ห้าภาษา...สื่อรัก
  จำนวนคนเข้าชม  10614

 

ห้าภาษา...สื่อรัก


          ดร.แกรี่ แชปแมน นักวิจัยด้านชีวิตคู่และครอบครัว ค้นพบว่ามนุษย์แสดงความรักต่อกันผ่านทาง “ภาษารัก” ทั้งหมด 5 ภาษาด้วยกัน โดยที่แต่ละคนจะพูดภาษารักนี้ได้อย่างน้อยหนึ่งภาษาหรือมากกว่านั้น “ภาษารัก” ก็คือรูปแบบการสื่อสารที่ช่วยบ่งบอกถึงรูปแบบของความรักที่คนรอบข้างมีให้กับเรา


แชปแมนได้แบ่งประเภท “ภาษารัก” เหล่านี้ไว้ทั้งหมด 5 หัวข้อ

1. มอบช่วงเวลาดี ๆ ให้แก่กัน 

2. อุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยความจริงใจ 

3. เซอร์ไพรส์ด้วยของขวัญสุดพิเศษ

4. ให้กำลังใจเชิงบวก 

5. สื่อสัมผัสอันอบอุ่น

          แชปแมนกล่าวว่ามนุษย์แต่ละคนมักจะแสดงความรักต่อกันด้วยภาษาหลักเพียงหนึ่งภาษารัก ทว่าในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารรักด้วยภาษาที่สองหรือสามได้เช่นกัน มนุษย์เราย่อมสามารถปรับตัวเข้าหาคู่ครอง ลูก ๆ หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว ในการทำความเข้าใจถึงความต้องการด้านต่างๆของพวกเขาได้ดีขึ้น หากเราสามารถเข้าถึงและเข้าใจซึ่งภาษารักที่อีกฝ่ายนั้นใช้อยู่

         ยกตัวอย่างเช่น ลูกคนหนึ่งทำตัวเหินห่างจากแม่เนื่องจากครอบครัวไม่ค่อยมี “ช่วงเวลาดี ๆ” ให้ทำด้วยกันมากพอ หากแม่รู้ว่าตนบกพร่องในการสื่อ “ภาษารัก” จากการละเลยไม่มีเวลาให้กับลูก ผู้เป็นแม่ก็ย่อมสามารถแก้ไข และปรับปรุงด้วยการหาเวลาดี ๆ ทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกให้มากขึ้น เช่นเดียวกัน หากสามีคนหนึ่งรู้ว่าปัญหาในชีวิตคู่ของเขานั้นกำลังเกิดจากการละเลยการสื่อภาษารักในข้อใดข้อหนึ่ง เช่นเขาอาจจะละเลย “การให้อุปถัมภ์ค้ำจุน” กับภรรยา เขาก็สามารถที่จะผสานรอยร้าวนั้น ด้วยการช่วยเหลือเธอกับงานบ้านงานเรือน เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

 


          อิสลามนั้นให้ความสำคัญกับ “ความรัก” เป็นอย่างยิ่ง เอกองค์อัลลอฮฺ  ทรงเป็นผู้มีความเมตตากรุณาอันเป็นที่สุดต่อบ่าวทุกคน ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่ท่านนบีมุฮัมมัด  จะเป็นบุคคลที่มีความเอื้ออาทรเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างหาใครเสมอเหมือนมิได้ และด้วยคุณลักษณะเช่นนั้น ท่านจึงมีมิตรสหายที่รักใคร่ในตัวท่านอย่างแท้จริงมากมาย

          จากการศึกษาชีวประวัติของท่านเราะซูล  โดยเฉพาะเมื่อเจาะลึกในเรื่องความสัมพันธ์ที่ท่านมีต่อบุคคลที่ท่านรัก เราจะพบว่าท่านแสดงความรักด้วย “ห้าภาษา...สื่อรัก” ตามหัวข้อที่แชปแมนได้แบ่งไว้ข้างต้นอย่างครบถ้วน โดยจะใช้ภาษาแบบไหน ท่านนบี  ก็จะคำนึงถึงบุคคลที่ท่านกำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเป็นหลัก ต่อไปนี้คือ “ภาษารักทั้งห้า” ที่เราจะได้เรียนรู้ผ่านชีวิตของท่านนบีมูฮัมมัด 


1. มอบช่วงเวลาดีๆให้แก่กัน

         ท่านนบีมูฮัมมัด   มักจะใช้เวลาอยู่ร่วมกับเหล่าบรรดาศอฮาบะฮฺของท่าน ร่วมพูดคุย หัวเราะ และหยอกล้อกันอยู่เสมอ ท่านมักจะคอยช่วยชี้ทางออกให้กับทุก ๆ ปัญหาและคอยตักเตือนศอฮาบะฮฺ ของท่านเสมอว่าการใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายในกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินบ้างนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญตราบเท่าที่กิจกรรมเหล่านั้นไม่ขัดต่ออิสลาม

         บ่อยครั้งที่ท่านนบี  ใช้เวลาอยู่ร่วมกับท่านหญิงอาอิชะฮฺด้วยการหากิจกรรมทำร่วมกัน ครั้งหนึ่งท่านเคยแข่งวิ่งแข่งกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ และยังเคยพานางชมการแสดงต่าง ๆ ด้วยกันในระหว่างวันอีด นอกจากนี้ ท่านนบีมูฮัมมัด  มักจะถูกห้อมด้วยเหล่าพี่น้องมุสลิมที่ต้องการสอบถามปัญหาทางศาสนาเสมอยามเมื่อท่านไปมัสยิด

         ต่างกับผู้เคร่งศาสนาส่วนใหญ่ที่มักจะปลีกตัวจากสังคมเพื่อปฏิบัติธรรมดังเช่นฤาษีที่ธุดงค์อยู่ในป่า ท่านนบีมูฮัมมัด   กลับเป็นผู้ที่พบปะสังคมกับบุคคลอื่น ๆ ตลอดเวลา และยังต้อนรับบรรดาคนแปลกหน้าที่มาคอยไถ่ถามและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับท่านในเรื่องราวต่าง ๆ และผลที่ได้ก็คือ บุคคลเหล่านั้นก็มักจะแวะเวียนกลับมาหาท่านนบี  อยู่เสมอ และใช้เวลาอยู่ร่วมกับท่านมากขึ้น เพื่อเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวตามแบบอย่างของท่านมากยิ่งขึ้น

         ท่านนบี  ยังมักจะหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนมุสลิมเสมอ ซึ่งรวมถึงลูกหลานและบรรดาเครือญาติของท่านเองด้วย ท่านใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ๆ ของท่านเสมอ เช่นกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ และท่านหญิงไซหนับ นอกจากนี้ ท่านยังให้เวลากับลูกหลานคนอื่น ๆ มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ท่านฮาซัน ท่านฮุสเซ็น อุมามะฮฺ และคนอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวลาในช่วงระหว่างการละหมาดญะมาอะฮฺร่วมกันนั่นเอง

 

2. อุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยความจริงใจ

         หน้าที่ของการเป็น “ผู้นำ” ที่ดีในอิสลาม หาใช่เพียงแค่การตัดสินใจเพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการบริการและมอบความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ให้กับผู้อยู่ภายใต้การปกครองด้วยเช่นกัน เฉกเช่นนักการเมืองที่ดีที่ควรจะต้องคอยช่วยเหลือบริการสนองตอบความต้องการให้กับประชาชน ผู้เป็นสามีและพ่อซึ่งเป็นผู้นำครอบครัว ก็มีหน้าที่ในการคอยอุปถัมภ์ค้ำจุนภรรยาและลูก ๆ ในสิ่งที่พวกเขาต้องการและแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

“ท่านนบีมูฮัมมัด เคยเย็บเสื้อผ้าและซ่อมรองเท้าด้วยตนเอง

นอกจากนี้ก็ยังทำงานบ้านในสิ่งที่ผู้ชายพึงกระทำได้เพื่อไม่ให้ภรรยารับภาระต่าง ๆ หนักมากเกินไป”

[รายงานโดยบุคอรี]

          ผู้ชายควรจะตระหนักให้ได้ว่า แม้ว่างานบ้านจะเป็นงานหลักของผู้หญิง แต่การช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของนาง เขาย่อมได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ ณ ที่พระองค์ นอกเหนือไปจากการตอบสนองความต้องการทั่ว ๆ ไปแล้ว ผู้ที่เป็นสามียังมีหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของเขาให้มีกิริยามารยาทที่ดีงามตลอดจนหน้าที่ในการมอบการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับพวกเขาอีกด้วย

 

3. เซอร์ไพรส์ด้วยของขวัญสุดพิเศษ

          อิสลามสนับสนุนให้มอบของขวัญให้แก่กันตราบเท่าที่ของกำนัลชิ้นนั้นมิใช่สิ่งเลวร้ายและทำให้เกิดการสิ้นเปลืองแม้กระทั่งในพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมอบมะฮัร (ของขวัญเนื่องจากการแต่งงาน) ให้แก่เจ้าสาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการให้เกียรตินางและในการเริ่มต้นชีวิตคู่ร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น คู่สามีภรรยาควรสื่อความรักให้แก่กันด้วยการเซอร์ไพรส์ซื้อของขวัญสุดพิเศษให้กับคู่ครองของตนบ้างตามโอกาสต่างๆ เช่น วันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น

          ท่านนบี  สนับสนุนให้ผู้ที่เป็นบิดามารดาได้ทำการมอบของขวัญให้กับบุตรหลานของตนอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ครั้งหนึ่ง ท่านถึงกับปฏิเสธที่จะไม่ไปร่วมเป็นพยานในการมอบรางวัลให้กับบุตรชายเพียงคนเดียวของชายผู้หนึ่งโดยที่ไม่มีการมอบของขวัญใด ๆ ให้กับบุตรคนอื่น ๆ เลย

          นอกจากนี้ ยังมีหลายเหตุการณ์ที่ท่านนบีเป็นผู้รับและแบ่งปันของขวัญให้แก่บรรดาสหายของท่าน อีกทั้งท่านยังชอบเผื่อแผ่ให้ของกำนัลแก่เพื่อนต่างศาสนิก รวมถึงเพื่อนบ้านอยู่เสมอ เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์อันดีและส่งเสริมการยอมรับและเคารพในความแตกต่างทางความเชื่อระหว่างกัน

 

4. ให้กำลังใจเชิงบวก

          การโกหกนั้นเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม อย่างไรก็ดี อิสลามนั้นเข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิตคู่เป็นอย่างดี และการโกหกก็ยังเป็นที่อนุมัติให้กระทำได้ในสามสถานการณ์ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือสามีหรือภรรยา โกหกคู่ครองของตนเพื่อทำให้เขาหรือเธอสบายใจและเพิ่มความรักต่อกัน นั่นหมายความว่าสามีหรือภรรยาสามารถพรรณนาถึงความรักที่เขาหรือเธอมีต่อกันได้อย่างไม่เป็นบาป – แม้ว่ามันจะเป็นคำพูดที่ดูเกินจริงก็ตาม – ตราบเท่าที่เขาทั้งสองนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้ความรักในชีวิตคู่นั้นมั่นคงยืนยาว

          ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสามีบอกภรรยาว่ารักเธอยิ่งกว่าผู้ใดในโลก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนี่จะเป็นเรื่องไม่ถูกต้องสำหรับมุสลิมก็ตาม เพราะสำหรับเขานั้น อัลลอฮฺ และท่านนบีมูฮัมมัด   ย่อมเป็นที่รักยิ่งในใจของมุสลิมทุกคน แต่การพูดจาให้กำลังใจเชิงบวกแก่คู่ครองของตนเช่นนี้นั้นถือว่าเป็นที่อนุมัติและสนับสนุนในอิสลาม

          การให้กำลังใจเชิงบวกจะมอบแรงกระตุ้นและแรงสนับสนุนให้คู่ครองของคุณได้พยายามเป็นคนที่ “ดีที่สุด” ที่เขาหรือเธอจะ “เป็นได้” ตามหลักการของอิสลาม และการมอบกำลังใจอันมากล้น และแรงสนับสนุนอันเต็มเปี่ยมนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติอันโดดเด่นของท่านหญิงคอดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด ภรรยาคนแรกของท่านนบีมูฮัมมัด   นั่นเอง มีวจนะหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีจากท่านนบีมูฮัมมัด   เกี่ยวกับท่านหญิงคอดีญะฮฺ   กล่าวไว้หลังจากท่านหญิงเสียชีวิตไว้ไปหลายปีแล้วว่า

“นางเชื่อมั่นในตัวฉันในวันที่ฉันไร้ซึ่งผู้ศรัทธาอื่นใด นางยอมรับอิสลามจากฉันในขณะที่คนอื่นปฏิเสธ

นางช่วยเหลือและปลอบโยนฉันในขณะที่ฉันไม่มีผู้ใดข้างกายคอยช่วยเหลือ”

[รายงานโดยบุคอรีย์]

          การสนับสนุนของท่านหญิงคอดีญะฮฺนั้นมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขยายตัวของอิสลามอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงแค่ทศวรรษแรกของการเผยแผ่ของท่านนบี  และต่อมา ความรักระหว่างท่านนบี  และท่านหญิงคอดีญะฮฺจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาจากจุดนี้เอง

 

5. สื่อสัมผัสอันอบอุ่น

          ความสำคัญของ “รสสัมผัส” ในการเป็นภาษาสื่อรักนั้นได้มีการบ่งบอกไว้ในอัลกุรอ่านว่า {สามีและภรรยาเป็นเสมือนดั่งอาภรณ์ของกันและกัน} (อัล-บากอเราะฮฺ 2:187) อายะฮฺ นี้เปรียบสามีภรรยานั้นมีความใกล้ชิดกันมากจนเสมือนหนึ่งเป็นอาภรณ์ของกันและกัน อายะฮฺนี้นั้นสื่อความหมายในเชิงลึกได้หลายประเด็นและหนึ่งในนั้นก็คือประเด็นในส่วนของการ “สัมผัส” เพราะอาภรณ์นั้นสัมผัสกับผิวกายของเราตลอดเวลา และช่วยมอบความอบอุ่นและปกป้องร่างกายเราจากภายนอก ซึ่งก็เปรียบเสมือน “สัมผัส” จากคนรักนั่นเอง

         ท่านนบี   มักจะกล่าวถึงความสำคัญของ “ความใกล้ชิด” ระหว่างคู่สามีภรรยาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งตัวท่านเองนั้นก็มักจะนอนพักหนุนตักท่านหญิงอาอีชะฮฺเวลาที่ท่านรู้สึกเหนื่อยอยู่บ่อย ๆ และที่สำคัญตอนที่ท่านเสียชีวิต ท่านนบี  ก็จากไปขณะที่กำลังนอนหนุนตักภรรยาผู้เป็นที่รักนี้นั่นเอง

         “สัมผัสแห่งรัก” นั้นยังเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงออกซึ่งความรู้สึกดี ๆ ต่อกันระหว่างพ่อแม่และลูก ๆ ลูกสาวของท่านนบี คนหนึ่งคือ ฟาตีมะฮฺ ได้บอกว่าบิดาของเธอมักจะกุมมือและจุมพิตมือของเธอและพร้อมเปิดห้องต้อนรับลูก ๆ ทุกคนเสมอเวลาที่มีใครไปเคาะประตูหาท่าน และความรักใคร่กลมเกลียวนี้ก็ยังถ่ายทอดไปยังบรรดาหลาน ๆ ของท่านนบี  ทุก ๆ คนด้วยเช่นกัน ที่มักจะเข้ามาเล่นนอนหนุนตัก “คุณปู่” หรือ “คุณตา” อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขาในขณะที่ท่านนบี  กำลังขอดุอาอฺต่ออัลลอฮ์  ให้ทรงประทานความรักให้กับพวกเขานั่นเอง

 

จงรัก“คู่ชีวิต” ของตัวเอง ให้เหมือนที่รัก “อัลลอฮ์

          การมีความรักที่จริงใจต่อคู่ชีวิตของตัวเองนั้นเป็นคำสอนสำคัญยิ่งประการหนึ่งของอิสลามเพราะ “ครอบครัว” นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการปลูกฝังความศรัทธาให้กับประชาชาติมุสลิม ทุกครอบครัวนั้นก็จะเริ่มต้นด้วยกับการมีสามีและภรรยา และต่อมาพวกเขาก็จะกลายเป็นบิดามารดา ชีวิตคู่เปี่ยมสุขแบบมุสลิมนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในครอบครัวมีการตักเตือนกันให้รำลึกถึง “ความรักต่ออัลลอฮ์อยู่เสมอ และหลังจากนั้น ความรักใคร่ระหว่างกันของสมาชิกในครอบครัวก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและตามมาด้วยความพยายามในการเข้าใจและตอบสนองซึ่งความต้องการที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว

 


ทำความเข้าใจ “ห้าภาษาสื่อรัก”... เพื่อชีวิตคู่เปี่ยมสุข

         เมื่อเราเข้าใจกันมากขึ้นและพยายามปรับตัวเข้าหากัน เราก็จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ในทุก ๆ ระดับให้ดีขึ้นได้ ไมว่าจะเป็นระหว่างคู่สามีภรรยา พ่อแม่กับลูก ๆ เครือญาติ เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน และสังคมโดยรวม การทำความเข้าใจกับ “ห้าภาษาสื่อรัก” นั้นจะช่วยให้พวกเรา “เข้าใจกันมากขึ้น” และ “รักกันเพื่ออัลลอฮฺ” มากขึ้นอีกด้วย อินชาอัลลอฮ์

 

 

 


Muslim Harmony – Advice Central Team

แปลและเรียบเรียงโดย  มารุต & มัรยัม เมฆลอย