อะกีดะฮ์และชารีอะฮ์
อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง
ท่านเราะสูล ได้รับคำสอนจากพระองค์อัลลอฮ์
ผู้ทรงอภิบาลโลกนี้ คำสอนพื้นฐานนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน จากคำสอนที่ปรากฏในอัลกุรอานเราสามารถสรุปได้ว่า คำสอนดังกล่าวประกอบด้วย 2 แขนงสำคัญคือ
1. อะกีดะฮ์
2. ชารีอะฮ์
ความหมายของทั้งสองแขนงนี้ จะไม่แสดงผลให้เห็นได้ชัดเจน นอกจากผู้ยึดมั่นนั้นได้ศรัทธาอย่างมั่นใจและเจตนาอย่างเคร่งครัดพร้อมกับแปลคำศรัทธานั้นให้เป็นจริงด้วยการปฏิบัติ ด้วยพลังร่างกายทำให้เป็นรูปธรรมอย่างสม่ำเสมอ
อะกีดะฮ์คืออะไร
อะกีดะฮ์เป็นภาคทฤษฎีที่พระองค์อัลลอฮ์ ใช้ให้มนุษย์ศรัทธาอย่างมั่นใจด้วยหลักการศรัทธาที่บรรดาท่านเราะสูลทั้งหลายได้ชักชวนให้ประชาชาติของตนต่างศรัทธา และหลักการศรัทธาที่ระบุอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะบรรดาเราะสูลก่อน ๆได้ชักชวนประชาชาติของตนเองด้วยหลักการศรัทธาเดียวกัน คือศรัทธาในพระองค์อัลลอฮ์
ศรัทธาในบรรดาเราะสูล ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ที่ประทานลงมา ศรัทธาในบรรดามะลาอิกะฮ์ ศรัทธาในวันโลกหน้า
ชะรีอะฮ์คืออะไร
ชะรีอะฮ์คือระบบการปฏิบัติที่พระองค์อัลลอฮ์ กำหนดให้มนุษย์ยึดมั่นปฏิบัติในด้านความผูกพันกับพระองค์อัลลอฮ์
ผู้ทรงสร้างมนุษย์และโลกนี้ ด้านความผูกพันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน และความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
คำว่า “อะกีดะฮ์” มีการใช้ในอัลกุรอานด้วยคำว่า “อีมาน” และคำว่า “ชารีอะฮ์” มีการใช้ในอัลกุรอานด้วยคำว่า “อะมัล ศอและฮ์” เช่นในอายะฮ์ที่กล่าวว่า
إنَّ الذينَ آمَنوا وعمِلوا الصالِحاتِ كانت لَهم جنَّاتُ الفرْدَوسِ نُزُلاً خالِدِينَ فيها لا يبْغُونَ عنْها حِوَلاً (الكهف/107)
“แท้งจริง บรรดาผู้ศรัทธาและผู้ที่ประกอบคุณงามความดีทั้งหลาย สำหรับพวกเขานั้นคือสวนสวรรค์ชั้นฟิรเดาส์เป็นที่พำนัก
พวกเขาพำนักอย่างถาวรอยู่ในนั้น พวกเขาไม่ประสงค์จะเปลี่ยนที่จากมัน”
والعَصْرِ إنَّ الإنسانَ لَفي خًسْرٍ إلا الَّذِينَ آمَنوا وعمِلوا الصالِحاتِ وتواصَوا بالحقِّ وتواصَوا بالصَّبْرِ (التصر/1-3)
“ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและผู้กระทำความดีทั้งหลาย
และตักเตือนกันและกันให้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้ยึดมั่นในความอดทน”
อะกีดะฮ์เป็นพื้นฐาน
หากเปรียบเทียบอะกีดะฮ์และชารีอะฮ์เหมือนกับต้นไม้ อะกีดะฮ์ คือลำต้นที่เป็นส่วนสำคัญของต้นไม้ ส่วนชารีอะฮ์ คือกิ่งและใบไม้ที่อยู่บนต้น ลำต้นที่ไม่มีกิ่งและใบ ไม่ใช่ต้นไม้ กิ่งไม้และใบไม้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีลำต้น ชารีอะฮ์จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีอะกีดะฮ์ ในขณะเดียวกัน ชารีอะฮ์จะไม่สมบูรณ์นอกจากภายใต้ร่มเงาอะกีดะฮ์ ชารีอะฮ์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะกีดะฮ์ถือว่าศูนย์เปล่า ไม่มีพื้นฐานที่สามารถยึดมั่นได้
อิสลามถือว่าอะกีดะฮ์และชารีอะฮ์ต้องมีความผูกพันกัน แยกกันไม่ได้ โดยถือว่าอะกีดะฮ์เป็นตัวกระตุ้น ผลักดันให้ชารีอะฮ์ปฏิบัติการ ดังนั้นผู้ที่มีอะกีดะฮ์ แต่ละทิ้งชะรีอะฮ์ถือว่าไม่ใช่มุสลิม เช่นเดียวกับผู้ที่ปฏิบัติชารีอะฮ์ แต่ไม่มีอะกีดะฮ์ ก็ไม่ใช่มุสลิม
อะกีดะฮ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อะกีดะฮ์ที่เกี่ยวกับหลักการศรัทธาทั้ง 5 ประการที่มีการกล่าวในอัลกุรอาน คือ
1. การศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์
2. การศรัทธาต่อบรรดาเราะสูล
3. การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์
4. การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮ์
5. การศรัทธาวันโลกหน้า
และประการที่ 6 ที่มีการกล่าวในหะดีษ คือการศรัทธาต่อกฎกำหนด สภาวะการณ์ของมนุษย์ทุกคน
ซึ่งเป็นหลักการศรัทธาที่บรรดาเราะสูลท่านก่อน ๆได้ชักชวนประชาชาติของพวกเขา ในกลุ่มประชาชาตินั้นมีผู้ที่ศรัทธาและผู้ที่ไม่ศรัทธา บรรดาเราะสูลท่านก่อน ๆได้ชักชวนประชาชาติของพวกเขาด้วยหลัการศรัทธาที่เหมือนกันหมด
สิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องศาสนา
คำสอนของอิสลามทั้งด้านทฤษฎีและหลักการปฏิบัติมี 2 จำพวกคือ
1. สิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2. สิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและผ่อนปรนกันได้
คำสอนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้ได้แก่
1. หลักการอะกีดะฮ์ทั้ง 6 ประการ
2. หลักการปฏิบัติ คือการละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาตและการประกองพิธีฮัจญ์
3. หลักมุอามะลาต คือเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และเรื่องที่เกี่ยวกับการซื้อขาย การจ้าง การเช่า การจำนำและจำนองที่เป็นที่อนุมัติ การบริโภคเนื้อสุกร เลือด ซากสัตว์เป็นที่ไม่อนุมัติ
4. หลักจริยธรรม เช่น การพูดจริง การให้เกียรติแก่ผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น การทำความดีต่อบิดามารดา รู้บุญคุญผู้อื่นเป็นที่สนับสนุน ตรงข้ามกับการพูดเท็จ การโกงในการซื้อขาย การละเมิดสิทธิของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่สนับสนุน
อะกีดะฮ์เป็นเรื่องเด็ดขาด
เพราะความเด็ดขาดของเรื่องอะกีดะฮ์นี้ ท่านเราะสูล จึงตอบแก่บรรดาชาวกุรอยช์ด้วยประโยคที่เด็ดขาด มีรายงานว่า เมื่อบรรดาชาวกุรอยซ์เห็นว่า ผู้ตามเราะสูล
มีจำนวนมากขึ้น ชาวกุรอยซ์จึงยอมที่จะประนีประนอม
พวกเขาได้ไปหาท่านเราะสูล และกล่าวว่า เรามาปรองดองกัน โดยให้เจ้าสักการะพระผู้เจ้าของพวกเราหนึ่งปี แล้วเราจะจะสักการะพระผู้เจ้าของพวกเจ้าอีกหนึ่งปี หากศาสนาที่พวกเจ้ายึดมั่นถูกต้องก็หมายความว่า เราเคยตามศาสนาที่ถูกต้องแล้ว และหากศาสนาที่พวกเรายึดมั่นถูกต้องก็หมายความว่า เจ้าเคยตามศาสนาที่ถูกต้องแล้ว
ท่านเราะสูล ก็ตอบว่า ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮ์
ให้ฉันพ้นจากการตั้งภาคีพระองค์กับสิ่งอื่น
หลังจากนั้นพระองค์ได้ประทานอายะฮ์
قلْ يا أيُّها الكافِرون لآ أعبُدُ ما تعبدون ولا أنتم عابِدونَ ما أعبُدُ ولا أنا عابدٌ ما عبدتمْ
ولا أنتم عابِدونَ ما أعبُدُ لكُم دينُكم ولِيَ دِين (سورة الكافرون)
“จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ว่า โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเอ๋ย ฉันไม่เคารพภักดีสิ่งที่พวกเจ้าเคารพอยู่
และพวกท่านก็ไม่ใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี และฉันไม่ใช่เป็นผู้เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดี
และท่านก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่พระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่านและสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน”