หายนะของการนินทา
  จำนวนคนเข้าชม  22442

หายนะของการนินทา


อาจารย์ มุญาฮิด ลาตีฟี 


          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงมีความตั้งมั่นยำเกรงต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม ในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกล จากสิ่งที่พระองค์ ทรงห้าม นับเป็น เนียะมะห์  ความโปรดปรานจาก อัลเลาะห์ ที่มีต่อเราท่านทุกคนอีกครั้งหนึ่ง ต่อเราที่ได้รับโอกาส ในการปฏิบัติ อามั้ลอิบาดะห์ ประจำสัปดาห์ เราได้มีโอกาสมาร่วมรับฟังคุตบะห์ มาร่วมละหมาดวันศุกร์และร่วมทำซิกรุ้ลลอฮ์ รำลึกถึงอัลเลาะห์


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ตามนัยยะความหมายที่อัลเลาะห์ ได้ทรงบอกกับเราถึงสิ่งหนึ่งที่มันเป็นมหันต์ภัยร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมในทุกๆระดับ สิ่งนั้นก็คือ การที่เราในฐานะที่เป็นมุสลิมได้กล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่เป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในด้านทางศาสนา ในเรื่องของดุนยา(دنيا)ในเรื่องของรูปร่าง การแต่งกาย เชื้อสาย วงศ์ตระกูล ผิวพรรณ และสิ่งต่างๆ ที่คำพูดของเราบ่งชี้ถึง สิ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของเรา อัลเลาะห์ ได้ทรงบอกกับเราว่า

 

قال الله تعالى ولا يغتب بعضكم بعضا أيحب أحدكم أن يأكل لحم أخيه ميتا فكرهتموه...الآية ( 12 الحجرات)

“และอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งของพวกเจ้าชอบหรือที่เขาจะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้ว แน่นอนพวกเจ้ารังเกียจมัน” 

 

           การนินทาเป็นสิ่งซึ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกห่างเหิน ความรู้สึกที่ก่อให้เกิดการตีตัวออกห่างจากบุคคลซึ่งเราได้พูดถึงในสิ่งที่ไม่ดีของเขา ถ้าหากมาตรแม้นว่าเขาได้รับรู้มันจะนำพาไปสู่การทำร้าย และทำลายสังคมให้หมดสิ้นไป ด้วยสาเหตุคำพูดของเราที่มีต่อพี่น้องของเรานั่นเอง ซ้ำร้ายกว่านั้น กับบุคคลที่เราพูดถึงเขาในแง่ที่ไม่ดี แต่ในอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เราได้พบปะเขา เรากลับสามารถที่จะใช้คำพูดในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่บ่งชี้ถึงการมีความรัก มีความเอื้ออาทรต่อพี่น้องคนนั้น นั่นคือสิ่งที่มันสะท้อน ในความเป็นตัวตนของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้ การนินทา การพูดในสิ่งที่ไม่ดีของบุคคลอื่น มันก่อให้เกิดผลเสียกับตัวเราเองและสังคม

หะดิษที่ได้รับรายงานจากท่าน อบีมูซาอัลอัชอารี กล่าวว่า ฉันได้ถาม ท่านนบีมูฮัมมัด  ว่ามุสลิมที่มีความประเสริฐสุดนั้นเป็นเช่นไร

ท่านนบีมูฮัมมัด ได้กล่าวตอบว่า “คือบุคคลที่มวลมุสลิมมีความปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา”

         นั่นหมายความว่าคำพูดของเรา การกระทำของเราได้ไปพาดพิงเกี่ยวข้อง ในแง่มุมหนึ่งแง่มุมใด ที่มันเป็นความบกพร่องของพี่น้องของเรา ซึ่งการกระทำเช่นนั้น ในทัศนะของอิสลามถือเป็นการกระทำที่น่าอดสูอย่างยิ่ง


         มีเรื่องราวเกี่ยวกับนักฟู่กาฮาด(فقهاء)นักนิติศาสตร์อิสลามผู้หนึ่ง ได้เล่าเรื่องในช่วงเวลาที่เขาสอนหนังสือกับบรรดาลูกศิษย์ว่า ได้มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาหา ในสภาพกล้าๆกลัวๆ ต่อการที่จะซักถามปัญหาศาสนา  โต๊ะครูจึงบอกว่าอย่าได้กลัวไปเลย อย่าได้อายที่จะถามในสิ่งที่ก่อประโยชน์ในทางศาสนา นางได้เล่าเหตุการณ์ให้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนางในค่ำคืนหนึ่ง ขณะที่นางนอนหลับ ลูกชายซึ่งเป็นลูกแท้ๆ อยู่ในสภาพที่มึนเมาจากสุราได้ทำการร่วมประเวณีกับผู้เป็นมารดาแท้ๆของเขาและเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา จนกระทั่งคลอดลูกออกมา เมื่อลูกศิษย์ได้รับรู้จึงเกิดความฉงน แปลกใจ กับเรื่องราวที่ได้รับฟัง แต่ผู้ที่เป็นโต๊ะครูได้ย้อนบอกกับบรรดาลูกศิษย์ว่า สิ่งที่พวกเธอได้รับฟังนั้นมันเป็นสิ่งที่เบาบางเหลือเกิน ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับบุคคลที่ทำการนินทา เพราะบุคคลที่ทำซินา เมื่อเขาได้เตาบัต ขอลุแก่โทษต่ออัลเลาะห์   อย่างแท้จริง เขาได้รับการอภัยจาก อัลเลาะห์ แต่กับผู้ที่นินทา พูดในสิ่งที่บกพร่องของบุคคลอื่น  เขาจะยังไม่ได้รับการอภัย จนกว่าผู้ที่เขานินทานั้นจะให้อภัยกับเขาเสียก่อน


          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย  สิ่งนี้มันเป็นสิทธิระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ถึงแม้ว่าบุคคลที่เรานินทานั้นจะเป็น กาเฟรก็ตาม ครั้งหนึ่งที่ท่านอิหม่ามฆอซาลีร่อฮิมุ้ลลอฮ์ ได้ถูกถามเกี่ยวกับการนินทาผู้ที่ปฏิเสธหลักการของอิสลาม ท่านได้กล่าวว่า การนินทา ที่มีต่อมุสลิมด้วยกันนั้น มันเป็นความหายนะด้วยกับเหตุ ๓ ประการ คือ

     ประการแรก จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความระคายเคือง ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา กับผู้ที่ถูกนินทา และกับบุคคลที่รับฟัง

     ประการที่สอง ทำให้เกิดการบั่นทอน ลดหย่อน ต่อการที่ อัลเลาะห์   ได้สรรสร้างสิ่งต่างๆเหล่านั้นให้เกิดขึ้นกับสิ่งที่อัลเลาะห์ ทรงสร้าง

     ประการสุดท้าย  ทำให้สิ้นเปลืองเวลาไปกับสิ่งที่มันไร้สาระ

          ถ้าหากพิจารณาในประเด็นแรก สิ่งที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในสังคม แน่นอนสิ่งต่างๆเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ฮารอม  เป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม ส่วนในการที่เรามีความรู้สึกถึงความบกพร่องของพี่น้องและนำมากล่าวในสิ่งนั้น เป็นการดูแคลนสิ่งถูกสร้าง บั่นทอนในระดับของสิ่งที่ทางศาสนาตำหนิ และส่วนการที่เราใช้เวลา กับสิ่งที่ไร้คุณค่า ไร้ประโยชน์ มันขัดแย้งกับสิ่งที่ดีกว่าต่อการที่จะพูดถึงเรื่องไม่ดีของคนอื่น ให้ย้อนกลับมาพิจารณาดูสิ่งที่บกพร่องของตัวเรา นั่นคือสิ่งที่ดีกว่า

 
          เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้ มันจึงเป็นบทสรุปของการนินทานั้นไม่ใช่เฉพาะสำหรับมุสลิมเท่านั้น รวมถึงบุคคลที่ปฏิเสธอิสลามด้วย ที่เราไม่สามารถนินทาต่อบุคคลเหล่านั้นได้  ในเมื่อเราเห็นในสิ่งที่มันเป็นความบกพร่องแล้ว มีกรณียกเว้นหรือไม่ ในหลักการอิสลาม ท่านอิหม่ามนาวาวีร่อฮิมุ้ลลอฮ์ ได้กล่าวเอาไว้ ๖ กรณี ซึ่งจะขอกล่าวสรุป

    ประการที่ ๑ ตะซ้อลลู่ม (التظلم)คือการที่เราถูกอธรรม ถูกโกง จำเป็นต่อเราที่จะต้องชี้แจง ผู้ที่อธรรมต่อเรา โกงเรา กับบุคคลที่สามารถจะให้ความเป็นธรรมกับเราได้ จะเป็นบุคคลที่เป็นกอฎีก็ดี จะเป็นบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบสังคมก็ดี

 

     ประการที่ ๒ การที่เราจะไปขอรับการช่วยเหลือ การอิสติอานะห์(الإستعانة)ต่อการที่จะเปลี่ยนแปลงความผิด และจะนำผู้ที่กระทำความผิดนั้นกลับไปสู่ความถูกต้อง แน่นอนที่สุด จะต้องมีการพาดพิง พูดถึงในสิ่งที่มันผิดพลาด กับบุคคลที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงในความผิดนั้น

 

     ประการที่ ๓ อิสติฟตะห์(الإستفتاء)คือการขอคำเฉลยปัญหาทางศาสนากับบุคคลที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับเรา เราก็จะต้องพูดพาดพิงกับบุคคลที่ ๓ ในแง่ที่ไม่ดี

 

     ประการที่ ๔ ตะห์ซีรุ้ลมุสลิมีน (تحذيرالمسلمين)การเตือน กับมวลมุสลิม จากความผิดที่มันเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มันเลวร้ายขึ้น มีสิ่งใดอะไรที่มันจะก่อให้เกิดผลเสียกับสังคมมุสลิม ก็เป็นสิ่งที่อนุญาตให้กล่าวถึงความบกพร่อง

 

     ประการที่ ๕ การที่มีบุคคลหนึ่ง   เขาเปิดเผยในการทำ ม๊ะซิยัต ไม่ละอายต่อสายตาบุคคล จากการดื่มสุรา หรือการเล่นการพนัน การเปิดบ่อน การเปิดกิจการเงินกู้ จากการที่เขาทำม๊ะซิยัตต่างๆ อย่างเปิดเผย ให้เรากล่าวสิ่งต่างๆเหล่านั้น เฉพาะในสิ่งที่เขากระทำ

 

     ประการที่ ๖ อัลตะอฺรีฟ (التعريف)การที่มีบุคคลหนึ่งเป็นที่รู้จักในนามชื่อที่รังเกียจ เช่นเขามีความบกพร่องในด้านสายตา ความบกพร่องในด้านอากับกิริยาท่าทางการเดิน ซึ่งถ้าจะกล่าวนามเต็ม ชื่อเต็มของเขา จะไม่มีใครรู้จัก เราก็จะต้องบอกว่า มูฮัมมัด คนนั้นที่ตาบอด จึงจะเป็นที่รู้จัก กรณีนี้ศาสนาอนุญาต ในการที่จะนำความบกพร่องทางร่างกายของเขา มาพูดถึงได้


          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย สิ่งที่มันเกิดขึ้นจากคำพูดของเรา มีผลต่อตัวเราในแง่ของการปฏิบัติอิบาดะห์ที่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปกติแล้วบุคคลที่เราไปพูดพาดพิงในสิ่งที่ไม่ดีก็คือบุคคลที่เราไม่ชอบ บุคคลที่เรารังเกียจ ตามทัศนะของอิบดิ้ลมุ่บาร็อคร่อฮิมุ้ลลอฮ์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า

          “ถ้าหากว่าฉันจะเป็นผู้ที่จะนินทา คนหนึ่งคนใดแล้ว แน่นอนที่สุดบุคคลซึ่งที่ฉันจะนินทาก็คือ พ่อแม่ของฉัน เพราะบุคคลทั้งสองนั้นเป็นบุคคลที่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับความดีงามของฉัน”

         นั่นหมายถึงบั้นปลายหลังจากที่เราสิ้นชีวิตไปแล้ว ในช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตในวันกิยามะฮ์  ลักษณะของบุคคลผู้ที่ เราจะขอความคุ้มครองจากอัลเลาะห์   ให้ออกห่าง ก็คือบุคคลที่ล้มละลายในวันกิยามะฮ์  และ บุคคลที่ล้มละลายในดุนยา

         บุคคลที่ล้มละลายในดุนยา คือบุคคลที่ปราศจากทรัพย์สิน สิ่งที่จะก่อประโยชน์ในดุนยา สำหรับบุคคลซึ่งที่ล้มละลายในวันกิยามะฮ์ คือบุคคลที่ ละหมาด ถือศีลอด ซากาต  ฮัจย์  รวมทั้งบรรดาการงานต่างๆที่ได้ปฏิบัติไว้แต่แล้วเมื่อถึงเวลา สิ่งต่างๆเหล่านั้นเขาต้องนำไปให้กับบุคคลที่เขานินทา นั่นคือสภาพที่เลวร้ายที่เราจะต้องขอความคุ้มครองจากอัลเลาะห์   ที่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชีวิตในดุนยานั้นไม่สามารถควบคุม คำพูดของเรา ต่อการที่ไปพาดพิงในสิ่งที่ไม่ดีของบุคคลอื่น


         ในช่วงท้ายแห่งคุตบะห์นี้  ขออัลเลาะห์   ได้ทรงประทานการเตาฟีกพลังใจต่อการที่เราจะคัดสรร พิจารณา คำพูดที่มันจะหลุดออกจากปากเราไป ว่ามันจะอยู่ในกรอบแห่งอัลอิสลาม ได้กำหนดไว้ทั้ง ๖ ประการหรือไม่ ?

 


คุตบะห์ วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ