ชีวิต
โดย : อาจารย์ มูนีร มูหะหมัด
ช่วงชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้ เริ่มต้นเมื่อเกิดและสิ้นสุดเมื่อตาย ดำเนินท่ามกลางความสุขสบาย และความลำบากยาก กิจวัตรที่พวกเขาถ่ายทอดผ่านการกิน การดื่ม การสวมใส่เสื้อผ้า การศึกษาเล่าเรียน การพักผ่อนหลับนอน การละเล่นรื่นเริงสนุกสนาน มีความปลาบปลื้มปีติยินดีเมื่อได้รับสิ่งที่หวังตามความปรารถนา รู้สึกเศร้าโศกเสียใจเมื่อต้องสูญเสียของรักหรือบุคคลที่เคารพนับถือ ดังนั้น ช่วงชีวิตของมนุษย์จึงระคนอยู่ระหว่าง ความรักความชัง ความสมหวังและความผิดหวัง การหัวเราะและการร้องไห้ ความหวานชื่นและความขื่นขม การมีความหวังและความท้อแท้ สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนฉากชีวิตชั่วคราวไม่จีรังยั่งยืน สิ้นสุดเมื่อความตายมาถึง
ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“เจ้า (มุฮัมมัด) ไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงหลั่งน้ำลงมาจากฟากฟ้า แล้วทรงให้มันไหลซึมลงไปในแผ่นดินเป็นตาน้ำ
ด้วยน้ำนั้นพระองค์ทรงให้พืชงอกเงยออกมาหลายสี แล้วมันก็เหี่ยวแห้ง เจ้าก็จะเห็นมันเป็นสีเหลือง แล้วพระองค์ทรงทำให้มันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
แท้จริงในนั้นย่อมเป็นข้อเตือนสติแก่บรรดาผู้มีสติปัญญา”
(อัซซุมัร/ 21)
โลกในช่วงชีวิตของมนุษย์
นักวิชาการทางบัญญัติอิสลามบางคนกล่าวว่า มุสลิมเป็นคน 2 โลกคือ โลกดุนยานี้และโลกหน้าอาคีเราะฮฺ บางคนก็แบ่งออกเป็น 4 โลก คือ
1.โลกในครรภ์
คือ ในช่วงที่มนุษย์เป็นทารกอยู่ในครรภ์ ยังมิได้คลอดออกมาลืมตาดูโลก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงแรกที่มนุษย์ ในช่วงนี้ความรับผิดชอบของมนุษย์ยังไม่มี เขาไม่ต้องรับผิดชอบว่า เขาจะเกิดมาเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง มีร่างกายครบสมบูรณ์หรือมีความพิการ แข็งแรงหรืออ่อนแอ แต่ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ พ่อแม่ของเขาที่ต้องช่วยดูแลให้ทารกมีความปลอดภัย ไม่ได้รับอันตรายใดๆ
2.โลกดุนยา
คือ โลกที่ทารกคลอดออกมามีชีวิตอยู่เป็นเด็กอ่อน ซึ่งพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูเขาให้เจริญเติบโต ในช่วงที่มนุษย์ยังอยู่ในสภาพไร้เดียงสา เขายังอยู่สภาพที่ไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาปฏิบัติ แต่จำเป็นที่พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูจะต้องให้การชี้แนะให้การอบรมพฤติกรรมและจรรยามารยาทที่ดีแก่เขา เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตอยู่ในหนทางที่ถูกต้องเหมาะสมอันเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่วัยรู้เดียงสา ซึ่งเป็นวัยที่เขาพอจะแยกแยะได้บ้างว่า สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี สิ่งใดที่ควรทำและสิ่งใดที่ไม่ควรทำ แต่บัญญัติอิสลามก็ยังไม่กำหนดหน้าที่รับผิดชอบให้แก่เขา หน้าที่ของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูคือ การฝึกหัดให้เขาได้ปฏิบัติสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องปฏิบัติ
เมื่อเขาบรรลุสู่วัยศาสนภาวะ ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่มนุษย์มีหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติและมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบ ศาสนาอิสลามได้กำหนดให้บุคคลจะต้องปฏิบัติตามศาสนบัญญัติโดยครบถ้วนตามเงื่อนไข และองค์ประกอบที่ศาสนากำหนด จะหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงหรือไม่ปฏิบัติโดยที่ไม่มีเหตุขัดข้องตามที่ศาสนาผ่อนผันให้มิได้ ดังนั้น การกระทำของมนุษย์ในช่วงวัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นความดีหรือความชั่ว ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม สอดคล้องกับหลักคุณธรรมหรือละเมิดคุณธรรม เขาจะต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น
ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“แท้จริง วันอวสานกำลังจะมาถึง ข้า(อัลลอฮฺ)ปกปิดมันไว้ เพื่อตอบแทนทุกชีวิตตามสิ่งที่มันขวนขวาย”
(ฏอฮา /15)
3.โลกบัรซัค
คือ โลกซึ่งเป็นช่วงกั้นกลางระหว่างโลกดุนยาและโลกอาคีเราะฮฺ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ตายและรอคอยจนถึงวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“จนกระทั่งเมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งในพวกเขา เขากล่าวว่า โอ้ พระเจ้าของฉัน ขอพระองค์ทรงให้ฉันกลับ(ไปมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเถิด)”
(อัลมุอฺมินูน/99)
“เพื่อฉันจะได้กระทำความดีในสิ่งที่ฉันละทิ้งไว้ เปล่าเลย เท้จริง มันเป็นเพียงถ้อยคำที่เขากล่าวมันออกมา
และเบื้องหน้าพวกเขามีโลกบัรซัค จนถึงวันที่พวกเขาถูกให้ฟื้นคืนชีพใหม่”
(อัลมุอฺมินูน /100)
โลกบัรซัคนี้ นักวิชาการกล่าวว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวันกิยามะฮ์
4.โลกอาคีเราะฮ์
คือ โลกหน้าหรือปรโลก เป็นโลกที่มีการชำระสอบสวนการงาน ในความรับผิดชอบของมนุษย์ที่ได้ปฏิบัติในโลกดุนยา ในฐานะบ่าวและเป็นผู้แทนของพระองค์ในโลกนี้ ถ้าผู้ใดประกอบความดี ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบโดยครบถ้วนสมบูรณ์เขาก็จะได้รับการตอบแทน โดยมีชีวิตอย่างผาสุกในสวรรค์ แต่ถ้าผู้ใดที่ทำความชั่ว ละเลยการปฏิบัติความดี หลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนและละเมิดบัญญัติอิสลาม เขาก็จะต้องถูกลงโทษในนรก
คำพิพากษาของอัลลอฮ์ มีความยุติธรรม ดังนั้น ผู้ใดที่ถูกอธรรมในโลกนี้ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเป็นธรรมในโลกนี้ ในโลกอาคีเราะฮฺ อัลลอฮ์ จะทรงนำสิทธิที่ถูกยึดไปโดยอธรรมกลับคืนมาให้ และจะให้ผู้อธรรมต้องใช้คืนสิ่งที่เขาอธรรมให้แก่ผู้ถูกอธรรม โดยครบถ้วนและจะต้องถูกลงโทษในนรก
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“และเรา (อัลลอฮฺ) จะตั้งตราชูที่เที่ยงธรรมสำหรับวันกิยามะฮ์ ดังนั้น จะไม่มีชีวิตใดที่ถูกอธรรมแต่อย่างใด
และแม้ว่ามันเป็นเพียงน้ำหนักเท่าเมล็ดพืชเล็กๆ เราจะนำมันมาแสดง และเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับเราที่เป็นผู้ชำระสอบสวน”
(อัลอัมบิยาอ์ / 47)
จาก หนังสือโลกบัรซัค / อัลอิศลาห์ สมาคม