ความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอาน 2
โดย... ซัยคฺ มูฮำหมัด บินญามีล ซัยนู
อัลกุรอาน เป็นพระดำรัสของอัลลอฮ์ ที่พระองค์ประทานแด่ท่าน นบีมูฮำหมัด เพื่อเป็นทางนำและแนวทางดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขแก่มวลมนุษยชาติ อัลกุรอานมีทั้งหมด 114 ซูเราะฮ์ เริ่มต้นด้วยซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ และจบท้ายด้วยซูเราะฮ์อันนาส และมีทั้งหมด 30 ยุซ จะขอกล่าวถึงส่วนหนึ่งจากความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอาน ซึ่งมีดังนี้
12. ข่าวคราวต่างๆที่อยู่ในอัลกุรอานย่อมเป็นสัจธรรมและบทบัญญัติต่างๆย่อมเป็นบทบัญญัติที่ยุติธรรม อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
“และถ้อยคำแห่งพระเจ้าของฉันนั้นครบถ้วนแล้ว ซึ่งความสัจจะและความยุติธรรม
ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงบรรดาถ้อยคำของพระองค์ได้ และพระองค์นั้นคือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้”
(อัลอันอาม : 115)
ท่านกอตาดะฮ์(รอฮิมาฮุลลอฮ์) ได้กล่าวว่า
“เมื่อกล่าวถึงอัลกุรอาน แน่นอนย่อมเป็นสิ่งที่สัจธรรม และทุกๆคำตัดสินที่อยู่ในอัลกุรอานย่อมเป็นสิ่งที่ยุติธรรม ในที่นี้หมายถึง สัจธรรมในเรื่องของการแจ้งข่าวคราวต่างๆและความยุติธรรมในเรื่องของบทบัญญัติต่างๆ ดังนั้นข่าวคราวต่างๆที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน ย่อมเป็นสัจธรรมและปราศจากความเท็จและความสงสัย และทุกๆบทบัญบัญญัติที่ถูกบัญญัติไว้ ย่อมเป็นบทบัญญัติที่ยุติธรรม และจะไม่มีความยุติธรรมใดๆอีกแล้ว และทุกสิ่งที่ถูกห้ามไว้ในอัลกุรอาน สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย เพราะอัลกุรอานจะไม่ห้ามสิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกจาก สิ่งนั้นจะเป็นปัญหาต่อมนุษย์”
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
“จะใช้พวกเขาให้กระทำในสิ่งที่ชอบและห้ามพวกเขามิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ชอบ
และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขา ซึ่งสิ่งที่เลวทั้งหลาย”
(อัลอะอ์รอฟ : 157) (ดู ตัฟซีรอัลกุรอานุลอะซีม เล่ม 2 หน้า 167)
13. ในอัลกุรอานมีเรื่องราวต่างๆที่เป็นสัจธรรม และปราศจากการจินตนาการแบบผิดๆ เช่น เรื่องราวของนบีมูซากับฟิรเอาน ย่อมเป็นเรื่องราวที่เป็นสัจธรรม อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“เราจะอ่านแก่เจ้า บางส่วนจากเรื่องราวของมูซาและฟิรเอาน ด้วยสัจธรรมเพื่อหมู่ชนผู้ศรัทธา”
(อัลเกาะศ็อศ : 3)
เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของ ชาวถ้ำ ก็ย่อมเป็นเรื่องราวที่เป็นสัจธรรม อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“เราจะเล่าเรื่องราวของพวกเขาแก่เจ้าด้วยสัจธรรม แท้จริงพวกเขาเป็นชายหนุ่มที่ศรัทธาต่อพระเจ้าของพวกเขา
และเราได้เพิ่มแนวทางที่ถูกต้องให้แก่พวกเขา”
(อัลกะฮ์ฟ : 13)
และทุกๆเรื่องราวที่อัลลอฮ์ทรงเล่าไว้ในอัลกุรอานย่อมเป็นสิ่งที่ชัดเจนและมีสัจธรรม อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“แท้จริงเรื่องราวนี้เป็นความจริง”
(อาลิอิมรอน : 62)
14. อัลกุรอานสามารถตอบสนองความต้องการบนโลกนี้ และความต้องการในโลกหน้าอัลลอฮ์ตรัสความว่า
“และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อปรโลก และอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้ และจงทำความดีเสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า”
(อัลเกาะศ็อศ : 77 )
15. อัลกุรอาน มีความครอบคลุมในเรื่องต่างๆในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทั้งในเรื่องของหลักความเชื่อ การปฏิบัติศาสนกิจ บทบัญญัติต่างๆ สังคม มารยาท การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต
อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“เรามิได้ให้บกพร่องแต่อย่างใดในคัมภีร์(อัลกุรอาน)”
(อัลอันอาม : 38)
และอัลลอฮ์ตรัสความว่า
“และเราก็นำเจ้ามาเป็นพยานต่อเขาเหล่านั้น และเราได้ให้คัมภีร์แก่เจ้าเพื่อชี้แจงแก่ทุกสิ่ง
และเพื่อเป็นทางนำ และเป็นความเมตตา และเป็นข่าวดีแก่บรรดามุสลิม”
(อัลนะห์ล : 89)
16. อัลกุรอาน มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อหัวใจของมนุษย์และญิน
ส่วนหนึ่งจากอิทธิพลของ อัลกุรอานที่มีต่อหัวใจของมนุษย์ คือ ในช่วงแรกของการเผยแผ่อิสลาม อัลกุรอานได้ทำให้ผู้ปฏิเสธศรัทธาบางส่วนเข้ารับอิสลาม ส่วนในสมัยปัจจุบันก็มีผู้ปฏิเสธศรัทธาหลายคนเข้ารับอิสลามอันเนื่องมาจากเห็นถึงความมหัศจรรย์ต่างๆของอัลกุรอาน ซึ่งข้าพเจ้าเองได้เคยพบกับหนุ่มอดีดชาวคริสต์คนหนึ่งที่เข้ารับอิสลาม ซึ่งเขาบอกว่า สาเหตุหลักที่เขาเข้ารับอิสลาม คือ ความมหัศจรรย์ต่างๆของอัลกุรอาน
ส่วนอิทธิพลของอัลกุรอานในหมู่ญิน คือ มีกลุ่มญินบางกลุ่ม กล่าวว่า
“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า ได้มีวะฮียฺมายังฉันว่า แท้จริงพวกญินจำนวนหนึ่งได้ฟังฉัน (อ่านกุรอาน) และพวกเขากล่าวว่า
แท้จริงเราได้ยินกุรอานที่แปลกประหลาด นำไปสู่ทางที่ถูกต้อง ดังนั้นพวกเราจึงศรัทธาต่ออัลกุรอานนั้น และเราจะไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระเจ้าของเรา”
(อัลญิน : 1-2)
ในหมู่ของผู้ปฏิเสธศรัทธาในช่วงแรกของการเผยแผ่อิสลาม อัลกุรอานได้สร้างอิทธิพลในหมู่พวกเขา เมื่อพวกเขาได้มัน ซึ่งท่าน วะลีด บิน มุฆีเราะฮฺ กล่าวว่า
“ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ นี่มันไม่ใช่บทกวี และไม่ใช่มายากล และ ไม่ใช่คำพูดของคนบ้า แต่มันคือพระดำรัสของอัลลอฮ์ ที่เต็มไปด้วยความดีงามและความประเสริฐ และแท้จริงแล้วมัน(อัลกุรอาน) เป็นพระดำรัสที่สูงส่ง และจะไม่มีสิ่งไหนสูงส่งกว่านั้น ”
(ตัฟซีรอัลกุรอานุลอะซีม ยุซ 4 หน้า 443)
17. บุคคลที่ศึกษาอัลกุรอานและสอนอัลกุรอาน เป็นบุคคลที่ดีที่สุด ดังหะดีษของท่านรอซูลุลลอฮ์ ว่า
“บุคคลที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ บุคคลที่ศึกษาอัลกุรอานและบุคคลที่สอนอัลกุรอาน”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยมุสลิม)
18. ผู้ที่อ่านอัลกุรอานอย่างตะกุกตะกัก พยายามอ่าน จะได้รับผลบุญเพิ่มมากกว่าผู้ที่อ่านเป็นแล้ว
“ผู้ที่เชี่ยวชาญในการอ่านอัลกุรอานนั้นจะอยู่ร่วมกับมลาอิกะฮ์ ผู้จดบันทึกอีกทั้งมีเกียรติ
และผู้ที่อ่านอัลกุรอานอย่างตะกุกตะกัก (ไม่คล่อง) แต่เขาก็พยามยามอ่าน เขาจะได้สองผลบุญ”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)
19. อัลลอฮ์ ได้ประทานอัลกุรอานเพื่อเป็นทางนำและข่าวดี อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า
สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่”
(อัลอิสรออ์ : 9)
20. อัลกุรอานจะทำให้หัวใจสงบและเพิ่มความมั่นใจในสัจธรรม ซึ่งผู้ศรัทธายึดมั่นว่าอัลกุรอานเป็นปฏิหารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่อัลลอฮ์ ประทานแก่ท่าน นบีมูฮำหมัดและจะทำให้หัวใจของพวกเขาสงบด้วยการศรัทธาในสิ่งเหล่านี้ อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์ พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์เท่านั้นทำให้จิตใจสงบ”
(อัรเราะด์ : 28)
ดังนั้นเมื่อผู้ศรัทธารู้สึกไม่สบายใจ เสียใจ หรือประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ ก็จงฟังอัลกุรอานจากนักอ่านที่ไพเราะและถูกต้อง ท่านรอซูลุลลอฮ์ กล่าวว่า
“จงทำให้ดีในการอ่านอัลกุรอาน ด้วยเสียงของท่านที่ไพเราะ เพราะเสียงที่ไพเราะนั้น จะเพิ่มความงามของอัลกุรอาน ”
(หะดีษศอหี้ห ในศอหี้หของซัยคฺ อัลบานีย์)
21. เนื้อหาส่วนมากของอัลกุรอาน เป็นการเรียกร้องสู่หลักเตาฮีด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เตาฮีดอุลูฮิยะห์ เช่น ในการปฏิบัติศาสนกิจ การขอดุอาอฺ การขอความช่วยเหลือ เช่น ซูเราะฮ์แรกของอัลกุรอาน คือ ซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ อัลลอฮ์ตรัสความว่า
(إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ)
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์เคารพอิบาดะฮ์ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์ขอความช่วยเหลือ”
(อัลฟาติหะฮ์ : 5)
และท้ายๆซูเราะฮ์ของอัลกุรอาน เช่น ซุเราะอ์อัลอิคลาส อัลฟาลัก อันนาส ก็มีเนื้อหาที่เรียกร้องไปสู่เตาฮีด เช่น
(قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ).
“จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด พระองค์คืออัลลอฮ์ผู้ทรงเอกะ”
(قُلْ أَعُوذُ بِرَبِّ الْفَلَقِ)
“จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ”
قُلْ أَعُوذُ بِرَبِّ النَّاسِ
“จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ”
และยังมีหลายต่อหลายโองการที่ได้เรียกร้องไปสู่การเตาฮีดต่ออัลลอฮ์ ส่วนหนึ่ง คือ ในซูเราะฮฺอัลญิน อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ว่า แท้จริงฉันวิงวอนขอต่อพระเจ้าของฉัน และฉันจะมิตั้งผู้ใดเป็นภาคีต่อพระองค์”
(อัลญิน : 20)
และอัลลอฮ์ตรัสความว่า
“และแท้จริงบรรดามัสยิดนั้นเป็นของอัลลอฮ์ ดังนั้น พวกเจ้าอย่าวิงวอนขอผู้ใดเคียงคู่กับอัลลอฮ์”
(อัลญิน : 18)
22. อัลกุรอาน เป็นแหล่งอ้างอิงแรกของบทบัญญัติอิสลาม ที่อัลลอฮ์ประทานแก่ท่าน นบีมูฮำหมัด เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติออกจากการปฏิเสธและตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ และสู่แสงสว่างแห่งความศรัทธา เตาฮีด และวิชาการ จากอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“อะลิฟ ลาม รอ คัมภีร์ที่เราได้ประทานลงมาแก่เจ้า เพื่อให้เจ้านำมนุษย์ออกจากความมืดมนทั้งหลาย สู่ความสว่าง
ด้วยอนุมัติของพระเจ้าของพวกเขา สู่ทางของพระผู้เดชานุภาพ ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ”
(อิบรอฮีม : 1)
23. อัลกุรอานได้กล่าวถึงสิ่งเร้นลับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้จะไม่มีใครรู้ได้ นอกจากสิ่งที่เป็นวิจรณ์(วะฮยู)จากอัลลอฮ์เท่านั้น อัลลอฮ์ตรัสความว่า
“พลพรรคพวกนี้จะพ่ายแพ้ และพวกเขาจะผินหลังวิ่งหนี”
(อัลเกาะมัร : 45)
ซึ่งโองการนี้เป็นเรื่องจริง เมื่อชาวมุซริกีน ได้พ่ายแพ้ในการทำสงครามบะดัร และพวกเขาได้หนีออกจากสงคราม และยังมีหลายต่อหลายโองการที่กล่าวถึงสิ่งเร้นลับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว และก็จะเกิดขึ้นจริงๆ
แปลและเรียบเรียงโดย มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์