การอ่านอัลกุรอานให้แก่คนตาย
  จำนวนคนเข้าชม  48172

การอ่านอัลกุรอานให้แก่คนตาย


โดย...เชค บินบาส รอฮิมาอุลลอฮ์


คำถาม

          ฉันอยากทราบจากท่านเชค ให้ช่วยเตือนบรรดามุสลิม เกี่ยวกับฮุกุมของการอ่านอัลกุรอานให้แก่คนตาย มันเป็นที่อนุญาตหรือเป็นที่ต้องห้าม และมีฮุกุมว่าอย่างไรเกี่ยวกับหะดีษที่มีปรากฏในเรื่องนี้ ?


คำตอบ

         การอ่านอัลกุรอานให้แก่ผู้ตายนั้นไม่มีหลักฐานที่มายืนยันและก็ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องนี้ด้วย  แต่การอ่านอัลกุรอานมีบทบัญญติให้อ่านในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อว่าพวกเขาจะได้รับประโยชน์และจะได้ใช่สติปัญญาใคร่ครวญต่ออัลกุรอาน สำหรับการอ่านให้แก่ผู้ตายที่หลุมฝังศพของเขานั้น หรืออ่านหลังจากที่มีใครเสียชีวิตก่อนที่จะนำไปฝัง หรืออ่านในสถานที่อื่นๆ โดยมีเจตนาเป็นการอ่านมอบให้แก่ผู้ตายนั้น สำหรับประเด็นนี้เราไม่ทราบถึงหลักฐานที่มา

          บรรดานักวิชาการได้แต่งตำราในเรื่องดังกล่าว และมีข้อเขียนต่างๆมากมาย โดยที่นักวิชาการบางท่านอนุญาตให้ทำการอ่านให้แก่ผู้ตาย โดยมีการส่งเสริมให้อ่านให้แก่ผู้ตายหลายๆจบ และถือว่าการอ่านอัลกุรอานให้แก่ผู้ตายเหมือนกับการทำซอดาเกาะให้แก่ผู้ตาย

         แต่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้มันเตาฟีกียะห์ หมายถึง แท้จริงการอ่านอัลกุรอานมันเป็นหนึ่งจากการทำอิบาดะห์ ดังนั้นไม่อนุญาตให้กระทำในเรื่องของอิบาดะห์เว้นแต่มีบทบัญญัติและได้รับการยอมรับจากท่านนบี  โดยที่ท่านได้กล่าวว่า

"ใครที่ได้กระทำการงานหนึ่งขึ้นมา โดยที่มันไม่ได้เป็นกิจการงานของเรา(ไม่ได้มีระบุไว้ในบทบัญญัติ) ดังนั้นการงานนั้นก็ถูกปฏิเสธ"

และเราก็ไม่พบบทบัญญัติที่เป็นคำสั่งใช้ให้อ่านอัลกุรอานให้แก่ผู้ตาย

        ฉะนั้นสมควรที่จะปฏิบัติตามตามรากฐานเดิมที่มีมา คือการประกอบอิบาดะห์ต้องเป็นการกระทำที่ตั้งอยู่บนหลักฐาน ดังนั้นอย่าได้อ่านอัลกุรอานให้แก่บรรดาผู้ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งแตกต่างกับการทำซอดาเกาะห์(บริจาค) การขอดุอา การทำอัจญ์ทำอุมเราะห์ และชดเชยหนี้สินให้แก่พวกเขา ซึ่งการงานต่างๆเหล่านี้จะยังประโยชน์ให้แก่พวกเขา และได้มีหลักฐานยืนยันจากท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า


"เมื่อมนุษย์ได้เสียชีวิตลง การงานของเขาก็จบสิ้น เว้นแต่สามประการ คือ

การบริจาคที่ยังคงให้ประโยชน์ ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และลูกที่ดี วิงวอนขอดุอาให้แก่เขา"


อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า

"บรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา (หมายถึงหลังจากบรรดาศอหาบะห์) โดยที่พวกเขากล่าวว่า

ข้าแต่พระเจ้าของเราทรงโปรดอภัยให้แก่เรา และพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา

และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา 

ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ"

(ซูเราะห์อัลหัชรฺ อายะที่ 10)

          อัลลอฮฺ ได้ชมเชยแก่บรรดาผู้ที่มาที่หลัง ด้วยการขอดุอาให้แก่ผู้ที่มาก่อนหน้าพวกเขา มันเป็นหลักฐานชี้ถึงบทบัญญัติในการขอดุอาให้แก่บรรดาคนตายที่เป็นมุสลิม และการขอดุอาจะยังประโยชน์แก่พวกเขา และเช่นเดียวกันการบริจาคจะยังประโยชน์แก่พวกเขาด้วยเหมือน หะดีษที่กล่าวไว้นั้นและสามารถกระทำได้โดยการนำเงินที่จะไปจ้างให้คนที่อ่านอัลกุรอานให้แก่คนตาย เอาไปบริจาคให้แก่คนยากจน คนยากไร้ โดยมีเจตนาว่าทำแทนให้แก่ผู้ตาย แน่นอนเงินที่บริจาคจะยังประโยชน์แก่ผู้ตาย และยังเป็นการใช้จ่ายไปในหนทางที่ปลอดภัยจากการอุตริ

สำหรับเรื่องการบริจาคนี้มีหลักฐานยืนยันในซอเอียะอัลบุคอรีย์

          แท้จริงชายคนหนึ่งได้กล่าวว่า โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ  แท้จริงมารดาของฉันได้เสียยชีวิตไปแล้ว และนางไม่ได้สั่งเสียอะไร หากนางได้กล่าวไว้ แน่นอนฉันจะบริจาค และนางจะได้รับผลบุญหรือไม่หากฉันได้ทำการบริจาคหาแก่นาง ?

ท่านนบี  ตอบว่า ได้


         ดังนั้นท่านรอซูล  ได้กล่าวว่า แท้จริงการบริจาคแทนผู้ที่เสียชีวิตนั้น การบริจาคนั้นจะยังประโยชน์แก่ผู้ตาย เช่นเดียวกัน การทำอุมเราะและทำฮัจญ์แทนผู้ตาย และมีหะดีษที่ได้ระบุในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันการชดใช้หนี้สินแทนผู้ตายก็ยังประโยขน์แก่เขาด้วย

         สำหรับการอ่านอัลกุรอานให้แก่เขาและคิดจะส่งผลบุญให้แก่เขานั้น หรือการละหมาด หรือ การถือศีลอดที่เป็นการสมัครใจให้แก่เขานั้น ไม่มีหลักฐานในเรื่องนี้ และที่ถูกต้องการกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใช้


จากหนังสือ มัจมัวะฟาตาวา วามากอลาต มูตาเนาวิอะ เล่มที่ 4

 

 

แปลโดย... อิสมาอีล กอเซ็ม