ผลบุญของการถือศีลอดวันอาชูรอ
  จำนวนคนเข้าชม  16060

ผลบุญของการถือศีลอดวันอาชูรอ


โดย...อ.อิสมาอีล  กอเซ็ม


         อิสลามคือ แนวทางการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ ในคำสอนของอิสลามไม่เคยละเลยที่จะนำคำสอนในทุกเรื่องของการดำเนินชีวิตของมนุษย์  และในทุกวินาทีของการดำเนินชีวิตของผู้ศรัทธาจะต้องเกี่ยวข้องอยู่กับการทำความดีอยู่ตลอดเวลา  บางครั้งการทำความดีต้องอาศัยกำลังกายและกำลังใจ และบางทีทั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์   แต่การประกอบอิบาดะห์การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ ที่ให้บรรดาผู้ศรัทธาต้องออกในเรื่องของทรัพย์นั้นมีน้อยมาก


          อัลลอฮ ได้ให้การทำอิบาดะห์ต่อพระองค์ในรูปแบบมากมาย และไม่ได้เป็นความยากลำบากแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่จะปฏิบัติ ซึ่งอิบาดะห์บางอย่างนั้นเราสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองในเรื่องของทรัพย์สิน แค่เราใช้คำพูดที่เปล่งออกไปเพื่อทำการรำลึกถึงอัลลอฮ์ เราก็ได้รับผลบุญ หรือเราพูดดีกับคนอื่นๆนั้นเราก็ได้รับผลบุญแล้ว  ดังนั้นความดีที่อิสลามได้กำหนดไว้นั้นมีมากมายและกระทำได้โดยง่ายดาย 

          ในช่วงนี้เขาสู่เดือนมูหัรรอมซึ่งในเดือนนี้ก็มีความดีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นซุนนะห์ของท่านนบี และสิ่งทีบรรดานบีก่อนหน้าได้ปฏิบัติกันมาไม่ว่าจะเป็นท่านนบี นัวะ และท่านนบี มูซา รวมถึงบรรดาอะลุลกิตาบก็ได้ถือศีลอดในวันนี้ 


        ครั้นเมื่อท่านนบี ได้มายังเมืองมาดีนะห์ ท่านพบว่า พวกยิวได้ทำการถือศีลอดในวันอาชูรอ  ท่านจึงได้ใช้ให้บรรดาศอหาบะห์ของท่านทำการถือศีลอดในวันอาชูรอ และท่านนบี ยังกล่าวว่าหากท่านมีชีวิตในปีหน้าท่านจะถือศีลอดในวันที่ เก้า ด้วย   แต่ท่านนบี ได้เสียชีวิตเสียก่อน แต่จากความตั้งใจของท่านนบี นั้นทำให้บรรดานักวิชาการส่งเสริมให้มีการถือศีลอดในวันที่เก้า และวันที่สิบ (วันอาชูรอ) เพื่อให้มีความแตกต่างกับการถือศีลอดของชาวยิว แต่ก็ไม่ได้หมายความการถือศีลอดเฉพาะวันที่สิบ(วันอาชูรอ)จะเป็นการกระทำที่น่าเกลียด   ฉะนั้นพวกเรามุสลิมจะต้องให้ความสนใจในสิ่งที่เป็นซุนนะห์ของท่านนบี

 

ความประเสริฐของการถือศีลอดในวันอาชูรอ

فعَنْ أَبِي قَتَادَةَ رضي الله عنه ، قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم: "صِيَامُ يَوْمِ عَاشُورَاءَ أَحْتَسِبُ عَلَى اللَّهِ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِي قَبْلَهُ". صحيح مسلم رقم (1162).

        มีรายงานจากท่านอาบีกอตาดะห์ รอฎิยัลลอฮูอันฮู  ท่านรอซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า

“ใครได้ถือศีลอดในวันอาชูรอ อัลลอฮฺจะลบล้างความผิดปีที่ผ่านมา “

( ซอเฮียะมุสลิมหมายเลขหะดีษที่ 1162)

وجاء عن عمر بن صهبان، عن زيد بن أسلم، عن عياض بن عبدالله، عن أبي سعيد رضي الله تعالى عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : "من صام يوم عرفة غفر له سنة أمامه وسنة خلفه، ومن صام عاشوراء غفر له سنة".صحيح الترغيب رقم (1013) و (1021

         และได้มีรายงานท่านอัมรฺ อิบนู ซอฮฺบาน จากท่านเซด บิน อัสลัม จากท่านอิยาฏ บิน อับดุลลอฮฺ จากท่านสะอีด รอฎิยัลลอฮูอันฮูได้กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า

“ใครที่ได้ถือศีลอดในวันอารอฟะห์ เขาจะได้รับการอภัยโทษปีที่ผ่านมาและปีที่จะมาถึง และใครที่ถือศีลอดวันอาชูรอ เขาจะได้รับการอภัยจากความผิด 1 ปี “

(จากหนังสือซอเอียะ อัตตัรฆีบ หมายเลขหะดีษที่ 1013 และ1021 )

          จากหะดีษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงภาคผลบุญของการถือศีลอดในวันเหล่านั้น  และการกระทำที่ไม่ได้เหนื่อยยากอะไรมากมาย ไม่ต้องเสียเงิน แต่ภาคผลบุญที่ได้รับมากมาย ได้ถูกลบล้างความผิดที่เป็นบาปเล็กให้หมดไป ซึ่งบาปทั้งหมดที่เขาได้ทำไว้ทั้งปี 


          ดังนั้นเราอย่าได้ปล่อยให้โอกาสที่ดีต้องหลุดลอยไปโดยที่ไม่ได้คว้ามันไว้  ในดุนยาเราอาจจะมองความดีมากมายที่ผ่านไปในแต่ละวันที่ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นความดีจากการอ่านอัลกุรอาน การกล่าวอัซการเช้าเย็น การกล่าวดุอาในการดำเนินชีวิต  การสำรวจความผิดพลาดของเราที่ได้ทำผิดต่อพระเจ้าของเรา และการสำนึกผิดขออภัยโทษต่อพระองค์ในความผิด

          ท่านนบี ได้กล่าว อิสติฆฟัรในแต่ละวันหลายๆครั้ง ทั้งที่ตัวของท่านนั้นไร้ความผิด แต่การกระทำของท่านนบี เป็นแบบอย่างให้แก่บรรดามุสลิม ซึ่งจะต้องขออภัยโทษให้มากเพราะเราแต่ละคนย่อมทำความผิดต่ออัลลอฮ์

          ดังนั้นในวันสองวันที่ใกล้เข้ามาพี่น้องอย่าได้ละเลยไม่สนใจที่จะถือศีลอดวันอาชูรอ เพื่อมันจะได้เป็นสิ่งที่จะมาลบล้างความผิดของเราอีกวิธีหนึ่ง  ถึงแม้จะเป็นการลบล้างความผิดที่ไม่ใช่บาปใหญ่  แต่ความผิดที่เป็นบาปเล็กที่เราเห็นว่าไม่มาก โดยเรามองข้ามไปไม่คิดที่จะเลิกและลบล้างมัน แน่นอนหลายวันผ่านไปสะสมมากขึ้น มันจะเป็นสาเหตุที่จะนำตัวของเราไปสู่การทำบาปใหญ่ได้เหมือนกัน   


ขออัลลอฮ์ ได้โปรดให้เราได้ยึดมั่นในศาสนาของพระองค์ตราบจนเรากลับไปหาพระองค์ .... อามีน