มุสลิมต้องไม่ลอยกระทง
  จำนวนคนเข้าชม  18185

มุสลิมต้องไม่ลอยกระทง


โดย...อ.อิสมาอีล  กอเซ็ม


มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว  
            


          ท่านนบีมูฮัมหมัด  ได้นำหลักการอิสลามที่บริสุทธิ์ คือการเอกภาพต่ออัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว  ท่านนบีมูฮัมหมัด  ได้เรียกร้องบรรดามุสลิมในเรื่องของหลักความเชื่อที่มีต่ออัลลอฮ์  ในการเป็นพระเจ้าและการให้เอกภาพต่อพระองค์ในด้านของการเคารพภักดี 

          ท่านได้บอกถึงสิ่งที่จะมาเป็นตัวทำลายหลักอากีดะห์หลักความเชื่อของมุสลิม  หลักความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกับบรรดามุสลิม หากหลักความเชื่อเสียหายก็ทำให้การประกอบอิบาดะห์ของเราก็ไร้ผล  เพราะมีหลักความเชื่อที่ผิดเพี้ยน


          ดังนั้นมุสลิมเราอาศัยอยู่ในประเทศที่ประชากรส่วนมากไม่ได้เป็นมุสลิม แน่นอนเราต้องใช้ชีวิตปะปนกับผู้คนมากมาย หลากหลายวัฒนธรรมและหลากหลายความเชื่อ ซึ่งบางครั้งมุสลิมได้เข้าไปร่วมกับกิจกรรมประเพณีของคนต่างศาสนาที่บางครั้งมีที่มาซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนา มุสลิมจะต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมเพราะมันเกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อของศาสนาอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอิสลาม  เช่น ประเพณีสงกรานต์ การไหว้ครู และประเพณีลอยกระทงและอีกมากมายที่มีที่มาจากความเชื่อทางศาสนา 


           อิสลามไม่ได้ห้ามการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างศาสนา เช่นการค้าขาย การไปเยี่ยมคนป่วย การช่วยเหลือผู้ประสบกับความเดือดร้อนที่เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  และอีกมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับประเด็นที่อยากจะหยิบยกมาทำความเข้าใจ คือ เรื่องของการลอยกระทง 

         การลอยกระทงถ้าเรามองแบบผิวเผิน ไม่น่าจะมีอะไรมากมาย มันเป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน มีการจัดการแสดงมหรสพ และมีการแสดงดนตรี การประกวดนางงาม  ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับศาสนาตรงไหน  แต่ถ้าหากเราไปศึกษาความเป็นมาของการลอยกระทง จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา                                      
                                                                   

สรุปที่มาของการลอยกระทง

           วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยส่วนใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือเดือนยี่ (เดือนที่ 2) ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา "มักจะ"ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ความเชื่อเกื่ยวกับวันลอยกระทง

 

สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่  

          1. เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

          2. เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทธ

          3. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

          4. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้ 

          5. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

          6. เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

          7. เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย

ที่มา  http://hilight.kapook.com/view/30438


         นี่คือความเชื่อบางประการที่ทำให้เกิดประเพณีลอยกระทง การที่มุสลิมไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเพณีของศาสนาอื่นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาไม่ได้เป็นการไปดูถูก แต่เป็นการแสดงเอกลักษณ์ในคำสอนของอิสลาม อิสลามไม่ได้ไปตำหนิความเชื่อของศาสนาอื่น  ใครจะเชื่ออย่างไรในเรื่องศาสนาเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับหรือเหยียดหยามศาสนาของคนอื่นได้ เพราะเรื่องความเชื่อเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน  แต่คำสอนของศาสนาแต่ละศาสนาล้วนแล้วมีเอกลักษณ์เฉพาะ

           ดังนั้นมุสลิมเวลาจะทำอะไรที่เกี่ยวกับประเพณีต่างๆ จึงต้องดูด้วยว่ามีที่มาจากหลักความเชื่อหรือไม่  หากประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อทางศาสนา เป็นแนวปฏิบัติของคนในสังคมและไม่ไปค้านกับหลักการอิสลามก็ถือว่าไม่เป็นที่ต้องห้ามที่มุสลิมจะเข้าไปมีส่วนร่วม


           ในยุคของท่านนบี  บรรดามุชริกในเมืองมักกะฮ์หมดวิธีการที่จะหยุดยั้งท่านนบี ในการเรียกร้องผู้คนมาสู่อิสลาม บรรดามุชริกผู้ตั้งภาคีเลยประชุมหาวิธีเพื่อที่จะให้ท่านนบี  หยุดทำหน้าที่ในการเรียกร้องผู้คนมาสู่การให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว พวกเขาได้ข้อสรุปว่า

         ต้องหาวิธีการที่เป็นการสมานฉันท์ พวกเขาจึงเสนอทางออกให้แก่ท่านนบี  โดยพวกเขาจะยอมเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์  พร้อมกับบรรดามุสลิมเป็นระยะเวลาหนึ่งปี  หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีบรรดามุสลิมก็ต้องมาบูชาพระเจ้าของพวกเขาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อต้องการยุติความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม  สิ่งที่บรรดาผู้ตั้งภาคีในเมืองมักกะห์ได้เรียกร้องนั้นเป็นสิ่งที่บรรดามุสลิมกระทำไม่ได้เป็นอันขาด เพราะมันเป็นการกระทำที่ค้านต่อหลักคำสอนของอัลอิสลาม  เพราะหลักความเชื่อของอัลอิสลามนั้นคือการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์องค์เดียว การเคารพภักดีอัลลอฮ์พร้อมกับพระเจ้าอื่นนั้นถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์  และการที่เราได้นำสิ่งอื่นมาหุ้นส่วนกับอัลลอฮ์ในการเคารพภักดีนั้นถือว่า เราได้กระทำสิ่งที่มาทำลายหลักความเชื่อของอิสลามคือการเชื่อต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว  หลังจากที่บรรดาผู้ตั้งภาคีได้เสนอข้อเรียกร้องนี้อัลลอฮ์ได้ประทานอัลกุรอานเพื่อต้องการให้บรรดามุสลิมได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้

 
1. จงกล่าวเถิด มุฮัมมัดว่า โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเอ๋ย

 
2. ฉันจะไม่เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดีอยู่

 
3. และพวกท่านก็ไม่ใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี

 
4. และฉันก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดี

 
5. และพวกท่านก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี

 
6. สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน (*1*)

 

     นี่คือคำสั่งของอัลลอฮ์  ที่ให้บรรดามุสลิมปลีกตัวออกจากสิ่งที่เป็นการตั้งภาคีกับพระองค์ และส่วนหนึ่งจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์  คือ การที่มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีกรรมของศาสนาอื่น   และการที่มุสลิมเข้ามีส่วนในพิธีกรรมที่เป็นหลักความเชื่อของศาสนาอื่นนั้นถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลักการอิสลามอันบริสุทธิ์ได้มีสิ่งอื่นเข้ามาเจือปน และจะทำให้สูญเสียอากีดะห์ 


ท่านนบี   ได้มีคำสอนมากมายที่ไม่ต้องการให้มุสลิมไปลอกเลียนแบบ ตามการใช้ชีวิตของบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิม


والله أعلم

 

 



(1)  ทั้ง 6 อายาตของซูเราะฮ์นี้ ถูกประทานลงมาเป็นการตอบโต้ต่อข้อเสนอแนะของพวกมุชริกีนบางคน เช่น อัลวะลีด อิบนุล มุฆีเราะฮฺ และ อุมัยยะฮ์ อิบนุ ค่อลัฟ ฯลฯ ข้อเสนอแนะนั้นคือให้ท่านนะบี เคารพสักการะพระเจ้าของพวกเขาพร้อมกับพวกเขาเป็นเวลาหนึ่งปี และให้พวกเขาเคารพสักการะพระเจ้าของท่านนะบี พร้อมกับท่านเป็นเวลาหนึ่งปี ทั้งนี้เป็นการปรองดองระหว่างกันและเป็นการสิ้นสุดการขัดแย้งระหว่างกันในทัศนะของพวกเขา

ท่านร่อซูล  ได้ตอบข้อเสนอแนะผู้ปฎิเสธศรัทธาต่อวะฮียฺของอัลลอฮฺ และต่อการให้ความเอกภาพ และบรรดาพวกมุชริกีนที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺว่า ฉันจะไม่เคารพภักดีต่อสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดีอยู่ในขณะนี้ตามข้อเสนอแนะของพวกท่าน และพวกท่านก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีในขณะนี้สิ่งที่ฉันเคารพภักดีอยู่ เพราะอัลลอฮฺทรงกำหนดกฏสภาวะแก่พวกท่านเช่นนั้น

และฉันก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดีในอนาคตเป็นอันขาด และพวกท่านก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีสิ่งที่ฉันเคารพภักดีในอนาคตเป็นอันขาด เพราะพระเจ้าของฉันทรงรอบรู้ในจิตใจของพวกท่าน สภาพของพวกท่าน ความประพฤติที่น่าเกลียดของพวกท่าน และการงานที่ชั่วช้าของพวกท่าน สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน ฉันจะไม่ปฏิบัติตามแนวทางนั้น และสำหรับฉัน ก็คือศาสนาของฉัน พวกท่านจะไม่ปฏิบัติตามแนวทางของฉัน