รู้ดอกหรือว่า

อัลลอฮฺได้ทรงทําลายผู้ที่มีพลังยิ่งกว่า และมีพรรคพวกมากกว่าก่อนหน้าเขาในศตวรรษก่อนๆ

และบรรดาผู้กระทําความผิดจะไม่ถูกสอบถามเกี่ยวกับความผิดต่างๆ ของพวกเขาดอกหรือ?!!”

(อัลเกาะศ็อศ: ๗๘)

อัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า

“และเขาได้รับผลิตผล ดังนั้นเขาจึงกล่าวแก่เพื่อนของเขาขณะที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ว่าฉันมีทรัพย์สินมากกว่าท่าน และมีบริวารมากกว่า

เขาได้เข้าไปในสวนของเขาโดยที่เขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเขาเอง เขากล่าวว่าฉันไม่คิดว่าสวนนี้จะพินาศไปได้เลย”

(อัล-กะฮฺฟฺ: 35)

          เมื่อใดบุคคลหนึ่งได้ลุ่มหลงในสิ่งที่เขามีอยู่เมื่อนั้นเขาได้ลืมไปว่านั่นเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ประทานให้แก่เขา ซึ่งผู้ให้(อัลลอฮฺ)สามารถที่จะเอามันกลับคืนได้ และเขาก็จะกลายเป็นผู้ขัดสนเหมือนที่เคยเป็นมาและปลายทางของเขาก็จะเป็น ดั่งที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

“และผลิตผลของเขาก็ถูกทำลายหมดแล้วเขาก็ประกบฝ่ามือทั้งสองด้วยความเสียใจต่อสิ่งที่เขาได้จับจ่ายไป และมันพังพาบลงมา

และเขากล่าวว่า โอ้ หากฉันไม่เอาผู้ใดมาตั้งภาคีกับพระผู้เป็นเจ้าของฉันก็คงจะดี”

(อัล-กะฮฺฟฺ: 42)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“ขณะที่ชายคนหนึ่งซึ่งสวมเสื้อผ้าอาภรณ์สวยงามกําลังเดินอย่างโอ้อวดทะนงตน ปล่อยผมสยายประบ่า

ทันใดนั้นอัลลอฮฺก็ได้ให้ธรณีสูบเขา และเขาจะถูกทรมานจนกระทั่งถึงวันกิยามะฮฺ “

(บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ 5789 และมุสลิม 2088)

ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า

“หากว่าพวกท่านไม่เคยก่อความผิดบาป ฉันก็ยังเกรงว่าพวกท่านจะทำสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือ การหลงทะนงตน”

(บันทึกโดยอัล-บัซซารฺ ในกัชฟุลอัสตาร เลขที่ 3633)

ท่านอิบนุ อับบาสเราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“สามประการที่นำไปสู่ความพินาศ คือ ความตระหนี่ถี่เหนียว การทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ และการหลงตัวเอง”

(บันทึกโดยอัลบัซซารฺในกัชฟุลอัสตาร เลขที่ 80)

มีรายงานงานว่าท่านอิบนุมัสอูดเราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้กล่าวว่า

“ความพินาศมีอยู่ในสองประการนี้ คือ ความทะนงตน และความท้อแท้สิ้นหวัง”

(ดู มุคตะศ็อรฺมินฮาจญ์ อัล-กอศิดีน หน้า 298-299)


ท่านอิบนุกุดามะฮฺเราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า

         “พึงทราบเถิดว่าความหลงทะนงตนนั้นเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่ความยโสโอหัง สิ่งนี้ก่อให้เกิดผลร้ายตามมามากมายกับเพื่อนร่วมโลก ส่วนความผิดต่อผู้สร้าง(อัลลอฮฺ) นั้นก็คือการที่ความลำพองตนในการทำตามคำสั่งใช้เกิดจากความรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เสมือนว่าเขามีบุญคุณต่ออัลลอฮฺกับสิ่งที่เขาทำไป และหลงลืมไปว่าอันที่จริงแล้วอัลลอฮฺต่างหากที่เป็นผู้ให้ความสำเร็จแก่เขา

นอกจากนี้เขาจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องต่างๆอันจะส่งผลให้การงานเหล่านั้นสูญเปล่าและเสียไป ทั้งนี้ผู้ที่พยายามค้นหาจุดบกพร่องในการงานของตน ก็คือผู้ที่เกรงว่าการงานดังกล่าวจะถูกปฏิเสธตกไป

ส่วนผู้ที่มีความพึงพอใจและหลงทะนงตนนั้นจะไม่ตรวจสอบค้นหาข้อบกพร่องของตัวเอง เพราะความทะนงตนนั้นจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่คิดว่ามีความครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาเห็นว่าที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ณ ที่อัลลอฮฺอย่างแน่นอนความหลงทะนงตนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาอวดดีลำพองตนในสิ่งที่เขาภูมิใจและคาดหวังผลตอบแทน ดั่งที่เขาคาดหวังการตอบรับคำร้องขอ และไม่ต้องการคำปฏิเสธ"

(ดู มุคตะศ็อรมินฮาจ อัล-กอศิดีน หน้า 298-299)

          สาเหตุของการทะนงตนก็คือ ความโง่เขลาโดยแท้ ซึ่งวิธีการรักษาก็คือ ความตระหนักรู้ อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับความโง่เขลา กล่าวคือตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ส่งผลให้เขาพึงใจในตนเองนั้นเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ที่เขาไม่อาจจะสรรหามาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถือเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เขาจะภูมิใจในความกรุณา การให้เกียรติและความโปรดปรานที่อัลลอฮฺทรงให้แก่เขา

          เมื่อมนุษย์ตระหนักรู้เช่นนี้แล้วเขาจะไม่คิดว่าสิ่งต่างๆที่ได้รับเป็นผลงานของตนเอง และจะไม่หลงทะนงในตนเองอีกเพราะอัลลอฮฺคือผู้มอบความสำเร็จให้กับเขาและเมื่อเขาเปรียบเทียบกับความโปรดปรานแล้วก็ไม่สามารถเทียบได้กับเศษเสี้ยวของความโปรดปรานที่เขาได้รับเลย

          ดังกล่าวนี้เป็นกรณีที่การงานของเขาปราศจากสิ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องเสื่อมเสีย และปราศจากความพลั้งเผลอ หากว่าเขาหลงลืมไป ก็ควรที่จะระวังตัว และกลัวการลงโทษกับความผิดพลาดนี้ นี่คือการรักษาอาการหลงทะนงตนโดยรวมส่วนการรักษาอาการต่างๆ โดยละเอียดนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะที่ต่างกันออกไปของความทะนงตน หากว่าความทะนงตนอันเนื่องมาจากกายภาพ เช่นความสวยงาม พละกำลังที่ทำให้บุคคลนั้นลุ่มหลงตนเอง


 

วิธีการรักษาก็คือ

          ให้ครุ่นคิดถึงความสกปรกภายในตัวในตอนแรกและตอนสุดท้าย ความสวยงามและร่างกายอันสมส่วนจะเป็นอย่างไรเมื่อได้เกลือกกับฝุ่นดินและถูกฝังอยู่ในหลุมฝังศพเพื่อว่าเขาจะได้รู้สึกถึงความสกปรกน่ารังเกียจ

         หากว่าความทะนงตนอันเนื่องมาจากการที่มีทรัพย์สิน ลูกหลาน คนรับใช้ และญาติพี่น้องที่มากมาย วิธีแก้ก็คือ ตระหนักรู้ถึงความอ่อนแอของตน และความอ่อนแอของพวกเขา และตระหนักว่าทรัพย์สินนั้นมีผลร้ายมากมาย ไม่นานก็หมดไป ไม่มีแก่นสารใดๆทั้งสิ้น


ชายหนุ่มคนหนึ่งได้เดินผ่านท่านหะสัน อัล-บัศรียฺ โดยสวมใส่เสื้อผ้าสวยงามดูดี ท่านหะสันได้เรียกชายหนุ่มคนนั้นและกล่าวว่า

         “มนุษย์นั้นมีความปลื้มปีติกับวัยหนุ่มของตน และหลงในรูปร่างลักษณะที่มีประหนึ่งว่าหลุมศพได้ซ่อนร่างกายของท่านไว้ และดั่งว่าท่านได้พบเจอกับการงานของท่านแล้ว ท่านจงระวังรักษาหัวใจของท่านเถิด เพราะแท้จริงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะเห็นจากบ่าวของพระองค์คือการที่พวกเขาปรับปรุงหัวใจของพวกเขา"


มัสรูกได้กล่าวว่า“เพียงพอแล้วสำหรับคนที่มีความรู้ ที่เขาจะเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ และเพียงพอแล้วสำหรับคนที่โง่เขลาที่เขาจะทะนงในความรู้ของตน”

มีคนหนึ่งกล่าวกับท่านหะสัน อัล-บัศรียฺ ว่า “ใครคือคนที่ชั่วร้ายที่สุด?”

ท่านตอบว่า “คือคนที่เห็นตนเองเป็นคนที่ดีเลิศที่สุด”

       บางคนกล่าวว่า “คนโกหกนั้นอยู่ห่างไกลอย่างยิ่งจากความประเสริฐดีงาม แต่คนที่โอ้อวดมีสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะเขาโกหกทั้งด้วยการกระทำและคำพูดของเขา แต่ทว่าคนที่หลงทะนงตนนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าคนทั้งสองประเภทดังกล่าว เพราะคนทั้งสองจำพวกนั้นมองเห็นข้อบกพร่องของตนเองและต้องการปกปิดมันไว้ แต่คนที่หลงทะนงตนจะมองไม่เห็นความผิดของตนแต่เห็นเป็นข้อดีแทนและภูมิใจกับมัน"

 

อิบลีสมารร้ายได้กล่าวว่า

 "หากว่าท่านเอาชนะผู้คนในสามสิ่งนี้ได้ ฉันจะไม่ขออะไรอีกเลย คือ

เมื่อเขาหลงทะนงตน  เมื่อเขารู้สึกว่าตนเองได้ปฏิบัติการงานที่มากมาย และ เมื่อเขาลืมความผิดบาปของตนเอง"

(ดู อัซซะรีอะฮฺ อิลา มะการิม อัช-ชะรีอะฮฺ หน้า 306-307)


สรุป

         ความหลงทะนงตนมีผลเสียตามมามากมายเป็นโรคร้ายที่ส่งผลเสียต่อหัวใจโรคหนึ่งหากว่าผู้คนไม่รู้ทัน โรคนี้จะทำลายตัวเขาอีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้การงานไร้ผลรวมทั้งไม่ได้อยู่สายตาของพระผู้เป็นเจ้าอีกด้วย

 


แปลโดย : ณัจญวา บุญมาเลิศ / Islam House