รักนบีให้ถูกวิธี
โดย...อ.อิสมาอีล กอเซ็ม
อิสลามเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด และท่านนบีมูฮัมหมัด คือนบีท่านสุดท้ายและเป็นหัวหน้าของบรรดานบีและรอซูลทั้งหมด เป็นนบีที่มีเกีรยติที่สุด และท่านถูกส่งมาเพื่อเป็นความเมตตาแก่มวลมนุษยชาติ หากท่านไม่ถูกส่งมาเราก็คงไม่ได้รับทางนำและคงไม่ได้ใช้ชีวิตที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง ท่านนบี ได้ถูกทดสอบนานานับประการในการทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮ์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้าย และถูกกล่าวหาใส่ร้ายว่าเป็นคนเสียสติ และสุดท้ายบรรดามุชริกในมักกะห์เผ่าต่างๆ ที่ลงมติโดยการว่าจ้างชายฉกรรจ์ให้ทำการสังหารท่านนบี จนกระทั่งท่านก็ได้รับคำสั่งจากอัลลอฮ์ ให้ทำการอพยพจากมักกะห์ไปยังนครมาดีนะห์ เพื่อไปรวมตัวกับผู้ศรัทธาที่เมืองมาดีนะห์
อัลลอฮ์ ได้มอบความเข้มแข็งให้แก่บรรดามุสลิมที่อพยพไปยังเมืองมาดีนะห์ มุสลิมสามารถสถาปนารัฐอิสลามขึ้นมาในเมืองมาดีนะห์ และหลังจากสถาปนารัฐอิสลาม มุสลิมเริ่มมีความเข้มแข็ง มีกองกำลังปกป้องประเทศโดยที่ท่านนบีมูฮัมหมัด เป็นผู้นำสูงสุด คอยบัญชาการในการทำสงครามกับกองกำลังต่างๆ ที่จ้องที่จะจู่โจมรัฐอิสลามที่เมืองมาดีนะห์ หลังจากนั้นในปีที่แปดแห่งการอพยพท่านนบี และเหล่าศอหาบะห์สามารถกลับเข้าไปพิชิตมักกะห์ได้ และขจัดบรรดารูปเจว็ดต่างๆ ออกจากกะบะห์ และประกาศใช้กฏหมายอิสลามในการปกครอง ท่านนบีสามารถนำอิสลามที่อัลลอฮ์ ส่งมาให้ท่านเป็นผู้เผยแผ่จนกระทั่งทุกสิ่งที่เป็นคำสอนสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านนบี ได้มีแบบอย่างในทุกๆเรื่องให้แก่บรรดามุสลิม
ดังนั้นหลังจากที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ได้เสียชีวิตไปแล้วบรรดา คูลาฟาอฺอัรรอชีดีนได้ดำเนินตามแนวทางของท่านนบี ด้วยความเคร่งครัด พวกเขาจะไม่กระทำในสิ่งที่ออกจากแนวทางของท่าน และเหล่าศอหาบะห์ก็ได้เจริญรอยตามท่าน และไม่ปฏิบัติอะไรที่ออกนอกเหนือจากแนวทางของท่านนบี เป็นอันขาด ถ้าจะเปรียบเทียบบุคคลที่รักท่านนบี ก็คงไม่มีใครที่จะรักท่านมากไปกว่าบรรดาศอหาบะห์ พวกเขาสามารถเสียสละชีวิต ทรัพย์สินเพื่อปกป้องและสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนา และกระทำตามทุกสิ่งที่เป็นคำสั่งของท่านนบี
อิสลามได้ดำเนินมา 1433 ปีแล้ว แนวทางที่บรรดาเหล่าศอหาบะห์และชนสลัฟรุ่นก่อนๆได้เคยยึดถือปฏิบัติก็เริ่ม เปลี่ยนไปมีกลุ่มต่าง ๆ มากมายที่พาดพิงถึงอิสลาม และพาดพิงถึงซุนนะห์ของท่านนบี แต่ละกลุ่มก็อ้างว่าแนวทางของตัวเอง คือแนวทางที่ถูกต้องที่สุด และเป็นแนวทางที่รักในซุนนะห์ของท่านนบี และหนึ่งในการแสดงออกที่ผิดว่ารักท่านนบี ของคนบางกลุ่มนั้น คือ การจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องจากวันเกิดของท่านนบี
เมื่อดูตัวบทในอัลกุรอานในเรื่องของการแสดงออกในการรักต่อท่านนบี มีตัวบทมากมาย
คำดำรัสของอัลลอฮ์
-قال:{قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ وَاللّهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ}
"จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน
และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ"
ดังนั้นปัจจุบันมีสิ่งต่างๆมากมายที่ผู้คนกลับไปให้ความสนใจ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และมองว่าเป็นเรื่องศาสนา เช่น การแสดงออกว่ารักท่านนบี ด้วยกับการเฉลิมฉลองจัดงานวัดเกิดให้แก่ท่าน และมายึดถือเป็นเรื่องศาสนา ทั้งที่ไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจสำหรับสังคมมุสลิมในปัจจุบัน มีซุนนะห์และคำสั่งของอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์มากมายที่เป็นวาญิบภาคบังคับ ที่ถูกละเลยและไม่ปฏิบัติ แต่กลับทำในสิ่งที่ไม่มีบทบัญญัติใช้ให้ปฏิบัติ และสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติกลับละทิ้งไม่ให้ความสำคัญ เช่นการทำละหมาด 5 เวลา การถือศีลอด การจ่ายซากาต และการประกอบพิธีอัจญ์ สิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นรากฐานของศาสนา
การละหมาดเป็นการประกอบอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ์ โดยไม่อนุญาตให้ละทิ้ง ไม่ว่ากรณีใด ยืนละหมาดไม่ได้ให้นั่ง นั่งไม่ได้ก็ให้นอนตแคงขวา นอนตะแคงขวาไม่ได้ให้นอนหงาย หรือขยับตัวไม่ได้ก็ให้ใช้จิตใจรำลึกถึงอัลลอฮ์ ตราบใดที่เรายังมีสติอยู่ นี่คือความสำคัญของการละหมาด และการละหมาดยังเป็นสิ่งแรกที่จะถูกสอบถามในวันกิยามะห์ หากการละหมาดผ่านทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนในความรัก คือการปฏิบัติและการเชื่อฟัง การจัดงานวันเกิดให้แก่ท่านนบี ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการรักท่านนบี ด้วยกับเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ในเรื่องศาสนาผู้ที่กำหนดบทบัญญัติในการปฏิบัติ คือ อัลลอฮ์ โดยมีวะฮ์ยูมายังท่านนบี ดังนั้นสิ่งที่บรรดามุสลิมจะถือปฏิบัติให้เป็นเรื่องของศาสนานั้น จะเกิดจากความนึกคิดของใครคนหนึ่งไม่ได้นอกจากสิ่งนั้นต้องมาจากอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์
หากศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์เห็นว่าดีตามความคิดของเขาแล้วเขาก็ปฏิบัติ ฉะนั้นการส่งรอซูล มาบอกกล่าวชี้แจงคำสอนของพระเจ้ามันก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะมนุษย์สามารถคิดด้วยตัวเองและปฏิบัติศาสนาได้เลย ด้วยเหตุนี้มีตัวบทมากมายที่ได้เตือนสติบรรดามุสลิมให้ระวังการอุตริกรรมในเรื่องศาสนา(บิดอะห์) เพราะหากเราสามารถที่จะคิดอะไรขึ้นมาแล้วยึดถือว่ามันเป็นศาสนาแน่นอน ศาสนาที่ถูกต้องจากพระเจ้าก็คงไม่หลงเหลืออยู่
ถือว่าเป็นความโปรดปรานแก่ประชาชาตินี้ที่อัลกุรอาน และอัลหะดีษ(คำพูดของท่านนบี) ได้รับการบันทึกและได้รับการจำแนกประเภทของหะดีษต่างๆไว้อย่างเป็นระเบียบโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้บรรดามุสลิมสามารถที่จะตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมของคำสอนที่เข้ามาปะปนกับศาสนาของเขา
คำพูดของท่านนบี ในการถือเรื่องการอุตริในศาสนา ดังหะดีษของท่านหญิงอาอิชะห์รอฎิยัลลอฮูอันฮูได้กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
"ใครที่ได้อุตริขึ้นมาในกิจการงานของเรา(ศาสนาของเรา) ซึ่งไม่ได้มาจากศาสนา สิ่งนั้นก็ถูกปฏิเสธ"
(บันทึกโดย บุคอรีย์ และ มุสลิม)
และอีกสายรายงานหนึ่งของอิหมามมุสลิม
"ใครได้กระทำการงานหนึ่งขึ้นมา โดยที่มันไม่ได้เป็นกิจการงานของเรา ดังนั้นมันก็ถูกปฏิเสธ"
คำดำรัสของอัลลอฮฺ
"ใครที่เขาหวังจะพบต่อพระเจ้าของเขา ดังนั้นเขาก็จงประกอบการงานที่ดี และเขาอย่าได้เอาคนหนึ่งคนใดมาหุ้นส่วน ในการเคารพภักดีต่อพระเจ้าของเขา"
( อัลกะฟฮฺ อายะ ที่ 110)
2. หากการจัดงานวันเกิดเป็นอิบาดะห์ที่เป็นแสดงออกถึงการรักท่านนบี แน่นอนบรรดาศอหาบะห์คงยึดถือปฏิบัติตามแบบอย่างอันนี้ เพราะบรรดาศอหาบะห์คือบุคคลที่มีความรักต่อท่านนบี มากที่สุด แต่เมื่อได้ค้นหาหลักฐานจากยุคของท่านนบี ก็ไม่พบว่ามีหลักฐานระบุในเรื่องนี้ เพราะการที่จะปฏิบัติศาสนานั้นต้องมีหลักฐานที่ถูกต้องมายืนยัน
เมื่อไปดูประวัติความเป็นมาของการจัดเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบี ผู้ที่ได้ทำการริเริ่มจัดงานวันเกิดให้แก่ท่านนบี คือ ราชวงค์ฟาตีมียูนเป็นการพาดพิงไปยังบุตรสาวของท่านนบี ซึ่งราชวงค์ฟาตีมียูนเป็นหลักความเชื่อของพวกอัรรอฟิเดาะห์ ที่เป้าหมายพื่อต้องการทำลายศาสนาของบรรดามุสลิม เพราะในงานมีพิธีกรรมมากมาย มีการกระทำในสิ่งที่เป็นบาป เช่น เสียงเพลง มีการปะปนระหว่างผู้หญิงผู้ชาย และอีกมากมายที่เป็นการกระทำที่ค้านต่อหลักการของอัลอิสลาม
เราอาจจะมองว่าการคิดดีในศาสนาไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ เพราะการจัดงานมีการอ่านชีวะประวัติของท่านนบี เป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี การเสียสละในการทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ทำการบริจาคเลี้ยงอาหารแก่บรรดาผู้คน สำหรับหลักการอิสลามการทำคุณงามความดีต้องอยู่ในกรอบ หมายถึง มีช่วงเวลา และวิธีการ
เช่น การละหมาดซุบห์ตามบทบัญญัติอิสลามกำหนดให้ละหมาด 2 รอกฮะห์ ถ้าบางวันอยากจะละหมาดซุบห์ 3 รอกฮะห์เพื่อต้องการทำอิบาดะห์ให้มากๆ การละหมาดซุบห์ในวันนั้นก็ใช้ไม่ได้ ถึงแม้เรามีเจตนที่ดีและมีความบริสุทธิ์ใจ เพราะการกระทำนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ เงื่อนไขต่างๆ ในการประกอบอิบาดะห์ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. ความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์
2. ปฏิบัติตรงตามแบบอย่างของท่านนบี
3. การปฏิบัติต้องเกิดจากความศรัทธาต่ออัลลอฮ์
ฉะนั้นการงานใดก็ตามที่ไม่มีที่มาจากอัลลอฮฺและรอซูล การงานนั้นไม่เป็นที่ตอบรับ หากเรามองดูความตกต่ำหรือการล่มสลายของอาณาจักรอิสลามในยุคต่างๆ หนึ่งในสาเหตุ คือ การที่ผู้คนหันหลังให้กับแนวทางที่ถูกต้อง แต่ไปยึดถือเคร่งครัดกับแนวทางที่อุตริขึ้นมา และเป็นแนวทางที่ค้านกับ กีตาบุลลอฮฺและซุนนะห์ของท่านนบี การอุตริในศาสนาถือว่าเป็นการทำลายศาสนาที่ผู้คนไม่รู้สึกตัว
คำว่า ทำลาย คือทำสิ่งนั้นให้หมดไป แน่นอนถ้าสิ่งที่เป็นการอุตริในเรื่องศาสนาถูกปฏิบัติมากขึ้น หลักการศาสนาที่มาจากท่านนบี ก็จะถูกลืมและสุดท้ายมันก็หมดไป ดังนั้นบรรดาผู้ที่มีความรู้จำเป็นที่จะต้องทำการชี้แจงผู้คนให้เข้าใจในหลักการศาสนา และเตือนพวกเขาให้ระวังการอุตริกรรมในศาสนา ส่วนผู้ที่ได้รับการชี้แนะก็สมควรใช้สติใคร่ครวญว่าสิ่งที่เขาได้รับเป็นข้อเท็จจริงและสมเหตุสมผลหรือเปล่า
เราอย่าเป็นเหมือนกับบุคคลที่เมื่อท่านนบี ได้นำคำสอนที่ถูกต้องมาจากอัลลอฮฺ พวกเขาก็แสดงปฏิกิริยาในการตอบโต้ไม่ยอมรับในสิ่งที่ท่านนบี นำมาบอก โดยพวกเขาอ้างเหตุผลว่า สิ่งที่พวกเขายึดถืออยู่นั้นคือแนวทางที่บรรพบุรุษของเคยยึดถือมิอาจจะละทิ้งสิ่งเหล่านั้นได้ พวกเขาไม่ใช้สติปัญญาใคร่ครวญในสัจธรรม เลยเป็นเหตุให้พวกเขาต้องอยู่ในทางหลงผิด ไร้ทิศทางและตายไปในสภาพที่ไม่ได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ
ดังเช่น อาบูตอลิบ ลุงของท่านนบี ซึงท่านพยายามที่จะเรียกร้อง อาบูตอลิบให้ยอมอิสลาม โดยให้กล่าวคำปฏิญาณทั้งสอง แต่อาบูตอลิบก็ไม่ยอมกล่าวคำนี้เพราะกลัวว่าเมื่อเสียชีวิตไปจะถูกตราหน้าว่าเขาเป็นบุคคลที่ละทิ้งแนวทางของบรรบุรุษ ฉะนั้นการใช้ความคิดใคร่ครวญด้วยเหตุผลคิดว่าคงเป็นประตูที่จะนำเราสู่สัจธรรมที่ถูกต้อง และหากเราเป็นผู้ที่รักท่านนบี เราก็ต้องปฏิบัติแนวทางและแบบอย่างของท่าน และละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นการอุตริขึ้นมาในศาสนา ถึงแม้เราจะมีเจตนาที่ดีก็ตาม เพราะการกระทำนั้นจะไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮ์ และไม่ได้รับผลบุญด้วย
ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่เราจะมาศึกษาหาความรู้ในเรื่องของอิสลามอย่างจริงๆจังเสียที เพื่อเราจะได้เข้าใจอิสลามที่ถูกต้อง และสามารถนำมันมาใช้กับการดำเนินชีวิต สิ่งหนึ่งที่เป็นความขาดทุน คือการที่เรากระทำสิ่งหนึ่งที่คิดว่ามันคือความดี และได้รับผลบุญ แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เราปฏิบัติไม่ได้มีตัวบทจากท่านนบี การกระทำเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์อันใด เหมือนคำดำรัสของอัลลอฮ์
" จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) เราจะแจ้งแก่พวกท่านไหม ถึงบรรดาผู้ที่ขาดทุนยิ่งในการงาน ? "
" คือบรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาสูญสิ้นไป ในการมีชีวิตในโลกนี้ ¹ และพวกเขาคิดว่าแท้จริงพวกเขาปฏิบัติความดีแล้ว "
" เขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อโองการทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และการพบปะกับพระองค์
ดังนั้นการงานของพวกเขาจึงไร้ผล และในวันกิยามะฮ์เราจะไม่ให้มันมีค่าแก่พวกเขาเลย "
ถึงแม้อายะห์นี้จะกล่าวถึงบรรดาผู้ปฏิเสธแต่ยังคลอบคลุมถึงบุคคลที่ทำการอิบาดะห์ต่ออัลลอฮฺ ในรูปแบบที่อัลลอฮฺ ไม่ต้องการ หมายถึงไม่ได้มาจากบทบัญญัติของพระองค์
ขออัลลอฮฺได้โปรดให้บรรดามุสลิมได้ยืนหยัดในซุนนะห์ของท่านนบี และปกป้องซุนนะห์ของท่านจากการบิดเบือน จากบุคคลที่ไม่หวังดีต่ออิสลาม
(1) คือการงานของพวกเขาเป็นโมฆะ และสูญหายในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะการปฏิเสธศรัทธากับการจงรักภักดีจะอยู่ร่วมกันไม่ได้